การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (climate change) หรือบางทีบ้านเราก็เรียกอย่างลำลองว่าภาวะโลกร้อน แหม่แค่เขียนมาแค่นี้ก็รู้ว่าแสนจะไกลตัว มีอยู่จริงรึเปล่าก็ไม่รู้ไอ้เจ้าโลกร้อนขึ้น 1 องศาบ้าง 2 องศา ยิ่งบ้านเราก็ดูจะร้อนตลอด แถมคำว่าโลกร้อนในยุคหนึ่งก็ถูกเอาไปพ่วงกับสารพัด กลายเป็นแคมเปญชอปปิ้งแจกถุงผ้าไป
ในหลายภาคส่วนของโลกเริ่มมองประเด็นเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนนี้อย่างจริงจัง หนึ่งในแนวคิดสำคัญคือมนุษย์ที่เคยมองว่าตัวจิ๋วๆ นี่แหละ ที่กิจกรรมของเรากำลังส่งผลเสีย สร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกใบใหญ่ ใบเขียวๆ ฟ้าที่เราภูมิใจอย่างมีนัยสำคัญ—และไม่ใช่ในทางที่ดี ด้วยคาร์บอนที่เราปล่อยส่งผลกับชั้นบรรยากาศและอุณหภูมิโดยรวมของโลก วงจรของน้ำของสรรพสัตว์เริ่มแปรปรวน อะยาวยืด สรุปว่าโลกใบนี้เริ่มมองเรื่อง climate change กันอย่างจริงจัง และพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง
climate change โดยรวม ฟังแล้วอย่างที่บอกว่าทั้งไกลตัว ทั้งยาก ทั้งดูเป็นเรื่องของอนาคต อย่ากระนั้นเลย การให้ความรู้ โดยเฉพาะตั้งแต่วัยเด็กน้อย ปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อม เข้าใจภาวะที่หนูๆ อาจต้องเผชิญในอนาคตจึงเป็นเรื่องจำเป็น หนังสือภาพ นิทานสำหรับเด็กจึงเริ่มมีการหันมาเล่า มาสื่อสารเรื่องภาวะสำคัญนี้กันอย่างจริงจัง และที่สำคัญคือหนังสือเด็กๆ มักเป็นหนังสือที่สวยงาม เข้าใจง่าย ใช้ภาพ ใช้เรื่องราวสนุกๆ มาเล่าเรื่องยากๆ ให้เด็กๆ หรือกระทั่งผู้ใหญ่อย่างเราๆ เองก็หยิบจับมาอ่านได้ ใครละจะไม่ชอบหนังสือเด็ก
The MATTER จึงอยากชวนไปดูหนังสือเด็กสุดอัพเดต ที่ในวงการขวดนมเองเริ่มให้ความรู้เรื่อง climate change ตั้งแต่ในปฐมวัยกันแล้ว มีเรื่องสนุกๆ ตั้งแต่นิทานตำนานอ้างอิงจากหนูน้อยคิ้วขมวด เกรตาผู้สร้างตำนาน คราวนี้ในโลกนิทานหนูน้อยของเราถือป้ายไปสู้ยักษ์ เรื่อยไปจนถึงแบบเรื่องนิทานที่เราคุ้นๆ เช่นเรื่องมังกรบุกเมือง คราวนี้เจ้ามังกรไม่ได้พ่นไฟทำลายเมือง แต่ไปทำลายป่า ผู้เขียนเริ่มต้นเล่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเผาป่าของเจ้ามังกร และอีกหลายเรื่องราวน่ารักที่พาเราไปสัมผัสวิกฤติสิ่งแวดล้อมอย่างมีสีสัน อย่างนุ่มนวลน่ารัก และมองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมจากหลากหลายแง่มุม
Greta and the Giants: inspired by Greta Thunberg’s Stand to Save the World
Zoë Tucker (author), Zoe Persico (illustrator)
เล่มแรกก็แสนจะประทับใจแล้วกับวงการหนังสือเด็กในต่างประเทศ คือแวบเดียวน้องเกรตาของเราก็กลายเป็นฉบับนิทาน บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้เพื่อคนรุ่นต่อไป—เจ้าเด็กน้อยที่กำลังจับหนังสือลายเส้นน่ารักๆ นี่แหละ—ได้อ่านกัน ในเรื่องเป็นนิทานอย่างที่เราคุ้นๆ น้องเกรตาอยู่ในป่า มียักษ์มาคุกคามทำลายธรรมชาติ เด็กหญิงในชุดฝนสีเหลืองก็เลยรวบรวมสมัครพรรคพวกสรรพสัตว์ออกไปต่อสู้กับเจ้ายักษ์ ด้วย…เอิ่ม ป้ายประท้วง ฟังดูก็อาจจะแปลกๆ หน่อย แต่ภาพสวยงามนะ
Winston of Churchill
Jean Davies Okimoto (author), Jeremiah Trammell (illustrator)
เล่มนี้น่ารักมาก คนเขียนฉลาด คือเล่นกับชื่อวินสตัน เชอร์ชิล จริงๆ ในเรื่องพูดถึงเมืองเชอร์ชิล เมืองหลวงของเหล่าหมีขาวในแคนาดา และพูดถึงเจ้าหมีตัวหนึ่งที่ชื่อว่าเจ้าวินสตัน เจ้าวินสตันผู้นี้มีความฝันที่ไม่ใช่สแตนด์ แต่เป็นการผลักดันภาวะประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อนและประเด็นสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่ประจักษ์และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ตัวเรื่องก็แสนจะน่ารัก มีหมีขาวน่ารักๆ ที่พยายามอธิบายประเด็นสิ่งแวดล้อมต่างๆ เจ้าหมีหน้าตาดูทั้งกวนประสาท ทั้งรักโลก ทั้งฉลาดเฉลียว จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางดีๆ ที่ทำให้เรามองเห็นว่า เอ้อ เมื่อบ้านเชอร์ชิลของพวกหมีๆ มีปัญหา มันเกี่ยวกับเราอย่างไร และจะกระทบกับเรายังไงในท้ายที่สุด
The Trouble With Dragons
Debi Gliori (author & illustrator)
หนังสือภาพสวย แถมอลังการไปด้วยฟีเจอร์ป็อปอัพเล่มนี้ได้รับการกล่าวขวัญในฐานะสือเด็กที่ดี ตัวเรื่องก็ตามชื่อเลยคือเล่าถึงมังกร ที่คราวนี้มังกรมันก่อปัญหา ผู้เขียนวาดมังกรว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำอะไรโดยไม่คิด ตัดไม้ เผาป่า ใช้ทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยัง เจาะรูเล่นบนชั้นบรรยากาศ เผาน้ำแข็งขั้วโลกเล่น—ฟังดูคุ้นๆ มังกรไม่น่าใช่แค่มังกรละมั้ง สุดท้ายเจ้าแมงกระพรุนมาเจอปัญหาจากสิ่งแวดล้อมที่มังกรสร้าง ก็ลุกขึ้นพร้อมสรรพสัตว์ ต่อรองและหาทางแก้กับเจ้ามังกร ก็เอ้อ เป็นนิทานแสนน่ารัก ตัวเรื่องผู้อ่านก็ยิ้มๆ แถมได้ทวนความคิดเนอะ แมงกระพรุน มนุษย์ มังกร โลก น้ำท่วม
Welcome
Barroux (author)
จริงๆ เราอยู่ในยุคที่ภาวะอากาศเปลี่ยนส่งผลกับสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์ที่ต้องอพยพย้ายถิ่น เราเองก็คงเริ่มคิดว่า เอ้อ ถ้ากรุงเทพฯ น้ำท่วมจะย้ายไปไหน การพลัดถิ่นย้ายที่อยู่เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อเรา และต่อประชากรในภาพรวมอย่างใหญ่หลวง เกริ่นมาซะใหญ่ หนังสือเรื่อง Welcome เล่าเรื่องสรรพสัตว์ที่ต้องลี้หนีจากป่าเขาบ้านเกิด—นึกถึงเจ้าโคอาลาในวงไฟเลย ในตัวเรื่องที่ภาพแสนจะน่ารัก เล่าถึงเจ้าหมีขาว แพนด้าและอีกหลายสายพันธุ์ที่หิ้วกระเป๋า เล่าเรื่องชีวิตที่พออ่านจบแล้ว หัวใจของเราอาจจะถูกกระทบหนักกว่าด้วยสารที่ซ่อนอยู่
The Rhythm of the Rain
Grahame Baker-Smith (author & illustrator)
วงจรและสมดุลของน้ำเป็นหัวใจสำคัญที่ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนไปกระทบ The Rhythm of the Rain—แค่ชื่อก็รู้สึกถึงความไพเราะ ประกอบกับภาพประกอบหมดจดเล่มนี้ ก็ตามชื่อเลยคือเล่าถึงวงจรของน้ำ ที่เอ้อ สมัยก่อนเราคงเคยเห็นเป็นแผนผังแห้งๆ ในวิชาวิทยาศาสตร์ แต่เล่มนี้คือเอาซะสวยงาม เด็กๆ จะได้เห็นวงจรชีวิตและความอลังการของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ทั้งท้องน้ำ ผืนป่า โลกและธรรมชาติอันสำคัญกับเรายิ่ง
Seagull
Danny Snell (author)
เล่มนี้เด็กๆ ในต่างประเทศในพื้นที่ชายฝั่งอาจจะสัมผัสได้ง่ายหน่อย แต่โดยไอเดียก็แสนดี คือเล่าถึงสิ่งมีชีวิตที่เราๆ เห็น ในเรื่องคือนกนางนวล ที่เกาะอยู่ตามริมฝั่งที่ยังไงเจ้าน้องๆ หนูๆ ก็ชอบ แต่ในเรื่องไม่ได้เล่าแค่ชีวิตปกติและพฤติกรรมที่คุ้นเคยของนางนวลตามหนังสือสารคดี แต่เล่าชีวิตนางนวลในฉบับอัพเดตที่ว่า เอ้อ เดี๋ยวนี้นะ ไปเกาะๆ กินๆ อะไรก็แสนลำบาก มีพลาสติกมีอะไรมาทำร้าย บางทีถึงตายไปเลยก็มี คือในเล่มก็ไม่โหดขนาดนั้น แต่น้องๆ ก็ได้มองเห็นว่า เรา—ขวดเขิดข้าวของที่เรากินเราใช้ อาจจะส่งผลกับสิ่งมีชีวิตที่เราชอบๆ เห็นๆ ได้ง่ายๆ เลยนะ
A Planet Full of Plastic
Neal Layton (author)
กลับมาที่เรื่องง่ายๆ ที่ขนาดผู้ใหญ่อย่างเราเองบางทีก็เข้าใจไม่ถ้วน A Planet Full of Plastic เป็นผลงานของอีกหนึ่งนักทำหนังสือเด็กที่ใช้สไตล์ภาพหลากหลายเพื่อส่งสาระเรื่องพิเศษให้กับเด็กๆ เล่มนี้ก็นั่นแหละครับ เล่าเรื่องพลาสติกที่กลายเป็นสนุก เข้าใจง่าย ตัวเรื่องเล่าตั้งแต่ว่าเจ้าพลาสติกนี้โลกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมมันถึงท่วมโลก เราจะจัดการมันยังไงดีโดยเริ่มจากตัวเรานี่แหละ จะว่าไปเล่มนี้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็น่าอ่านเนอะ
Cool for You: A Picture Book about Climate Change Science
Marianna Linz (author), Caitlin B. Alexander (illustrator)
เป็นเรื่องน่ายินดีที่โลกเรามีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่ เอ้อ อยากจะสื่อสาร นำความรู้มาสู่ปวงชน โดยเฉพาะเด็กน้อย โปรเจกต์ ‘Cool for You’ เป็นโปรเจกต์เก๋ๆ ของ Marianna Linz ที่ลงใน Kickstarter (ปัจจุบันได้ทุนครบตามต้องการเรียบร้อย) ตัวโปรเจกต์ก็ง่ายๆ คือทำหนังสือภาพเรื่อง climate change ให้ความรู้กับเด็กๆ ตัวคุณลินซ์แกเป็นนักวิจัยเรื่องผลกระทบของมลพิษกับมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศที่อยากจะเผยแพร่ว่า เอ้อ เรานี่ส่งผลเสียกับโลกขนาดไหนน้อ แกเขียนบทกวีเอยอะไรเอย จนมาทำหนังสือเด็กนี่แหละ ตัวโครงการเป็นงานออกแบบหนังสือที่มีทั้งตัวเธอเป็นผู้เขียน มีนักวาดภาพประกอบ พร้อมองค์กรที่รับผิดชอบเรื่องหนังสือเรียนเด็กร่วมกันออกแบบการสื่อสารกับน้องๆ ให้
The Brilliant Deep: Rebuilding the World’s Coral Reefs: The Story of Ken Nedimyer and the Coral Restoration Foundation
Kate Messner (author), Matthew Forsythe (illustrator)
ส่งท้ายที่การดำดิ่งลงไปใต้มหาสมุทร The Brilliant Deep เป็นหนังสือชีวประวัติของ Ken Nedimyer นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ที่มุ่งมั่นอนุรักษ์และหลงใหลในแนวปะการังมาตั้งแต่เด็กๆ ตัวเรื่องพูดถึงชีวิตและการทำงานอันยาวนานในการปกป้องทำนุบำรุงหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่เปราะบาง สวยงามและสำคัญที่สุดประเภทหนึ่งของท้องทะเล จุดเด่นของเล่มนี้อยู่ที่ภาพใต้ทะเลที่สงบ สวยงาม และชวนให้เรากลับมาเห็นปัญหาว่า เอ้อ ปะการังฟอกขาว น้องตายเป็นเบือนี่ เรื่องใหญ่และแสนจะลำบากเด้อ