เพื่อนใครเป็นแบบนี้บ้าง? ชอบล้อเลียนเราต่อหน้าสาธารณะ จนเราอับอายแทบอยากมุดแผ่นดินหนี แต่จะโกรธก็โกรธไม่ได้ เพราะเขาตบท้ายด้วยคำว่า “เอาหน่า ขำๆ อย่าคิดมากสิ” แบบนี้ถ้าโกรธก็คงจะโดนมองว่าเป็นคนซีเรียสเกินไปแน่ๆ
ดูเหมือนเป็นเรื่องสนุกสนานที่เพื่อนสนิทเล่นกันจนเป็นปกติ เวลาอยู่ท่ามกลางบรรดาเพื่อนหลายคน จะมีเพื่อนคนหนึ่งชอบเปิดประเด็นด้วยการเล่าเรื่องตลก ซึ่งเรื่องตลกนั้นก็มักจะเป็น ‘เรื่องน่าอาย’ ของเราซะส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เราเคยทำพลาด เรื่องน่าอายที่ไม่น่าจดจำ ไปจนถึงล้อเลียนรูปร่างหน้าตาที่เป็นปมด้อยของเราเอง
หรือไม่เว้นแม้แต่ในโซเชียลมีเดีย เวลาเราลงรูปที่ดูมั่นใจที่สุด เลือกแล้วเลือกอีกกว่าจะได้รูปที่ดีที่พอใจ ก็ไม่วายจะมีเพื่อนคนเดิมเข้ามาคอมเมนต์ให้รู้สึกเสียหน้า อย่างเช่น ผ่านมากี่แอพเนี่ย ปลอมมากดูออก ตัวจริงไม่ใช่แบบนี้ แล้วความมั่นใจที่พกมาเป็นร้อย ก็ค่อยๆ ลดลงจนเหลือศูนย์ พร้อมกับกดลบรูปนั้นทิ้งไปทันที
เขาอาจจะคิดว่าเป็นแค่เรื่องล้อเล่นขำๆ เป็นการแสดงออกทางความรัก เป็นการสร้างบรรยากาศดีๆ ให้มีเสียงหัวเราะ และคิดว่าตัวเองแค่พยายามเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีที่ตลก แต่เมื่อสังเกตเข้าไปลึกๆ ในจิตใจ คนที่ชอบหักหน้าคนอื่น แท้จริงแล้วเขาเป็นพวกชอบ ‘เอาชนะ’ หรือชอบการ ‘ควบคุม’ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าอยู่ ‘เหนือกว่า’
ซึ่งการพูดล้อเลียน ฉีกหน้า หรือทำให้อับอาย ก็เป็นเครื่องมือชิ้นดีที่จะกดอีกฝ่ายให้ด้อยลงมา เช่น เรารู้ว่าเขากำลังล้อเลียนให้เราอับอาย แต่เราก็ไม่เถียง ไม่ตอบโต้ หรือปล่อยไว้เพราะกลัวว่าถ้าไปแย้ง เราเองจะดูเป็นคนซีเรียส อาจถูกมองว่าเป็นคนเซนซิทีฟเกินไป รวมถึงกลัวจะไปทำลายบรรยากาศสนุกสนานโดยรอบ แต่ที่จริงบรรยากาศดีๆ ได้จบลงไปตั้งแต่เราโดนล้อเลียนแล้ว นั่นแหละคือการที่เราปล่อยให้เขามีอำนาจเหนือเราโดยไม่รู้ตัว
และสิ่งที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ คนเหล่านั้นมักจะรู้สึกดีกับสิ่งที่พูด หรือสิ่งที่ทำจนยากที่จะเลิก เพราะพวกเขาคิดว่าเป็นเพื่อนสนิทกันจะล้อเลียนอะไรก็ได้ พูดจาแรงแค่ไหนก็ได้ หักหน้ายังไงก็ได้ ยังไงก็ไม่ถูกโกรธแน่นอน และเมื่อไหร่ก็ตามที่เขารู้ว่าเราอับอายเรื่องอะไร เขาก็จะยิ่งโจมตีเราต่อๆ ไปไม่สิ้นสุด โดยไม่รู้ว่าพฤติกรรมที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม
แต่นั่นคือสิ่งที่เรียกว่ามิตรภาพจริงๆ หรือ? ไม่ใช่ว่าเพื่อนสนิท แปลว่าบุคคลที่เราควรรู้สึกสบายใจและผ่อนคลายที่ได้อยู่ด้วยหรอกหรอ? หรือเราไม่รู้ตัวว่าตอนนี้กำลังตกอยู่ใน ‘toxic friendship’ ?
“ผู้คนที่เป็นพิษต่อจิตใจเรา จริงๆ พวกเขาก็ดูเหมือนคนทั่วไป และบางทีก็มาในรูปแบบของคนสนิท” ออเดรย์ โฮป (Audrey Hope) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์กล่าว “อย่างไรก็ตาม เราจะรู้ได้เองว่าใครที่เป็นพิษสำหรับเรา โดยการสังเกตตัวเองว่าเวลาอยู่ใกล้คนนั้น เราจะรู้สึกไม่เป็นตัวเอง กลัว หรืออึดอัด ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังมีบางอย่างผิดปกติ เพื่อนสนิทไม่ควรจะทำให้เรารู้สึกเช่นนั้น”
นิกกิ มาร์ติเนซ (Nikki Martinez) นักจิตวิทยาเสริม ยังเสริมอีกว่า “มิตรภาพที่ไม่ดีจะทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง เพราะคนๆ นั้นพยายามดึงตัวเองให้สูงโดยกดอีกคนให้ต่ำลงไป และมักจะพูด หรือทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ดีพอเสมอ”
ความสนุกปากของบางคนได้ส่งผลกระทบให้กับคนรับ เพราะเมื่อเราโดนประจาน หรือทำให้ขายหน้าต่อสาธารณชน เราอาจรู้อึดอัด ลำบากใจ หรือรับมือไม่ถูก แต่มันอาจร้ายแรงไปกว่านั้น โดยมันสามารถเป็นเหตุให้เกิดความวิตกกังวลในการเข้าสังคม (social anxiety) ประหม่า หรือไม่กล้าเผชิญหน้าผู้คน หลังจากที่เรื่องขายหน้าของเราถูกเปิดเผยต่อที่สาธารณะแล้ว
ดังนั้น วิธีรับมือกับเรื่องนี้อาจจะยากหน่อย เพราะคนพูดดันเป็นคนสนิท ซึ่งในที่นี้อาจจะเป็นคนอื่นด้วยก็ได้ เช่น ญาติ พี่น้อง พ่อแม่ แฟน แต่อย่างน้อยๆ เราก็ควรจะหลีกเลี่ยงบทสนทนาที่เป็นพิษเหล่านั้นให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันสุขภาพจิตของตัวเอง และไม่ให้มีเรื่องผิดใจกันตามมาทีหลัง โดยวิธีการดังนี้
- เปลี่ยนประเด็นที่กำลังพูดถึง ยังไงเราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปห้ามเพื่อได้ วิธีก็คือเดินหน้าต่อไป แต่เป็นหัวข้ออื่นๆ บางทีสัญญาณนี้อาจจะบ่งบอกให้คนคนนั้นรู้ตัวว่าเราไม่สนุกกับเรื่องที่เขาพูดเลยแม้แต่นิด
- จบบทสนทนา ถ้าเรารู้สึกขายหน้าเกิดกว่าจะควบคุมตัวเองได้ ก็หยุดบทสนทนาไว้เท่านั้นและเดินออกมา แต่ก็ต้องทำใจว่าถ้าเราเดินออกมาแล้ว อาจมีเสียงซุบซิบนินทาตามหลังมาบ้าง แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนนิสัยของคนเหล่านั้นให้เห็นชัดมากขึ้นทีเดียว
- ขอไปตรงๆ ว่าให้ช่วยหยุดพูด บางทีคนเราก็ไม่ได้ตระหนักกว่าตัวเองกำลังอะไรอยู่ ฉะนั้นการบอกไปตรงๆ อาจเป็นประโยชน์ต่อเราและเขาด้วยเช่นกัน แต่ต้องระวังคำพูดที่อาจจะไปกล่าวหาแบบเดียวกับที่เขาทำกับเราล่ะ เพราะนั่นไม่ใช่จุดประสงค์ที่เราต้องการ
- ถามคนพูดกลับด้วยความเห็นใจ บางทีคนคนนั้นอาจจะกำลังมีวันแย่ๆ ลองถามเขากลับไปว่า “วันนี้ไปเจออะไรไม่ดีมาหรือเปล่า?” “สิ่งที่เธอเพิ่งพูดไปช่วยแก้ปัญหาให้เธอได้จริงๆ หรือ?” วิธีนี้จะทำให้คนพูดอาจฉุกคิดขึ้นมาว่าเราไม่ตลกด้วย หรือดีไม่ดี ความอับอายนั้นก็จะย้อนกลับไปที่เขาอีกที
- ขอคุยเป็นการส่วนตัว ลองขอเวลาเขาเพื่อนั่งคุยกันตัวต่อตัวอย่างสุขุม แล้วอธิบายความอึดอัดของเราให้ฟังเวลาที่เขาเล่าเรื่องตลก หรือพูดให้เราขายหน้า แล้วจบด้วยการบอกว่า เราจะซาบซึ้งมากถ้าเขาหยุดพูดเรื่องพวกนี้
- เพิกเฉยคนคนนั้น อาจดูเป็นพฤติกรรมที่หยาบคาย แต่บางทีเราก็ต้องใช้ไม้แข็งเพื่อจัดการความน่ารำคาญบ้าง เพราะถ้าเก็บมาใส่ใจทั้งหมด สุขภาพจิตคงไม่ปลอดภัยแน่
- หลีกเลี่ยงไปเลย อยู่ให้ห่างๆ คนคนนั้น เพราะตอนนี้เขาคือยาพิษสำหรับจิตใจเรา และบางทีเราก็ต้องการเว้นระยะห่างจากคนที่พูดจาใจร้ายบ้าง เพื่อเป็นการรักษาตัวเราเอง ดีไม่ดีคนๆ นั้นอาจจะเริ่มรู้สึกด้วยตัวเองว่าเขาได้พูดอะไรผิดไปหรือเปล่า
- ล้อมรอบด้วยผู้คนที่ใจดี เปลี่ยนไปอยู่กับคนที่ให้เกียรติเราไม่ว่าจะสนิทกันแค่ไหน เพราะความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าจะเพื่อน แฟน หรือครอบครัว สิ่งสำคัญก็คือความเคารพและให้เกียรติกันเสมอ
ไม่มีใครสมควรถูกล้อเลียน
ให้อับอายขายขี้หน้า
สุดท้ายลองสำรวจตัวเองดู ถ้ารู้สึกว่าผ่อนคลาย สบายใจ และปลอดภัยมากขึ้นเมื่อเพื่อนคนนั้นไม่ได้อยู่ใกล้ๆ หรือรู้สึกดีมากขึ้นเมื่อไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนคนนั้นน้อยลง นี่เป็นสัญญาณที่ชัดที่สุดว่าเพื่อนคนนั้นน่าจะไม่ได้ไปต่อในความสัมพันธ์นี้
อย่าลืมว่ามิตรภาพมีไว้เพื่อส่งเสริมกันและกันให้ชีวิตดียิ่งขึ้น แต่ถ้าวันหนึ่งมิตรภาพนั้นทำให้เรารู้สึกไร้คุณค่า ก็ต้องมานั่งพิจารณาอีกที ว่าควรเอาตัวเองออกมาให้ห่างจากความเป็นพิษนี้ดีไหม
เพราะจริงๆ แล้ว ยิ่งสนิทกันมากเท่าไหร่ ก็น่าจะต้องยิ่งถนอมน้ำใจและรักษากันไว้หรือเปล่านะ?
อ้างอิงข้อมูลจาก