เกือบ 7,600 ล้านคน คือจำนวนประชากรโลกโดยประมาณ และอีกกว่า 6,500 ภาษาที่ถูกใช้บนโลกใบนี้ วัฒนธรรมอันหลากหลาย หล่อหลอมให้ผู้คนในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันในหลายด้าน ตั้งแต่อาหารการกิน มารยาทบนโต๊ะอาหาร การทักทายกัน หรือแม้แต่การอาศัยร่วมกันในสังคมใหญ่ การทำงานที่รวมเอาผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมไว้กัน จึงไม่อาจเลี่ยง culture shock ได้เลย
ทำไมคนจากที่หนึ่ง ถึงมักจะยอมรับผิดก่อนเสมอ โดยไม่โต้แย้งใดๆ ทำไมคนอีกที่หนึ่ง มักจะแก้ปัญหาแบบทางตรงอยู่เสมอ หรือทำไมคนอีกที่หนึ่ง ทำงานล่วงเวลาโดยไม่รู้สึกผิดแปลกอะไร
พอเห็นภาพไหมว่า พอเป็นการทำงานร่วมกันในวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาจมีความเข้าใจและไม่เข้าใจเกิดขึ้นได้ เราจึงควรมี CQ (cultural intelligence) เอาไว้ด้วยเช่นกัน ปกติแล้วการทดสอบ IQ (Intelligence Quotient) หรือชื่อง่ายๆ ว่า ความฉลาดทางสติปัญญา ถูกนำมาใช้ในการสัมภาษณ์งานอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งในปี ค.ศ.1995 New York Times ได้ตีพิมพ์เรื่อง ‘Emotional Intelligence: Why It Can Matter More Than IQ’ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ ที่อาจจะสำคัญกว่าความฉลาดทางสติปัญญาเสียอีก จนการทดสอบ EQ (Emotional Quotient) กลายเป็นอีกสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ เลือกที่จะมองหาในตัวผู้ถูกสัมภาษณ์ ทั้งสองสิ่งนี้ดูจะเพียงพอที่จะวัดความสามารถที่นอกเหนือจากคุณสมบัติเฉพาะ แต่มันไม่ใช่อีกต่อไปสำหรับศตวรรษที่ 21 มาทำความเข้าใจทักษะนี้ ไปพร้อมกัน
CQ คืออะไร?
CQ (cultural intelligence) ความเข้าใจและอยากจะเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานร่วมกันผู้คนที่มาจากต่างวัฒนธรรม เราสามารถเข้าใจถึงที่มา ว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ ปรับตัวเข้ากับความหลากหลายนี้ได้ และรู้จักนำจุดเด่นท่ามกลางความหลากหลายนี้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ง่ายๆ ก็คือ Put the right man on the right job. นั่นแหละ
รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ เราควรปฏิบัติตัวอย่างไรกับคนในวัฒนธรรมนี้ แต่อาจทำไม่ได้กับคนที่มาจากอีกวัฒนธรรม และช่วยอธิบายให้คนองค์กรคนอื่นเข้าใจถึงความหลากหลายนี้ด้วย ช่วยแก้ปัญหาทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นเรื่องใหญ่ของคนนี้ แต่ช่างเป็นเรื่องน้อยนิดของอีกคน เพื่อช่วยให้ความสัมพันธ์ในองค์กร การทำงานเป็นทีม เป็นไปอย่างราบรื่น
โดย CQ เป็นทักษะที่ไม่สามารถวัดเป็นคะแนนได้เหมือน IQ เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาไปได้เรื่อยๆ ชั่วชีวิตของเรา เพราะทักษะนี้อาศัยทั้งความรู้และประสบการณ์ ไม่ใช่แค่ว่าเข้าใจอย่างเดียว อ๋อ คนนี้เป็นแบบนี้นะ คนนี้เป็นแบบนี้นะ แล้วจบ ไม่มีการต่อยอดอะไร มันมีทั้งความเข้าใจและรู้จักปรับตัว ลองมาดูขั้นตอนการใช้ CQ ให้มีประสิทธิภาพกันดีกว่า
สังเกตแบบง่ายๆ คนไหนมี CQ สูง
- ยืดหยุ่น รู้จักปรับตัว
- ไม่ถือว่าตนเอง คือศูนย์กลางความถูกต้อง
- มีความเข้าอกเข้าใจ เห็นใจ
- กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้นิสัยใจคอของผู้อื่น
- มองเห็นและเข้าใจสถานการณ์ในมุมของผู้อื่นได้ดี
ใช้อย่างไร?
เริ่มกันที่ CQ Drive คือความต้องการที่จะทำงานร่วมกับผู้คนหลากหลาย อยากจะเรียนรู้ อยากจะเข้าใจในวัฒนธรรมที่ต่างกัน โดยมองข้ามอคติต่างๆ ไป ก็คือการไม่ stereotype นั่นเอง ส่วน CQ Knowledge คือการทำความเข้าใจ ทั้งในความเหมือนและความต่าง ต่อมาเป็น CQ Strategy คือการตระหนักถึงความความแตกต่างในแต่ละคน และสามารถวางแผนให้เหมาะสมได้ และสุดท้าย CQ Action คือการรู้จักปรับตัว แก้ปัญหา เมื่อสถานการณ์ต่างๆ มาถึง
อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่การ stereotype ว่า มาจากวัฒนธรรมนี้จะต้องเป็นคนแบบนี้เท่านั้น ต้องปฏิบัติกับเขาแบบนี้เท่านั้น CQ เป็นสิ่งตรงข้ามเลยต่างหาก มันคือการทำความเข้าใจ อยากที่จะเข้าใจ และยอมรับในความหลากหลาย ก้าวข้าม stereotype ไปเลย แล้วยังรู้จักวางแผน นำคนมาใช้ให้ถูกงาน รู้ว่าควรจะต้องรับมือกับวัฒนธรรมที่หลากหลายนี้อย่างไร เมื่อต่างวัฒนธรรมมาเจอกัน เราจะผสานให้มันกลมกลืนได้อย่างไร สิ่งนี้แหละ คือ CQ
CQ จึงเหมาะกับหัวหน้าทีม ผู้บริหาร หรือคนที่ต้องทำงานกับผู้คนในหลากหลายวัฒนธรรม อาจจะเป็นพนักงานธรรมดาก็ได้ ลองนึกถึงประเทศออสเตรเลีย หรือมหานครนิวยอร์ก ที่รวมเอาผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรมไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะคนทำงาน พวกเขาปรับตัวเข้าหากันอย่างไร หรือในวันที่ทั้งโลกเชื่อมกันด้วยปลายนิ้ว หากมีสิ่งนี้ไว้ก็เป็นอีกทักษะที่ดีเช่นกัน
สุดท้ายแล้ว CQ ไม่ใช่รายงานหนึ่งเล่ม โปรเจ็กต์หนึ่งชิ้น ที่เราสามารถสั่งได้ว่าเอาวันไหน คุณภาพเท่าไหร่ แต่มันคือทักษะที่แต่ละคนใช้เวลาในการฝึกฝน เรียนรู้ และทำความเข้าใจ ควรได้รับการผลักดันให้ทุกคนกระตือรือร้น มีพลัง ที่จะปรับตัว อยู่รอด และหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ไปพร้อมๆ กัน เมื่อทุกคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแล้ว การเรียนรู้เรื่องนี้ย่อมเป็นไปได้ในไม่ช้า
อ้างอิงข้อมูลจาก