“เราจะนำตัวผู้บงการเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะทำสำเร็จปีนี้ ปีหน้า หรืออีก 45 ปี เราจะไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์จบลงแค่ 6 ตุลา 2519 แน่”
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งแม้จะผ่านมาหลายศตวรรษ แต่เหตุการณ์ที่มีผู้สูญเสียมากมาย กลับไม่เคยมีคนผิดถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือลงโทษเลย ซึ่งในงานรำลึกปีนี้ ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส นักกิจกรรมในเหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 2519 ก็ได้ประกาศจะนำตัวคนผิดขึ้นศาลระหว่างประเทศ เพราะถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การสังหารหมู่ทางการเมือง
The MATTER ขอพาไปดูเหตุการณ์สังหารหมู่ และการดำเนินคดีผู้กระทำผิดว่าเป็นไปอย่างไรบ้าง ผู้สั่งการ หรือผู้มีส่วนร่วมถูกตัดสินอย่างไรกัน ?
รวันดา – เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994
เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี่ในรวันดาเกิดขึ้นในปี 1994 ซึ่งในช่วงนั้น มีการบ่มเพาะความเกลียดชังต่อชาวทุตซี่ ทำให้ชาวฮูตูในประเทศรวันดา สังหารชาวทุตซี่ไปมากถึง 500,000–1,000,000 คน ซึ่งหลังเหตุการณ์ที่รุนแรงนั้น ก็มีความพยายามนำคดีเข้าสู่กระบวนยุติธรรม ซึ่งมีทั้งในระดับนานาชาติ ที่มีองค์การสหประชาชาติ (UN) ร่วมสนับสนุน และในระดับท้องถิ่นในประเทศรวันดาเองด้วย
โดยคณะมนตรีความมั่นคงของ UN ได้เรียกร้องให้สอบสวนเหตุการณ์ และจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ จัดการกับอาชญากรรมที่ขัดต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในรวันดา และประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงวันที่ 1 มกราคม 1994-31 ธันวาคม 1994 ซึ่งสำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น ก็มีชาวฮูตู ที่ถูกตั้งข้อหา 93 คน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายสิบคนถูกตัดสินมีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยส่วนใหญ่ถูกโทษจำคุกตลอดชีวิต เช่น เธโอเนสเต บาโกโซร่า อดีตพันเอกกองทัพรวันดาและอดีตรัฐมนตรีกลาโหมที่ถูกจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งได้เสียชีวิตในเรือนจำ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา
หรือบางกรณีถูกตัดสินจำคุกตามระยะเวลาต่างๆ เช่น ออกุสติน เอ็นกิราบัตวาเร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแผนงานของรวันดา ต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา 35 ปี ซึ่งหลังจากเหตุการณ์เขาได้หลบหนีออกนอกรวันดา ก่อนจะถูกจับกุมในเยอรมนี เมื่อปี 2007 ศาลพิเศษของ UN นี้ ได้ทำการสืบสวน และตัดสินโทษผู้นำต่างๆ เรื่อยมา โดยตัวศาลได้หมดอำนาจลงไปแล้ว เมื่อปลายปี 2015
นอกจากการตัดสินในระดับนานาชาติแล้ว ในประเทศเองยังได้มีการตรากฎหมายฉบับใหม่ ที่ได้ริเริ่มการดำเนินคดีกับอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นมา โดยระบุขอบเขตของการลงโทษสำหรับสมาชิกในแต่ละประเภท ประเภทแรกสงวนไว้สำหรับผู้ที่เป็น “นักวางแผน ผู้จัดงาน ผู้ยุยง หัวหน้างาน และผู้นำ” ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และใครก็ตามที่ใช้ตำแหน่งอำนาจรัฐเพื่อส่งเสริมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ซึ่งได้มีศาลระดับชุมชน หรือที่เรียกกันว่า Gacaca ถูกตั้งขึ้นเพื่อดำเนินคดีผู้ต้องหาที่ที่รอการพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยศาลนี้ มีการตั้งขึ้นระหว่างปี 2002-2012 ที่ตลอดการดำรงอยู่ของศาลนี้ มีการตัดสินคดีไปมากกว่า 1.9 ล้านคดี มีผู้ถูกพิจารณคดีมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งบางส่วนถูกโทษจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่บางส่วนเสียชีวิตในเรือนจำระหว่างการรอพิจารณาคดีด้วย เนื่องจากมีผู้กระทำผิดเป็นจำนวนมาก
ชิลี – การจับกุม ลักพาตัว สังหารผู้เห็นต่างในยุคเผด็จการปิโนเชต์
ประเทศชิลีเอง ก็เป็นหนึ่งประเทศที่เคยมีการรัฐประหาร ซึ่งหลังการขึ้นมาปกครองของผู้นำเผด็จการอย่าง ออกุสโต ปิโนเชต์ ก็ได้มีการจัดการกับผู้ที่เห็นต่าง และขั้วตรงข้ามทางการเมือง โดยในยุคของปิโนเชต์ มีทั้งการสร้างสถานที่กักกันต่างๆ ซึ่งมีรายงานว่ามีประชาชนถูกคุมขังกว่า 28,000 คน ซึ่งรวมถึงคนที่ถูกซ้อมทรมาน เสียชีวิตกว่า 3,200 คน และถูกทำให้สูญหายกว่า 1,200 คนด้วย
แม้ว่าตัวปิโนเชต์ จะเขียนรัฐธรรมนูญต่างๆ ที่เอื้อต่อการครองอำนาจ และนิรโทษกรรมตัวเขาเอง จากการทำรัฐประหารแล้ว แต่ศาลยุติธรรมของสเปนได้สั่งฟ้อง และตั้งข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนกับเขา ในปี 1998 ภายใต้หมายจับระหว่างประเทศ ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดในการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รวมถึงคดีฆาตกรรมการทรมานการจับตัวประกัน และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชิลีและชาติอื่นๆ ข้อหาดังกล่าวรวมถึงการทรมานพลเมืองสเปน 94 กระทง การลอบสังหารนายคาร์เมโล โซเรียนักการทูตชาวสเปนในปี 2518 และการสมรู้ร่วมคิดในการทรมาน
ซึ่งเขาถูกจับกุมที่อังกฤษ และถูกกักบริเวณในบ้าน แม้ว่าท้ายที่สุดรัฐบาลอังกฤษจะปฏิเสธคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ด้วยการอ้างภูมิคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีต่างๆ แต่เมื่อเดินทางกลับมาชิลี แม้จะมีผู้สนับสนุนเขาอยู่ แต่ก็มีผู้ที่พยายามฟ้องร้องเขาจากคดีต่างๆ อีก ทั้งช้อหาลักพาตัวประชาชน 75 คน ในคดี Caravan of Death หรือการลอบสังหารนายพลคาร์ลอส แพรตส์ และอีกมากมาย ซึ่งแม้จะโดนระงับคดี หรือถูกติดสินด้วยอาการสมองเสื่อม ทั้งช่วง ปี 2004 ศาลชิลีจะเปิดการสอบสวนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการเงินของ Pinochet เป็นครั้งแรกในข้อกล่าวหาเรื่องการฉ้อโกง การยักยอกเงิน และการติดสินบน
แม้เขาจะเสียชีวิตลงในปี 2006 โดยที่ไม่ได้ถูกตัดสินโทษใดๆ แต่ช่วงวาระสุดท้ายชีวิตของปิโนเชต์ เต็มไปด้วยการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งการจับกุมปิโนเชต์ และการฟ้องร้องของสเปน ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบอบความยุติธรรมระหว่างประเทศด้วย และยังนับเป็นครั้งแรกที่ผู้พิพากษาใช้หลักการของเขตอำนาจศาลสากล โดยประกาศว่าตนเองมีความสามารถในการตัดสินอาชญากรรมที่กระทำในประเทศโดยอดีตประมุขแห่งรัฐ การมีอยู่ของกฎหมายนิรโทษกรรมในท้องถิ่น
เยอรมนี – การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี ในช่วงปี 1941-1945
ถือเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ความสูญเสีย ที่ยังส่งผลมาถึงปัจจุบัน กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี ในช่วงปี 1941-1945 ที่ทำให้มีชาวยิวถูกสังหารไปมากถึง 6 ปี ภายใต้การนำของผู้นำอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ยุติลงด้วยการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ของเยอรมนี ได้มีการตั้งศาลทหารระหว่างประเทศ ที่เมืองนูเรมเบิร์ก หรือที่เรียกว่า การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
แม้ว่าผู้นำคนสำคัญอย่างฮิตเลอร์ และผู้นำพรรคนาซีบางคน จะกระทำอัตวินิบาตกรรมไปแล้ว แต่ผู้นำคนอื่นๆ ก็ได้ถูกพาตัวเข้าสู่กระบวนการ ทั้งเจ้าหน้าที่ของพรรคนาซี นายทหารระดับสูง นักกฎหมาย และแพทย์แบ่งเป็น การพิจารณาคดีของอาชญากรสงครามรายใหญ่ (1945–1946) ซึ่งเป็นการตัดสิน 24 อาชญากรสงครามคนสำคัญ (2 ใน 24 ราย ทำการอัตวินิบาตกรรมไปแล้ว) ที่สุดท้ายถูกตัดสินคดีในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่มีทั้งโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ, จำคุกตลอดชีวิต, จำคุกตามระยะเวลาต่างๆ และถูกปล่อยตัว
และการการพิจารณาคดีของอาชญากรสงครามรายย่อย (1946-1949) ซึ่งมีทั้งแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ผู้พิพากษา นักกฎหมาย กว่า 185 รายที่ถูกดำเนินคดี
ทั้งล่าสุดเอง แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมาแล้วกว่าเกือบ 80 ปี แต่นอกจากผู้นำ นักการเมืองสำคัญในช่วงนาซี อย่างอดีตการ์ดนาซีเอสเอส หรือชุทซ์ชตัฟเฟิล ก็ถูกขึ้นศาล ดำเนินคดีด้วย แม้ว่าจะมีอายุกว่า 100 ปีแล้ว ในข้อหามีส่วนร่วมในการฆ่าผู้คนไปกว่า 3 พันราย หรืออย่าง อดีตเลขาธิการหน่วย SS วัย 96 ปี ที่ถูกพบตัว ก็กำลังถูกนำมาดำเนินคดีเช่นกัน
บอสเนีย – สงครามบอสเนีย ปี 1992-1995
สงครามบอสเนีย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1992-1995 มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 1 แสนราย ซึ่งเริ่มจากการเป็นสงครามความขัดแย้งชาติพันธุ์ระหว่างชาวโครแอตที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก ชาวเซิร์บที่นับถือคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ และชาวบอสนีแอกซึ่งเป็นชาวมุสลิม ที่ต่างต้องการแยกตัวเป็นอิสระ ซึ่งสุดท้ายนอกจากสงครามกลางเมือง ยังมีการเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยกองทัพชาวเซิร์บ และชาวโครแอต ต่างก็ได้สังหารหมู่ชาวบอสนีแอก
การสังหารหมู่ที่ใหญ่ที่สุด คือเหตุสังหารเด็กและชายชาวบอสเนีย 8 พันราย ที่ในจำนวนนี้ ราว 500 คนมีอายุน้อยกว่า 18 ปี ที่ ตีและเหตุการณ์นี้ยังถูกนำขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศในอดีตยูโกสลาเวีย โดยสุดท้ายศาลระหว่างประเทศ ตัดสินโทษ ผู้บัญชาการทหาร ผู้บัญชาการค่ายกักกัน และนักการเมืองหลายคน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บางคนโดนโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตามระยะเวลาต่างๆ
หนึ่งในนั้นคือ รัตโก มลาดิช ผู้นำกองกำลังในการสังหารหมู่ชาวบอสนีแอก ที่ถูกตัดสินโทษ 10 ใน 11 ข้อหา ฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บอสเนีย และแม้จะมีความพยายามโต้แย้งการตัดสินว่า เป็นเหตุจำเป็นด้วย แต่สุดท้ายศาลก็ยืนยันที่จะตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต
กัมพูชา – การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุคเขมรแดง เมื่อปี 1975-1979
เหตุการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุคเขมรแดง เมื่อปี 1975-1979 ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่โหดร้ายมาก ซึ่งในช่วงนั้น มีประชาชนมากกว่า มีผู้เสียชีวิต 1.5–2 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประเทศที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้
ภายหลัง ได้มีการพยายามนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยมีศาลพิเศษของสหประชาชาติที่จัดตั้งขึ้นมาพิจารณาคดีแกนนำกลุ่มเขมรแดง ซึ่งล่าสุดในปี 2018 อดีตแกนนำกลุ่มเขมรแดง 2 ราย อย่างนวลเจีย และเขียว สัมพันธ์ ก็ถูกตัดสินความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ทั้ง 2 คน กระทำต่อชนกลุ่มน้อยชาวจาม และคนที่มีเชื้อสายเวียดนาม ในกัมพูชา ซึ่งคดีนี้ยังมีอดีตแกนนำกลุ่มเขมรแดงอีก 2 คนถูกดำเนินคดีด้วย แต่เสียชีวิตไปเสียก่อน ทั้งตาม็อก และเอียง สารี ส่วนพล พต แกนนำหมายเลขหนึ่งของกลุ่มเขมรแดง เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1998 แล้ว
หลังทราบผลการตัดสินคดีนี้ ชาวกัมพูชาหลายคนให้สัมภาษณ์ว่า ความสำคัญของคดีนี้ไม่ได้อยู่ที่ 2 อดีตกลุ่มเขมรแดงถูกลงโทษฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือถูกให้จำคุกตลอดชีวิต แต่อยู่ที่มีคนผิดถูกลงโทษต่างหาก
ก่อนหน้านี้ ทั้งนวล เจีย และเขียว สัมพันธ์ ต่างก็อยู่ระหว่างรับโทษจำคุกตลอดชีวิตในอีกคดีหนึ่ง จากความผิดฐาน ‘กระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ ด้วย ซึ่งไม่เพียงแค่แกนนำเท่านั้นที่ถูกตัดสิน แต่ผู้ที่มีบทบาทอย่าง เจ้าหน้าที่อาวุโส ผู้คุมคุกตวลสเลง ก็ถูกศาลพิเศษนี้ตัดสินว่ามีความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และถูกจำคุกตลอดชีวิตด้วย เช่นกัน