“สวัสดีค่ะ ตอนนี้กำลังตั้งครรภ์อยู่ หาคนอุปการะน้องค่ะ สนใจทักแชท”
“หาคนอุปการะค่ะ ยังไม่ฝากครรภ์แต่อายุครรภ์น่าจะ 5-6 เดือนแล้ว ยินดีให้สวมสิทธิ์เพื่อง่ายต่อการดูแล”
“หาคนรับอุปการะเด็กค่ะ อีก 2 เดือนคลอดค่ะ”
ข้อความข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกลุ่มเฟซบุ๊กรับอุปการะเด็ก มีพ่อแม่ไม่น้อยที่โพสต์หาลูกมาเลี้ยง พอๆ กับหญิงตั้งครรภ์ที่พร้อมมอบเด็กให้ใครก็ตามที่พร้อมเลี้ยงดู
หลังจากเริ่มเป็นที่พูดถึง มีผู้คนเข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากและกลุ่มก็ปิดลงในที่สุด ถึงอย่างนั้นเรายังพบกลุ่มรับอุปการะเด็กอีกจำนวนไม่น้อยบนโลกออนไลน์ โดยไม่มีการพูดถึงความถูกต้องใดๆ ทั้งในทางกฎหมายและศีลธรรม เพราะแทบจะไม่ต้องใช้เอกสารเพื่อยืนยันตัวตนหรือประเมินความพร้อมในการเลี้ยงดูเลยด้วยซ้ำ
สิ่งนี้สร้างความกังวลให้กับผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีเด็กอีกหลายคนที่ต้องรับชะตากรรมจากการที่พ่อแม่โอนสิทธิ์ หรือมอบให้กับใครก็ไม่รู้เลี้ยงดูเพื่อแลกกับเงินจำนวนหนึ่ง หรือบางกรณีก็ยกเด็กให้ดูแลแบบไม่รับค่าตอบแทน เหล่านี้ต่างสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมายและการปกป้องเด็กจากความเสี่ยง
The MATTER มีโอกาสคุยกับ ณัฐวดี ณ มโนรม อดีตนักสังคมสงเคราะห์เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น เกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้นและความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็ก
ณัฐวดีเล่าว่า ในฐานะนักสังคมสงเคราะห์มองว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องเสี่ยงมากๆ เพราะเคยมีเคสที่ไปติดต่อขอรับอุปการะเด็กจากทางสื่อออนไลน์แบบนี้เช่นกัน ซึ่งสุดท้ายแล้วกลับเจอว่าเด็กไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น
ณัฐวดีเล่าต่อว่า ในบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ ต้องไปค้นหาก่อนว่าเพราะอะไรแม่ที่ตั้งครรภ์ถึงไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้ เช่น ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจากการถูกล่วงละเมิด หรือไม่มีความพร้อมในเรื่องอื่นๆ เช่น ครอบครัวไม่สนับสนุน ขาดทักษะ และฐานะยากจน
“ถ้าพูดกันในเรื่องนี้ เด็กมีความเสี่ยงมากเพราะถูกส่งมอบโดยไม่ถูกต้อง
หลักฐานทางกฎหมายก็จะผิดหมดเลย ยิ่งถ้ามีการติดต่อกันตั้งแต่ก่อนคลอดก็อาจนำชื่อพ่อ-แม่ ที่ต้องการอุปการะไปแจ้งได้เลย หรือในกรณีของการค้ามนุษย์ เราก็จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเด็กถูกเอาไปขายที่ไหน หรือไปทำอะไร”
เราถามถึงการเกิดขึ้นมาของกลุ่มที่อาจเป็นทางออกของคนที่มีกำลังทรัพย์น้อย และไม่สามารถมีลูกได้ด้วยตัวเอง ซึ่งคุณณัฐวดีตอบว่า “เราไม่ได้หมายความว่าคนจนดูแลเด็กไม่ได้ แต่ถ้าเขามีกำลังทรัพย์น้อย เขาก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า คุณสามารถตอบสนองเรื่องปัจจัยขั้นพื้นฐานให้เขาได้ไหม? เช่น อาหาร นม ที่หลับนอน วัคซีน การศึกษา ซึ่งมันมีค่าใช้จ่ายและบางคนก็จ่ายไม่ไหว เพราะเรามี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ที่ผู้ปกครองจะต้องเลี้ยงดูเด็กให้ได้ตามมาตรฐานการเลี้ยงดูขั้นต่ำ การเลี้ยงเด็กมันยาก เด็กต้องการอะไรมากกว่านั้น” ณัฐวดีเล่า
สิ่งนี้ทำให้เราตั้งคำถามถึงเกณฑ์พื้นฐานของการรับอุปการะจากทั้งหน่วยงานเอกชนและรัฐที่อาจเข้มงวดไป ไม่มีความยืดหยุ่นจนทำให้พวกเขาเลือกรับเด็กจากกลุ่มออนไลน์หรือไม่?
“เท่าที่เห็นก็ยังมีความยืดหยุ่นอยู่ บางครั้งถ้าเกณฑ์เรื่องวุฒิการศึกษาไม่ผ่านเขาก็จะดูว่าเป็นเครือญาติหรือผู้ดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดหรือไม่ ซึ่งความมั่นคงในที่นี้ไม่ได้ดูที่ฐานะว่าร่ำรวยไหม แต่ดูที่มีงานทำ มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และมีความตั้งใจ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ในการประเมินและส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณา
แต่สำหรับเคสกลุ่มในสื่อออนไลน์ ก็ต้องดูว่าเขามาอุปการะกันเพื่ออะไร ซึ่งอันนี้ก็เป็นข้อสงสัย เพราะมันมีกรณีที่รับเด็กไปแล้วถูกทำร้าย” ณัฐวดีตอบ
ณัฐวดีเล่าต่อว่า งานของนักสังคมสงเคราะห์คือการทำให้พ่อแม่ที่รับอุปการะเข้าใจว่าลูกของเขาไม่ได้น่ารักแบบนี้ไปตลอด และอาจผิดหวังได้ เพื่อให้พ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กและพัฒนาการตามวัยโดยที่ไม่นำไปสู่การทำร้ายในอนาคต
“เราเริ่มต้นที่ตัวพ่อแม่ก่อน เราต้องถามว่าเขามองเด็กคนนี้ในอนาคตไว้อย่างไร
เพราะตอนนี้เขาอาจจะมองว่าน่ารัก แต่เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วอาจจะไม่ได้น่ารักแล้ว
ไม่เก่ง ไม่สวยอย่างที่คาดหวัง และอาจจะผิดหวังได้”
ขณะที่ตัวเด็กเอง นักสังคมสงเคราะห์ก็ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า พ่อแม่แท้ๆ ของพวกเขาไม่ได้ใจร้าย เขารักและอยากดูแล และเขาอยากให้น้องมีชีวิตที่ดี จึงจำเป็นต้องให้คนที่รักและพร้อมดูแลแทน จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการติดตาม ซึ่งถ้าพูดกันตามกฎหมายแล้ว จะสามารถติดตามการรับบุตรบุญธรรมได้ 6 เดือน
“แต่ในระยะเวลา 6 เดือนนั้น มันไม่พอจริงๆ”
ณัฐวดีมองว่า เส้นทางที่เด็กเติบโตมักจะมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งทางพฤติกรรม อารมณ์ หรือทักษะของพ่อแม่ในการเลี้ยงดู ทำให้นักสังคมสงเคราะห์ต้องติดตามต่อจนเด็กโต
“กว่าเขาจะเป็นวัยรุ่น เขามีอะไรที่ทดสอบพ่อแม่หลายอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการของพวกเขา อาจจะดื้อ ซน ไม่ฟังพ่อแม่ เราก็ต้องคอยบอกวิธีการรับมือกับปัญหาเหล่านั้น”
ณัฐวดีเล่าว่า เธอใช้การรับบุตรบุญธรรมแบบเปิดให้ตัวเด็กเข้าใจว่าพ่อแม่ของเขาไม่ใช่พ่อแม่ที่แท้จริง แต่เขาก็รักและอยากเลี้ยงดู เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกหลอกเมื่อมารู้ในภายหลัง จนเกิดความไม่ไว้วางใจ
“เราอยากให้เด็กๆ มั่นใจว่าแม้เขาจะไม่ใช่ลูกจริงๆ แต่พ่อแม่ก็สามารถทุ่มเทให้เขาได้ สนับสนุนเขาได้ ได้เรียนหนังสือ ได้ทำกิจกรรม ได้รับความรักและยอมรับว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ซึ่งตัวเด็กเองก็จะรู้สึกขอบคุณพ่อแม่บุญธรรมด้วย
แต่ถ้าพูดถึงกฎหมายบุตรบุญธรรมที่ติดตามได้ 6 เดือน จากประสบการณ์แล้วมันไม่เพียงพอ และอาจจะล้มเหลวได้ มันควรจะต้องติดตามในทุกๆ ช่วงวัย”
เมื่อถามต่อถึงข้อกฎหมายที่อยากให้มีการพิจารณาแก้ไขหรือเพิ่มเติม คุณณัฐวดีบอกว่า ในประเทศไทยมีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ถูกบังคับใช้ บางทีเธอรู้สึกว่าไม่รู้จะไปเปลี่ยนกฎหมายอะไร เพราะมันมีทุกอย่างครอบคลุมแล้ว
“ถ้ายกตัวอย่างกรณีที่เป็นอยู่ในกลุ่มนี้ มันผิดกฎหมายชัดเจนเลย ดังนั้นผู้ที่รักษากฎหมายต้องขยับให้ทันการเปลี่ยนแปลง แต่เดิมเราคงไม่รู้หรอก แต่อันนี้มีการโพสต์กันในสื่อออนไลน์เลย คุณต้องขยับให้ทัน ต้องป้องกันให้ได้”
ณัฐวดีมองว่ารัฐควรสนับสนุนให้มากขึ้น เพราะเด็กแรกเกิดยังต้องการอะไรที่มากกว่าเงินสนับสนุน 600 บาท เช่น ศูนย์เด็กเล็กแบบทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะยังมีพ่อแม่อีกหลายคนที่ต้องทำงานกลางคืนและต้องทิ้งลูกไว้ในบ้านคนเดียว
“นอกจากนี้ ยังมีการอุ้มบุญผิดกฎหมายในไทยไม่มีใครมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาใช้บริการอุ้มบุญในไทย และนำเด็กออกไปทำอะไรก็ไม่มีใครรู้ สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องจัดการ”
ต่อมาณัฐวดีพูดถึงอัตราการเกิดต่ำในประเทศไทยว่า สิ่งที่รัฐกำลังพยายามผลักดันอยู่อย่างการเร่งรัดให้มีลูกนั้น อาจไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะยังมีเด็กที่เกิดมาโดยไม่พร้อมอีกมาก และกำลังเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่า ในปี 2566 ประเทศไทยประสบปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมในปี 2506-2526 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ลดลงเหลือ 502,107 คนในปี 2565 และอาจจะต่ำกว่า 500,000 คนในปี 2566 โดยการลดลงนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เวียดนาม เกาหลีใต้ และอีกกว่า 120 ประเทศ
เมื่อจำนวนเกิดลดลง จำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้น กรมอนามัยระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์คือ มีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 20% และในปี 2579 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ มีประชากรที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 30 ทำให้ในปี 2566 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงาน อายุ 20-24 ปี ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงาน อายุ 60-64 ปีได้
ซึ่งรัฐบาลกำลังแก้วิกฤตดังกล่าวนี้ด้วยการผลักดันให้เป็นวาระเร่งด่วน และขอให้ประชาชนที่มีความพร้อมมีลูกอย่างน้อยครอบครัวละ 2 คน
ณัฐวดีกล่าวว่า รัฐพยายามเร่งรัดให้มีเด็กเกิดมากขึ้น แต่กับเคสที่กำลังเป็นปัญหาสังคมอยู่ทุกวันนี้ยังไม่มีกฎหมายป้องกันการตั้งครรภ์มารองรับด้วยซ้ำ การคุมกำเนิดที่ต้องจ่ายเงินเอง บางคนไม่อยากมีลูก แต่ไม่รู้จะทำยังไงเพราะจะคุมกำเนิดก็แพง
“ซึ่งถ้ามองจริงๆ แล้วประชากรที่มันลดน้อยลงคือประชากรที่มีความพร้อม และสามารถเข้าถึงการศึกษา มีเงิน และรู้สึกว่าลูกเกิดมาแล้วอาจจะเป็นทุกข์ ไม่ต้องการให้ลูกทุกข์เลยเลือกที่จะไม่มี”
“แต่กับประชากรอีกส่วนมีลูกกันเยอะมาก แปลว่ารัฐควรจะช่วยส่งเสริม
และเพิ่มมาตรการป้องกันให้กับพวกเขา เช่น คุมกำเนิดฟรี
ซึ่งมันก็จะย้อนแย้งกันกับการส่งเสริมให้มีบุตร แต่มันผลักดันให้เขา
กลายเป็นประชากรที่ถูกกดทับเรื่องของคุณภาพชีวิตลงไปอีก
เพราะรัฐไม่ส่งเสริมตรงนี้เลย”
ณัฐวดีมองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา เพราะรัฐกำลังไปส่งเสริมกลุ่มคนที่มีการศึกษาให้มีลูก แม้สุดท้ายแล้วเขาจะไม่อยากมี รายละเอียดเหล่านี้มันยังขัดแย้งกันอยู่
“จะมาบอกให้มีเด็กเพียงพอกับแรงงานประเทศ แล้วเด็กที่เกิดมาตรงนี้ล่ะ จะทอดทิ้งเขาหรือ?” ณัฐวดีทิ้งท้าย
อ้างอิงจาก