ปัญหาเรื่องการศึกษา เป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกมาพูดเสมอๆ ในสังคมไทย ทั้งด้วยความกังวลในตัวนักเรียน ตัวครูผู้สอน หลักสูตร ไปจนถึงระบบ และเมื่ออาจารย์ได้พูดผ่านวีดีโอคลิปสั้น เพื่อชวนผู้คนในโซเชียลมีเดียมาแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาการศึกษาไทย ผ่าน #ChangeEduTH เกือบ 4 แสน ทวิต ภายในระยะเวลา 4 วัน แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวสำหรับทุกคน
The MATTER คุยกับ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ริเริ่มโครงการ #ChangeEduTh เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ในจุดที่อยู่ในขอบเขตความสามารถ ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้
The MATTER :เวลาเราพูดถึงปัญหาการศึกษาไทยมันจะดูใหญ่มาก อยากทราบว่าปัญหาย่อยๆ ที่อยู่ในนั้นมันมีอะไรบ้าง
จริงๆ แล้วปัญหาใหญ่กับปัญหาย่อยมันพันอีรุงตุงนังไปหมด สิ่งที่คนเดือดร้อนเพราะมันมีกระแสว่าระบบการศึกษาไทยมันล้มเหลว เพราะนานาชาติมาวัดคะแนน PISA ของเราหรือว่ามาตราฐานการศึกษาของเราที่มันชี้ว่าเราต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมากมาย เพราะฉะนั้นมันก็เป็นกระแสในช่วงนี้ แต่จริงๆ การปฎิรูปการศึกษาพูดกันมานานมากแล้ว เพราะมันเห็นอยู่ว่าปัญหามันมีตั้งแต่ระดับนโยบายลงมาถึงผู้ปฎิบัติ
อาจารย์คิดว่าต้องแบ่งเป็น 2 เรื่อง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราอาจจะไม่มี blueprint หรือมี vision ที่ชัดว่าเราต้องการเห็นการศึกษาของประเทศไทยเป็นยังไง กรอบตรงนี้มันไม่ชัด แล้ววางไว้กว้างๆ มันก็ตีความไปมากมาย เราอยากเห็นเด็กดี มีความรู้ มีคุณธรรม เท่านี้มันอาจจะไม่พอ อาจารย์คิดว่าแผนการศึกษามันต้องล้อกับแผนการพัฒนาประเทศ มันจะได้ชัดว่าเราต้องการให้การศึกษาไทยเป็นแบบไหนและผลิตนักเรียนหรือนักศึกษาตามคุณลักษณะของเขาเป็นอย่างไร ถ้าทำให้ชัดมันก็จะดี เพราะฉะนั้น blueprint นี่ สำคัญ
อีกอันก็คือเราต้องมี KPI ให้ชัดเจนว่าเราจะวัด progress มันได้ยังไงว่าเราเดินตาม blueprint ถูกต้องไหม แล้วคนที่วัดก็อาจเป็นหน่วยงานอิสระ อย่างในประเทศมาเลเซียมันก็จะมีหน่วยงานขึ้นมาที่คอยวัด ติดตามประเมินผลเรื่องการศึกษาว่าเขาดำเนินไปถึงไหนแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นภาพใหญ่ ที่เราอาจจะขาด แล้วก็เข้าใจว่าเขาพยายามที่จะขับเคลื่อนเรื่องของแผนการศึกษาในระยะยาวเมื่อมีปัญหาในระดับแผนงานแล้ว แต่พอลงมาถึงในระดับปฎิบัติอย่างในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็ตามมันก็เป็นคล้ายๆ กันคือทิศทางมันไม่ค่อยชัดเจน การกำหนดคุณลักษณะของนักเรียน นักศึกษาของแต่ละสถาบันมันก็ต้องกว้างมาก อาจารย์คิดว่าอันนี้เราน่าจะกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนในระดับสถาบันเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันเกี่ยวโยงกันไปหมดแล้วคนที่เดือดร้อนเรื่องการศึกษาไม่ดีมันเป็นคนไทยทั้งประเทศ
The MATTER : เวลาเราพูดถึง blueprint หรือพูดถึงแผนการศึกษาที่เป็นตัวแม่บท จริงๆ แล้วในปัจจุบันเราอยากได้เด็กหรืออยากได้แรงงานที่จบแล้วภาคการศึกษาแล้วแบบไหน
สมมติตอนนี้เราพูดถึง ไทยแลนด์ 4.0 จริงๆ แล้ว 4.0 มันก็เป็นคำแฟชั่น แต่ว่ามันมีความจริงอยู่ในนั้นคือ 4.0 มันพูดถึงโลกที่มันขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โลกที่มันต้องการนวัตกรรมมาสร้างงาน สร้างชิ้นงาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลกำลังผลักดันเรื่อง 4.0 มันก็ล้อมาถึงเรื่องการศึกษา ว่าการศึกษาที่มัน 4.0 มันหน้าตาเป็นยังไง
มีคนเคยพูดถึงว่าการศึกษามี 2 ยุค ยุค consumer education กับยุค productive education ถ้าสมมติในยุคการศึกษาที่เป็น consumer หรือว่าเป็นผู้บริโภคมันก็จะผลิตนักศึกษาอีกแบบหนึ่ง สมัยนั้นอาจจะเป็นการศึกษายุค 2.0 เทียบว่ายุคอุตสาหกรรมแล้วกัน ไม่ต้องย้อนไปยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรมจะมีเป้าหมายในการผลิตคนเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งมันทำยังไง มันมีคอนเซปท์ที่ว่าแยกกันทำงาน แบ่งงานออกเป็นส่วนๆ แล้วก็ทำงานให้ดีที่สุดในแต่ละส่วนงาน เพราะฉะนั้นอันนี้คือแนวคิดในยุคนั้น
แต่ตอนนี้พอพูดถึง 4.0 ข้ามยุค globalization มาแล้ว 4.0 ที่พูดถึงว่า ต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ผลิตชิ้นงานได้อันนี้มันชัดเจนว่าระบบการศึกษามันน่าจะเป็น productive education เป้าหมายของสถานศึกษาที่เราต้องวางไว้ให้กับนักเรียนหรือนักศึกษาทุกคนมันก็น่าจะเป็นคนที่มีคุณลักษณะที่คิดเป็นทำเป็น ผลิตชิ้นงานได้ เพราะฉะน้ันการศึกษาในยุค productive education มันก็น่าจะจัดการเรียนการสอนให้มันตอบโจทย์ตรงนี้ว่า เราจะทำยังไงให้นักศึกษาคิดเอง ทำเป็น สร้างสรรค์งานได้ โดยใช้ความรู้ที่เขาได้รับจากสถาบัน จัด eco system ในสถานศึกษาผลักดันให้เขาเป็นคนแบบนี้
The MATTER : เวลาเราพูดถึงปัญหาการศึกษาถึงแม้ว่าเราอาจจะมีแม่บทที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว สมมติว่าเราอยากได้เด็กที่คิดเป็นทำเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ว่าหลายคนก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหนดี เราเห็นคนเถียงกันในอินเทอร์เน็ตมักจะบอกว่าครูไม่มีความรู้ ระบบไม่ดี คิดว่าเราจะต้องเปลี่ยนตรงไหนกันบ้าง
ถ้าพูดแล้วมันเป็นปัญหาโลกแตก แต่อาจารย์ก็คิดว่าในมุมมองของเราเป็นผู้ปฎิบัติในขอบเขตที่เราทำได้ เราทำก่อนเลย สถาบันการศึกษาอาจจะตั้งเป้าหมายของตัวเองก็ได้คือหลักสูตรของชาติที่ให้เรามา เกณฑ์หลักสูตรมันบอกกว้างๆ ว่าเด็กจะต้องมีคุณลักษณะแบบไหน แต่สถาบันการศึกษาสามารถบอกชัดไปกว่านั้นได้ ว่าเด็กที่ต้องการให้ออกมาเป็นแบบไหน
เพราะฉะนั้นแต่ละสถาบันก็จะมีมิติคนละมิติกันที่จะเล่นได้ในเรื่องของการพัฒนานักศึกษาที่คิดเป็นทำเป็น เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่แต่ละสถาบันตั้งเป้าหมายยังไง อย่างของเรา (ม.ธุรกิจบัณฑิตย์) เองก็ตั้งเป้าหมายของเราแล้วว่า ต้องการเด็กที่เป็นแบบนี้ เราก็มาดูหลักสูตรว่าหลักสูตรของเรามันตอบโจทย์ไหม หลักสูตรของเรามันก็อาจจะไม่พอ แต่ว่ามันเป็นระบบนิเวศของทั้งมหาลัยที่ support ให้เขาเป็นคนแบบนี้ เพราะฉะนั้น อาจารย์คิดว่าในกรอบเล็กๆ ของทุกคนมันทำได้ แต่คิดว่าตั้งเป้าหมายให้ถูกต้อง ระบบการเรียนการสอนมันต้องตามมา ถ้าเป้าหมายเราชัดมันถูกต้อง เดี๋ยวระบบการสอนมันก็จะพัฒนาไปตามวัตถุประสงค์ของเราเอง
The MATTER : อย่างเช่นการสอบ PISA ก็เป็นการวัดระดับการศึกษาของเด็กอายุ 15 ปีโดยเฉพาะ สำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มีเกณฑ์อะไรมาวัดคุณภาพของเด็กที่จบแต่ละที่ไหม
อาจารย์ยังไม่เห็นมาตรฐานนานาชาติที่เขาวัดนักศึกษาในอุดมศึกษา ก็อาจมี GPA ที่เราวัดๆ กัน เด็กจบออกไปเอาผลงานที่เขาได้รับจากมหาลัยก็คือ GPA แต่ปัญหาก็คือ เนื่องจากสถาบันกำหนดไม่ชัดว่าต้องการนักศึกษาที่จบออกไปแบบไหน นอกเหนือจากว่านักศึกษาจบสาขานี้ มีความรู้แบบนี้ ซึ่งมันก็เป็นความหมายแคบๆ ของการศึกษา แต่ว่ามองภาพรวมแล้วอยากให้เขาเป็นแบบไหน อันนี้เป็นเรื่องของแต่ละสถาบัน อาจารย์ไม่แน่ใจว่าเขาเคลมนักศึกษา GPA แล้วมันสะท้อนทักษะอื่นๆ เช่น ทักษะการใช้ชีวิตด้วยหรือเปล่า หรือว่าเป็นแต่ละวิชาๆ ที่เขาเคลม
เพราะฉะนั้น อาจารย์เข้าใจว่าถ้าสถาบันการศึกษาไม่ได้วางตรงนี้ชัดเจน GPA มันก็จะออกมาเหมือนๆ กัน สาขาบัญชีก็คือบัญชี มีความสามารถในการเรียนเรื่องบัญชี เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ว่าการตั้งเป้าหมายของสถาบันการศึกษา ว่าเขาอยากเห็นอะไรแล้วค่อยวางหลักสูตรเป็นแบบนั้น มันอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องของเนื้อหาหรือวิชาความรู้ที่จะได้จากสาขาวิชานั้น แต่ว่าการนำความรู้นี้ไปปฎิบัติอย่างไร เพราะฉะนั้น GPA ของแต่ละสถาบันถ้ามันวางชัดเจน มันน่าจะแตกต่างกัน
สิ่งที่สำคัญก็คือว่า อาจารย์ไม่อยากให้นักศึกษามองว่า GPA เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพัฒนาการของเขามากกว่า อาจารย์ได้ยินนักการศึกษาในต่างประเทศพูดเสมอว่า assess more, but grade less หมายถึงว่า เราน่าจะวัดพัฒนาการของเขาบ่อยๆ แต่การที่ไปเคลมว่าเขาเกรดได้แบบนี้ ต้องเรียนแบบนี้ ซึ่งยิ่งทำแบบนี้เท่าไหร่ creativity จะยิ่งไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าคุณวางกรอบเมื่อไหร่ ว่าต้องสอบอันนี้นะ ด้วยธรรมชาติของคนมันก็จะยิ่งคิดว่าจะทำแบบนี้ เพื่อที่จะให้สอบได้เกรดดีๆ อันนี้มันเป็นตัวสะกัด creativity เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือการพัฒนาเขามี creativity ให้เขาได้ใช้ความรู้ของเขามาปฎิบัติจริง สร้างชิ้นงาน สร้างนวัตกรรมอันนี้คือจุดมุ่งหมายของการศึกษาที่แท้จริง ไม่ใช่เรื่องเกรด
The MATTER : ถ้าเป็นแบบที่อาจารย์บอก แล้วตลาดแรงงานมีวิธีอย่างไรที่จะดูว่าเด็กคนนี้ทำงานได้จริง ปกติตอนนี้ก็จะดู GPA อย่างเดียว
อันนี้เป็นปัญหาโลกแตก ซึ่งมันเป็นแบบนี้จริงๆ ตลาดแรงงานจะใช้เกณฑ์ตัวไหนวัด ถ้า GPA ของแต่ละสถาบันมันมีความแตกต่างซึ่งแล้วแต่อัตลักษณ์ของแต่ละสถาบัน GPA มันก็อาจจะง่ายขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น อาจารย์คิดว่า 4 ปีในมหาวิทยาลัยมันคือการเตรียมเด็กที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เด็กสมัยนี้ ม.3 ม.4 มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่ไม่เคยเห็นโลกเลย เดี๋ยวนี้อินเทอร์เน็ตมันบอกหมดว่าสาขานี้ทำอาชีพอะไร เพราะฉะนั้นโลกทัศน์เขาเปิดกว้างตั้งแต่มัธยมแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเตรียมเขาคือเราเตรียมได้ตั้งแต่ ปี 1 เลย เรานำสภาพจริงจากข้างนอกมาให้เขาดูว่าสภาพข้างนอกมันเป็นแบบนี้ โอกาสที่เรามีอยู่ในการทำงานมันมีมากมายมหาศาล แล้วคุณอยากได้อะไร อยากทำอะไร คุณมีเวลา 4 ปีที่จะค่อยๆ คิด ค่อยๆ พัฒนาแล้วมาสร้างจริง
อาจารย์อยากจะชี้ให้เห็นว่า ถ้าสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยผลักดันให้เขามีผลงาน สร้างผลงานจริง อันนี้มันตอบโจทย์ทุกอย่างว่าเขาได้นำความรู้ที่เขาได้เรียนรู้กับเรา นำไปใช้จริงได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ผู้ประกอบการน่าจะชอบมากกว่า ถามว่ามี 2 คนเข้ามาสมัครงานกับคุณ คนนึงได้เกรด 4 คนนึงได้ 3.50 แต่มีผลงานมา คุณจะเลือกใครเพราะฉะนั้นมันค่อนข้างชัดเจน ถ้าเราผลักดันนักศึกษาเราให้มีชิ้นงานออกไปให้ดูว่าเราทำจริงๆ ได้ มันน่าจะมีคุณค่ามากกว่ากับบริษัทของเขา
The MATTER : ย้อนกลับมาถึงเรื่องของหลักสูตร อาจารย์คิดว่าตอนนี้หลักสูตรในการศึกษาของไทย มันสะท้อนกับทักษะของตลาดแรงงานต้องการไหม อย่างเช่น เรื่องของการเขียนโปรแกรม เรื่องเทคโนโลยี เรื่องทักษะการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การใช้ตรรกะต่างๆ
หลักสูตรของชาติที่เขาวางมาให้ของแต่ละสถาบัน อาจารย์คิดว่ามันให้ค่อนข้างยืดหยุ่นได้พอสมควร มันแล้วแต่ว่าสถาบันจะมาตีโจทย์ยังไง แล้วก็เขียนหลักสูตรของตัวเองเป็นยังไง แล้ววางรูปแบบการสอนให้ตอบโจทย์ของหลักสูตร ถามว่าตอบโจทย์มากน้อยแค่ไหน อาจารย์ก็ไม่แน่ใจว่าแต่ละสถาบันเขาวางไว้อย่างไรบ้าง แต่ อาจารย์เชื่อว่าหลายๆ ที่เขาก็ได้เริ่มพัฒนาในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสอนประสานกับเนื้อหาวิชาของเขาเพื่อที่จะให้เด็กมีความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีมันเปลี่ยนโลกเขายังไง
ที่สำคัญก็คือว่าตัวของหลักสูตรเอง อาจารย์คิดว่ามันน่าจะเน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าตัวเนื้อหาวิชา อันนี้ข้อที่ 1 ข้อที่ 2 ก็คือว่า ถามว่ามันตอบโจทย์มากน้อยแค่ไหน อาจารย์คิดว่ามันมี gap (ช่องว่าง) มหาศาลตอนนี้เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนเร็วมาก คนที่อยู่ในสถาบันการศึกษาถ้าไม่ได้ออกไปอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงก็ตามไม่ทัน อาจารย์คิดว่ามันมี gap อย่างมากในช่วงนี้ มันถึงจำเป็นมากที่สถาบันการศึกษาต้องเอาภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วม รัฐบาลเองก็พยายามที่จะเข้ามาผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมกับการศึกษา เพราะเขาเห็น gap แล้วว่ายิ่งโลกเปลี่ยนเร็วเท่าไหร่ gap ตัวนี้ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น แต่ อาจารย์คิดว่าถ้าเราทำแบบนี้ พอผ่านไปสัก 1 generation 20-30 ปี gap นี้จะค่อยๆ ปิดไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถามว่าหลักสูตรนี้มันตอบโจทย์มากน้อยแค่ไหน ต่อให้เราเขียนหลักสูตรให้ตอบโจทย์แต่ถ้าไม่มีการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ไม่มีการนำโจทย์จริงจากข้างนอกให้นักศึกษาใช้แก้ปัญหาหรือว่าอาจารย์เข้ามาช่วยดู มันจะไปถึงฝันได้ค่อนข้างยาก
อันนึงที่จะต้องเน้นก็คือ อาจารย์ในระดับอุดมศึกษาเขาไม่ใช่อาจารย์อีกต่อไปแล้ว อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเขาเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ต่างหากกับนักศึกษา คือเขาเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะเขาก็ไม่ได้ออกมาอยู่ในโลกธุรกิจ เพราะฉะนั้นเขาอาจไม่รู้มากเท่ากับคนที่อยู่ในภาคธุรกิจจริงๆ แต่อย่างน้อยเขาชี้ช่องให้นักศึกษาได้เดินได้ถูกต้องว่าเขาต้องค้นตรงไหน หาตรงไหน ช่วยเขาตั้งโจทย์ว่าโจทย์ของแต่ละคนน่าจะเป็นยังไง แล้วช่วยเหมือนเป็นกระจกให้เขาว่า แล้วคุณเดินมาถึงนั่นได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว อันนี้คือหน้าที่ของอาจารย์ในสถาบันการศึกษา
The MATTER : สำรับบทบาทของผู้เรียน ผู้เรียนทุกวันนี้ต้องปรับตัวยังไง เพราะเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันเป็นน้ำป่าที่มันไหลหลากมากเลย คือเราไม่สามารถรับทุกอย่างได้ทัน ในฐานะผู้เรียนเอง มีวิธีที่จะรับมือกับเทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ได้ไหม
อาจารย์เคยคุยกับผู้ที่นำความคิดนี้ไปลองทำในระดับโรงเรียน แล้วเขาก็ทำโปรเจกต์นี้ 3-4 ปี สมมติว่าอาจารย์บอกว่าอาจารย์เป็นสถาบันการศึกษาแล้วอาจารย์จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่เลยเดินหน้าแบบว่า เกียร์ 7 100% แต่ผู้เรียนที่เขามาจากระบบแบบเดิม ที่เขาชินกับการที่อาจารย์/ครู ให้ความรู้ อันนั้นเขารู้สึกว่าเขาเติมเต็มเขาได้สิ่งที่เขาต้องการแล้ว นั่นก็คือความรู้
ตรงนี้เราต้องเปลี่ยน mindset (กรอบคิด) ของผู้เรียน เปลี่ยน mindset ของผู้ปกครอง เปลี่ยน mindset ของผู้ให้ความรู้ด้วยว่า จริงๆ ไม่ใช่ความรู้ที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้น การเปลี่ยน mindset ของผู้เกี่ยวข้องสำคัญมาก แล้วที่ถามว่าแล้วผู้เรียนเขารู้สึกยังไง อาจารย์เชื่อว่า การผ่านการเรียนการสอนแบบนี้ ผู้เรียนที่เคยเรียนระบบเดิม เขาน่าจะรู้สึกอึดอัด ก็ฉันไม่ได้ความรู้อย่างที่ฉันอยากจะได้ ฉันมาเพราะฉันอยากจะรู้เรื่องนี้ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราปล่อยวางเรื่องตรงนั้นว่า ความรู้อย่างนี้ จริงๆ คุณไปหาเมื่อไรก็ได้ แต่หนทางที่ไปเอาความรู้พวกนั้นต่างหาก กระบวนการคิดและกระบวนการเอาความรู้นั้นมาต่างหาก เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น mindset ของผู้เรียน ก็ต้องพยายามเข้าใจตรงกันด้วยว่าอันนี้คือเป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษา
The MATTER : แคมเปญ #ChangeEduTH เริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างไร และมีเป้าหมายมองไปถึงตรงไหน
สำหรับแคมเปญนี้นะคะ จริงๆ เข้ามาบริหาร (ม.ธุรกิจบัณฑิตย์) ทีมเราเข้ามาบริหารประมาณปีนึง เราก็ต้องการที่จะเปลี่ยนการศึกษาให้เป็น productive education จริงๆ แต่สิ่งที่เราพบ ก็คือว่า อย่างที่บอก mindset ของแต่ละ stakeholder มันยังไม่เหมือนกันเลย
เราก็ทำงานศึกษาเล็กๆ สัมภาษณ์ผู้ประกอบการ สัมภาษณ์เด็กก่อนเข้ามหาวิทยาลัย สัมภาษณ์นักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยที่กำลังจะจบแล้ว เราสัมภาษณ์ผู้ปกครอง เราพบเลยว่า ความคิดเห็นในเรื่องการศึกษาและความต้องการในเรื่องการศึกษา มันแตกต่างกัน และอาจารย์ก็เลยคิดได้ว่าไหนๆ เราจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ในองค์กรของเราแล้ว เราน่าจะสื่อสารเรื่องนี้ให้กับผู้ที่มีส่วนร่วม ส่วนได้ส่วนเสียให้กับการศึกษา น่าจะมีความเข้าใจร่วมกัน อันนี้มันจะง่ายหน่อยในการขับเคลื่อนในระดับประเทศและในระดับสถาบันของอาจารย์ด้วย เพราะฉะนั้น อันนี้ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่ตอนนั้น ออกแคมเปญนี้มา
The MATTER : แล้วตอนนี้เริ่มแคมเปญนี้มากี่เดือนแล้ว มีผลลัพธ์ยังไงบ้าง
จริงๆ เพิ่งเริ่ม ยังไม่ได้ทำอะไรแบบจริงจังมากขนาดนั้น สำหรับแผนของเรา เราก็ต้องการที่จะปรับระบบการศึกษาของสถาบันของเรา ให้มันเป็น productive education จริงๆ เพราะฉะนั้น มุมมองต่าง เรื่อง productive education ผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะมี mindset ยังไง ความคิดเห็นยังไง อาจารย์ก็อยากสื่อสารผ่าน #ChangeEduTH แหละค่ะ
The MATTER : เข้าใจว่าในโซเชียลเนตเวิร์กเองก็มีผลตอบรับกลับมาเยอะมาก
ก็มี feedback ในตอนแรกที่ทำเราหวังแค่ว่ามีนักการศึกษาเข้ามาคอมเมนต์แล้วเราจะได้เรียนรู้ว่า เอ๊ะ ใครเข้ามาพูดอะไรยังไง อาจารย์เองก็อยู่ในแวดวงของผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องหลักสูตรอะไรอย่างนี้พอสมควร เนื่องจากได้เห็นหลักสูตรนานาชาติที่ได้เข้าไปนั่งในบอร์ดของโรงเรียนนานาชาติ แล้วก็ได้พูดคุยกับพวก headmaster มุมมองในเรื่องการจัดการการศึกษาในระดับโรงเรียนเขาเป็นยังไง พอทำโครงการนี้ ก็คิดว่าเราน่าจะได้มุมมองหลากหลาย
แต่พอหลังจาก เริ่มโครงการไป ก็เห็น feedback คนเข้ามาเยอะมาก มันบอกเราเลยว่า เวลาการศึกษาของชาติมันไม่ดี คนทุกคนเดือดร้อนหมด มันเป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ มันเป็นเรื่องของอนาคตของชาติ พ่อแม่จะได้อยู่ยังไง พ่อแม่ฉันที่มีอายุมากแล้ว แล้วลูกฉันจะเป็นยังไง จะมีการศึกษาแบบไหน แล้วจะอยู่ในโลกอนาคตยังไง เพราะฉะนั้น การศึกษาจะดีไม่ดีทุกคนเดือดร้อนหมด เพราะฉะนั้น feedback พวกนี้ ก็เป็นประโยชน์มากๆ แล้วก็จะพยายามดูทุกๆ อันว่าอันไหนมีอะไรที่น่าสนใจไหม แล้วก็จะพยายามนำมาปรับปรุงระบบการศึกษาของสถาบันอาจารย์เอง
The MATTER : จริงๆ ถือเป็นสัญญาณที่ดี แสดงว่าทุกๆ คนก็สนใจในเรื่องนี้ เวลาที่เราพูดเรื่องการศึกษา ทุกคนดูจะอยากรู้ อยากเข้ามาร่วมบทสนทนา
ใช่ ที่ผ่านมาเราก็ดูตาม Youtube เรา Google คำว่าปฏิรูปการศึกษาไป ก็จะมีนักการศึกษาออกมาพูด ครุศาสตร์ออกมาพูด สถาบันการศึกษาที่ต้องการผลักดันเรื่องนี้ออกมาพูดในแง่มุมหนึ่ง แต่ว่า ในแง่มุมที่เป็นคนทั่วไปที่เขาได้รับผลกระทบกันการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ เขาก็ออกมาพูดกันอย่างมากมาย มันเห็นได้เลยว่าเขารู้สึกจริงๆ และเขารู้สึกมากด้วย เวลาการศึกษาเราตกต่ำอย่างนี้ เขารู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อน
The MATTER : สุดท้าย เราอยากเห็นการศึกษาไทยเป็นแบบไหน บางคนอาจอ้างถึงประเทศที่มีการศึกษาที่ดี เช่น ฟินแลนด์ เวียดนาม สิงคโปร์ เราจำเป็นต้องไปตามเขาหรือเปล่า
ในภาพกว้างๆ อาจารย์คิดว่า ตั้งเป้าหมายไว้อยากให้ เรามีการศึกษาที่พัฒนาเด็กทุกคนให้มีคุณภาพ
อาจารย์คิดว่าน่าจะเป็นจุดมุ่งหมายที่พอแล้ว การที่เราจะบอกว่าเราจะไปแข่งกับประเทศนั้นประเทศนี้อาจารย์ไม่แน่ใจว่าอันนี้เหมาะสมหรือเปล่า เพราะว่าในแต่ประเทศ บริบทมันไม่เหมือนกัน เมื่อพูดถึงฟินแลนด์ ฟินแลนด์มีปัจจัยอีกหลายอย่างมากเลย ในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม ในแง่ของความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 20-30 ปัจจัย ที่เขาเคยเอามาให้ดูแล้วในขณะเดียวกัน การศึกษาเขาดีมาก ดีที่สุด ติดอันดับมาไม่รู้กี่ปี แต่คำถามที่ทุกคนถามก็คือ ถ้าเราถอดปัจจัย 2-3 อันออกมาสิ ดูสิว่าฟินแลนด์ จะยังได้มาตรฐานการศึกษาแบบนี้อยู่หรือเปล่า ดังนั้นก็ไม่สามารถการันตีว่าเขาจะได้ เพราะฉะนั้น
การศึกษาแบบ productive education มันต้องอยู่ในบริบทของประเทศเรา เพราะฉะนั้นเวลาเราบอกว่าเราสร้างนวัตกรรมขึ้นมา หรือสร้างเด็กที่สามารถคิดเป็นทำเป็น สร้างสรรค์ได้ สร้างชิ้นงานได้ มันต้องอยู่ในบริบทของประเทศไทย ถ้าเราจะเอาเทคโนโลยีของเขามาใช้ เราก็เป็นทาสของเทคโนโลยีเขาเรื่อยไป เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมาปรับในบริบทของเราเอง อาจารย์ก็เลยไม่อยากจะไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นว่าจะต้องดีมากดีน้อยขนาดไหน
ถ้าหลักสูตรและระบบการศึกษาของเรามันถูกต้อง มันเน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญจริงๆเดี๋ยวค่า PISA หรือ score อะไรใดๆ มันก็จะค่อยๆ ออกมาเอง
เปลี่ยนการศึกษา เปลี่ยนอนาคต กับ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ แห่ง #C…
เปลี่ยนการศึกษา เปลี่ยนอนาคต กับ #ChangeEduTHเวลาเราพูดถึงปัญหาการศึกษาไทยมันจะดูใหญ่มาก ปัญหาย่อยๆ ที่อยู่ในนั้นมันมีอะไรบ้าง?"จริงๆ แล้วปัญหาใหญ่กับปัญหาย่อยมันพันอีรุงตุงนังไปหมด สิ่งที่คนเดือดร้อนเพราะมันมีกระแสว่าระบบการศึกษาไทยมันล้มเหลว เพราะนานาชาติมาวัดคะแนน PISA ของเราหรือว่ามาตราฐานการศึกษาของเราที่มันชี้ว่าเราต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมากมาย เพราะฉะนั้นมันก็เป็นกระแสในช่วงนี้ แต่จริงๆ การปฎิรูปการศึกษาพูดกันมานานมากแล้ว เพราะมันเห็นอยู่ว่าปัญหามันมีตั้งแต่ระดับนโยบายลงมาถึงผู้ปฎิบัติ"“…สมมติตอนนี้เราพูดถึง ไทยแลนด์ 4.0 จริงๆ แล้ว 4.0 มันก็เป็นคำแฟชั่น แต่ว่ามันมีความจริงอยู่ในนั้นคือ 4.0 มันพูดถึงโลกที่มันขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โลกที่มันต้องการนวัตกรรมมาสร้างงาน สร้างชิ้นงาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลกำลังผลักดันเรื่อง 4.0 มันก็ล้อมาถึงเรื่องการศึกษา ว่าการศึกษาที่มัน 4.0 มันหน้าตาเป็นยังไง…”“…มีคนเคยพูดว่าการศึกษามี 2 ยุค ยุค consumer education กับยุค productive education ถ้าสมมติในยุคการศึกษาที่เป็น consumer หรือว่าเป็นผู้บริโภคมันก็จะผลิตนักศึกษาอีกแบบหนึ่ง สมัยนั้นอาจจะเป็นการศึกษายุค 2.0 เทียบว่ายุคอุตสาหกรรมแล้วกัน ไม่ต้องย้อนไปยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรมจะมีเป้าหมายในการผลิตคนเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งมันทำยังไง มันมีคอนเซปท์ที่ว่าแยกกันทำงาน แบ่งงานออกเป็นส่วนๆ แล้วก็ทำงานให้ดีที่สุดในแต่ละส่วนงาน เพราะฉะนั้นอันนี้คือแนวคิดในยุคนั้น” The MATTER คุยกับ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ริเริ่มโครงการ #ChangeEduTh เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ในจุดที่อยู่ในขอบเขตความสามารถ ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องการศึกษาของไทยที่เป็นปัญหาซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยๆ ในวงสนทนาhttps://thematter.co/pulse/changeeduth/21521#TheMATTERxDPU #ChangeEduTH #advertorial
Posted by The MATTER on Wednesday, April 5, 2017