งานเขียนแนวอาชญนิยาย สืบสวนสอบสวน เป็นงานที่แสนจะชาตรี งานแนวนี้น่าจะเขียนโดยผู้ชาย และอ่านโดยผู้ชาย
วันนี้ (15 กันยายน) เป็นวันเกิดของ อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) เจ้าของฉายาราชินีแห่งงานเขียนแนวสืบสวนสอบสวน นับตั้งแต่ยุคอกาธา คริสตี้ มาจนถึงช่วงสิบปีที่ผ่านมา โลกของอาชญนิยายดูจะเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงทั้งในฐานะผู้อ่านและผู้เขียน จนขนาดที่ว่าจากสมัยก่อนที่ผู้หญิงใช้นามปากกาผู้ชายเพื่อเขียนงาน ล่าสุดนักเขียนชายใช้นามปากกาผู้หญิงเพื่อเขียนงานแนวสืบสวนไปเรียบร้อย
อะไรคือมนต์เสน่ห์ที่ผู้หญิงทำให้งานเขียนที่ดูเป็นดินแดนของผู้ชาย น่าสนใจและเป็นที่นิยมขึ้นมาได้ จากงานเขียนที่เต็มไปด้วยความคูลของตัวละครนักสืบและการใช้เหตุผลอย่างเข้มข้นนับตั้งแต่ดอยล์ มาจนถึงยุคของคริสตี้ ผู้หญิงที่หันมาเล่าเรื่องอาชญากรรมและติดอันดับขายดีมาจนถึงปัจจุบัน
มุมมองของผู้หญิงและการเขียนของผู้หญิงทรงพลังอย่างไรในโลกอาชญากรรม เพราะในโลกของอาชญากรรม ไม่ใช่มีแต่การคิดและใช้เหตุผล
แต่ยังมีมุมมองที่พาเราไปสำรวจผู้คนละสังคมอย่างถี่ถ้วน และมุมมองที่รับรู้ความรู้สึกของการเป็น ‘เหยื่อ’
จากโลกแห่งเหตุของผู้ชาย สู่ดินแดนของผู้หญิง
ย้อนกลับไปในต้นศตวรรษที่ 20 งานเขียนแนวสืบสวนเริ่มต้นโดยนักเขียนชาย เราถือว่า Edgar Allan Poe เป็นผู้ริเริ่มงานแนวสืบสวนสอบสวนจากเรื่องสั้น The Murders in the Rue Morgue หลังจากนั้นเราก็เริ่มรู้จัก Arthur Conan Doyle ซึ่งแน่ล่ะว่าในยุคนั้น โลกของนิยายแนวสืบสวนเป็นเรื่องของผู้ชาย
สิ่งที่งานเขียนแนวสืบสวนยุคแรกของนักเขียนหนุ่มได้วางหมุดหมายไว้มีอยู่สองข้อใหญ่ๆ คือ ตัวละครนักสืบมักมีลักษณะแปลกประหลาด แตกต่างจากคนทั่วๆ ไป เช่น โฮล์มส์เองก็เก็บตัว เมาโคเคนเวลาไม่ได้ออกทำงาน และตัวละครนักสืบที่ประหลาดเหล่านี้ พอลงมือสืบสวนแล้วจะมีความเท่ ความคูล และมีการใช้เหตุผลล้วนๆ ในการคิด วิเคราะห์ เพื่อไขคดี
ความสนุกของงานเขียนสืบสวนในยุคแรก จึงอยู่ตรงที่เราได้เห็นการใช้เหตุผลไขคดีออกเป็นเปลาะๆ—ซึ่งก็เป็นความสุขที่เวรี่ผู้ชายเนอะ โลกของเหตุผลโดยแท้ ไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวพันเลย
ทีนี้ ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เป็นยุคที่เราเรียกว่าเป็นยุคทองของงานสืบสวน ด้วยความนิยมของงานแนวสืบสวน งานแนวสืบสวนเป็นงานที่คนธรรมดาทั่วไปอ่าน Colin Watson นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาวรรณกรรมแนวนี้บอกว่า งานสืบสวนในยุคนั้นเป็นงานแบบที่แม่บ้านจะซื้อกลับไปอ่าน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่อกาธา คริสตี้ หนึ่งในผู้หญิงที่อ่านออกเขียนได้ มาจากครอบครัวนักคิด จะลงมือจับปากกาเขียนงานแนวสืบสวน
ผู้หญิง และความสัมพันธ์กับโลกอาชญากรรมในระดับเลือดเนื้อ
Raymond Chandler นักวิจารณ์คนสำคัญพูดถึงจุดแข็งของงานเขียนของคริสตี้ว่า งานของคริสตี้อาจจะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ข้อเท็จจริงของการฆาตกรรม สิ่งที่งานเขียนของเธอคลี่คลายไม่ใช่แค่คดี แต่เป็นความซับซ้อนของมนุษย์ การไขคดีต่างๆ ทำให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ ถึงเหตุการณ์ทั้งการเป็นผู้ถูกกระทำและการป็นผู้กระทำที่ล้วนแสดงให้เห็นชีวิตและเงื่อนไขต่างๆ ในโลกสมัยใหม่ที่แสนซับซ้อน งานเขียนของเธอให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ เสียงที่สะท้อนและความเป็นไปต่างๆ ของอาชญากรรมอันแปลกประหลาด ซึ่งล้วนสะท้อนก้องมาจากสภาพสังคมของศตวรรษที่ 20 ที่เราอยู่
ลักษณะและงานเขียนที่เริ่มโดยคริสตี้ในฐานะนักเขียนหญิง ดูจะสอดคล้องกับความเฟื่องฟูของผู้หญิงในโลกอาชญนิยายในช่วงปีสิบปีที่ผ่านมานี้ Sam Eades บรรณาธิการสำนักพิมพ์ที่โดดเด่นเรื่องงานแนวอาชญากรรมบอกว่า โดยตัวเลขและแนวโน้มแล้ว ผู้อ่านหลักของงานแนวสืบสวนเป็นผู้หญิง ดังนั้นสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่จึงมักลงทุนกับนักเขียนหญิงเป็นหลัก
การเติบโตของนักเขียนอาชญนิยายหญิงค่อยๆ เฟื่องฟูขึ้นหลังช่วงปี 2008 หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มตกต่ำ ปัญหาสังคมเริ่มเพิ่มพูนขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์หลัง 9/11 ที่ทำให้ระเบียบสังคมโลกเริ่มสั่นคลอน ความรู้สึกของเราต่อความปลอดภัยในชีวิตเริ่มเปลี่ยนแปลงไป
งานเขียนแนวอาชญนิยายของผู้หญิงมักเป็นงานที่สำรวจลึกเข้าไปในจิตใจ เราจะเริ่มเห็นงานอาชญากรรมที่เป็นตระกูล The Girl… มากขึ้นเรื่อยๆ Laura Lippman พูดถึงงานอาชญากรรมจากมุมมองของผู้หญิงว่า ผู้หญิงไม่ได้รับรู้ถึงอาชญากรรมในแบบที่ผู้ชายรับรู้ พวกเธอสัมผัสและซึมซับอาชญากรรมและการคุกคามได้จากส่วนลึกของตัวเอง การถูกคุกคามนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว เป็นความรู้สึกที่เธอรับรู้ได้จากการเดินบนถนนในเวลากลางคืน ความสงสัยถึงความปลอดภัย และเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเปลี่ยนเหยื่อเป็นมือสังหาร
พวกเธอรับรู้ความรู้สึกสำคัญในโลกอาชญากรรมอย่างหนึ่งได้เป็นอย่างดี ความรู้สึกของการเป็น ‘เหยื่อ’
ในระยะเวลากว่าร้อยปีที่ผู้หญิงเล่าเรื่องราวอาชญากรรม ดูเหมือนว่าความนิยมและความเฟื่องฟูไปจนถึงเนื้อหาของงานแนวสืบสวนในมือของผู้หญิงจะมีลักษณะที่สืบเนื่องต่อกันมา จากความสนุกที่เราเห็นฮีโร่นักไขคดีของเราไขคดีด้วยเหตุผลที่น่าเหลือเชื่อ มาสู่โลกอาชญากรรมที่พาเราไปสำรวจจิตใจและความรู้สึก งานเขียนในยุคหลังของผู้หญิงเลิกให้ความสำคัญกับการเป็นฮีโร่ และมุ่งพาเราเข้าไปยังจิตใจอันสลับซ้อนของมนุษย์
ในโลก เรา—ที่ไม่ว่าเพศไหน ต่างรับรู้ถึงบรรยากาศบางอย่างของสังคม สัมผัสได้ถึงจิตใจที่บางครั้งถูกผลักที่เหวของความถูกต้องและความผิดพลาด ในโลกที่เราต่างเข้าใจว่าไม่มีฮีโร่อีกต่อไป ทั้งหมดนี้คงไม่แปลกที่งานเขียนซึ่งพาเรากลับไปสำรวจและคลี่คลายความซับซ้อนเปราะบางเหล่านั้นจะได้รับความนิยม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Waragorn Keeranan