หลังยืดเยื้อ ประท้วงเดือดกันมายาวนาน สัปดาห์ก่อน แคว้นคาตาลัน ก็ได้ประกาศเอกราชอย่างแน่วแน่ ขอแยกตัวจากสเปนอย่างไร้เยื้อใย แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องราวก็ยังคงไม่จบแค่นี้ และจะวุ่นวายต่อไป เพราะสเปน และประเทศอื่นๆ ในยุโรปเอง ไม่ยอมรับให้ประกาศตัวเป็นประเทศ และจากไปอย่างง่ายๆ ทั้งยังเตรียมฟ้องผู้นำแคว้นที่อาจทำการอุกอาจเช่นนี้ด้วย
คาตาลันไม่ใช่เพียงพื้นที่เดียวเท่านั้น ที่มีกระแสต้องการประกาศเอกราช แต่หลายพื้นที่โดยเฉพาะในยุโรป อย่างสกอตแลนด์ ของสหราชอาณาจักร หรือลอมบาร์ดี ของอิตาลีก็เคยมีการทำประชามติขออำนาจเพิ่ม ถึงขึ้นเตรียมแยกประเทศมาแล้วเช่นกัน
The MATTER จึงขอรวบรวม 10 พื้นที่ในยุโรป ที่มีการเคลื่อนไหวแยกตัวปกครองตนเอง ว่าต้องการแยกออกมาในระดับไหน แยกจากประเทศอะไร แล้วมีสถานการณ์อย่างไรให้ได้ติดตามกัน
Scotland – UK
ประชากร 5.4 ล้านคน จำนวน 8.2% ของสหราชอาณาจักร
สกอตแลนด์ แห่งสหราชอาณาจักร เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีความพยายามประกาศเอกราช และจัดทำประชามติเพื่อแยกประเทศมาโดยตลอด ล่าสุด คือในปี 2014 ที่คะแนนเสียง 44.7% เลือกเห็นชอบให้แยก พ่ายแพ้ 55.3% ที่ยังขออยู่ร่วมกับสหราชอาณาจักรต่อไป
ประเทศนี้มีความต้องการอยากแยกตัวตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และพรรคชาติสกอต (SNP) เองก็ได้โปรโมทนโยบายหลักคือ การให้สกอตแลนด์เป็นอิสระอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1934 และในตอนนี้เอง รัฐสภาของสกอตแลนด์ก็ได้ผ่านมติเตรียมจัดลงประชามติแยกตัวออกอีกครั้งในปี 2018 ซึ่งมีแนวโน้มว่าชาวสกอตจะโหวตเห็นชอบมากขึ้น เพราะไม่เห็นด้วยกับ Brexit ที่เชิดหน้าออกจาก EU
Lombardy – Italy
ประชากร 10 ล้านคน จำนวน 17% ของประเทศ
หนึ่งในภูมิภาคที่ร่ำรวยที่สุดของอิตาลีและเป็นที่ตั้งของเมืองมิลาน ลอมบาร์ดีไม่ได้ถึงขั้นต้องการแยกตัวออกจากอิตาลี แต่ต้องการเป็นอิสระจากกรุงโรมมากขึ้น รวมถึงระบบการจัดการเงินของตนเอง เพราะประชาชนที่นี่เชื่อว่าภาษีถูกนำไปใช้ในภาคใต้ของประเทศ ที่เป็นพื้นที่ยากจนมากกว่านำมาใช้ประโยชน์ต่อการลงทุนในท้องถิ่น และล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ลอมบาร์ดีได้จัดทำประชามติเรียกร้องเอกราช ซึ่งถึงแม้จะมีประชนชนออกมาลงคะแนนเสียงแค่ 38.3% แต่ผลโหวตกว่า 95% ก็เลือกสนับสนุนเอกราชของแคว้น ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นเตรียมนำผลโหวตไปต่อรองอำนาจกับรัฐบาลกลางอิตาลี
นอกจากลอมบาร์ดีแล้ว ในอิตาลียังมี เมืองเวเนโต ที่มีเวนิสเป็นเมืองหลวง ซึ่งต้องการอำนาจปกครองตัวเองมากขึ้น รวมถึงยังได้มีการจัดประชามติ ในวันเดียวกับเมืองลอมบาร์ดีด้วย
Istria County – Croatia
ประชากร 208,000 คน จำนวน 4.9% ของประเทศ
เขตอิสเตรีย มีการเคลื่อนไหวและต้องการเอกราช แต่ไม่ถึงขั้นแยกตัว ตัดขาดจากโครเอเชีย โดยพรรค Istrian Democratic Assembly (IDS) ที่ประจำของเขตนี้ ต้องการให้เขตมีอำนาจปกครองตนเอง มีการกระจายอำนาจระดับภูมิภาค และมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบของประเทศ โดย Ivan Jakovčić นักการเมืองของพรรคมองว่า เขตอิสเตรียและโครเอเชียควรทำตามอย่าง ลอมบาร์ดี และเวเนโต ในอิตาลี ที่เพิ่งมีการจัดทำประชามติอย่างถูกกฎหมายไป แต่ไม่ควรทำตามอย่างคาตาลัน ในสเปนที่เป็นการประกาศเอกราชฝ่ายเดียว
Moravia – Czech Republic
ประชากร 3 ล้านคน จำนวน 30% ของประเทศ
โมราเวียเป็นเมืองที่เก่าแก่ของสาธารณรัฐเช็ก แม้ว่าจะถูกยุบรวมเป็นหนึ่งกับแคว้นซิลีเซียในปี 1949 แต่ก็ยังเห็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองที่โดดเด่นในพื้นที่นี้ กระแสความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของโมราเวียมีขึ้นเรื่อยๆ จากพรรคการเมืองขนาดเล็กของเมืองอย่าง Moravané ที่สนับสนุนให้เมืองกลายเป็นอิสระเพราะมองว่า เช็กเป็นรัฐแบบรวมศูนย์ ที่การปกครองตนเองในฝั่งภูมิภาคแทบไม่มีอำนาจเลย แถมงบประมาณยังไม่มาถึงท้องถิ่น แต่ 70% ไปลงที่เมืองหลวงอย่างกรุงปราก
Upper Silesia – Poland
ประชากร 3 ล้านคน จำนวน 7.8% ของประเทศ
แคว้นซิลีเซียเป็นภูมิภาคที่มีอาณาเขตส่วนใหญ่อยู่ในโปแลนด์ และมีพื้นที่เล็กๆ ส่วนอื่นๆ อยู่ในเยอรมนี และเช็ก ในการสำรวจสำมะโนประชากรของโปแลนด์ในปี 2011 ประชาชนกว่า 8 แสนคนได้อ้างว่าตนมีอัตลักษณ์ของชาวซิลิเซีย ทั้งยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Silesian Autonomy Movement (RAS) ที่เคลื่อนไหวทั้งใน 3 ประเทศเพื่อสนับสนุนการปกครองตนเอง กลุ่ม RAS มองว่าแคว้นซิลีเซียเป็นประเทศที่แยกออกมา และไม่คิดว่าตนเป็นประชากรของ 3 ประเทศ นอกจากนี้ RAS ยังมีการเดินขบวนมาร์ชเรียกร้องเอกราชในโปแลนด์ทุกปีด้วย
Flanders – Belgium
ประชากร 6.4 ล้านคน จำนวน 56.3% ของประเทศ
แฟลนเดอส์เป็นภูมิภาคที่มั่งคั่ง และส่วนใหญ่พูดภาษาดัตช์ท่ามกลางประชากรของประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศส ได้มีความพยายามและหาทางประกาศเอกราชจากเบลเยี่ยม โดยพรรค New Flemish Alliance (N-VA) ที่มีที่นั่งมากที่สุดในรัฐสภา ได้ชูนโยบายแยกประเทศและตั้งสาธารณรัฐแฟลนเดอส์ แต่ถึงอย่างนั้นชาวเมืองนี้ก็ไม่อยากสูญเสียเมืองหลวงอย่างบรัสเซลส์ ที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันอย่างยาวนาน จึงผลักดันให้รัฐบาลกระจายอำนาจให้เขตต่างๆ ที่ใช้ภาษาดัตช์มากขึ้น แต่หลังการเลือกตั้งในปี 2019 ถ้าพรรค N-VA ยังได้เสียงข้างมาก เราอาจเห็นความจริงจังของพรรคและประชาชนในการแยกประเทศมากขึ้น
Brittany – France
ประชากร 3.3 ล้านคน จำนวน 5% ของประเทศ
บริตทานี เป็นแคว้นของฝรั่งเศสที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง ชาวเบรอตองมีความนิยมในแคว้น และแสวงหาการปกครองตนเอง เพื่อปกป้องวัฒนธรรมของแคว้น ทั้งเพลง ประเพณี สัญลักษณ์ รวมถึงภาษาเบรอตง ที่มีผู้ใช้ถึงประมาณ 200,000 คน ชาวเบรอตองยังมองว่า บริตทานีควรรวมเขตการปกครองกับจังหวัดลัวรัตล็องติก (Loire-Atlantique) และจากการสำรวจในปี 2013 พบว่า 18% ของชาวเบรอตองสนับสนุนการประกาศอิสรภาพ ในขณะที่ 37% สนับสนุนนโยบาย ‘เบรอตองต้องมาก่อน’ (Breton first) และอีก 48% มองว่า ‘ฝรั่งเศสต้องมาก่อน’ (French first)
Bavaria – Germany
ประชากร 12.9 ล้านคน จำนวน 15.6% ของประเทศ
ถ้าสหราชอาณาจักรมีสกอตแลนด์ สเปนมีคาตาลันที่ต้องการเอกราช เยอรมนีเองก็มีบาวาเรียที่มีความพยายามนี้เช่นกัน รัฐบาวาเรียมีความเป็นชาตินิยมที่เข้มแข็งตั้งแต่รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีในปี ค.ศ. 1871 พรรค Bavarian Party เป็นพรรคที่เคลื่อนไหวเรื่องการแบ่งแยกดินแดนในรัฐนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ทั้งยังเป็นรัฐพันธมิตรกับสกอตแลนด์ ที่คอยส่งเสริมการจัดประชามติ และสนับสนุนการแยกประเทศอยู่เรื่อยๆ และจากการโพลสำรวจในปี 2017 ชาวบาวาเรียน 1 ใน 3 ยังให้ความเห็นสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของรัฐด้วย
Székely Land – Romania
ประชากร 500,000 คน จำนวน 2.5% ของประเทศ
Székely Land ภาคกลางของประเทศโรมาเนีย พื้นที่ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ฮังกาเรียนและโรมาเนียอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่มักมีความขัดแย้งกันระหว่างชาติพันธุ์ทั้งสอง ทำให้ชาติพันธุ์ฮังกาเรียนกว่า 1.2 ล้านคน (สำรวจเมื่อ 2011) ซึ่งครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ใน Székely Land มีความต้องการแยกตัวเป็นอิสระมากขึ้น ทั้งยังมีการเดินขบวนของชาวฮังกาเรียนเพื่อเรียกร้องเอกราชนับหมื่น ทุกวันที่ 10 ของเดือนมีนาคม ที่ถือว่าเป็นวัน ‘the Székely Freedom’
Basque Country – Spain
ประชากร 3 ล้านคน จำนวน 4.6% ของประเทศ
คาตาลันไม่ใช่แคว้นเดียวในสเปน ที่อยากแยกตัว โบกมือลา แต่แคว้นบาสก์ที่อยู่ทางเหนือของประเทศ ก็เป็นอีกแคว้นที่เรียกร้องเอกราชมากว่า 40 ปี บาสก์มีความเป็นเอกภาพ มีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ภาษาบาสก์เป็นของตัวเอง ทั้งยังมีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลมาดริด และใช้ความรุนแรงต่อสู้ โดยในปี 2011 มีการปะทะระหว่างรัฐบาลกลางและกลุ่มเรียกร้องการเอกราชหัวรุนแรง ETA (ภายหลังถูกมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายสากล) ที่ทำให้มีคนเสียชีวิตกว่า 1,000 ราย
ภายหลังกลุ่ม ETA ยกเลิกการก่อเหตุรุนแรง แต่หันมาเจรจากับรัฐบาลกลาง ซึ่งก็ยังไม่มีความคืบหน้า แต่ประชาชนชาวบาสก์ก็ยังคงเดินขบวนประท้วงเรียกร้องเอกราชกันอยู่เรื่อยๆ แทบทุกปี
นอกจาก 10 พื้นที่นี้ก็ยังมีกระแสเรียกร้องการปกครองตนเอง รวมถึงต้องการการกระจายอำนาจจากส่วนกลางที่มากขึ้น ทั้งเวลส์ ในสหราชอาณาจักร เกาะบอร์นโฮล์ม ในเดนมาร์ก เซาท์ ไทรอล ในอิตาลี และอีกหลากหลายที่ทั้งในยุโรปและส่วนอื่นๆ ด้วย
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/
http://www.bbc.com/thai/international-39425383
https://www.total-croatia-news.com/
https://dsph-dev.provost.uiowa.edu/
Illustration by. Namsai Supavong