“ไปดูหนังกันมั้ย?”
การชมภาพยนตร์ถือเป็นกิจกรรมในวันว่างที่สำคัญของคนเมือง โดยเฉพาะประเทศที่มีอากาศร้อนจัด พื้นที่สีเขียวและสถานที่ที่มีบริการสอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันน้อย ผู้คนจึงเลือกใช้ชีวิตวันหยุด หรือหลังเวลางานด้วยการเข้าห้างสรรพสินค้าที่กลายเป็นศูนย์กลางชุมชนและจ่ายเงินค่าตั๋วหนังเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับทางเลือกที่มีอยู่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศที่อากาศเย็นสบาย มีสวนสาธารณะทุกมุมเมืองและประชาชนก็มั่นใจที่จะขี่จักรยานออกจากบ้านโดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีรองรับ
ทั้งหมดที่กล่าวไปคือโลกก่อนยุคแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ถ้าพูดถึงธุรกิจ ‘โรงหนัง’ ในประเทศไทย เราจะนึกถึงแบรนด์ยักษ์ใหญ่อยู่สองรายได้แก่ Major Cineplex และ SF Cinema ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองตามมาตรการของภาครัฐและการเว้นระยะห่างระหว่างกัน (physical distancing) รายได้หายไปกับตาเพราะธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้สอดคล้องกับโรงหนังทั่วโลกที่ตอนนี้ก็ยังปิดให้บริการ ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ทั้งหลายต่างเลื่อนวันฉายออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด แม้ปัจจุบันจะเริ่มผ่อนปรนให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการแล้ว มีกระแสข่าวว่าการคลายล็อกดาวน์ครั้งที่ 3 ที่จะมีผล 1 มิถุนายน นี้อาจจะทำให้โรงหนังกลับมาเปิดได้ ซึ่งน่าคิดต่อว่าเมื่อเปิดแล้วจะมีคนเข้าไปดูหรือไม่และจะมีหนังอะไรให้ดูบ้าง
เป็นธุรกิจที่น่าเห็นใจ
และมีมุมมองที่น่าสนใจทีเดียว
ปิดเมือง ปิดโรงหนัง กระทบธุรกิจทั้งอุตสาหกรรม คาด MAJOR กำไรลด 40%
ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจวิเคราะห์ว่าโรค COVID-19จะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจโรงหนังทั่วโลกไม่น้อยกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งดูเหมือนตัวเลขคาดการณ์จะใหญ่มากขึ้นในปัจจุบัน เฉพาะตลาดประเทศจีนอย่างเดียวก็คาดว่าจะสูญเงินถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.4 หมื่นล้านบาท
ขณะนี้กองถ่ายหนังต่างก็หยุดดำเนินการเพื่อรอดูสถานการณ์ ซึ่งความยากคือสินค้าประเภทนี้ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขด้านเวลาพอสมควร เราจึงเห็นคำว่า ‘ฉายพร้อมกันทั่วโลก’ ‘ฉายพร้อมอเมริกา’ ‘ฉายประเทศแรกของโลก’ จึงเป็นไปได้ยากที่แม้ประเทศในเอเชียที่จัดการกับ COVID-19ได้ดีจนผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติแล้ว จะได้รับชมหนังจากโลกตะวันตกได้ก่อนประเทศผู้ผลิตหนังเสียเอง
เป็นที่รู้กันดีในอุตสาหกรรมหนังว่าไตรมาส 2 ของทุกปีจะเป็นเวลาทองของการฉายหนังฟอร์มยักษ์ทั่วโลก โรงหนังและผู้สร้างหนังจะกวาดรายได้เป็นกอบเป็นกำจากช่วงเวลานี้ แต่ฝันร้ายก็เกิดขึ้นเมื่อ COVID-19 ทำให้รัฐบาลต่างๆ สั่งปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ธุรกิจค้าปลีชะงักงัน ห้างสรรพสินค้าต้องขึ้นป้าย ‘closed’ ในช่วงกลางวันแสกๆ และการนั่งเบียดเสียดกันในโรงหนังก็แทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ ผู้ผลิตหนังฟอร์มยักษ์ที่เตรียมเข็นหนังทำเงินออกสู่ตลาดอย่าง Mulan, 007 : No Time To Die, A Quiet Place 2 หรือกระทั่ง The Conjuring : The Devil Made Me Do It ต้องตัดสินใจเลื่อนกำหนดการเข้าฉายออกไปก่อน
เกิดผลกระทบด้านรายได้หรือ income shock
ในอุตสาหกรรมจอเงินอย่างชัดเจน
เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาข้อมูล จึงเลือกข้อมูลของบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ผู้ดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์ในเครือ Major Cineplex ซึ่งรายงานงบการเงินไตรมาสที่ 1/2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไป โดยมีรายได้ราว 1.4 พันล้านบาท ขาดทุน 255 ล้านบาท ทั้งที่รายได้เฉลี่ย 3 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2559-2561) จะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทและมีกำไรเฉลี่ย 1.1 พันล้านบาท ซึ่งทางเมเจอร์ได้ชี้แจงว่าเป็นเพราะการปรับปรุงมาตรฐานบัญชีใหม่ที่เปลี่ยนการวัดมูลค่าและรายละเอียดด้านการบันทึกทางบัญชีจึงทำให้ตัวเลขขาดทุนมากกว่าการบันทึกบัญชีในรอบที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการปิดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม จากปัจจัยเรื่องโรค COVID-19 ก็ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมากด้วย
MAJOR นั้นมีสินทรัพย์ราว 1.73 หมื่นล้านบาท หนี้สินราว 1 หมื่นล้านบาท สิ่งที่น่าคิดคือ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (Non-Current Assets) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ในระยะเวลารวดเร็วซึ่งมีระยะเวลามากกว่า 1 ปีนั้นมีมูลค่าถึง 1.52 หมื่นล้านบาท สะท้อนต้นทุนที่มีอยู่ไม่น้อย เฉพาะอาคาร ที่ดินและอุปกรณ์มีมูลค่ากว่า 5.8 พันล้านบาท เนื่องจากเป็นธุรกิจบริการที่ต้องลงทุนสร้างและพัฒนาโรงหนังขึ้นมาเอง มีสินค้าสำเร็จรูปที่นับเป็นสต็อกสินค้าน้อยมากเมื่อเทียบกับสินค้าผลิตเสร็จอื่นๆ ธุรกิจหลักของ MAJOR คือโรงหนัง บริการโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ พื้นที่ให้เช่า และสื่อโฆษณา ซึ่งต้องอาศัยปริมาณของผู้ใช้บริการที่มากพอเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดีและธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายสำนักจึงยังมั่นใจในความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินจากกำไรสะสมที่มีอยู่มากในตอนนี้
กระนั้น MAJOR ได้ตัดสินใจปรับลดเงินปันผลรอบครึ่งปีหลังของปี พ.ศ.2562 ลง 50% จาก 0.7 บาทต่อหุ้นเป็น 0.35 บาทต่อหุ้น ซึ่งมีกำหนดจ่ายกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อบริหารกระแสเงินสดและรักษาสภาพคล่องของธุรกิจไม่ให้กระทบกับผู้ถือหุ้น และยังชะลอการเปิดสาขาอีก 13 แห่งในปีนี้ออกไปก่อน เนื่องจากรายได้จากตั๋วหนังและสินค้าอื่นๆ ที่โรงหนังคิดเป็น 70% ของรายได้ทั้งหมด เมื่อเปิดโรงหนังไม่ได้จึงได้รับผลกระทบเต็มๆ หลายฝ่ายประเมินว่าหากธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ในครึ่งปีหลังนี้ กำไรจะยังกดตัว 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ถ้าธุรกิจโรงหนังไม่ได้รวมอยู่ใน มาตรการคลายล็อกดาวน์รอบเดือนมิถุนายนก็อาจจะขาดทุนมากขึ้นไปอีก
สำหรับธุรกิจโรงหนังทั้ง MAJOR หรือ SF เองนั้นไม่ใช่แค่สถานที่ฉายหนังเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่สำคัญของรายได้จากสื่อโฆษณาอีกด้วย หลายปีที่ผ่านมาสื่อนอกบ้านที่เติบโตต่อเนื่องคือสื่อในโรงหนัง ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ผู้บริโภคนั่งอยู่กับที่รอชมภาพยนตร์จะลุกหนี หรือเปลี่ยนช่องแบบโทรทัศน์ก็ไม่ได้ และโฆษณาในโรงหนังก็ผลิตออกมาเพื่อการนำเสนอในรูปแบบดังกล่าวที่ใช้ทั้งภาพ ความสมบูรณ์ของเสียงและบรรยากาศที่ดีภายในโรงหนังและที่นั่งที่แสนสบาย สร้างประสบการณ์ทางบวกที่ดี จึงไม่แปลกที่ธุรกิจนี้จะแตะ 8.8 พันล้านบาทหรือเติบโตเกือบ 20% ในปี พ.ศ.2562 ทีผ่านมาและเจ้าตลาดอย่าง MAJOR ก็มีรายได้จากส่วนนี้นับพันล้านบาท
นีลเส็น ประเทศไทยรายงาน รายได้สื่อโฆษณาในโรงหนังเดือนมกราคมว่า มีมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ก่อนจะเจอกับผลกระทบจากโรค COVID-19 ในเดือนกุมภาพันธ์ และตึงเครียดอย่างมากในเดือน มีคจนนำไปสู่การปิดเมืองจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อโรงหนังปิด จึงหมายถึงรายได้ที่หายไปหลายมิติมากกว่าค่าตั๋วหนังและป๊อปคอร์นพอสมควร
โดยโรงหนังในเครือ MAJOR มีทั้งสิ้น 170 สาขา ขณะที่โรงหนังในเครือ SF มีทั้งสิ้น 64 สาขาทั่วประเทศ หากพิจารณาในมุมด้านสังคมและเศรษฐกิจแล้ว การปิดเมืองจะส่งผลต่อเงินหมุนเวียนจากการจ้างงานพนักงานชั่วคราวและโอกาสในการหารายได้เสริมของนักเรียน นักศึกษาที่หันมาทำในช่วงเลิกเรียนอย่างมาก เช่นเดียวกับธุรกิจบริการอื่นๆ โดยทาง MAJOR ประกาศควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ยกเลิกการจ้างงานผู้ว่าจ้างจากภายนอกหรือ oursource ทั้งหมดในขณะนี้แล้ว
ราคาหุ้นของ MAJOR นั้นสะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคและความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจได้ดีพอสมควร เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สร้างความบันเทิงในยามว่างให้กับผู้คน หากรายได้หายไปหรือกังวลกับชีวิตในวันข้างหน้าก็อาจจะปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลง ยังไม่นับรวมการเติบโตของธุรกิจสตรีมมิ่งที่สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาได้อย่างแข็งแรง มีคอนเทนต์เฉพาะตัวที่อาจดึงผู้บริโภคไว้กับหน้าจอทีวีที่บ้านและเข้าโรงหนังน้อยลง โดยราคาหุ้นของ MAJOR เคยทะยานแตะ 35 บาทต่อหุ้นในช่วงกลางปี พ.ศ.2560 ก่อนที่จะปรับลดลงมาอยู่ที่ 25 บาทในช่วงปลายปีที่ผ่านมาและดิ่งลงหนักแตะ 11.40 บาทในช่วงที่เริ่มปิดเมือง ก่อนจะค่อยปรับเพิ่มขึ้นมาปิดตลาดที่ 15.20 บาทต่อหุ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนต่างปรับคาดการณ์ทิศทางกันไปก่อนหน้านี้แล้ว
ถ้าป้าย ‘Now Showing’กลับมาเปิดได้เมื่อไหร่
ความหวังก็จะมีเพิ่มขึ้น
วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารของ MAJOR เชื่อมั่นว่าถึงอย่างไรโรงหนังก็จะไม่มีวันตาย เนื่องจากกลุ่มคนดูหนังยังให้ความสำคัญเรื่อง ‘first run’ นั่นคือการเข้าชมหนังในสัปดาห์แรกๆ ที่ออกฉาย เพื่อเสพความบันเทิงและเกิดการพูดคุยในกลุ่มสังคมของตนเองอย่างออกรสชาติ ถือเป็นความต้องการทางสังคม (social need) ที่การรับชมคอนเทนต์ประเภทอื่นสู้ได้ยาก เพราะกว่าจะนำหนังไปฉายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็จะต้องรอ 3-6 เดือนกว่าจะได้ชม
นอกจากนี้จอภาพของโรงหนังที่คมชัดรวมทั้งระบบเสียง เทคโนโลยีเสมือนต่างๆ ที่สร้างประสบการณ์เชิงบวกและจุดสัมผัสกับแบรนด์ยังถือเป็นไพ่ตายที่สร้างความสุขให้กับผู้บริโภค ซึ่งยังเติมเต็มได้มากกว่าจอโทรศัพท์มือถือหรือจอทีวีที่บ้าน และหากเปรียบเทียบการสร้างความบันเทิงภายนอกบ้านของผู้คนแล้ว การไปโรงหนังมีต้นทุนที่ถูกกว่าการไปชมคอนเสิร์ต นิทรรศการ หรือละครเวทีต่างๆ ด้วย จึงยังถือเป็นทางเลือกที่ดีของคนเมืองต่อไป
อย่างไรก็ตาม การเว้นระยะห่างต่อกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการ แม้จะสามารถเปิดให้บริการได้แต่ก็จะมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับที่ร้านอาหารประสบอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากต้องจัดเตรียมหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และอุปกรณ์ต่างๆให้กับผู้เข้าชมและพนักงานทุกคน จำนวนที่นั่งก็ไม่สามารถรับได้เต็มโรงเท่าเดิม อาจใช้วิธีการนั่งแบบแถวเว้นแถว เว้นที่นั่งระหว่างแถวด้วยกันเองอีกด้วย
ดังนั้นรายได้จากค่าตั๋วหนังก็จะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเวลาแบบนี้ไม่ใช่ช่วงที่ดีเลยถ้าโรงหนังจะปรับเพิ่มค่าตั๋วหนังเพื่อชดเชยตัวเลขขาดทุน เพราะผู้บริโภคยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายและอนาคตของตนเองอยู่พอสมควร ขณะเดียวกัน อาจต้องใช้พนักงานเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนบางบริการและเป็นไปตามข้อกำหนดด้านสาธารณสุขของภาครัฐด้วย ยังไม่นับรวมความเสี่ยงหากเกิดมีผู้ติดเชื้อมาใช้บริการภายในโรงหนัง อาจถูกสั่งปิดทั้งสาขาได้
จากนี้ถือเป็นช่วงวัดใจและวัดความเก๋าทางเกมของโรงหนังยักษ์ใหญ่ ว่าจะสร้างรายได้ให้พอกับรายจ่ายได้อย่างไร จำเป็นต้องออกสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อตีฝ่าวงล้อมนี้และสร้างกองทัพธุรกิจใหม่หรือไม่ คำว่า ‘โรงหนัง’ ยังต้องเป็นสถานที่อย่างเดียวเสมอไป หรือจะใช้แนวคิด ‘แอสการ์ดไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน’ แบบที่ตัวละครดังพูดในหนังได้หรือไม่ ความปรกติใหม่ (New Normal) ของพฤติกรรมคนดูหนังและโรงหนังจึงยังคาดเดาได้ยากในตอนนี้
เดินต่อไปก็เจ็บ แต่ดีกว่าหยุดอยู่กับที่ เพราะจะไม่มีใครรอดเลยแม้แต่คนเดียว