แม้คาตาลูญญาจะยึดมั่น ทำประชามติ และประกาศแยกตัวออกจากสเปนอย่างเด็ดเดี่ยวแล้ว แต่ในความเป็นจริง ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ไม่ยอมรับว่า คาตาลูญญาเป็นประเทศใหม่ ทั้งอดีตผู้นำรัฐบาลที่นำการสนับสนุนทำประชามติ ประกาศเอกราช ล้วนก็โดนศาลสเปนตัดสินโทษข้อหากบฏ
เมื่อยังวุ่นวายกันอยู่แบบนี้ อนาคตของคาตาลูญญาจะเป็นอย่างไรต่อไป ยืดเยื้อแบบนี้จะได้เป็นประเทศไหม หรือสุดท้ายก็ต้องยอมถอยหลัง กลับไปรวมเป็นหนึ่งของสเปนอยู่ดี แต่ถึงจะแยกได้ หรือแยกไม่ได้อย่างไร สิ่งที่จะตามมาคงเป็นกระแสการเรียกร้องปกครองตนเองในยุโรป ที่เมื่อรัฐต่างๆ เห็นท่าทีของคาตาลูญญาแล้ว คงอยากขอดื้อดึง แยกประเทศออกมาปกครองตนเองกันบ้าง
The MATTER พูดคุยกับ ผศ.ดร. วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าในทางกฎหมาย เราสามารถยอมรับคาตาลูญญาเป็นประเทศได้หรือไม่ และอนาคตแคว้นนี้จะเป็นอย่างไร รวมถึงจะเกิดกระแสเรียกร้องปกครองตนเองมากขึ้น หรือเกิดประเทศใหม่ๆ มากขึ้นในโลกหรือไม่
The MATTER: ตอนนี้ คาตาลูญญา ประกาศเอกราชฝ่ายเดียว ในทางกฎหมายแล้ว มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะแยกตัว
ดร.วิบูลพงศ์: ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ การที่รัฐใหม่จะแยกตัวไปได้ ต้องมีองค์ประกอบครบบริบูรณ์ 4 ประการ คือ 1) ดินแดน ที่แบ่งแยกออกมาชัดเจน 2) ประชากร ซึ่งมีชาวคาตาลันแล้วแน่นอน 3) รัฐบาล ก็มีอยู่แล้ว และอย่างที่ 4) อำนาจอธิปไตย ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้มีปัญหา ว่าคาตาลูญญามีอำนาจอธิปไตยและมีดินแดนที่แยกออกมาชัดเจนรึเปล่า มันติดตรง 2 ข้อนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าในสมัยดั้งเดิมคาตาลูญญาเคยมีปัญหากับสเปนมาก่อน พูดง่ายๆ ว่าเค้าเป็นชนชาติของเค้าเอง คล้ายๆ กับโรฮิงญา มีภาษาของตนเอง และตอนที่เข้ามาอยู่กับสเปน ก็อาศัยว่าเข้ามาอยู่แบบเป็นเขตเขตหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นอิสระพอสมควร คล้ายๆ กับ พัทยา ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ ทั้งหมด และอันนั้นคือข้อตกลงที่ทำไว้ในรัฐธรรมนูญ หลังจากเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพ
ทีนี้ ในรัฐธรรมนูญยอมให้มีลักษณะของการปกครองตนเอง เช่น มีรัฐบาล หรือสภาของตนเองได้ แต่ไม่ได้กำหนดว่าให้มีการแบ่งแยกโดยการทำประชามติได้ มันจึงเป็นข้อตกลงที่ชัดเจนว่า เคยมีการตกลงเข้าไปอยู่ในสเปน เข้าไปเป็นเขตที่ยอมให้มีอำนาจอิสระ แต่ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางของสเปนและเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
เพราะฉะนั้น ถ้าจะแยกตัวออกไป จะแยกออกไปได้ 2 ทาง คือ 1) การทำสงคราม ถ้าชนะก็แยกออกไปแน่นอน เหมือนที่เกิดทั่วๆ ไป เช่น กรณีของสหรัฐฯ ที่รบชนะและแยกตัวจากอังกฤษ ส่วนทางที่ 2) การลงประชามติ โดยการทำประชามติและชนะเสียงข้างมากโดยชาวสเปนทั้งหมด แต่ประชามติของคาตาลูญญาที่ผ่านมานี้ ไม่ได้ทำโดยชาวสเปนทั้งประเทศ ทั้งยังไม่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด เพราะมีคนมาลงคะแนนเสียงประมาณ 47% เท่านั้น ยังไม่ถึงครึ่ง แม้ว่าผลที่ออกมา จะได้เสียงข้างมาก แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในแคว้น ดังนั้นมันก็ไม่ขาวสะอาดทีเดียว และถึงจะเกินครึ่งจริงๆ มันก็ไม่ใช่ประชามติของประเทศสเปน สุดท้ายแล้วถึงเป็นผลโหวตของทั้งประเทศ ก็ต้องผ่านขั้นตอนสุดท้าย คือให้ศาลตีความยอมรับด้วย เพราะตอนนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้มีการบัญญัติว่า อนุญาตให้แยกตัวออกไปหลังจัดทำประชามติแล้ว
The MATTER: ต่อจากนี้ คาตาลูญญาต้องเผชิญกับความท้าทายอื่นๆ ในกรณีที่ยืดเยื้อแบบนี้ต่อไป และในกรณีที่อาจแยกเป็นประเทศใหม่ได้อย่างไร
ดร.วิบูลพงศ์: อันนี้คือในกรณีสมมตินะ กรณีแรก ถ้ายืดเยื้อแบบนี้ต่อไป แน่นอนว่าเศรษฐกิจก็ต้องแย่ลง เพราะสเปนเป็นส่วนหนึ่งของ EU และบริษัททั้งหลายที่ไปลงทุนในคาตาลูญญา ก็เริ่มมีปัญหาในแง่การติดต่อระหว่างประเทศ ถ้าแคว้นไม่ขึ้นอยู่กับสเปน ก็จะถือว่าแยกตัวออกจาก EU ที่เป็นการรวมตัวกันขนาดใหญ่ของ 28 ประเทศในยุโรป เพราะฉะนั้นการค้าขายระหว่างกัน สิทธิพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี การค้า บริษัทต่างชาติที่ตั้งในแคว้นก็จะไม่ได้รับ และที่ตามมาก็คือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ
ในกรณีที่สอง สมมติว่าแยกตัวไปได้จริงๆ ต้องมีการสมัครเข้าเป็นสมาชิก EU ใหม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการดำเนินการ ต้องรอให้เข้าเป็นสมาชิก ถึงจะได้สิทธิในการติดต่อค้าขาย การทูต หรือทำพาร์สปอร์ตใหม่เพื่อให้ชาวคาตาลันเดินทางไปประเทศอื่นๆ ใน EU ได้ ต้องเริ่มออกเอกสารอะไรหมดทุกอย่าง อันนี้เป็นแค่ข้อสมมติ แต่ตอนนี้อาจารย์ก็มองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะสเปนจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น และประเทศทั้งหลายใน EU ก็จะไม่รับรอง
มีกฎหมายระหว่างประเทศอันนึงที่ระบุว่า ประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ หรือการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเกิดใหม่ ต้องมีการ Recognition of state คือการที่รัฐทั้งหลายที่เป็นรัฐอยู่แล้วให้การยอมรับต่อรัฐใหม่ที่เกิดขึ้น จนมีผลทางกฎหมาย ทีนี้รัฐเก่าทั้งหลายที่เป็นสมาชิก EU ต่างก็เป็นพันธมิตร และมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสเปน พวกนั้นย่อมไม่ยอมรับรัฐใหม่ ตราบใดที่สเปนยังบอกว่าผิดกฎหมาย ทั้งสเปนยังเป็นหนึ่งประเทศที่มี GDP สูงมากใน EU พูดง่ายๆ ว่าเป็นประเทศชั้นนำที่รัฐอื่นๆ ยังต้องพึ่งพา ผลประโยชน์ที่ประเทศเหล่านั้นจะได้รับจากสเปน และคาตาลูญญามันต่างกันมากเลย
The MATTER: ถ้าประกาศเอกราชฝ่ายเดียวไม่ได้ ในการแยกตัวเป็นประเทศใหม่ต้องมีขั้นตอน กระบวนการอย่างไร
การแยกเป็นประเทศมันต้องมาก่อนแล้วกระบวนการยอมรับจะตามมาทีหลัง และการจะแยกออกมาได้ก็ต้องมีองค์ประกอบครบ 4 ประการที่พูดไปข้างต้น คือ ดินแดน ประชากร รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย ถึงจะเกิดเป็นรัฐได้
ปัญหาคือ อำนาจอธิปไตย จะได้มาอย่างไร ถ้าตราบใดที่สเปนยังไม่ให้ และคาตาลูญญายังไม่มีกองทหารที่จะไปรบ และรบชนะ มันจึงต่างจากเมืองอื่นๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้น และรบชนะเมืองขึ้นของตัวเอง แบบนั้นประเทศแม่เค้ายอม ทำให้ได้อำนาจนี้มา ฉะนั้น ในเชิงจิตวิทยาการเมือง ถ้าประเทศอื่นๆ ให้การยอมรับแม้สเปนบอกว่าผิดกฎหมาย ก็จะสร้างปัญหากับรัฐนั้นๆ เอง เพราะในยุโรป มันเป็นการรวมตัวของรัฐทั้งหลาย ไม่เป็นรัฐเดียวเลย ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี หรือฝรั่งเศส มันล้วนจะมีชนชาติต่างๆ ในยุโรปที่กระจายอยู่ในประเทศเหล่านี้ ซึ่งวันใดวันนึง อาจเกิดปัญหาให้รัฐตัวเองทำตามได้ เช่น อย่างในตุรกี ก็มีชาวเติร์ก หรือเชื้อชาติอื่นอยู่ในยุโรปมากมาย ปัญหาแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้เสมอๆ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะทำให้คนทุกคนสุขสบายเท่าเทียมกัน มันจะมีความน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมา ทำให้เกิดการอยากแยกประเทศได้ อย่างเช่นสก็อตแลนด์เอง ถึงแม้จะมีบัญญัติให้ทำประชามติได้ สุดท้ายก็ยังมีปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย และจริงๆ แล้วสเปนเองก็ยอมให้คาตาลูญญาในระดับนึงอยู่แล้ว ยอมให้มีอำนาจปกครองตนเอง ให้เรียนภาษาท้องถิ่นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
The MATTER: คาตาลูญญาแตกต่างจากเคสอื่นๆ อย่างไร เช่นเซาท์ ซูดานที่แยกออกมาจากซูดาน ก็มีการลงประชามติเหมือนกัน แต่ความแตกต่างคืออะไร
เซาท์ ซูดานนี่เคยเป็นเมืองขึ้นของอียิปต์มาก่อน ทั้งซูดาน และเซาท์ซูดานเอง ก็มีความขัดแย้งกันมาตลอด ถึงแม้ได้รับเอกราชแล้ว ก็ยังมีการทำสงครามระหว่างกัน จนกระทั้งในปี 2005 มีการทำสัญญาสันติภาพระหว่างกัน ซึ่งในสัญญากำหนดไว้ว่า ถ้ามีการทำประชามติ และเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ สามารถให้เซาท์ ซูดานแยกออกไปเป็นประเทศใหม่ได้ มีการตกลงกับฝ่ายกบฏในตอนนั้นไว้ และตอนนั้นผลโหวตก็ออกมาว่าอยากให้แยกมากถึง 98% กรณีนี้จึงแตกต่างกับคาตาลูญญา
คาตาลูญญาจึงต่างจากกรณีอื่นๆ ที่ได้รับอำนาจอธิปไตย อย่างถูกกฎหมาย ตามสัญญาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือทำสงครามเพื่อให้ได้มา และสำคัญที่สุดเลยคือ ดินแดนที่จะแยกตัวออกไป ต้องมีการจัดการธุรกิจกับรัฐเดิมให้เรียบร้อย จนสามารถได้รับเอกราช ถ้าจัดการไม่ได้ ก็ต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการนั้นที่ได้พูดไปแล้ว
อย่างคาตาลูญญา ถ้าไปย้อนดูจริงๆ ก็มีแค่กลุ่มชาตินิยมเท่านั้นเอง ซึ่งไม่ถึง 50% ของแคว้นที่อยากแยก มันไม่ใช่ว่าคนทั้งแคว้นอยากแยก มีไม่ถึงครึ่งเท่านั้น แต่คนกลุ่มนี้ออกมาโวยวายดัง ทำให้คนทั้งโลกคิดไปว่าชาวคาตาลันอยากแยก จริงๆ มันยังมีคนอีกกลุ่มนึง ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เงียบอยู่ในนั้น มันไม่เหมือนอย่างเซาท์ซูดาน ที่ลงมติเกือบ 100% เลย
The MATTER: คาตาลูญญาจะเป็นแบบอย่างให้เกิดประแสแยกตัวมากขึ้นไหม
คิดว่าน่าจะเป็น จริงๆ ตรงนี้มันก็เริ่มมาจากกระแส Brexit แหละ ถ้าถามว่า Brexit นำมาสู่ตรงนี้ไหม อาจารย์ก็จะตอบว่าใช่ แต่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็จะพยายามทำคาตาลูญญาให้เป็นตัวอย่างว่าทำไม่ได้ เพื่อระงับกระแสการแยกตัวในยุโรปไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะว่าถ้าคาตาลูญญาทำได้ จะมีกระแสเกิดขึ้นอีกเยอะในยุโรป และจะสร้างปัญหาให้ EU ทั้งความเข้มแข็ง แข็งแกร่ง และสุดท้าย EU ก็จะแตกสลาย นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ และผู้ลี้ภัยต่างๆ ที่จะเข้ามา
สมมติต่อไปชาวซีเรีย ที่อพยพเข้ามาอยู่ในเยอรมนี อีก 20 ปีต่อมา ตอนนี้เป็นชุมชนชาวซีเรียมาอาศัยความเติบโต ถึงเวลาชาวซีเรียบอกจะขอตั้งเป็นประเทศใหม่ เป็นนอร์ทซีเรีย แยกตัวออกจากเขตของเยอรมนี แบบนี้จะทำยังไง เค้าบอกเค้ามีสิทธินะ เพราะเป็นชาวซีเรีย พูดภาษาซีเรียน นับถือศาสนาอิสลาม ไม่เกี่ยวข้องกับเยอรมนี เมื่ออดีตเคยอพยพมา แต่ตอนนี้แข็งแกร่งแล้ว แบบนี้ก็จะเป็นปัญหาที่ประเทศในยุโรปมองเห็น ทั้งมันจะสร้างปัญหาให้ระบบกฎหมายระหว่างประเทศ และคำว่าอำนาจอธิปไตยของรัฐ กลายเป็นปัญหาของโลก ที่ถ้าชนกลุ่มน้อยไม่พอใจ ขอแยกตัวออกมา มันก็จะมีประเทศเกิดใหม่ตลอดๆ ซึ่งประเทศใหม่ที่เกิดขึ้น ก็ไม่แน่นอนว่าจะสามารถรวมตัวกับรัฐในโลกได้รึเปล่า จะมีศักยภาพพอเอาตัวรอดได้ไหม จะสร้างเป็นปัญหาขึ้นมามากมาย กฎหมายระหว่างประเทศจึงไม่สามารถยอมรับได้ โดยเฉพาะการประกาศเอกราชฝ่ายเดียว
The MATTER: บางประเทศมีกระแสชาตินิยมในท้องถิ่น แต่ไม่ถึงขั้นแยกตัว อำนาจของการปกครองตนเองคืออะไร แตกต่างจากการขอแยกประเทศเลยอย่างไร
ต้องเข้าใจว่า การที่เขาอยู่รวม ข้อดีคือมันทำให้เขาได้ประโยชน์มากกว่า เช่นเวเนโต ในอิตาลี เค้าก็เคยแยกออกไป และกลับมารวมกันใหม่ การรวมทำให้เค้าได้ผลประโยชน์ ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ ความปลอดภัย เพราะถ้ากลายเป็นรัฐของตัวเอง ก็ต้องมีกองทัพเพื่อปกป้องประเทศ การจะสร้างกองทัพก็ต้องมีงบประมาณด้านทหาร ซึ่งงบประมาณที่สูงตรงนี้จะเอามาจากไหน ในเมื่อประชากรมีแค่ล้านกว่าคน มันทำไม่ได้ในแง่ความเป็นจริง เพราะฉะนั้นการอยู่รวมในอิตาลีทำให้เขาใช้งบประมาณของประเทศ อิตาลีก็ต้องปกป้องเวเนโตที่เป็นส่วนหนึ่งในด้านต่างๆ
ขอบเขตปกครองตัวเอง ก็จำกัดแค่ในแคว้น ดูแลกิจการภายในของตนเอง แต่กิจการระหว่างประเทศ การทูตต่างๆ ต้องผ่านประเทศ เขาไม่สามารถทำสนธิสัญญาการค้า เช่นระหว่างคาตาลูญญากับไทย ไม่สามารถทำได้ แต่ในแง่เศรษฐกิจภายในทำได้ กำหนดอัตราภาษีได้ เจรจาการค้าได้
The MATTER: กระแสการแยกประเทศมีมากขึ้นเรื่อยๆ จะกลายเป็นว่าในอนาคตจะมีประเทศเกิดใหม่มากขึ้นไหม
มันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะมันขัดกับผลประโยชน์ของกฎหมายระหว่างประเทศ และการเกิดเป็นประเทศใหม่นั้น ต้องไม่ใช้แค่เกิดใหม่ แยกตัวออกมาอย่างเดียว แต่ต้องอยู่รอดด้วย ต้องดูตัวเอง ไม่ใช่จากแค่กระแสความอยากอย่างเดียว จะอยู่รอดได้ก็ต้องปกป้องรัฐของตัวเองได้ มีกองกำลัง มีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งพอสมควร ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ท้าทาย จะเห็นได้ว่าที่คาตาลูญญาต้องการออก เพราะเค้ามีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีความเจริญด้านนี้ เขาจึงคิดว่าเค้ากล้าออก แต่เค้ายังไม่ได้มองดูเรื่องระบบการป้องกันตัวเอง ว่าจะมีทหาร กองทัพ อย่างไร ทั้งที่สำคัญตอนนี้เค้ายังไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศแม่เลย
Illustration by Namsai Supavong