“เมืองหลวงควันและฝุ่นมากมาย พี่สูดดมเข้าไปร่างกายก็เป็นภูมิแพ้”
บางทีเพลงก็กลายเป็นความจริงเสียอย่างนั้น แม้ว่าเพลงนี้จะแต่งก่อนเกิดวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครก็จริง แต่ก็ใช่ว่าประเทศไทยจะไม่ประสบปัญหาฝุ่นมาก่อน อย่างน้อยก็ที่เชียงใหม่ หรือถึงแม้จะยังไม่มีวิกฤตฝุ่นในกรุงเทพมหานคร เพลงก็ยอมรับว่าเมืองหลวงเมืองกรุงมีฝุ่น แม้จะไม่อันตรายเท่า PM 2.5 แต่ฝุ่นเมืองกรุงก็เป็นส่วนหนึ่งของความสกปรก พิษภัยต่อร่างกายคนเมืองมาตั้งนานแล้ว จนเพลงนี้ต้องออกมาบอกว่าชีวิตต่างจังหวัดดีกว่า อากาศสะอาดกว่า ความสะอาดของธรรมชาติต่างจังหวัดก็ตามมาด้วย ความซื่อบริสุทธิ์ของชาวชนบท ตามด้วยความสวยงามแบบ ‘ธรรมชาติ’ ของสาวต่างจังหวัด ต่างจากสาวเมืองกรุงซึ่งทำศัลยกรรม
เพลงภูมิแพ้กรุงเทพนอกจากจะลากเส้นแบ่งระหว่างเมืองกรุงกับชนบทแล้ว ยังแสดงให้เห็นภาพจินตนาการของคนเมืองที่สะท้อนความไม่พอใจต่อชีวิตชาวเมือง จนถึงกับต้องจินตนาการภาพเหมารวม ไร้มิติเกี่ยวกับชนบทขึ้นมา (โดยไม่พิจารณาความเป็นจริง) ภาพชนบทที่เนื้อเพลงและมิวสิก วีดิโอสร้างขึ้นสะท้อนความไม่พอใจของชนชั้นกลางชาวเมือง ผู้ต้องการชีวิตที่เรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ และปราศจากการเสแสร้ง ทั้งๆ ที่ชีวิตกสิกรอย่างครอบครัวกำนันป้างและแม่แตนไม่ใช่ชีวิตที่เรียบง่ายและปราศจากธุรกิจและโลกสมัยใหม่ ไร่กว้างขนาดนั้น มันก็ธุรกิจนี่แหละ แค่ไม่ได้อยู่ในออฟฟิศติดแอร์
หลายๆคนก็อยากจะหนีเมืองไปให้พ้น อยากจะมีชีวิตชนบทมีสวนเล็กๆ ได้พักผ่อน สูดอากาศดีๆ แต่สิ่งที่ดิฉันสงสัยคือ เราทำให้เมืองเป็นพื้นที่ที่อากาศดี บรรยากาศดี ไม่ได้เหรอ เอาเข้าจริง คุณหลายๆ คนที่เพ้อหาชนบท คุณก็ยังอดไม่ได้ที่จะอยากได้สาธารณูปโภค อยากมีที่ชาร์จมือถือเพื่อจะเอามือถือไปถ่ายภาพธรรมชาติ ทุ่งนาป่าเขา อยากจะมีร้านขายยาหรือโรงพยาบาลใกล้ๆ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยฉุกเฉินขึ้นมา อยากหาอะไรกินดึกๆก็อาจจะไม่ได้หาได้ง่ายนัก หรือถ้าคุณทนชีวิตแบบนั้นได้ คุณก็อาจจะออกไปว่าคนในชุมชนเหล่านั้นเมื่อเขาสร้างสาธารณูปโภคใหม่ๆ ที่ไม่ถูกใจคนกรุงอย่างคุณ คุณก็อาจจะหาว่าเขาไม่รู้จักใช้ชีวิตอันเรียบง่าย ไม่สมเป็น ‘ชาวชนบท’ (ตามจินตนาการของคนกรุง) เอาเสียเลย
การสร้างเส้นแบ่งแบบนี้มากับภาพลวงตาที่สะท้อนการโหยหาธรรมชาติ
และอาจเป็นการยอมรับกลายๆ ว่าเมืองไม่อาจเป็นพื้นที่ของธรรมชาติได้
ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ต้นไม้ในเมืองสามารถพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของชาวเมืองได้ หากใช้ต้นไม้ที่ถูกประเภทและเมืองรู้วิธีอยู่กับต้นไม้ ตัดแต่งต้นไม้ให้ดำรงอยู่ในเมืองได้ เราก็อาจจะได้เมืองที่ร่มรื่นและสวยงามได้เช่นกัน นอกจากนี้ถ้าลดการใช้รถใช้ถนนลงได้ (โดยการพัฒนาการคมนาคมสาธารณะให้ดีขึ้น) ฝุ่นละอองก็จะลดลงได้ พูดอย่างกับดิฉันจะลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครอย่างงั้นแหละค่ะ
ใช่ว่ากรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองแรกในโลกที่ประสบปัญหาฝุ่นควัน ลอนดอนก็เคยประสบปัญหาหมอกพิษหนาทึบเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ต้นศตวรรษที่สิบเก้าจนถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ หากคุณได้เดินไปเที่ยวพระราชวังบัคกิงเงิมและสวนเซนต์เจมส์ ลองเดินเลยออกมาทางย่านกรีนพาร์ค (Green Park) สักหน่อย คุณจะพบกับจตุรัสเบิร์คลีย์ (Berkley Square) จตุรัสเล็กๆ มีต้นไม้ใหญ่น้อยอยู่ท่ามกลางเมืองลอนดอน
คุณจะได้เจอกับต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงคุณพบมันมาทั่วทั้งกรุงลอนดอนเลย (และอาจจะในจังหวัดอื่นๆ ด้วย) ใบมันเป็นแฉกๆ ลำต้นลอกได้ ผลเป็นหนามๆ ชวนให้นึกถึงลูกเกาลัด แต่อันที่จริงแล้วนี่คือ ต้นเพลนลอนดอน (London Plane) ต้นไม้นำเข้าจากอเมริกาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปดที่มีคุณสมบัติทนมลพิษ ทนฝุ่น ทนควัน อยู่ยั้งยืนยงมาเนิ่นนาน คุณอาจจะถามดิฉันแล้วว่า อ้าว ต้นนี้ก็เจอตั้งมากมายในลอนดอน ทำไมต้องให้มาจตุรัสเบิร์คลีย์ด้วย คำตอบนะคะ ก็เจ้าต้นแรกที่มาลงดินที่ลอนดอนมันมาจากที่นี่ค่ะ และที่สำคัญ มันยังมีชีวิตอยู่มานานกว่าสองร้อยปีแล้ว
ต้นเพลนลอนดอนเกิดจากการผสมกันของต้นซิคามอร์ (sycamore) จากอเมริกาและต้นเพลนตะวันออก (oriental plane) ต้นไม้ทั้งสองชนิดนั้นปลูกอยู่ด้วยกันในลักษณะของต้นไม้ต่างชาติ ซึ่งมักปลูกไว้ในสวนพฤกษศาสตร์ด้วยกัน และไม่ไกลกันนัก ต้นเพลนลอนดอนนั้นถูกค้นพบครั้งแรก ณ สวนพฤกษศาสตร์ที่วอกซอล (Vauxhall) ชานเมืองลอนดอน ณ ตอนนั้นก็ยังไม่เรียกว่าต้นเพลนลอนดอนหรอกค่ะ จนกระทั่งเกิดไอเดียนำต้นเพลนเข้ามาประดับกรุงลอนดอนในช่วงทศวรรษ 1850 เลียนแบบกรุงปารีส ณ ตอนนั้น สาเหตุที่เลือกต้นเพลนก็อย่างที่บอก คือเอาไว้สู้รบกับเขม่าควัน ฝุ่นละออง และอากาศได้ดี ถามว่าต้นไม้เหล่านี้ ซึ่งปลูกทั่วกรุงลอนดอนสามารถแก้มลพิษได้มากแค่ไหน ก็แก้ได้ตามประสาต้นไม้ทั่วไปนี่แหละค่ะ แต่มันทน ถ้าเกิดลำต้นเปื้อนเขม่าควัน มันลอกเปลือกตัวเองออกได้ ใบของต้นลอนดอนเพลนก็มันลื่น ฝุ่นไม่จับ
หมอกควัน (smog) เจ้าปัญหา ซึ่งเป็นที่เลื่องลือของกรุงลอนดอนนั้นเป็นปัญหามายาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้า เรื่อยไปจนถึงทศวรรษ 1950 หมอกควันเหล่านี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของหมอกตามธรรมชาติและเขม่าควันจากบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ผสมผสานกันจนเป็นสีน้ำตาลออกเหลือง อันเกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินช่วงเวลายาวนาน จนมีคนเสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศมากมาย กลายเป็นช่วงเวลาที่เกิดการถกเถียง ป้ายความผิดสารพัดว่าฝ่ายไหนเป็นต้นเหตุของหมอกควันหนาทึบนี้ ฝ่ายหลักๆ คือฝ่ายอุตสาหกรรม และฝ่ายครัวเรือน
ณ ช่วงเวลาแห่งการถกเถียงและพยายามออกกฎหมายควบคุมกันนั้น ชาวลอนดอนหลายคนต้องอาศัยอยู่ในความมืดหม่นตลอดช่วงหน้าหนาว แทบจะไม่มีแสงสว่างเลยในหนึ่งวัน หลายคนบอกว่า ยุควิกตอเรียนต้องสวยมากแน่ๆ เลย ลองคิดภาพก่อนว่าอากาศมันแย่มากๆ แล้วพอจะทำงานหรือเขียนจดหมายอะไรใดๆ ช่วงหน้าหนาว ต้องจุดตะเกียงเขียนทั้งๆ ที่อาจจะสิบโมงเช้า ภาพเขียนลอนดอนเก่าที่ชอบดูเหมือนมีฝ้าๆหม่นๆ มันไม่ได้เป็นเทคนิคทางศิลปะอะไรหรอกค่ะ บางทีก็เป็นไอ้หมอกควันนี่แหละ
ถึงแม้หลายคนในสมัยนั้นจะเลือกไปชนบทเพราะมีฐานะมากพอที่จะมีบ้านหลายๆ หลัง แต่คนที่ต้องอยู่เมืองหลายคนก็ใช่จะรังเกียจพื้นที่เมือง แม้เมืองสำหรับคนหลายกลุ่มคือพื้นที่สกปรกและเต็มไปด้วยความหลอกลวง แต่เมืองก็เป็นพื้นที่แห่งการปลดปล่อยและการให้โอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง เมื่อพื้นที่ห้างสรรพสินค้าและร้านรวงเริ่มขยายตัวมากขึ้น ผู้หญิงได้เป็นเจ้าของพื้นที่เมืองมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่นักเขียนหญิงคนหนึ่งจะเลือกสรรเสริญต้นเพลน ผู้เติบโตท่ามกลางหมอกควันและฝุ่นละออง มากกว่าจะชื่นชมต้นไม้ดอกไม้ชนบท เธอตั้งชื่อหนังสือรวมกลอนเล่มหนึ่งของเธอว่า A London Plane Tree and Other Poems เธอยกเอากลอนที่เธอเล่าเรื่องต้นเพลนมาเป็นชื่อหนังสือเลยทีเดียว เธอชื่อ เอมี เลวี (Amy Levy) กลอนที่ชื่อ “ต้นเพลนลอนดอน” (A London Plane Tree) นั้นชื่นชมต้นเพลนในฐานะต้นไม้ที่ชูใบเขียวขจี ผลัดเปลือกทิ้งท่ามกลางมลภาวะ ในขณะที่ต้นไม้อื่นเหี่ยวแห้ง กลอนสองบท (stanza) สุดท้ายกล่าวว่า
Among her branches, in and out,
The city breezes play;
The dun fog wraps her round about;
Above, the smoke curls grey.
Others the country take for choice,
And hold the town in scorn;
But she has listened to the voice
On city breezes borne.
ซึ่งพอจะแปลได้ว่า
ท่ามกลางเหล่ากิ่งก้าน ลมเมืองผ่านพัดเริงใจ
หมอกขุ่นหุ้มต้นไม้ บนฟากฟ้าควันเทาเกลียว
ไม้อื่นเลือกชนบท เมืองทั้งหมดไม่แลเหลียว
มีเพียงเธอผู้เดียว รับฟังเสียงลอยลมเมือง
หากลอนดอนเป็นดินแดนมลภาวะ ชนิดที่ไม่มีใครอยากอยู่ ไม่มีใครมีความสุข เอมี เลวีกลับนำเสนอภาพธรรมชาติเล่นล้อปฏิสัมพันธ์กันไปมาราวกับเป็นท้องทุ่งเขียวขจี เธอนำเสนอภาพการรอดชีวิตในเมืองอันสกปรกและเป็นมลภาวะ สิ่งที่ดิฉันคิดว่าน่าสนใจคือ เอมี เลวีนำกลอนบทนี้มาตั้งชื่อหนังสือรวมกลอนชุดนี้ ราวกับว่าเธอมองเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างเธอเองกับต้นเพลน กลอนบทหลังก็ดูจะเห็นต้นเพลนเป็นเหมือนเพื่อนของเธอ สาวชาวเมือง ที่ยังคงเขียวขจีสดใส รับฟังเสียงที่ลอยตามลมจากในเมือง ราวกับว่าเธอผูกพันกับต้นไม้เป็นพี่สาวน้องสาว (สังเกตได้จากการเรียกต้นไม้ว่า she)
หลายๆ คนที่ได้เรียนวรรณคดีอังกฤษมาบ้างอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเอมี เลวีเลย เธอไม่ใช่นักเขียนเด่นดังและมีคนนำไปสอนมากมาย (ดิฉันก็ขอสารภาพว่า ตอนที่ดิฉันเตรียมสอนวิชาวรรณคดีวิกตอเรียน ดิฉันเคยได้ยินแต่ชื่อของเธอเท่านั้น ไม่เคยอ่านกลอนของเธอเลย) พอได้อ่านประวัติเธอ คุณอาจจะตกใจก็ได้ เอมี เลวีคือนักเขียนชาวยิว เติบโตที่ชานเมืองลอนดอน ย่านแคลปแฮม (Clapham) ครอบครัวของเธออพยพมาอยู่อังกฤษนานมากแล้ว จนกลายเป็นครอบครัวยิวที่ไม่ได้เคร่งศาสนามากเท่าบ้านอื่นๆ เธอได้เรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หลังจากเคมบริดจ์เปิดภาคฤดูร้อนให้นักศึกษาหญิง (มหาวิทยาลัยในอังกฤษยังไม่รับผู้หญิงเข้าเรียนจนถึงช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า ถ้าจะมี ก็จะเป็นวิทยาลัยหญิงล้วนไปเลย เช่น Royal Holloway College เป็นต้น)
เธอเป็นที่รู้จักในหมู่นักเขียนหญิงยุคนั้นและมีอุดมการณ์ร่วมกัน
คือเรียกร้องความเท่าเทียมทางการเมืองและสังคมให้แก่ผู้หญิง
จุดต่างระหว่างเธอกับนักเขียนหญิงคนอื่นๆ คือ เธอรักเมืองมาก เพราะเมืองมีพื้นที่ให้แก่ผู้หญิงชนชั้นกลางแบบเธอมากกว่าชนบท ห้างสรรพสินค้า ร้านรวงต่างๆ ในแง่หนึ่งก็อาจเป็นภัยต่อผู้หญิงเพราะทำให้ผู้หญิงหลงอยู่กับมายาคติความงาม (ฉันต้องสวย ต้องซื้อหมวกใบนี้ ต้องซื้อน้ำหอมกระปุกนั้น เป็นต้น) แต่ห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ก็เปลี่ยนวิถีชีวิตให้แก่ผู้หญิง จากเดิมที่ต้องอยู่ในบ้านแทบจะตลอด
สำหรับเอมี เลวี พื้นที่เมืองอย่างลอนดอนคือพื้นที่ที่เธอจะได้พบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา และได้เรียนรู้โลกจากห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และนิทรรศการต่างๆ หรือได้ประกอบอาชีพเล็กๆ น้อยๆ เมืองเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับเธอ และผู้หญิงอีกหลายๆ คน (เลวีวิพากษ์ประเด็นพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงเหมือนกัน เธอมองว่าทำให้ผู้หญิงไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากเล่นไพ่ นินทากันและไปช็อปปิ้ง)
แต่ชีวิตในเมืองของเลวีใช่จะไม่มีปัญหา เลวีเองมองเห็นชัดเจนถึงความว้าเหว่เปลี่ยวเหงาในเมือง ในฐานะพื้นที่ที่ทุกคนต่างไม่รู้จักกัน เพราะเมืองเป็นศูนย์รวมของคนมากหน้าหลายตาจากต่างที่ หลายครั้งเมืองลดทอนปฏิสัมพันธ์ของคนระหว่างกันให้เหลือเพียงหน้าที่และอาชีพ ลดทอนมิติอื่นๆ ที่คนจะได้ทำความรู้จักกัน ความเปลี่ยวเหงาที่เธอค้นพบปรากฏอยู่ในกลอนของเธอมากมาย เช่นกลอน ‘ถึงแลลลี (นอกพิพิธภัณฑ์บริเตน)’ หรือ To Lallie (Outside British Museum) นั้น กล่าวถึงความตื่นเต้นดีใจที่ผู้พูดในกลอนบทนี้ได้พบกับแลลลี หญิงสาวที่หมายปอง ในขณะที่ผู้พูดแสดงบรรยายอาการตื่นเต้นดีใจที่เห็นแลลลี่เดินขึ้นบันไดทางเข้าพิพิธภัณฑ์เข้ามาพบเธอ แลลลี (หรือบุรุษที่สองในกลอนบทนี้) พยักหน้ารับเบาๆ แล้วเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ในขณะที่กลอนแทบจะทั้งหมดพูดถึงความดีอกดีใจที่ได้พบแลลลี ตามด้วยความประทับใจที่มีต่อเธอ แต่กลอนบทนี้จบลงว่า เมื่อแลลลีเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แล้ว …
And I, I went upon my way,
Well — rather sadder, let us say;
The world looked flatter.
I had been sad enough before,
A little less, a little more,
What does it matter?
แล้วฉัน ฉันก็เดินไปตามทางของฉัน
เศร้ากว่าเดิมเสียอีก ว่าอย่างงั้นดีกว่า
โลกทั้งใบดูแบนลง
ฉันเศร้ามาพอแล้วก่อนนี้
จะน้อยลงนิด จะมากขึ้นหน่อย
จะสำคัญอะไร
การไม่เป็นที่จดจำหรือถูกจดจำในพื้นที่เมืองนั้นตอกย้ำความแปลกแยกของเธอในพื้นที่เมือง ราวกับทุกคนมาพบเจอกันเพียงเพื่อทำธุระหน้าที่อะไรสักอย่าง ไม่ได้ผูกสัมพันธ์ กลอนบทนี้อาจจะเป็นแค่กลอนอกหักเฉยๆ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นภาพเล็กๆ ที่สะท้อนการพบปะกันของคนเมืองที่มองผ่านหน้ากันไปโดยไม่ได้สนใจว่าใครเป็นใคร หรือจดจำใครได้ชัดเจน กลายเป็นพื้นที่ที่คนเผชิญหน้ากันอย่างขัดเขินและหวาดหวั่น เมืองจึงอาจเต็มไปด้วยความเหงาและความกลัว
คุณคงเห็นแล้วว่าความแปลกแยกของเลวีไม่ได้มาจากการเป็นชาวเมืองแต่เพียงอย่างเดียว เธอเป็นเลสเบียนด้วย การเป็นเลสเบียนในสังคมอังกฤษสมัยนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับกันได้อยู่แล้ว ผู้หญิงที่ไม่แต่งงาน ครองตนเป็นโสดนั้นก็ถูกมองว่าไม่เหมาะสมแล้ว ถึงแม้ว่าในสมัยนั้น เลสเบียนจะไม่ถูกต่อต้านในทางกฎหมายเหมือนเกย์เพราะนักคิดหลายคนในสมัยนั้นมองว่าผู้หญิงแทบจะไม่มีอารมณ์ทางเพศ เลสเบียนจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ (ในบางกรณีก็อยู่ด้วยกันเหมือนสามีภรรยารักต่างเพศ) แต่เลสเบียนก็ต้องอยู่อย่างอึดอัดในสังคมชายเป็นใหญ่ที่พยายามกดขี่ผู้หญิงด้วยกันและต่อต้านการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง ตัวตนเลสเบียนในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าจึงเต็มไปด้วยความรู้สึกครึ่งๆ กลางๆ ทั้งตื่นเต้น สนุกกับพื้นที่พบปะสังสรรค์ใหม่ๆ ของผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสังคมที่มองไม่เห็นความเท่าเทียมระหว่างเพศด้วย
การมองว่าเมืองเป็นพื้นที่ปลดแอกกลับทำให้เลวีต้องเครียดเพิ่มอีกเท่าตัว เพราะชาติพันธุ์ของเธอ เมื่อเกิดคดีสะเทือนขวัญอย่างคดีแจ็ค เดอะริปเปอร์ คนหลายกลุ่มโทษชาวยิวที่พึ่งอพยพเข้ามาระลอกใหม่ (หลังจากหนีภัยการไล่ลาชาวยิวในรัสเซีย) เลวีตระหนักถึงชาติพันธุ์ของเธอเองเสมอ โดยเฉพาะยามอยู่กับเพื่อนฝูงนักเขียน ซึ่งมักจะทักเธอเรื่องสีผิว (ไม่ว่าจะทางดีหรือทางลบก็ตาม)
นอกจากนี้ ในหมู่ชาวยิวด้วยกันเอง กระแสตอบรับจากนวนิยายของเธอนั้นไม่สู้ดีนัก ชีวิตชาวยิวรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างเธอเติบโตมาในบ้านที่ไม่เคร่งศาสนานทำให้เธอวิพากษ์กฎเกณฑ์ของศาสนาที่กดขี่ผู้หญิงในนวนิยายเล่มหนึ่งชื่อ รูเบน ซัคซ์ (Reuben Sachs) เธอเน้นสร้างภาพชาวยิวที่หลากหลาย และออกห่างจากโลกศาสนามากขึ้น ต่างจากตัวละครยิวในนวนิยายชื่อดังอย่าง แดเนียล เดรอนดา (Daniel Deronda) ของ จอร์จ เอเลียท (George Eliot) ซึ่งนำเสนอชาวยิวให้เป็นกลุ่มคนเคร่งศาสนา มีศีลธรรม และมุ่งหน้าสู่เยรูซาเล็ม อย่างไรก็ตาม นวนิยายเล่มนี้ทำให้หนังสือพิมพ์ชาวยิวหลายฉบับในตอนนั้นกล่าวหาเธอว่าเธอเป็นพวกต่อต้านชาวยิว ทั้งๆ ที่เธอเป็นชาวยิวที่ต้องการวิพากษ์ชุมชนของตนเอง
จากเรื่องราวทั้งหมดของเลวี เราคงรู้สึกไม่แปลกใจอะไรถ้าเราจะรู้เพิ่มเกี่ยวกับอาการซึมเศร้าของเธอ ซึ่งเป็นมาพักหนึ่งแล้ว และน่าจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสังคมเป็นมลภาวะมากขึ้นเรื่อยๆ การเลือกเอาต้นเพลนมาเป็นชื่อหนังสือรวมกลอนของเธอ ทั้งๆ ที่เธอเขียนถึงต้นเพลนแค่บทเดียวน่าจะเป็นเพราะเธอรู้สึกถึงมลภาวะในสังคมของเธอ และอยากให้ต้นเพลนเป็นเหมือนเพื่อนพี่น้องที่รับฟังเสียงที่ลอยลมเมือง
ความน่าเศร้าคือ แม้ต้นไม้อย่างต้นเพลนจะช่วยดักจับฝุ่นและลดมลภาวะได้จริง แต่ต้นเพลนแสดงให้เห็นการทนอยู่กับสภาวะเป็นพิษของสังคม ไม่ใช่การแก้ปัญหามลภาวะ ใบที่ยังเขียวสดและเปลือกที่หลุดล่อนได้ก็เป็นเพียงการเอาตัวรอดและความอดทนต่อมลภาวะทางอากาศ ฉันใดก็ฉันนั้น ทางออกสำหรับนักเขียนเลสเบียนชาวยิวแบบเธอไม่ใช่การทนอยู่ไปเรื่อยๆ การยืนยันว่าเธอยังอยู่ได้ในสังคมซึ่งปราศจากความเท่าเทียมทางเพศและชาติพันธุ์ไม่ได้หมายความว่าเธอไม่ว้าเหว่และซึมเศร้า
เรื่องที่น่าเศร้าที่สุดสำหรับดิฉันคือ หนังสือรวมกลอนเล่มสุดท้ายของเธอ ซึ่งชื่อ ต้นเพลนลอนดอน (A London Plane Tree) นั้นตีพิมพ์หลังจากที่เธอเสียชีวิต (โดยที่ต้นฉบับตัวเขียนนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนเธอจะเสียชีวิต) เธอเสียชีวิตด้วยสาเหตุอะไรหรือคะ เธอจุดเตาถ่านแล้วรมควันตัวเองค่ะ เธอฆ่าตัวตาย ดิฉันเองก็เหมือนจะจินตนาการเพ้อเจ้อเกินไป แต่ก็ขอสารภาพว่าเธอจบชีวิตตัวเองแบบนี้ เพราะเธอทนมลภาวะของสังคมไม่ได้จริงๆ และเธอเองก็ไม่ใช่ต้นเพลน
ต้นเพลนต้นแรก ณ ตอนนี้ก็ยังคงยืนต้นอยู่ที่เบิร์คลีย์ สแควร์ ไม่ไกลจากสถานีรถไฟใต้ดินกรีน พาร์ค การอยู่รอดของต้นเพลนไม่ได้แปลว่าคนจะรอดตาย ใน ค.ศ. 1952 มีผู้เสียชีวิตจากหมอกควันสูงถึง 1,200 คน เข้าโรงพยาบาลอีกราว 150,000 คน หลังจากหมอกควันและฝุ่นปกคลุมกรุงลอนดอนเป็นระยะเวลา 4 วัน นับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม โดยที่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาอะไรได้
หมอกควันครั้งนี้เป็นผลมาจากกำมะถันและไนโตรเจนไดออกไซด์จากถ่านหิน เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ค.ศ. 1956 เพื่อจำกัดการใช้ถ่านหินในพื้นที่เมือง ก่อนจะเกิดพระราชบัญญัตินี้ ส่วนใหญ่คนอังกฤษก็จะใช้วิธีหนีอากาศเมืองไปอยู่ชนบท (ไม่ต่างจากคนไทย) ใครมีเงินเยอะๆ ก็ไปสร้างบ้านไว้ต่างจังหวัด แล้วคนที่ไม่มีเงินเขาจะอยู่ลำบากแค่ไหน แต่การหนีหรือการทนอยู่ไม่ใช่การแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองเลยด้วยซ้ำ
กลอนของเลวีไม่ได้มีแต่เรื่องเศร้า
เธอเล่าความสุขในพื้นที่เมืองของเธอเช่นกัน
เพราะพื้นที่เมืองให้อิสรภาพและความรู้แก่เธอมากมาย เธอเองก็เห็นว่าพื้นที่เมืองมีประโยชน์และมีส่วนในการผลักดันการเรียกร้องสิทธิสตรีเสียด้วยซ้ำ หากพื้นที่เมืองไม่ได้เป็นศัตรูชั่วร้ายที่ควรวิ่งหนี หรือทำลายให้พินาศ พื้นที่เมืองก็สามารถเป็นพื้นที่น่าอยู่กว่าเดิมได้เช่นกัน หลายคน รู้สึกว่าตัวเองอ้วน รู้สึกว่าตัวเองป่วย รู้สึกว่าตัวเองเหงาเปล่าเปลี่ยว หรือพบเจอกับความไม่มั่นคงทางจิตใจเมื่ออยู่ในพื้นที่เมือง สิ่งเหล่านี้ดิฉันคิดว่าไม่ได้มาจากการแก้ปัญหาที่ตัวเองอย่างเดียว ไม่ใช่แค่ไปลดความอ้วนที่ฟิตเนส หรือนัดเจอเพื่อนที่ร้านชาบูแล้วมันจะหายได้ จริงอยู่ว่าการไปฟิตเนส การไปกินข้าวนอกบ้านกับเพื่อน หรือการกราบไหว้พระในวัดกลางเมืองก็ล้วนทำให้เรามีความสุข มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นได้ และดิฉันก็ทำออกบ่อยๆ ไป (ฟิตเนสอาจจะนานๆ นานๆ นานๆ นานๆ ทีนะคะ หลายท่านคงจะพอทราบ)
แต่กระนั้นการเป็นชาวเมืองก็จะทำให้เราอ้วน เหงา และป่วยอยู่เรื่อยไปหากสภาพสังคมไม่เปลี่ยน การบอกให้ไปขึ้นรถโดยสารประจำทางหรือปลูกต้นไม้เยอะๆ นั้นไม่ได้ทำยาก แต่ถามจริงๆ ว่าระบบรถโดยสารประจำทางในเมืองไทยนั้นดีแค่ไหน ราคาถูกแพงแค่ไหน ต้นไม้แบบไหนที่ชาวเมืองจะปลูกได้บ้าง คนเมืองต้องเสียเงินเพื่อออกกำลังกายมากแค่ไหน (นี่ยังไม่พูดถึงการให้ค่ารูปลักษณ์บางแบบเป็นพิเศษเลยนะคะ) หรือสุดท้ายเราก็ทำได้แค่ก้มหน้ารับกรรมไปเรื่อยๆ
หวังว่าต้นเพลนที่เลวีปลูกด้วยหยดหมึกและชีวิตของเธอเองนั้นจะเป็นเครื่องเตือนใจชาวเมืองอันเบิกบานแต่ว้าเหว่บ้าง ไม่มากก็น้อย ต้นเพลนเป็นเพื่อนของเรา ไม่ใช่แค่เพราะต้นเพลนทำประโยชน์ด้วยการดูดซับฝุ่นละออง แต่เป็นเพราะมันร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับเรา และเตือนใจให้เราหาทางเปลี่ยนแปลงเมืองอันเปี่ยมไปด้วยมลภาวะ