“เด็กสมยอมเอง … เด็กคนนี้มีความเป็นผู้ใหญ่ … พ่อแม่ยอมก็ไม่เป็นไร”
คือหนึ่งในหลากหลาย ‘เหตุผล’ ที่ถูกมอบให้เหตุการณ์แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศต่อเด็ก บ้างออกมาจากปากผู้กระทำ บ้างมาจากการวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมเมื่อเห็นข่าวที่ผู้เสียหายเป็นเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก หรือเริ่มกลายเป็นวัยรุ่นก็ตาม
แต่นั่นคือ ‘เหตุผล’ ที่ถูกต้องและมีความจริงแท้แน่หรือ เมื่อผู้ถูกกระทำคือ ‘เด็ก’ ที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ด้วยทั้งคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ว่าการเจริญเติบโตทั้งร่างกาย จิตใจ และสมองยังไม่เต็มที่ หรือแม้แต่คำอธิบายทางสังคมศาสตร์ ที่ว่าด้วยจริยธรรม และวัฒนธรรม ก็ยังมีข้อโต้แย้งที่ว่าด้วยการไม่ควรมีสัมพันธ์กับเด็ก
แต่ก็ด้วยค่านิยมและวัฒนธรรมทางสังคมนี่เอง ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการก่อร่างสร้าง ‘มายาคติ’ ที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่า เพราะเป็นเด็ก จะทำอะไรกับเขาก็ได้ รวมไปถึงการล่วงละเมิด และแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ
เพื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้ให้มากยิ่งขึ้น The MATTER ได้พูดคุยกับ ภาสตรี ชมวงศ์ นักสังคมสงเคราะห์อาวุโส จาก Save the Children Thailand เพื่อหาคำตอบที่ถูก และทลายมายาคติที่ผิดเพี้ยนต่อเด็กไปพร้อมกัน
มายาคติ ที่ทำให้เกิดปัญหา
ประการหนึ่งที่มักกลายมาเป็นเหตุผลกล่าวอ้างยอดนิยม คือการบอกว่า ‘เด็กเต็มใจ เด็กสมยอมเอง’
ในทางกฎหมาย จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘อายุความยินยอม’ (Age of consent) ซึ่งหมายถึงอายุขั้นต่ำที่บุคคลจะถือว่ามีอำนาจตามกฎหายในการให้ความยินยอมเพื่อมีเพศสัมพันธ์
ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317, 318 และ 319 ว่าด้วยการพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปีแต่ยังไม่เกิน 18 ปีไปจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อพาไปทำอนาจารหรือเพื่อหากำไร ไม่ว่าจะโดยที่ผู้เยาว์เต็มใจหรือไม่ก็ตาม จะมีโทษปรับและจำคุก หรือที่เรียกว่าความผิดตามกฎหมาย ‘พรากผู้เยาว์’ นั่นเอง โดยคนจะอ้างว่าไม่รู้ว่าผิดกฎหมายมิได้
เช่นเดียวกันกับคำกล่าวอ้างว่า “พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ของเด็ก ไม่ว่าอะไร ดังนั้นจึงสามารถคบกันได้” ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะหากอายุยังเป็นเด็กหรือผู้เยาว์ และพรากไปเพื่อทำอนาจารหรือเพื่อหากำไร ก็ยังเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายพรากผู้เยาว์ได้
ดังนั้น มาตราดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสะท้อนว่ากฎหมายไทยมองว่าเด็กยังไม่สามารถให้ความยินยอมด้วยตัวเองได้ ข้อกล่าวอ้างว่า “เด็กเริ่มก่อนเอง” ก็ย่อมเป็นอันต้องตกไปเช่นกัน เพราะภาสตรีอธิบายเพิ่มเติมไว้ถึงเหตุผลตามพัฒนาการของเด็ก ที่สำหรับเด็กเล็กอาจเห็นได้ชัดเจนถึงทักษะชีวิตและความคิดที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่เท่าผู้ใหญ่ แต่กับวัยรุ่นเองก็ยังถือว่ายังพัฒนาได้ไม่เต็มที่เช่นกัน
เช่น ความสามารถทางความคิด การแก้ปัญหา การตัดสินใจ การวิเคราะห์ ที่ด้วยวุฒิภาวะที่ทำให้ยังไม่สามารถวิเคราะห์กลุ่มเพื่อน สื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน ความเชื่อ หรือปัจจัยอื่นๆ ทางสังคมได้อย่างเต็มที่ การตัดสินใจจึงอยู่บนพื้นฐานของอายุ
ดังนั้น อีกประโยคที่มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างว่า “เด็กคนนี้มีความเป็นผู้ใหญ่กว่าคนอื่น” ย่อมไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน
จากการบอกเล่าประสบการณ์ของผู้เสียหาย ประโยคดังกล่าวมักถูกผู้กระทำซึ่งเป็นผู้ใหญ่ หยิบยกขึ้นมากล่าวกับผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็ก เช่น เข้ามาจีบเด็กแล้วบอกว่า “หนูไม่เหมือนคนอื่นๆ ที่พี่เคยเจอเลย เป็นเด็กที่มีความคิดเหมือนกับผู้ใหญ่มาก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ‘ผู้ใหญ่ล่อลวงเด็ก’ หรือ Child Grooming
Child Grooming หมายถึงพฤติกรรมที่ผู้กระทำใช้เพื่อค่อยๆ ตีสนิทกับเด็ก ไม่ว่าจะผ่านการใช้คำพูดชื่นชม หว่านล้อม เข้าหาด้วยสิ่งที่เด็กชอบหรือเติมเต็มสิ่งที่เด็กขสด จนเด็กรู้สึกสบายใจด้วย จากนั้นจึงค่อยแสวงหาโอกาสในการแยกเด็กออกมา และนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้กระทำอาจเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับเด็กอยู่แล้ว เช่น ญาติ เพื่อนบ้าน ครูในโรงเรียน ก็ทำให้กระบวนการยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย
ดังนั้น อีกกรณีที่เกี่ยวโยงกันและพบว่าเป็นการให้เหตุผลของการคบหากับเด็กอยู่บ่อยครั้ง อย่างการบอกว่า “คุยกัน เห็นกันมานานตั้งแต่เด็กๆ ก็จริง แต่เพิ่งมาคบกันตอนเด็กอายุเกิน 18 ปีแล้ว ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลยนี่” ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของ Child Grooming เช่นกัน เพราะเป็นการล่อลวงเด็กที่ถือว่ายังไม่มีวิจารณญาณในการพิจารณาเรื่องต่างๆ โดยเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ได้
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีข้อกฎหมายที่ระบุถึงความผิดและใช้บังคับกับกรณี Grooming โดยตรง แต่มักจะเป็นกฎหมายที่เกิด ‘การกระทำ’ ที่ชัดเจนขึ้นก่อน จึงกลายเป็นว่าไม่ว่าสามารถ ‘ป้องกัน’ หรือปกป้องเด็กตั้งแต่ก่อนจะเกิดเหตุได้
แต่ก็อาจมีกฎหมายที่นำมาประยุกต์ใช้ได้บ้าง เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ระบุถึงการนำข้อมูลลักษณะลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ก็ยังเป็นขั้นตอนที่อาจเรียกได้ว่าสายเกินไปที่จะปกป้องตั้งแต่ต้นเหตุอยู่ดี
ค่านิยม และสภาพสังคม ที่ตอกย้ำความเชื่อที่ผิดๆ
หากจะหาวิธีแก้ไขสาเหตุ คำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในเมื่อหลายๆ ความเข้าใจผิดที่นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศนั้นมีกฎหมายกำหนดความผิดไว้ หรือบางปัจจัยก็อาจมีหลายคนวิจารณ์ว่า ควรจะเป็นเรื่องที่คนเข้าใจโดยทั่วกันหรือเปล่าว่าไม่ควรทำร้ายเด็ก แล้วอะไรกันล่ะ ที่ทำให้ความเข้าใจผิดและมายาคติเหล่านี้ยังคงอยู่ และยังทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศต่อเด็กอยู่?
ภาสตรีอธิบายว่า มายาคติ เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่น ถึงขั้นอาจเรียกว่าเป็นรากของสังคมไทยก็ได้ นั่นคือเรื่อง ‘การใช้อำนาจเหนือ’ อย่างการที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง ผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือกว่าเด็ก โดยผู้หญิงมีภาพว่าจะต้องเป็นสมบัติของผู้ชาย และเด็กเป็นสมบัติของผู้ใหญ่
โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กเพศใด แต่ด้วยปัจจัยด้านอายุและวุฒิภาวะที่ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้เด็กมีอำนาจในทุกด้านด้อยกว่าผู้ใหญ่ และกลายเป็นเหตุผลที่สร้างความชอบธรรมให้ผู้ใหญ่สามารถทำอะไรกับเด็กก็ได้ และเด็กต้องสมยอมอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
ตอกย้ำด้วยค่านิยมที่เด็กควรเคารพผู้ใหญ่ ดังคำกล่าวว่า ‘ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน’ เป็นตัวกดให้เด็กไม่กล้าแสดงออก “ฉันถูกลิดรอน โดยที่ฉันไม่รู้ตัวว่าฉันกำลังถูกลิดรอนสิทธิ” การลิดรอนสิทธิเสรีภาพในตัวเด็กถูกปลูกฝังทีละนิด ทีละนิด จากการเลี้ยงดูของสภาพสังคม
ไม่เพียงเท่านั้น ในสังคมไทยยังมีวัฒนธรรมการโทษเหยื่อ (victim blaming) กล่าวคือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้เสียหาย แทนที่จะคาดโทษผู้กระทำความผิด กลับตั้งคำถามว่าผู้เสียหายไปทำอะไร ทำไมถึงปล่อยให้ตนถูกล่วงละเมิดได้ ถ้าหากมีข่าวเด็กถูกล่วงละเมิดออกมา จะสังเกตได้จากช่องความคิดเห็นที่คนมองว่า เป็นพราะตัวเด็กทำตัวเอง สมยอมเอง แต่งตัวโป๊เอง ไม่รู้จักขอความช่วยเหลือเอง
ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กก็จะไม่กล้าขัดขืน หรือร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ เพราะถูกปลูกฝังหรือเห็นจากสังคมรอบตัว ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรหากมีคนรู้ว่าตนถูกกระทำ โดยอาจถูกข่มขู่จากผู้กระทำ กลัวโดนดุ กลัวโดนทำโทษ ไปจนถึงความกังวล โทษตัวเองว่าอาจเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัวและสังคม จึงไม่กล้าออกมาเรียกร้องอะไร
ไม่เพียงแค่ในครอบครัวเท่านั้น อีกหนึ่งหน่วยที่ใกล้ชิดกับเด็กที่สุดอย่างสถานศึกษาก็เช่นกัน ที่ยังมีเรื่องระบบอำนาจแฝงอยู่ ภาสตรีอธิบายว่า ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันทำหน้าที่สองอย่าง คือให้ความรู้ และขัดเกลาทางสังคม แต่ระบบการศึกษาไทย ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับการขัดเกลามากกว่าให้ความรู้หรือให้ฝึกฝนทักษะในการใช้ชีวิต
เช่น ขัดเกลาให้เด็กเชื่อฟังผู้ใหญ่ คนที่มีอำนาจ ครูบาอาจารย์ เคารพผู้ที่อาวุโสกว่าอย่างการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง โดยเด็กจะต้องไม่ตั้งคำถามว่าทำไปทำไม แต่ให้ทำเพียงเพราะเป็นสิ่งที่ทำต่อๆ กันมา จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ให้เด็กไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพราะก็จะโดนสังคมตีตราว่าเป็นเด็กนิสัยไม่ดี
และในเรื่องทางเพศโดยตรงนั้น คนบางส่วนอาจเข้าใจว่า การล่วงละเมิดทางเพศจะต้องเกิดกับเด็กที่เริ่มแสดงลักษณะทางเพศแล้ว เช่น มีหน้าอก ตัวสูงใหญ่ แต่แท้จริงแล้ว ภาสตรีระบุว่า เหตุการณ์น่าสลดก็เกิดกับเด็กเล็กได้เช่นกัน
ด้วยแนวคิดที่ว่าเด็กเป็นสมบัติของพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่จะทำอะไรก็ได้ พ่อแม่พูดอะไรก็ต้องฟัง ต้องเชื่อ หรือพ่อแม่อาจมีวิธีเลี้ยงดูลูกที่เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องเพศโดยไม่ตั้งใจโดยคิดว่าหวังดี เช่น พ่อแม่อาบน้ำด้วยกันกับเด็กที่เริ่มโตแล้ว หรือไม่ใส่เสื้อผ้าเดินไปมาในบ้าน ซึ่งอาจกลายเป็นต้นตอสู่ปัญหา ทั้งการที่เด็กจะไม่เข้าใจขอบเขตทางเพศที่ควรเป็น หรือเป็นโอกาสสู่การล่วงละเมิดทางเพศได้
สำหรับผู้ใหญ่ ที่อาจเป็นหรือไม่เป็นผู้ปกครองของเด็ก แต่ได้ออกมาวิจารณ์เด็กผู้เสียหายในข่าวต่างๆ ในทางที่โทษเด็ก ภาสตรีระบุว่า ก็เป็นเพราะพวกเขาถูกปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ เพียงแต่ ‘โชคดี’ ที่ไม่เคยถูกกระทำอะไร จึงมีความเชื่อว่าการเชื่อและทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกจะเป็นเกราะคุ้มกันที่ดีที่สุด และเห็นว่าเด็กที่ถูกกระทำก็เพราะไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่
“ไม่ได้บอกว่าการสอนของผู้ใหญ่ไม่ดี แต่บริบทมันเปลี่ยน การสอนโดยไม่ให้เด็กมีส่วนร่วมหรือแสดงความคิดเห็น ทำให้กระบวนการเรียนรู้ของมันผิดเพี้ยน ใครบอกอะไรก็ต้องเชื่อตามนั้น”
ภาสตรีกล่าว และอธิบายถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อสังคมต่อไปในอนาคต คือเมื่อเด็กเติบโตขึ้น ก็จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านี้ไปปฏิบัติกับคนอื่น หรือกับลูกหลานของตนเองในอนาคต จนกลายเป็นวงจรที่สังคมจะหาทางหลุดออกมาได้ยาก
แก้ไขอย่างไร ให้เด็กปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ?
ภาสตรีระบุว่า การจะหาทางการแก้ไขปัญหา จะต้องย้อนกลับไปดูต้นตอ ว่าเพราะอะไรเด็กจึงตกเป็นเหยื่อ ทำไมเด็กต้องยอมอยู่ร่ำไป และทำไมทุกคนใช้อำนาจกับเด็กได้
ภาสตรีเห็นว่า หน่วยที่ใกล้ชิดกับเด็กที่สุดอย่าง ‘ครอบครัว’ เป็นส่วนสำคัญ ที่จะต้องสอนโดยปรับทั้งเนื้อหาและรูปแบบการสอน “ถ้าอายุ 17 ก็จะคิดได้แบบเด็กอายุ 17 ต้องไม่คาดหวังว่าจะคิดได้เหมือนผู้ใหญ่อายุ 30-40 ปี” ภาสตรีกล่าว
โดยพ่อแม่ ผู้ปกครอง มักจะพูดว่า “สอนลูกแล้ว บอกแล้ว เตือนแล้ว แต่ลูกไม่ฟัง ยังทำยังพลาด” ซึ่งภาสตรีระบุว่าถือเป็นความคิดที่มุ่งตำหนิเด็ก แต่กลับไม่ได้ย้อนกลับมามองว่าแล้วตนสอนหรืออบรมสั่งสอนลูกอย่างไร
ปัญหาหนึ่งดังที่กล่าวก่อนหน้านี้ คือการสอนโดยให้เด็กเชื่อฟังโดยไม่ตั้งคำถาม ซึ่งทำให้เด็กขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้ขาดทักษะการปฏิเสธ และการเจรจาต่อรองเพื่อให้รอดพ้นจากสถานการณ์ต่างๆ
นอกจากนั้น ยังควรสอนและให้เด็กเรียนรู้ทักษะการจัดการความรู้สึกของตนเอง ทั้งความโกรธ ความกังวล ความเศร้า ความผิดหวัง และการเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าจะต้องอยู่กับความรู้สึกเหล่านี้อย่างไร หรือจะจัดการมันได้อย่างไร แต่ผู้ใหญ่กลับใช้วิธีการอธิบายแบบกำปั้นทุบดิน ว่า “ฉันผ่านมาได้ ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน เธอก็จะต้องผ่านไปได้”
อย่างไรก็ดี แม้ครอบครัวจะเป็นหน่วยเล็กที่สุดและใกล้ชิดที่สุด ที่จะมอบคำสอน รวมถึงความรัก ความอบอุ่นให้กับเด็กได้ แต่เด็กยังคงต้องเติบโต และใช้ชีวิตในสถานศึกษา ชุมชน และสังคม ทุกหน่วยสังคมจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในการช่วยสอน สร้าง และปกป้องเด็ก เพื่อให้เด็กเติบโตมาโดยไม่ถูกทำร้าย และเป็นพลเมืองที่จะร่วมส่งต่อคุณค่าแห่งการเคารพสิทธิกันและกันในสังคมได้ต่อไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ความร่วมมือระหว่าง The MATTER และองค์กร Save The Children เพื่อร่วมกันสื่อสารเพื่อรณรงค์ถึงปัญหาการคุกคามทางเพศ และอาชญกรรมทางเพศต่อเด็ก หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงสนับสนุนการทำงานของ Save The Children สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ที่ : https://donate.savethechildren.or.th/
Graphic Designer: Kotchamon Anupoolmanee
Editor: Thanyawat Ippoodom