ช่วงปลายเดือนพฤศจิกาที่ผ่านมา ทาง Netflix ประกาศว่าได้รับสิทธิในการผลิตงานจำนวนหนึ่งของโรอัลด์ ดาห์ล หนึ่งในนั้นก็มีงานสำคัญที่อยู่ในความทรงจำ เช่น Charlie and the Chocolate Factory และภาคต่อ Charlie and the Great Glass Elevator รวมถึงเรื่องของเจ้ายักษ์ The BFG และ Matilda เด็กหญิงที่เป็นแรงบันดาลให้เหล่าผู้หญิงมาแล้วอย่างยาวนาน
โรอัลด์ ดาห์ล เป็นเจ้าของผลงานที่อยู่คู่ความทรงจำของเด็กๆ นับล้านมาอย่างยาวนาน ดาห์ลเองถือว่าเป็นนักเขียนระดับป๊อปปูลาร์ตั้งแต่ตอนที่ยังมีชีวิต โลกมหัศจรรย์ในงานเขียนของดาห์ลเป็นโลกที่ก้ำกึ่งระหว่างความแปลกประหลาดและเรื่องราวที่สวยงาม หลายครั้งที่เราอ่านงานของเขา เราจะพบอารมณ์ขันพิลึกๆ ที่ทั้งหมดนั้นทำให้ดาห์ลกลายเป็นอีกหนึ่งนักเขียนที่เป็นที่รักและกลายเป็นอีกตำนาน
ในโอกาสนี้ The MATTER ชวนกลับไปหวนคิดถึงงานของโรอัลด์ ดาห์ล งานหลายชิ้นที่เราเคยอ่าน เคยถือว่าเป็นเพื่อนสมัยเด็กๆ เราอาจจะลองไปหยิบมาอ่านใหม่ งานเขียนเด็กๆ เหล่านี้อาจจะให้คำตอบใหม่ๆ กับโลกของเราที่ยุ่งเหยิงขึ้นทุกวัน หรือบางครั้งเราอาจจะได้กลับไปเข้าใจความเรียบง่าย สวยงาม และไม่ซับซ้อนแบบเด็กๆ อีกครั้งหนึ่ง
Charlie and the Chocolate Factory
เรื่องแรกในความทรงจำสำหรับงานของดาห์ลต้องเรื่องนี้เลย Charlie and the Chocolate Factory เรื่องราวของหนุ่มน้อยคนยากที่ได้สิทธิ์เข้าไปเยี่ยมชมโรงงานช็อกโกแลตแปลกประหลาดของวิลลี่ วองก้า ดาห์ลได้แรงบันดาลใจจากตอนเด็กๆ ที่ทาง Cadbury มักจะส่งช็อกโกแลตให้เด็กๆ ชิมแลกกับคอมเมนต์เรื่องผลิตภัณฑ์ ในช่วงปี 1920s ในอังกฤษมีบริษัทช็อกโกแลตคู่แข่งอยู่สองเจ้าใหญ่ แต่ละเจ้าจึงมีการปิดบังกระบวนการผลิตและโรงงานของตัวเองอย่างเข้มงวด ดาห์ลจึงจินตนาการถึงโรงงานช็อกโกแลตในฐานะโรงงานลับขนาดยักษ์ที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรและเรื่องแปลกประหลาด
Fantastic Mr. Fox
เรื่องนี้ทาง Netflix ไม่ได้ลิขสิทธิ์ แต่เรื่องนี้ Wes Anderson เจ้าพ่อหนังอาร์ตเหนือจินตนาการ จัดการนำไปทำเป็นสต๊อปโมชั่นสวยงามไว้ในปี 2009 ตัวเรื่องพูดถึงเจ้าหมาจิ้งจอกเล่ห์ที่เฉือนคมกับชาวนาตัวแสบ ดาห์ลใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ชนบทแถบ Buckinghamshire บ้านของดาห์ลรายล้อมด้วยป่าและทุ่งนา ใกล้ๆ มีต้นบีชเก่าแก่เรียกว่า the witches tree ดาห์ลมักจะเล่าให้ลูกๆ ฟังว่าที่ต้นไม้ใหญ่นั้นข้างใต้มีจิ้งจอกและครอบครัวอาศัยอยู่ เป็นที่มาของ Fantastic Mr. Fox ในท้ายที่สุด
Matilda
มาทิลด้าเป็นอีกหนึ่งสาวน้อยไอคอนอันเป็นที่รักมาอย่างยาวนาน มาทิลด้าเป็นเด็กอัจฉริยะที่คนรอบข้างไม่เข้าใจความเฉลียวฉลาดของเธอ Matilda ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1988 และได้รับรางวัล Children’s Book Award หลังจากนั้นไม่นาน ตอนแรกดาห์ลเขียนให้ มาทิลด้าเป็นสาวน้อยที่ร้ายหน่อยๆ คือ เธอช่วยวิกฤติทางการเงินของครูด้วยการเปลี่ยนระยะทางของการแข่งม้า
The Twits
ว่าด้วยผัวเมียละเหี่ยใจ The Twits เรื่องราวบ้าๆ บอๆ ของผัวเมียทวิตที่ทั้งผัวและเมียแสนจะเกลียดและรังเกียจกัน ฝ่ายเมียรังเกียจผัวตรงหนวดเครารุงรังและซกมก ทั้งเรื่องจึงว่าด้วยการเล่นงานกันไปเล่นงานกันมาของสองผัวเมียชวนแหวะ เป็นความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชัง แต่ในเรื่องมีคำพูดชุดหนึ่งว่า “ถ้าเธอมีความคิดที่ดี มันจะฉายออกมาจากหน้าของเธอเหมือนแสงอาทิตย์ และเธอก็จะดูน่ารักเสมอ”
James and the Giant Peach
ดาล์หดูจะชอบวาดภาพผู้ใหญ่ที่ดูสยอง และเด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับนิสัยแย่ๆ ของผู้ใหญ่เหล่านั้น ใน James and the Giant Peach น้องเจมส์ต้องทนอยู่กับป้าใจร้ายสองคน ในเรื่องเจมส์ไปเจอกับพีชวิเศษลูกยักษ์พร้อมกับผองเพื่อนแมลงที่ตัวเท่าๆ คน จินตนาการเรื่องพีชยักษ์เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจในชีวิตชนบท คือดาห์ลเห็นต้นเชอร์รีแถวบ้านและจินตนาการว่า ถ้าต้นเชอร์รีนี้มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นยังไง ความคิดนี้จึงกลายมาเป็นการผจญภัยของเจมส์ในท้ายที่สุด
The BFG
ในปี 2016 สตีเวน สปีลเบิร์ก เอาเรื่อง The BFG ของโรอัลด์ ดาห์ล กลับมาสร้างเป็นฉบับหนัง ตัวเรื่องพูดถึงมิตรภาพของเด็กหญิงกำพร้ากับยักษ์ที่ไม่ชอบกินคน The BFG ได้รับรางวัล The Federation of Children’s Book Groups Award ในปี 1982 และในปี 1989 ถูกนำมาสร้างเป็นฉบับอนิเมชั่น
The Witches
อีกครั้งที่โรอัลด์ ดาห์ล เล่าถึงเด็กกำพร้าที่ใช้ชีวิตอยู่กับยายที่ออกจะประหลาดๆ หน่อย เจมส์สูญเสียพ่อแม่ไปจากอุบัติเหตุจึงต้องใช้ชีวิตอยู่กับคุณยาย คุณยายมักจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแม่มดให้เจมส์ฟัง ให้เจมส์คอยสังเกตและคอยระวังเหล่าแม่มดที่เกลียดชังเด็กๆ อย่างรุนแรง สุดท้ายสภาแม่มดอยากจะกำจัดเด็กทุกคนออกจากอังกฤษ ทันทีที่ The Witches ตีพิมพ์ หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสำหรับเด็กสำคัญสามรางวัล คือ The New York Times Outstanding Books Award, The Federation of Children’s Book Groups Award และ The Whitbread Award (หรือ The Costa Book Awards ในปัจจุบัน)