ฟังชื่อบทความแล้วอาจจะเผลอคิดว่า Getsunova ออกเพลงใหม่ แต่นักการเมืองที่(ทำตัว)ไม่เป็นนักการเมืองนั้นมีอยู่จริง และหลายคนอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่านักการเมืองที่เราชื่นชอบกำลังมีภาพลักษณ์คล้ายเพลง Getsunova
แน่นอนว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วแวดวงการเมืองและวงการวิชาการ เกิดขึ้นอะไรกันแน่กับระบอบการเมืองในปัจจุบัน ทำไมนักการเมืองต่างพากันทำตัวไม่เป็นนักการเมืองกันมากขึ้น
บทความนี้จะพาไปสำรวจจุดกำเนิดของปรากฏการณ์ทางการเมืองอันชวนสับสนนี้ ซึ่งกลายเป็นกระแสให้นักการเมืองทั่วโลกหันมาทำตัวไม่เป็นนักการเมืองมากขึ้น และส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองและภาพลักษณ์ของนักการเมืองในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
celebrity politician คืออะไร?
นักการเมืองที่(ทำตัว)ไม่เป็นนักการเมือง หรือดารานักการเมือง (celebrity politician) ในทางวิชาการเบื้องต้น หมายถึง นักการเมืองที่ผันตัวเองจากวงการบันเทิงมาสู่สนามการเมือง ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในโลกปัจจุบัน คือ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้มีบุคลิกท่าทางและฝีปากอันโดดเด่น จนใครหลายคนมักจะนำมาล้อเลียนอยู่เสมอ (โดยเฉพาะทรงผมอันสลวยสวยเก๋ของเขา) เขาคือหนึ่งในบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่สุดในปัจจุบัน และบุคคลที่ทำให้ทั้งโลกต้องขวัญผวามาแล้ว จากเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ได้ใช้โดรนโจมตีนายพลคนสำคัญของอิหร่าน จนหลายคนกลัวว่าจะกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3
ทรัมป์คนเดียวกันนี้ คือ อดีตพิธีกรฝีปากกล้าชื่อดังจากรายการเรียลลิตี้โชว์ อย่าง ‘The Apprentice’ และเจ้าของลิขสิทธิ์การประกวดนางงามจักรวาลที่โด่งดังไปทั่วโลก เท่ากับว่าทรัมป์มีชื่อเสียงอย่างมากมาก่อนในอุตสาหกรรมบันเทิง ก่อนที่เขาจะตัดสินใจหันมาลงเล่นการเมืองภายใต้สังกัดพรรคริพับลิกัน และได้รับชัยชนะในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2017
การผันตัวเองจากวงการบันเทิงมาสู่สนามการเมืองของทรัมป์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงการเมืองแต่อย่างใด ในอดีตก็มีนักการเมืองจำนวนหนึ่งอาศัยชื่อเสียงจากวงการบันเทิง ในการช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จทางการเมืองและความนิยมมากขึ้น ตัวอย่างที่พวกเรารู้จักกันดี ได้แก่ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) อดีตนักแสดงชื่อดังและผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย และ โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) อดีตผู้ประกาศข่าว นักแสดง และประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 40 แน่นอนว่า ความสำเร็จทางด้านการเมืองและความนิยมที่พวกเขาได้รับนั้น ทำให้เหล่านักวิชาการในแวดวงรัฐศาสตร์และสื่อสารมวลชน หันมาให้ความสนใจและให้คำนิยามนักการเมืองเหล่านี้ ว่า “celebrity politician” หรือ “ดารานักการเมือง”
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน คำนิยามของ ‘ดารานักการเมือง’ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักการเมืองที่ผันตัวมาจากวงการบันเทิงเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงนักการเมืองที่ทำตัวไม่เป็นนักการเมืองด้วยเช่นกัน
อ้าว แล้วถ้าไม่ทำตัวเป็นนักการเมือง แล้วนักการเมืองพวกนี้ทำตัวเหมือนใครกันแน่
คำตอบคือ พวกเราคนธรรมดาทั่วไปนี่แหละ ที่นักการเมืองเหล่านี้กำลังพยายามเลียนแบบกันอยู่ เนื่องจากพวกเขาเริ่มตระหนักดีว่า ยิ่งพวกเขาสามารถเป็นคนธรรมดาได้มากเท่าไหร่ พวกเขาจะยิ่งสามารถใกล้ชิด และชนะใจประชาชนได้มากขึ้นเท่านั้น
จุดกำเนิดความสับสน
ในอดีต หากพูดถึง ‘นักการเมือง’ ขึ้นมา เชื่อว่าใครหลายคนอาจจะนึกถึงนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ของคนสูงอายุ พูดจาเคร่งเครียด (แถมไม่รู้เรื่อง) และทำตัวห่างไกลจากประชาชน ซึ่งทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่อง ‘ซีเรียส’ เข้าถึงยาก และไม่ชวนให้บันเทิงใจเอาเสียเลย จนกระทั่ง บารัค โอบามา (Barack Obama) ได้รับชัยชนะในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2008 ภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่เราเคยคุ้นเคย และบรรยากาศการเมืองทั่วโลกก็เปลี่ยนแปลงไป
ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง โอบามาได้ริเริ่มใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารและเผยแพร่นโยบายทางการเมือง ด้วยจุดประสงค์ที่ว่า เขาไม่ต้องการพึ่งพานักข่าวและสื่อกระแสหลักในการสื่อสารกับประชาชนอีกต่อไป เขาจึงสามารถสื่อสารกับประชาชนได้โดยตรง และทำให้ประชาชนเริ่มรู้สึกใกล้ชิดกับเขามากขึ้น นอกจากนี้ เขายังได้ปรับภาพลักษณ์ของนักการเมืองครั้งใหญ่ โดยการนำเสนอบุคลิก ท่าทาง ลักษณะการพูดที่เป็นกันเอง มาดึงดูดความสนใจจากสื่อกระแสหลักและประชาชนได้สำเร็จ
โอบามาจึงมีภาพลักษณ์ที่เป็นมิตร โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และแหวกแนวจากรูปแบบนักการเมืองเดิมที่หลายคนคุ้นเคย ต่อมา ความสำเร็จของเขาก็ได้กลายเป็นต้นแบบใหม่ให้กับนักการเมืองชื่อดังมากมายมาปรับใช้ และพัฒนาในแบบของตนเองจนประสบความสำเร็จทางด้านการเมืองและความนิยมอย่างท่วมท้น
นอกจากนี้ นักวิชาการหลายคนได้ชี้ว่า ความเบื่อหน่ายทางการเมือง หรือ ‘anti-politics’ ได้ส่งผลให้นักการเมืองต้องปรับตัวให้กับบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไป พวกเขาจึงต้องสรรหาวิธีและภาพลักษณ์ใหม่ที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถกลับมาดึงดูดความสนใจจากประชาชนได้อีกครั้ง หลังจากที่ภาพลักษณ์ของการเมืองและนักการเมืองรูปแบบเก่า ถูกมองว่าล้าหลัง เชื่องช้า และไม่ใส่ใจประชาชนอย่างแท้จริง
การเติบโตของดารานักการเมืองประเภทนี้เกิดขึ้นด้วยพลังของโซเชียลมีเดียและความเบื่อหน่ายของประชาชน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ที่เริ่มเบื่อหน่ายกับการเมืองและนักการเมืองรูปแบบเดิม ดังนั้น นักการเมืองที่ต้องการฐานเสียงจากกลุ่มคนเหล่านี้ จึงต้องแข่งกันอย่างหนัก เพื่อแย่งชิงพื้นที่สื่อและความสนใจจากประชาชน นอกจากนี้ พวกเขาต้องการสร้างความโดดเด่นให้กับตนเอง ต้องการเป็นนักการเมือง ‘รุ่นใหม่’ ที่แสดงถึงความใส่ใจและใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น เพื่อให้หลุดออกจากกรอบความเป็นนักการเมืองรุ่นเก่า (ที่หลายคนชิงชัง) โดยวิธีที่จะทำให้พวกเขาแตกต่างจากนักการเมืองรุ่นเก่าก็คือ การสร้างภาพลักษณ์ของตนเองให้ห่างไกลจากความเป็นนักการเมืองมากที่สุด ซึ่งหมายความว่า ยิ่งแสดงความเป็นคนธรรมดามากเท่าไหร่ ยิ่งเข้าถึงผู้คนมากขึ้นเท่านั้น (More everyday, more normal, more ordinary, more accessible)
นักการเมืองชื่อดัง อย่าง บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ซาราห์ เพลิน (Sarah Palin) หรือแม้แต่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต่างก็ใช้วิธีนี้ในการสร้างภาพลักษณ์ของตนเอง ด้วยการแชร์เรื่องราว-ความรู้สึกของตนเองลงโซเชียลมีเดีย การร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ที่ทุกคนสนใจในขณะนั้น หรือแม้แต่การมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนบนพื้นที่โซเชียลมีเดียและพื้นที่สาธารณะ เพื่อสร้างความรู้สึกใกล้ชิดและความสนิทสนมกับประชาชน ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพวกเขาจะพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นคนธรรมดามากแค่ไหน พวกเขาก็ยังคงต้องการเป็นจุดสนใจอยู่เสมอ หลายครั้งพวกเขาจึงต้องพึ่งพาเทคนิคที่เหล่าดารานักการเมือง (ในความหมายเดิม) มาใช้ในการดึงดูดความสนใจจากสื่อและประชาชนอยู่ดี เช่น การออกรายการเรียลลิตี้โชว์ หรือการให้สัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ
ดาบสองคม
แม้ว่าการปรากฏขึ้นของเหล่าดารานักการเมือง (ในความหมายใหม่) จะทำให้ผู้คนหันกลับมาสนใจการเมืองอีกครั้ง แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ได้สร้างข้อถกเถียงมากมายในแวดวงการเมืองและวงการวิชาการ โดยเฉพาะประเด็นการทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องบุคคล (personalisation) มากกว่าเรื่องของนโยบาย อุดมการณ์ และพรรคการเมือง
การแย่งชิงพื้นที่สื่อและการแข่งขันเพื่อให้ภาพลักษณ์ของตนเองเป็น ‘คนธรรมดา’ มากที่สุด ส่งผลให้นักการเมืองจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตนเองมากกว่านโยบายทางการเมือง ซึ่งนักวิชาการหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า การที่นักการเมืองยังคงให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ทางการเมืองโดยใช้ทักษะการสื่อสารจากอุตสาหกรรมบันเทิงคอยช่วยเหลือ จะส่งผลร้ายต่อระบอบและบรรยากาศทางการเมืองอย่างสาหัส เพราะนักการเมืองเหล่านี้จะไม่มีโอกาสพัฒนาทักษะทางการเมืองที่จำเป็น และจะค่อย ๆ ผลักไสนักการเมืองที่มีความสามารถ แต่ไม่อาจแข่งขันเพื่อแย่งชิงพื้นที่สื่อให้ออกไปจากสนามการเมืองได้ อีกทั้งลดความสำคัญของอุดมการณ์และพรรคการเมืองลงอีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อการแข่งขันภาพลักษณ์ทางการเมืองกลายเป็นเรื่องบันเทิงรายวัน สื่อมวลชนจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในการนำเสนอภาพลักษณ์ของเหล่าดารานักการเมืองให้ประชาชนได้รับรู้และร่วมแสดงความคิดเห็น หลายครั้งที่เราจะพบเห็นพาดหัวและเนื้อหาข่าว รายงานเกี่ยวกับสิ่งที่ดารานักการเมืองเหล่านี้ แสดงออกบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ เรื่องราว หรือแม้แต่ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น การรายงานข่าวลักษณะนี้ นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ทางการเมืองอันใดแล้ว จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนออกจากประเด็นทางการเมืองอีกด้วย
ท่ามกลางความนิยมของดารานักการเมืองในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พวกเขาได้กลายเป็นตัวละครสำคัญที่คอยขับเคลื่อนการเมืองโลก และกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของนักการเมืองไปแล้ว