เมื่อเดือนมิถุนายนเวียนมาบรรจบ LGBTQ ก็ขี่รุ้งพุ่งออกมา เพราะเป็นเดือนที่ไม่ว่าใครต่างรู้ว่าเป็นเดือน pride เดือนที่รำลึกถึงการต่อสู้ของเกย์กะเทยไม่ยอมจำนนต่อการกดทับรังแกของตำรวจ จนเกิดเหตุจลาจล Stonewall riots ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1969 ที่นิวยอร์ก และในปี ค.ศ.1970 ก็ได้หมุดหมายให้เป็นวันรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในความหลากหลายทางเพศที่ทั่วโลกจะร่วมฉลอง
และเพื่อเฉลิมฉลองและแสดงถึงศักดิ์ศรีสิทธิเสรีภาพทางเพศ ในปีนี้รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา Antony Blinken ประกาศให้สถานทูตอเมริกาต่างประดับธงรุ้งตลอดเดือน pride เพื่อเป็นมิตรกับ LGBTQ และเพื่อส่งสัญญาณหนึ่งของรัฐบาล Joe Biden ว่าเป็น LGBTQ friendly ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อพหุวัฒนธรรมรวมทั้งความหลากหลายทางเพศ ผิดกับอีตา Donald Trump ตอนเป็นประธานาธิบดีที่ออกห้ามไม่ให้ประดับธงรุ้งตามสถานทูตอเมริกา
งาน pride และธงรุ้งเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศว่า จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นเทย แต่ละแถบสีของธงถูกออกแบบมาให้มีความหมายแต่ละสีเช่น สีชมพูหมายถึงเพศวิถี แดงคือชีวิต ส้มคือการเยียวยาจิตใจ ครามหมายถึงความกลมเกลียว ม่วงคือจิตวิญญาณมนุษย์ จึงโบกพลิ้วตามที่สาธารณะเพื่อให้สังคมตระหนักถึงการยอมรับความหลากหลายทางเพศ
แต่ก็นั่นแหละความไพรด์เอง ธงรุ้งเอย มันก็สุดแสนจะมีอเมริกาเป็นขั้วอำนาจเดียวและเป็นศูนย์กลางโลก (Americentrism / Americanocentrism) รวมไปถึงยังส่วนหนึ่งของ อเมริกันภิวัฒน์ (Americanization) หรือกระบวนการทำให้เป็นอเมริกัน ทั้งประวัติศาสตร์ อุตสาหกรรมบันเทิง แฟชั่น เสื้อผ้าหน้าผม อย่างที่มักจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมเกย์ เกย์ไอดอล เพลงชาติ LGBT ล้วนเป็นผลผลิตของอเมริกา เดือนไพรด์เองก็เพื่อรำลึก Stonewall Riots ที่อเมริกา ทิวธงสีรุ้งที่ปลิวไสวก็มีที่มาจากหนังฮอลลีวูด “The Wizard of Oz” (1939) ขบวนการเคลื่อนไหว LGBTQ จึงพลอยถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอ่อนจักรวรรดินิยมอเมริกาและยุโรป ทุนนิยมที่ทำลายคุณค่าท้องถิ่นอันดีงามของท้องถิ่น
และลักษณะ Americentrism / Americanocentrism นี้เองที่ทำให้ท้องถิ่นที่มีท่าทีต่อต้าน ความไพรด์ นอกเหนือจากจะมี homophobia เป็นทุนเดิม เหมือนแนวคิดในกลุ่ม Occidentalism ช่วงปฏิวัติอิหร่านปี ค.ศ.1979 ที่อธิบายว่า วัฒนธรรมตะวันตกทั้งยุโรปอเมริกาและ westernization คือ westoxication ยาเบื่อจากพวกคริสเตียนผิวขาว ที่บ่อนเซาะทำลายโลกมุสลิมให้ตกต่ำ หลอกลวงให้ศาสนิกชนหย่อนยานทางศีลธรรม ลุ่มหลงเงินตราทุนนิยม หันเหออกจากศาสนา ขณะเดียวกันก็เป็นการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตกอยู่ในที[1] การลงโทษกำจัด LGBTQ ในบางกลุ่มรัฐอิสลาม ไม่เพียงจะอ้างว่าเป็นการรักษาศาสนาให้บริสุทธิ์ แต่ยังเป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านภาวะสมัยใหม่หรือในอีกความหมายหนึ่งคือ ตะวันตก
ในยูกันดาและรัสเซีย นักชาตินิยมและกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็อ้างว่า LGBT pride เป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อมโทรมจากวัฒนธรรมต่างชาติ ‘ความเป็นอื่น’ และทุนนิยมนำเข้ามา ต้องต่อต้านกำจัด
และนี่ก็ทำให้ LGBT โดนโต้กลับอย่างรุนแรงถึงตาย
เมื่อ ค.ศ.2015 ที่ Omar Mateen ยิงกราดสังหารหมู่เกย์ในเกย์ปาร์ตี้ลาตินไนท์ไนท์คลับ Pulse รัฐฟลอริดา จนตาย 49 คนบาดเจ็บอีก 53 คน คืนนั้น กลายเป็นเหตุการณ์เป็นความอำมหิตที่สุดต่อ LGBT ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา และนับจากวินาศกรรม 9/11 ในปี ค.ศ.2001 มา ซึ่งฆาตรกรรายนี้เป็นชายหนุ่มที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง เหยียดยิว ลาตินอเมริกัน คนดำ ผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรักเพศเดียวกัน และการกระทำของเขาในครั้งนี้ก็อ้างถึงศาสนา
และเมื่อย้อนไปก่อนหน้านั้น ปี ค.ศ.2013 ชาว LGBT ถูกคุกคามหนักมากขึ้นหลังจากปูตินลงนามผ่านกฎหมายต่อต้าน LGBT ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทำให้ LGBT เป็นพลเมืองชั้นสอง ในฐานะความสัมพันธ์ทางเพศที่ผิดจากจารีตประเพณีอันดีงาม การเลือกปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกันทำได้อย่างถูกกฎหมาย การแสดงออกถึงเพศสภาพเพศวิถีของพวกเขาและเธอบนที่สาธารณะทำให้ถูกทำร้ายร่างกาย ด่าทอง่ายขึ้น และเกย์ก็เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกแห่งการถูกคุกคาม
เช่นเดียวกับปี ค.ศ.2017 ในประเทศเชชเนีย รัฐใหม่หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย แต่ก็ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจรัสเซีย ได้เกิดการจับกุมปราบปรามเกย์ครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มเกย์ยื่นขออนุญาตจัดเกย์ไพรด์ แต่ถูกปฏิเสธจากทางการ กลุ่ม LGBT จึงยื่นขอใหม่อีกครั้ง และมีการเดินขบวนแสดงอารยะขัดขืนต่อกฎหมายต่อต้าน LGBT พร้อมดำเนินเรื่องฟ้องศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป เพราะเพศสภาพเพศวิถีเป็นสิทธิเสรีภาพที่พวกเขาและเธอต้องได้รับอยู่แล้ว การกวาดล้างเกย์ในครั้งนี้มีการฆ่าทรมานกักกันในค่าย หลายคนต้องหนีตายหัวซุกหัวซุนออกนอกประเทศ
ในประเทศที่อนุรักษ์นิยมอย่างประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เคยเป็น 1 ใน 6 สาธารณรัฐของอดีตยูโกสลาเวีย ได้รับเอกราชในสงครามยูโกสลาเวียในช่วงทศวรรษ 1990 หลังความขัดแย้ง ชุมชนบอสเนียนก็ถูกแบ่งแยกตามศาสนาและเชื้อชาติทั้งชาวมุสลิมบอสเนียก ออร์โธดอกซ์เซิร์บ และชุมชนโครเอเชียคาทอลิก ชาวบอสเนียนจำนวนมากมีอคติต่อเพศวิถีรักเพศเดียวกัน และเพิ่งจะเริ่มมีงานไพรด์ครั้งแรกในปี ค.ศ.2019 ชื่อ ‘Sarajevo pride’ โดยนักกิจกรรมพัฒนาเอกชน ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มความอดทนอดกลั้นให้กับสังคมได้ กระตุ้นให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อกลุ่ม LGBTQ มากขึ้น
Sarajevo pride เป็นงานในท้องถิ่นไม่ใช่งานระดับนานาชาติ มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 3,000 คนเดินขบวนในใจกลางเมืองซาราเยโว ซึ่งเป็นเมืองหลวง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2019 ซึ่งไม่ได้จัดกันในเดือนมิถุนายน ในงานนี้ Eric Nelson เอกอัครราชทูตวิสามัญอเมริกาในบอสเนียซึ่งเปิดเผยตนเองว่าเป็นเกย์ก็มาร่วมเดินพาเหรดด้วย
อย่างไรก็ตามจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
ก่อนและหลังงานไพรด์ครั้งแรกนั้น ไม่ได้มีผลอะไรมากนัก
กับการยอมรับต่อสิทธิเสรีภาพ LGBTQ
แม้ว่างานไพรด์จะหวังว่า การพบเห็นและการปฏิสังสรรค์ระหว่างผู้เดินขบวนกับผู้คนตามถนนหนทาง ไม่ว่าจะโบกมือให้กับผู้เดินขบวนหรือนั่งพูดคุยกันที่โต๊ะอาหารตามร้านรวงที่เส้นทางพาเหรดทอดผ่าน จะกระตุ้นบทสนทนาเกี่ยวกับการยอมรับทางเพศ และอภิปรายทางการเมืองเชิงอัตลักษณ์ ทว่าทัศนคติของชาวซาราเยโว จากการสัมภาษณ์ซึ่งๆ หน้า 2,000 คน และกลุ่มตัวอย่าง 258 คน คนที่สนับสนุน Sarajevo pride จาก 43% ก่อนจัดงาน เพิ่มขึ้นมาเป็น 52% หลังจัดงาน สำหรับนอกเมืองหลวง คัดค้าน 86% และเมื่อจัดงานไปแล้วการคัดค้านเพิ่มไปถึง 89 %
และจากการสำรวจว่า LGBTQ ควรมีอิสรภาพในการใช้ชีวิตตามเพศสภาพเพศวิถีที่เขาและเธอต้องการหรือไม่ภายในซาราเยโวประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย 60% เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์หลังจาก Sarajevo pride แต่นอกเมืองหลวง ชาวบอสเนียนยังมีอคติต่อ LGBTQ เหมียนเดิม การต่อต้านไม่เห็นด้วยลดลงมาเกือบ 1% หลังงานจบจาก 69.13 เหลือ 68.77
Washington Post แสดงความคิดเห็นว่านักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวประเด็น LGBT ต้องทำการบ้านหนักกว่านี้[2]
ก็จริงอยู่ ย้ำว่า ‘อยู่’ เพราะการยอมรับความหลากหลาย ยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพทางเพศมันแทบจะเรียกได้ว่าเป็นสามัญสำนึกอยู่แล้ว เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ การบอกให้นักเคลื่อนไหวทำการบ้านหนัก ก็ดูจะเป็นการผลักภาระให้ LGBT สักหน่อย เพราะรักต่างเพศชายหญิงเองควรจะตระหนักกับสามัญสำนึกและความคิดความอ่านพื้นฐานมากกว่านี้ ด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่ต้องรอให้ใครมาป้อนให้
และการจะมากีดกันรังเกียจ LGBTQ ด้วยเหตุผลแห่งชาตินิยมหรือศีลธรรมจารีต ก็ดูจะไร้สติปัญญาไร้สามัญสำนึกเกินเบอร์ ขณะที่ความหมายของ pride ก็ถูกทำให้เป็นสากลมากขึ้นเรื่อย ๆ เกินจะเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่งไปแล้ว
เหมือนที่ pride ไม่ใช่สิ่งของนำเข้าจากประเทศไหน การเคารพสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของ LGBTQ เสมอเหมือนเพศอื่นๆ มันก็เป็นสามัญสำนึกแหละ ที่จัดงานงานไพรด์อะไรกันไปก็เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับ LGBTQ บางคนที่ยังคงถูกสังคมที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือปิตาธิปไตยรักต่างเพศนิยมกดทับให้ต้องหลบซ่อนอยู่ รำลึกถึงการต่อสู้ของในประวัติศาสตร์ชาติ LGBTQ ว่าครั้งหนึ่งเคยมีความรุนแรงทางเพศอย่างโจ่งแจ้งจะได้ไม่ทำซ้ำอีก และให้สังคมเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลายเท่าเทียม การประดับธงรุ้งก็เพื่อบอกว่าเราสามารถอยู่กันด้วยความหลากหลายทุกคนสามารถภาคภูมิใจในตัวเองและเคารพผู้อื่นในฐานะมนุษย์เหมียนกัน
ความหมายของแถบสีของธงก็ไม่ได้มีสีไหนแทนเพศไหนโดยฉพาะ และไม่ว่าเพศไหนก็สามารถขับเคลื่อนเพื่อการยอมรับความหลากหลายทางเพศได้ เพราะความหลากหลายทางเพศไม่ได้มีแค่ LGBTQ แต่มีอีกมากมายซึ่งรวมถึงเพศชายเพศหญิงและความรักต่างเพศด้วย ในเบอร์ลิน ร้านรวงมากมายตลอดทั้งปีก็ประดับประดาด้วยสติกเกอร์ธงรุ้งหน้าประตูร้าน เพื่อบอกว่ายอมรับเคารพความหลากหลาย สนับสนุนเสรีภาพสิทธิทางเพศ ไม่ว่าร้านนั้นจะเป็นร้านหนังสือ ร้านกาแฟ อาหารหมา ขนมหวาน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่ารับลูกค้า LGBTQ เท่านั้น เช่นเดียวกับที่สถานทูตอเมริกาติดธงรุ้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นประเทศเทยหรือสาธารณรัฐ LGBTQ
เพราะความ pride ความภาคภูมิใจเป็นเรื่องของพวกเราทุกคนไม่เกี่ยงเพศหรือชาติใดๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Jala Al-i Ahmad, Occidentosis: A Plague From the West, (Berkeley : Mizan press, 1984). ; อัมพร หมาดเด็น, “ทบทวนสถานะความคิดสตรีนิยมอิสลาม,” ฉบับที่ 1 วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, น. 77 (มกราคม – มิถุนายน 2560).