พื้นที่สาธารณะในบ้านเรามีปัญหาอะไร?
พอเห็นคำถามนี้แล้ว หลายคนน่าจะมีคำตอบของตัวเองอยู่ในใจ สำหรับ ‘ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง’ หรือ ‘Healthy Space Forum‘ ซึ่งเป็นองค์กรที่ต้องการพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะเมืองมองว่า ประเทศไทยยังขาดพื้นที่ที่สร้างสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพทางสังคม
ตอนนี้พวกเขากำลังทำโครงการ ‘City Lab’ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการปรับเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะใหม่ โดยใช้วิธีการทดลองออกแบบพื้นที่สาธารณะ โครงการนี้มีย่านสีลมเป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยใช้ชื่อโครงการว่า ‘Silom City Lab’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการนี้จะเป็นการทดลองออกแบบพื้นที่สาธารณะในสีลมเป็นเวลา 1 เดือน พร้อมนำผลการทดลองไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่จริงต่อไป
The MATTER ได้เดินทางไปยัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุยกับ ‘รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา’ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง และหัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาคำตอบว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้น จะทำให้พื้นที่สาธารณะในประเทศเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร?
โครงการ ‘Silom City Lab’ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
โครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มภาคีคนรักสีลม ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารใหญ่ 14 ตึก ได้มาติดต่อเรา และผู้ว่ากทม. เพราะเขาอยากปรับปรุงภาพลักษณ์ของสีลม สีลมมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากที่อื่น คือ ถนนทางเท้าไม่มีรั้วกั้น แยกระหว่างที่ดินหน้าของอาคารภาคเอกชนและตัวทางเท้า อาคารแต่ละหลังมีการออกแบบทางเท้าให้เชื่อมกับทางเท้าของภาครัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันมีโอกาสในการออกแบบพื้นที่สาธารณะร่วมกันได้
ทำไมถึงต้องทดลองก่อน ไม่ลงมือทำจริงไปเลย?
ตอนคุยกันครั้งแรก เราเสนอแผนการปรับปรุงภาพลักษณ์ของสีลม ว่าจะแก้ปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาไฟส่องสว่าง ปัญหาทางข้าม ปัญหาจุดจอดรถ ซึ่งแผนทั้งหมดใช้งบ 20 กว่าล้าน แต่พอเสนอไป ทางกรุงเทพและภาคีสีลมเขาก็ถอย ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีเงิน แต่เพราะไม่มีใครรับประกันความสำเร็จของโครงการได้ เราเลยกลับมาคุยกับทีมงาน City Lab ว่าโครงการของเราจะทำการทดลองชั่วคราว เอาของติดตั้งใน 8 จุดสำคัญ แล้วเก็บผลจากการติดตั้งไว้ 1 เดือน มันคือการทดลองเพื่อนำไปสู่การรับประกันว่า ถ้าทำแบบนี้ คุณก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ การทำงานก็จะง่ายขึ้น เพราะไม่ถูกต่อต้านมากนัก
cr.timeout.com
ในต่างประเทศก็มีการทำโครงการแบบนี้?
เมืองใหญ่ของโลกหลายแห่ง มีการทดลองก่อนจะทำการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หลายเมืองต้องการปรับพื้นที่สาธารณะให้มีผู้ใช้งานมากขึ้น เช่น ลองลากตู้ใส่หนังสือแบบมีล้อมาวาง มีเบาะนั่ง ทิ้งไว้ 1 เดือน และเก็บข้อมูลว่ามีคนมานั่งอ่านหนังสือไหม แล้วเขาคิดอย่างไรบ้าง ถ้าผลออกมาดี เขาก็ลงทุนสร้างตู้หนังสือและที่นั่งถาวร
อะไรคือปัญหาที่พบเจอในระหว่างการทำโครงการ?
อุปสรรคที่สำคัญคือคนไม่เข้าใจ ถ้าไปดูโครงการสีลมจะเห็นว่าคนมีความเห็นค่อนข้างลบเยอะมาก เพราะเขาหวังว่ามันจะเป็นเรื่องถาวร เขาตั้งคำถามว่าทำไมทางข้ามทำแล้วถึงไม่ทำทางลาดด้วย นี่คือสิ่งที่เราต้องการจากคุณ และความเห็นของคุณที่บอกว่ามันไม่มีทางลาด นั่นคือช่องทางที่เปิดโอกาสให้คุณได้แสดงความเห็นต่อผู้ที่จะพัฒนาตรงนั้น เราอยากทำอะไรมากกว่านี้ แต่การทดลองมันมีข้อจำกัดทั้งด้านเวลา งบประมาณ และกำลังคน
“บทเรียนที่เราได้นอกจากการศึกษา ผลตอบรับ ผลสัมฤทธิ์ สิ่งที่เราได้กลับมาคือการพัฒนาเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย การพัฒนาพื้นที่สาธารณะดีๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย คนไม่ได้พร้อมที่จะเสียความสบายหรือเสียเงินของตัวเองมาใช้กับมัน แต่เราหยุดไม่ได้ เราต้องหาทางทำมันให้ได้”
cr.timeout.com
เกี่ยวกับการปรับปรุงเมือง หลายคนก็มองว่าผังเมืองบ้านเรามีปัญหา คิดว่าจริงไหม?
มีปัญหาจริง เพราะว่าแต่ละคนไม่ได้คิดเรื่องส่วนรวม ซึ่งหลักการของผังเมืองคือส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตัว เราทำผังเมืองมาเยอะ ความคิดเห็นของผังเมืองล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่เรื่องส่วนรวม เช่น ทำไมที่ดินของฉันไม่ได้รับการอนุญาตให้สร้างอะไรได้มากๆ ที่ดินจะได้ราคาแพง ไม่คิดเรื่องส่วนรวม กฎหมายผังเมืองคือกฎหมายมาตรฐานของโลกที่ต้องมี แต่ประเทศไทยไม่มี ซึ่งทุกประเทศเขียนในลักษณะเดียวกันอยู่ในรัฐธรรมนูญ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะละเมิดมิได้ เว้นแต่ความมั่นคงของประเทศ เช่นตอนเกิดสงคราม นอกนั้นจะละเมิดมิได้
กฎหมายผังเมืองมันมี 2 แบบคือผังเมืองรวมแบบรอนสิทธิ์โดยไม่จ่ายคืน และผังเมืองเฉพาะแบบรอนสิทธิ์โดยจ่ายคืน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 จนถึงวันนี้ ปรากฏว่ามีผังเมืองรวมแบบรอนสิทธิ์โดยไม่จ่ายคืนถึง 500 กว่าผัง เกิดปัญหามากมาย เราไปเอาแบบรอนสิทธิ์แบบจ่ายคืนมาใส่ในผังเมืองรวม นั่นคือความไม่ยุติธรรม
ถ้าปัญหาผังเมืองทำให้เรามีอุปสรรคในการพัฒนาพื้นที่แล้ว เราจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงหรือเปล่า?
เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายเมืองหลวง เพราะปัญหาไม่ได้เป็นที่จุดนั้นหรอก พอเห็นว่าสาธารณะหรือส่วนรวมไม่ดี คนก็ไปทำส่วนตัวให้ดี การทำส่วนตัวให้ดี ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ดีต่อภาครวม มันต้องนำไปสู่ภาครวม กรุงเทพเป็นเมืองที่ยังมีบ้านเดี่ยวอยู่เยอะมาก มีถึง 40% ของอาคารทั้งหมด ซึ่งมหานครอื่นๆ มีน้อยกว่ามาก นั่นก็คือลากสิ่งที่เป็นส่วนรวมเข้าไปเป็นของตัวเอง ทำไมเราจึงมีโรงพยาบาลภาคเอกชน เพราะโรงพยาบาลของรัฐแย่ ทำไมเราจึงต้องมีโรงเรียนเอกชน เพราะโรงเรียนของรัฐไม่ได้มาตรฐาน
ซึ่งถ้าทำให้ได้มาตรฐาน เราก็ไม่ต้องกอบโกย ที่เรากอบโกยไม่ใช่เพราะอยากทำ แต่มันเป็นเพราะส่วนกลางของรัฐที่มีความเป็นต่อชีวิตมันแย่ จนต้องมีเงินเพื่อไปหาของเราเอง แล้วพอไปหาของเราเองก็ไปสร้างความเหลื่อมล้ำ เพราะคนที่โกยได้มากก็รอด คนที่โกยไม่ได้ก็แย่ไป ประเทศที่เสียภาษีมากๆ แต่ไม่โวยวายเพราะเขารู้ว่ามันผลักมาที่ส่วนกลางแล้วมันเชื่อถือได้ แต่ของเราที่จ่ายไปแล้ว กลับได้ป้ายรถเมล์ห่วยๆ ได้การรักษาพยาบาลที่ต้องรอคิวด้วยรองเท้าแตะตั้งแต่ตี 4 แล้วแบบนี้ใครจะยอมจ่าย นั่นคือกลไกที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เจ๊งหรอก เพียงแค่มันออกมาในอีกรูปแบบนึง ซึ่งมันประสิทธิภาพต่ำกว่าและมีความเหลื่อมล้ำมากกว่า
นอกจาก City Lab ที่สีลมแล้ว มีทำโครงการนี้ที่อื่นด้วยไหม
เราทำโครงการนี้ที่จังหวัดสระบุรีด้วย โจทย์หนึ่งก็คือ เมื่อก่อนสระบุรีเป็นเมืองใหญ่ เป็นทางผ่านจากภาคเหนือไปภาคอีสาน แต่พอการคมนาคมดีขึ้น ก็ไม่ค่อยมีคนแวะแล้ว เคยมีโรงแรมนึงซึ่งผีดุมาก เมื่อก่อนเซลล์ขายของที่จะไปขายของตามภาคต่างๆ เขาก็จะมาพักที่นี่ เป็นเมืองที่คนจะแวะนอนจากการเดินทาง แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เราสามารถเดินทางจากภาคเหนือไปภาคอีสานได้ในวันเดียว
งานของเราก็คือ ใช้ City Lab ไปฟื้นฟูเมืองสระบุรี แน่นอนว่าเมืองที่หงอยใครใช้ ใครจะมาลงทุน ประสบความสำเร็จหรือเปล่ายังไม่รู้ เลยต้องใช้หลักการของ City Lab การออกแบบที่สระบุรีจะเป็นการออกแบบที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเป็นคนกำหนดทิศทางการออกแบบ เราพบว่าตลาดของเมืองเริ่มซบเซาลงแล้ว ตอนเย็นไม่มีใครเลย
เราพบว่ามีกิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูตลาดมีอยู่ 2 อย่าง
หนึ่ง ก็คือการที่คนมาตลาดตอนเย็นไม่ได้มาแค่ตลาด เราพบว่าตลาดตอนเย็นที่เกิดขึ้นเพราะคนมาออกกำลังกาย เพราะมันอยู่ใกล้พื้นที่สาธารณะที่มีคนมาออกกำลังกาย แล้วก็เลยมาซื้อของที่ตลาดด้วย
อีกอย่างหนึ่งก็คือ สระบุรีเป็นเมืองที่มีร้านค้าต่างๆ อยู่ในเมือง ศูนย์กลางเมือง คือ จุดค้าขายที่คนเข้ามาซื้อของกัน แต่มันไม่ได้เปลี่ยนตัวเองไปตามกาลเวลา ตอนนี้ตึกแถวที่เป็นร้านค้าต่างๆ ซึ่งคนที่อยู่ก็คือรุ่นพ่อรุ่นแม่ ต้นทุนเป็นศูนย์แล้ว ซื้อตึกแถวมาอยู่ 40 ปีเพื่อขายของก็คุ้มแล้ว อยู่ก็คุ้มแล้ว ไม่มีต้นทุนแล้ว วันๆ ก็เปิดขายแบบเดิมไปนั่นแหละ แต่ตลาดกับโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ก็ไปพบร้านอยู่ 2-3 ร้านที่ลูกหลานเขาทำ ก็มีการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่ เปลี่ยนรูปแบบหน้าตาใหม่
เราอยากเข้าไปคุยว่าเขาคิดยังไง ทำยังไง เราอยากถามคนกลุ่มใหม่ แล้วทำให้สระบุรีกลายเป็นตลาดที่มีคุณค่าสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่จะกลับมาฟื้นฟูเมืองสระบุรีอีกครั้ง เพราะต่อให้เราออกแบบแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าคนเขาไม่ทำต่อ มันก็แค่กลับมาใหม่
cr.creativecitizen.com
นอกจากทำ City Lab แล้ว ที่ผ่านมาทางศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) ทำอะไรมาบ้าง?
ตอนที่เราตั้งศูนย์ครั้งแรก เราได้รับงบประมาณหลักจาก สสส. เพราะว่าเป้าหมายของเขาก็คือการส่งเสริมสุขภาวะ ซึ่งมันจะต้องมีพื้นที่ในการเอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมสุขภาวะ คุณสามารถทำสื่อบอกให้คนขยับร่างกายได้ ลดพฤติกรรมบางอย่างได้ เช่น ลดเหล้า เลิกบุหรี่ แต่การที่จะส่งเสริมให้มีกิจกรรมหรือการขยับร่างกาย มันต้องการพื้นที่เพื่อรองรับ จริงๆ ส่วนหนึ่งมันก็ทำได้ อย่างการแกว่งแขนอยู่บ้าน แต่ในความเป็นจริงมันก็ต้องมีพื้นที่เพื่อการรองรับการส่งเสริมเรื่องของสุขภาวะ
นั่นคือโจทย์ที่เราได้มาตอนที่เริ่มตั้งศูนย์ ซึ่งสังกัดอยู่ภายใต้ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะว่าเราต้องการพื้นที่เมืองที่เป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ในความหมายของเราคือพื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่พื้นที่ของรัฐเท่านั้น พื้นที่ของภาคเอกชนที่ใช้ได้อย่างสาธารณะก็นับเป็นพื้นที่สาธารณะเช่นกัน
ตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ เราทำงานเกี่ยวกับพื้นที่มากมาย ทั้งการทดลอง ค้นคว้า และวิจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การหาเกณฑ์ในการวัดความเป็นเมืองสุขภาวะ การทำศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะร่วมกับมหาวิทยาลัยสยาม การปรับปรุงพื้นที่ในชุมชนที่ชาวบ้านใช้กรองขยะมูลฝอยให้เป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้ชาวบ้านได้มาออกกำลังกาย การปรับปรุงสวนสาธารณะที่อยู่ตรงข้ามสถานีบางหว้า
นอกเหนือจากนี้เราทำสิ่งที่เรียกว่า active organization เช่น แก้ไขปัญหาออฟฟิศซินโดรม ซึ่ง active organization ผมอ่านงานวิจัยทางการแพทย์ชิ้นนึง ที่สหรัฐฯ มีรายงานทางการแพทย์บอกว่า ยืนประชุมดีกว่านั่งประชุม รายงานทางการแพทย์เขามุ่งแค่ประสิทธิภาพของการใช้เวลาในการประชุม เพราะถ้าคุณยืนประชุม คุณจะไม่พูดเวิ่นเว้อ เพราะคุณเมื่อย
เราไม่ได้เห็นแค่เรื่องของประสิทธิภาพของการประชุม แต่เราพบว่าการยืนประชุมทำให้ลด ‘ภาวะเนือยนิ่ง’ หรือพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพราะการที่คุณนั่งทำงานตลอดเวลามันทำให้คุณผิดสรีระหรือชีววิทยาของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องใช้แรงงาน เวลาคุณจัด activity tracker เขาเลยบอกให้คุณเดิน 10,000 ก้าวต่อวัน เพราะว่าจริงๆ แล้วมนุษย์ต้องขยับร่างกาพ ไม่งั้นจะอ้วนตาย นั่นคือสิ่งที่เราแปลงความจากโต๊ะยืนประชุมตัวนั้น มาเป็น active organization คือเราจะทำยังไงให้องค์กรมีความแอคทีฟ งั้นเราแปลงโต๊ะประชุมออกเป็น 3 ส่วน ใช้ประชุมก็ได้ ใช้ยืนทำงานก็ได้ และใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ยืนจิบกาแฟกับเพื่อนระหว่างเบรคก็ได้ แปลงเป็นโต๊ะปิงปองตีกันได้
ตอนนี้เราก็ผลักดัน active organization หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเคลื่อนที่ภายในออฟฟิศ การที่คุณเดินไปเจอหรือไปคุยกับคนอื่น เราพยายามลดการยกโทรศัพท์คุยกัน เปลี่ยนมาเป็นการเดินไปเจอหน้าแทน เดินแล้วได้อะไร เราเห็นออฟฟิศใหญ่ๆ ของโลกที่เปลี่ยนระดับด้วยสไลเดอร์แทนที่จะเดินลงบันได ทำให้คุณมีร่างกายที่มีการแอคทีฟมากขึ้น เราพยายามพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นของคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในออฟฟิศ ว่าทุกหนึ่งชั่วโมงต้องเซฟตัวเอง
เพื่อให้คนที่นั่งต้องลุกขึ้นมาเดิน เราพยายามหาพื้นที่ในรูปแบบใหม่ที่ให้คนยืนทำงานหรือจินตนาการได้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้เราไม่ค่อยได้ทำงานที่เป็น routine เท่าไหร่แล้ว แต่ทำงานสร้างสรรค์แทน การนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ เราจึงเปลี่ยนจากเดิมที่คุณต้องนั่งเขียนใส่กระดาษ เปลี่ยนมาเขียนบนผนังกันเถอะ มีชอล์กมีอะไรให้คุณยืนเขียน เราจะเอาอันนี้ไปทดลองประมาณกลางปีหน้า เราติดต่อพื้นที่ไปแล้ว
เป้าหมายในการทำโครงการต่างๆ คืออะไร?
เราต้องการบอกว่า พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ที่สร้างสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพทางสังคม การที่คนมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน (unity) อยู่ด้วยกันเป็นสังคม มันไม่ใช่แค่ต้องรู้จักกัน คุณอาจเคยเห็นหน้าใครบางคน ไม่เคยพูดคุยกันเลย แต่รู้ว่าเขาคือคนในชุมชน นั่นคือสายสัมพันธ์ระหว่างกันที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าถามว่าเกิดขึ้นที่ใด ที่บ้านก็ไม่ใช่ แต่เกิดขึ้นที่พื้นที่สาธารณะต่างหาก
“เรามีพื้นที่แบบนี้หรือเปล่า พื้นที่ที่สร้างชีวิตให้มนุษย์ทั้งสุขภาพกาย ใจ และสังคม นี่คือสิ่งที่เราต้องการจะทำ ถ้าคุณเคยยืนดูตารางหมากรุกกับพี่วินมอเตอร์ไซค์คนนี้ วันนึงคุณถูกปล้น วินมอเตอร์ไซค์คนนี้จะช่วยคุณ เพราะเขาเคยเห็นหน้าคุณ เขามีพื้นที่ที่เขาเคยมองคุณในฐานะปกติคนนึง มันมากกว่าการเคลื่อนที่ในพื้นที่สาธารณะ แต่เป็นคอมมิวนิตี้ ”
ในอนาคตอาจารย์อยากเห็นพื้นที่สาธารณะในบ้านเราเป็นอย่างไร?
สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ก็คือว่า ด้วยความที่มันอยู่บนฐานของโลกอนาคต เราเห็นโลกอนาคตกับเมืองในอนาคต ส่วนรวมจะเล็กกว่าส่วนตัวเสมอ ไม่ได้บอกว่าระบบคอมมิวนิสต์ทุกคนต้องเท่ากันหมด แต่ในโลกที่พัฒนาแล้วประชาธิปไตยจะปรับตัวเราให้เล็กที่สุด เพื่อให้ส่วนรวมใหญ่ที่สุด จะรวยจะจนแค่ไหน คุณจะอยู่ในกล่องๆ นึง จะสวยจะหรูแค่ไหน แต่ถ้าก้าวออกมาในพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนแชร์ค่าใช้จ่ายร่วมกัน ไม่ว่ายากดีมีจน คุณสามารถใช้พื้นที่นี้ได้ทั้งหมด
นี่คือโลกแห่งอนาคต แล้วถ้าพื้นที่เหล่านี้มีคุณภาพที่ดี แปลว่าต้นทุนของแต่ละคนจะลดลง แล้วเราจะมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ก็จะต้องมีการปรับแก้อะไรอีกมากมาย ถ้าเจอสวนสาธารณะของประเทศไทยแล้วบอกว่าห้ามสุนัขเข้าก็คือจบแล้ว คือคุณไม่ได้พัฒนาตัวเองไปตามวิถีชีวิตของคนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป
Photo by Watcharapol Saisongkhroh
Cover photo by Waragorn Keeranan