เป็นไปได้จริงๆ หรือที่เราจะไม่รู้จักสัญลักษณ์ธงนาซี ไม่รู้ว่าธงนั้นหมายถึงอะไร นาซีคืออะไร และความรุนแรงต่อมนุษยชาติมันรุนแรงเพียงใด ทั้งๆ ที่เป็นความรู้รอบตัว ที่ต่อให้การศึกษาดูจะล้มเหลวแค่ไหนก็คงไม่ใช่แพะรับบาปให้กับการที่ใครสักคนนึงจะทำท่าฮิตเลอร์ สวมเสื้อหรือประดับสวัสดิกะนาซี อย่างน้อยเรื่องแบบนี้น่าจะถูกปลูกฝังอยู่ในสามัญสำนึกไปแล้ว ผ่านสื่อ ผ่าน pop culture ผ่านดราม่า ผ่านหูผ่านตา
ดังนั้นเมื่อใครสักคนที่ได้รับการสถาปนาเป็นไอดอลแล้วใส่เสื้อลายธงนาซี จึงเป็นเรื่องที่ถูกประณามโดยไม่ต้องสงสัย
เอาเป็นว่าทุกวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาของทุกปี คือวันรำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสากล International Holocaust Remembrance Day ตั้งแต่ในสมัยนาซีเยอรมนีไปจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น รวันดาในปี 1994 ที่ชาวตุดซีเกือบล้านคนถูกชาวฮูตูฆ่าตาย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง การล้างชาติสเรเบรนีตซา การสังหารหมู่ในซูดาน โดยหมุดหมายเอาวันที่ 27 มกราคม ก็เพราะเมื่อปี 1945 วันนี้นักโทษของนาซีได้รับการปล่อยตัวออกจากเอาช์วิทซ์-เบียร์เคอเนา (Auschwitz-Birkenau) ซึ่งเป็นศูนย์ค่ายกักกันและสังหารขนาดใหญ่ของนาซี
เนื่องจากในยุคไรช์สาม (Third Reich) ปี 1933-1945 ภายใต้รัฐเผด็จการอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทั่วทั้งเยอรมนีมีค่ายกักกันบุคคลที่รัฐไม่ปรารถนาเต็มไปหมด สถานที่เพื่อจับคนมาทรมานสังหารและมาทดลองทางการแพทย์อย่างไร้มนุษยธรรม เช่น การให้ติดเชื้อมาลาเรีย จับแช่เยือกแข็งเพื่อศึกษาเพื่อวิจัยเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายอันเนื่องมาจากความเย็นจัด หรือแรงกดอากาศด้วยระดับความสูง รวมไปถึงใช้ร่างกายในการทดลองสารเคมี แก๊ส ไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ยาพิษ ไปจนถึงอุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงหลักการทางวิทยาศาสตร์หรือชีวิตของผู้ต้องถูกเข้าร่วมการทดลอง จนนำไปสู่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตการตายจำนวนมาก[1]
และเนื่องจากรัฐนาซีต้องการเพิ่มอัตราประชากรเยอรมันเลือดบริสุทธิ์ คนรักเพศเดียวกันจึงถูกตีตราว่าเป็นตัวบั่นทอนความเจริญของชาติ และถูกกล่าวโทษว่าเกิดจากชาวยิวผู้ซึ่งแสวงหาทางทำลายเชื้อชาติอารยันด้วยชีวิตทางเพศที่เบี่ยงเบน และยุคไวมาร์คือความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมและความฟอนเฟะของสังคมเยอรมัน[2]
เยอรมนีก่อนหน้านั้นเป็นดินแดนที่รุ่มรวยไปด้วยอัตลักษณ์วัฒนธรรมย่อยของเพศที่หลากหลายตั้งแต่ทศวรรษ 1850
บรรดานักวิชาการ นักเคลื่อนไหว นักเขียน และแพทย์ ก็ต่างเพียรศึกษาและเผยแพร่ข่าวสารความรู้เพื่ออธิบายอัตลักษณ์คนรักเพศเดียวกันและข้ามเพศ มีการก่อตั้งสถาบันเพศพิทยา (the Institute of Sexual Science) เพื่อรวบรวมเผยแพร่งานวิชาการนวัตกรรมเพื่อสุขภาวะทางเพศ เช่น วิทยาการแปลงเพศและตู้อบทารกเพื่อผู้แปลงเพศ
แม้ว่าจะมี Sodomy law ประมวลกฎหมายอาญามาตรา175 ที่บัญญัติให้รักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมตั้งแต่ ค.ศ. 1871 ในอาณาจักรเยอรมัน (German Reich) หากแต่ก็ไม่ได้ใช้ดำเนินคดีอะไร เป็นแต่เพียงเครื่องมือข่มขู่กรรโชก แบล็กเมลกันมากกว่า เช่น เจ้าหน้าที่รัฐใช้ข่มขู่ผู้ค้าบริการทางเพศ หรือผู้ขายผู้ซื้อข่มขู่กันเอง
ธุรกิจชายขายบริการทางเพศทำให้เบอร์ลินมีสีสัน เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็สนับสนุนการจัดแบ่งเขตสำหรับเกย์เพื่อความสะดวกในการรักษาความปลอดภัยและภูมิทัศน์ นิตยสารหนังสือโป๊เกย์ก็ขายเกลื่อนแผงตามท้องถนน ทว่าบาร์ ร้านอาหาร และสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกสงสัยว่าเป็นมิตรกับความหลากหลายทางเพศถูกพรรคนาซีสั่งปิด ตู้อบทารกเพื่อผู้แปลงเพศถูกเผาทำลายรวมทั้งไปพร้อมกับอวสานยุคสาธารณะรัฐไวมาร์[3]
หลังปี 1933 ภายใต้รัฐเผด็จการฮิตเลอร์เปรียบเสมือน ‘ยุคมืด’ ของ LGBT ที่ต่างต้องอาศัยร่วมกับความหวาดกลัวและต้องหลบซ่อนเพศวิถีของตนเองภายใต้การกดดันอย่างต่อเนื่อง กฎหมายมาตรา 175 กลายเป็นกฎหมายโหดถูกใช้เป็นอาวุธในการกำจัดคนรักเพศเดียวกันและถูกตีความได้อย่างอำเภอใจว่าใครจะเป็นคนรักเพศเดียวกันก็ได้ เพื่อจำกัดปราบปราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกย์และหญิงข้ามเพศ ที่กลายเป็นเพศสภาพเพศวิถีซึ่งก็คือเป้าหมายหลักของพรรคนาซีในการสังหารหมู่ เพราะถูกมองว่าเป็นภัยสั่นคลอนอำนาจพรรคมากกว่าหญิงรักเพศเดียวกัน แม้แต่สมาชิกพรรคที่รักเพศเดียวกันจำนวนมากก็ถูกสังหาร
อย่างไรก็ตามก็มีความพยายามต่อต้านท้าทายอำนาจด้วยการเคลื่อนไหว แสวงหาเครือข่ายคนรักเพศเดียวกันอยู่บ้าง มีการเปิด Literary Salon ตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 1937 ในบ้านของ Richard Schultz นักขับเคลื่อนสิทธิคนรักเพศเดียวกันในไวมาร์ ใช้เป็นที่ปรึกษาหารือพยายามปกป้องคนรักเพศเดียวกัน
ตลอดช่วงนาซีเรืองอำนาจ มีผู้ถูกจับกุมในข้อหารักเพศเดียวกันประมาณ 100,000 คน และ 50,000 คนถูกพิพากษาลงโทษ ส่วนมากถูกขังคุก ประมาณ 5,000-15,000 ถูกส่งไปอยู่ค่ายกักกันและค่ายกำจัด คนรักเพศเดียวกันและเกย์ผู้ต้องสงสัยตายเป็นจำนวนมหาศาล ด้วยความทรมานจากความหิวโหย ความเจ็บป่วย หรือการทรมาทรกรรมต่างๆ นานาอย่างอำมหิต ชายรักชายบางคนถูกทุบตี ข่มขืน สอดใส่ทวารหนักด้วยท่อนไม้ ถูกบังคับให้ร่วมเพศกับทาสผู้หญิงเพื่อเป็นการรักษา บางคนถึงกับถูกจับแก้ผ้าแล้วปล่อยให้ฝูงหมาเยอรมันเชเพิร์ดขย้ำจนตาย
นี่ยังไม่รวมผู้ที่ถูกกักกันด้วยกันเองที่เป็น homophobic จ้องจะทำร้าย
เช่นเดียวกับทาสทุกคนในค่ายกักกัน เกย์และกะเทยต้องสวมยูนิฟอร์มมีเครื่องหมายเพื่อระบุชนิดประเภทของนักโทษ เช่น นักโทษการเมือง ผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย สังคมนิยม อนาธิปไตย คอมมิวนิสต์ ผู้สนับสนุนสหภาพแรงงาน และผู้ให้ความช่วยเหลือชาวยิว ที่จะมีเครื่องหมายเป็นสามเหลี่ยมสีแดงที่เสื้อ ส่วนผู้ป่วยทางจิต คนขายบริการทางเพศ คนติดเหล้าสารเสพติดให้โทษ ขอทาน คนไร้บ้าน ชาวโรมาหรือยิปซีใช้สามเหลี่ยมสีดำ
สำหรับเกย์กะเทยใช้เครื่องหมายรูปสามเหลี่ยมสีชมพู
แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อนาซีเยอรมนีล่มสลายไปพร้อมกับการแพ้สงครามในปี1945 นักโทษในค่ายกักกันได้รับการปลดปล่อย เว้นเสียแต่คนรักเพศเดียวกัน ซ้ำยังบังคับใช้มาตรา 175 เต็มอัตราโทษ และในปี 1949 เบอร์ลินก็ถูกผ่าออกเป็นเยอรมนีตะวันตก (FRG) กับเยอรมนีตะวันออก (GDR) ทั้ง 2 คู่ก็ยังสมาทานกฎหมายนี้มาใช้ และเมื่อ GDR ปฏิรูปศีลธรรมสร้างรากฐานสาธารณรัฐสังคมนิยมที่เข้มแข็งได้อธิบายว่าการรักเพศเดียวกันขัดต่อศีลธรรมอันดีและสุขภาพประชาชนผู้เป็นแรงงานสำคัญ และเป็นกิจกรรมทางเพศของกากเดนเศษซากของพวกกระฎุมพี และความอ่อนแอทางศีลธรรมที่จะสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐและสังคม[4] มีคนรักเพศเดียวกันถูกพิพากษา แต่บทลงโทษก็เบากว่าสมัยนาซี กฎหมายนี้ต่อมาถูกยกเลิกไปในปี 1968 แต่ไม่บังคับใช้แล้วตั้งแต่ 1957 ซึ่งถือว่าก้าวหน้ากว่า FRG ที่มาตรานี้ยังคงบัญญัติอยู่จนถึง 1969 จึงยกเลิกไปหลังจากได้รับอิทธิพลสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและต่อต้านสงครามในยุค 60s
บาดแผลและความทรงจำร่วมถึงการลงโทษประหัตประหารคนรักเพศเดียวกันนี้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนรักเพศเดียวกันตั้งแต่ต้นยุค 70s ทั้งในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาเริ่มรวบรวมสะสมเอกสาร จดหมายเหตุ งานวิจัยและประวัติศาสตร์มุขปาฐะของคนรักเพศเดียวกัน และมีการนำสัญลักษณ์สามเหลี่ยมชมพูกลับหัวของทาสเชลยเกย์ในค่ายของนาซีมาใช้เป็นสัญลักษณ์ร่วมของ LGBT องค์กรเกย์เยอรมัน Homosexuelle Aktion Westberlin ได้รณรงค์ให้ใส่เสื้อลายชมพูสามเหลี่ยมนี้เพื่อรำลึกถึงชาวเกย์ที่ตกเป็นเหยื่อนาซี และความเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน นิตยสารเกย์ที่ซานฟรานซิสโก Gay Sunshine และที่โตรอนโต The Body Politic ก็สนับสนุนสัญลักษณ์นี้[5]
แต่หาใช่การนำสัญลักษณ์นาซีมาใช้แบบหน้าซื่อตาใส พวกเขาและเธอนำเครื่องหมายนี้มาใช้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้คนตระหนักถึงความรุนแรงเหี้ยมโหดที่เคยเกิดขึ้นกับชุมชน LGBT ทำความเข้าอกเข้าใจความรู้สึก ไม่ลืมเลือนในฐานะเพื่อนมนุษย์ และกระตุ้นให้ต่อสู้ไม่ยอมจำนนต่อการกดทับ กีดกัน เลือกปฏิบัติติและความรุนแรงโดย homophobia ไม่ว่าจะโดยรัฐหรือใครก็ตาม เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง
แม้สามเหลี่ยมชมพูกลับหัวนี้จะถูกทำให้เป็นเครื่องหมายคนรักเพศเดียวกันสมัยใหม่ อย่างไรก็ตามสัญลักษณ์นี้ก็ถูกมองว่าให้ความสำคัญและตัวตนกับชายรักชายมากกว่าหญิงรักหญิง
ขณะเดียวกัน LGBT ชาวยิว ก็ไม่โอเคนักกับการนำสัญลักษณ์ของนาซีมาใช้ ในปี 1993 นิตยสารเกย์ 10 percent ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การใช้สัญลักษณ์สามเหลี่ยมชมพูนี้ให้เป็นสัญลักษณ์ของเกย์ ทั้งๆ ที่มันเป็นการตอกย้ำการตกเป็นเหยื่อ การถูกทรมานประหัตประหารและสร้างความบาดแผลทางใจ การนำสัญลักษณ์มาใช้เท่ากับมองข้ามละเลยความรู้สึกเหยื่ออย่างแก้ตัวไม่ได้เลย อย่างไรก็ตามผู้อ่านก็ส่งจดหมายมาตอบโต้ชี้แจง[6]
อันที่จริงภายในประเทศไทยเองมีเหตุการณ์ความรุนแรงมากมายให้จดจำ ทว่าถูกทำให้ลืมหรือทำให้ไม่สลักสำคัญ แม้จะไม่รุนแรงเท่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สังหารหมู่ แต่การสังหารเพียงคนคนเดียวด้วยเหตุผล อุดมการณ์ทางการเมือง ชาติพันธุ์ เพศสถานะ ศาสนา ก็โหดร้ายและป่าเถื่อนมากพอที่จะลืมไม่ลง ยิ่งในนามของรัฐด้วยแล้ว ยิ่งสะท้อนถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐตั้งตนเป็นศัตรูกับประชาชน
การฆาตกรรมสุรชัย แซ่ด่าน แล้วผ่าท้องยัดเสาปูนถ่วงแม่น้ำโขง ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานซึ่งไม่ต่างไปจากตอนที่รัฐทำกับหะยีสุหลงเมื่อปี 2497 ไม่ต้องย้อนไปไกลถึงนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือแม้แต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ LGBTQ เช่น กลุ่ม “เสาร์ซาวเอ็ด” ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี 2552 ที่งาน Gay Pride เชียงใหม่ ถูกชาวบ้านจำนวนมากร่วมมือกับทางภาครัฐขัดขวางและใช้ความรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บหลายคน ที่ทุกวันนี้ก็มีใครออกมารับผิดชอบและได้รับการเยียวยา
ซึ่งก็นั่นแหละ เรื่องถูกทำให้ไม่เป็นที่รับรู้สนใจอะไร เป็นเรื่องของคนอื่น ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่สนสี่สนแปดต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1]Proctor, R. N. (1988). Racial hygiene: Medicine under the Nazis. Cambridge, MA: Harvard University Press. ; Spitz, V. (2005). Doctors from Hell. Boulder: Sentient.; Weindling, P. (2005). Nazi medicine and the Nuremberg Trials. Basingstoke: Palgrave Macmillan.
[2] Nicole Loroff. Gender and Sexuality in Nazi Germany. Constellations, Vol 3, No 1 (2011), pp. 49-61.
[3] Beachy, Robert. (2014). Gay Berlin: Birthplace of a Modern Identity. New York : Alfred A. Knopf.
[4] Jennifer V. Evans. (2005). The moral state: Men, mining, and masculinity in the early GDR. German History, 23 (3), 355–370.
[5] Jensen, Erik N . (Jan. – Apr., 2002). The Pink Triangle and Political Consciousness: Gays, Lesbians, and the Memory of Nazi Persecution. Journal of the History of Sexuality, 11 (1/2, Special Issue), pp. 319-349.
[6] Jensen, Erik N . (Jan. – Apr., 2002). The Pink Triangle and Political Consciousness: Gays, Lesbians, and the Memory of Nazi Persecution. Journal of the History of Sexuality, 11 (1/2, Special Issue), pp. 319-349.