“ทำไมอากาศมันแปรปรวนอย่างนี้นะ?”
เราอาจจะรู้คำตอบดีอยู่แล้ว แต่นั่นคือคำถามที่เราถามอยู่เกือบทุกวันในราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา โดยตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง อากาศที่ร้อนขึ้น ไปจนภัยพิบัติมากมายอย่างความเปลี่ยนแปลงในความถี่ของการเกิดไฟป่า พายุ และฤดูแล้ง ทำให้เราต้องใช้ชีวิตร่วมกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นผลกระทบที่เห็นผ่านข่าวและบ่นถึงมันในชีวิตประจำวัน แต่แล้วทุกอย่างก็ดูราวกับหยุดนิ่งเมื่อเราได้ยินคำว่า
“ก็เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศไง”
แม้ว่าผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ จะนำไปสู่ความสูญเสียระดับโลกมาหลายครั้งในหลายปีที่ผ่านมาและเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วทำไมถึงดูไม่เคยเป็นเรื่องใหญ่เท่าที่มันเป็น? ทำไมทั้งเราและโลกจึงยังดูนิ่งเงียบ? เราอาจจะแสดงความเสียใจต่อความสูญเสีย และกลับไปพูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศราวกับว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดทุกอย่างก็กลับมาสู่สถานการณ์ปกติจนกว่าจะมีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้น
There’s a wall in your heart…
คุณเคยปิดกั้นความรู้สึกแย่ๆ ออกจากความรู้สึกของตัวเองไปเลยหรือเปล่า? ไม่ว่าจะเป็นการซ่อนคีย์เวิร์ดบางอย่างหน้าไทม์ไลน์ให้เราไม่ต้องเห็น การหยุดเสพข่าวการเมืองเพื่อไปรักษาใจ เมื่อเจอเข้ากับความผิดหวังในสถานการณ์ประเทศ หรือจากความเสียหน้าในการตัดสินใจของเรา ทั้งหมดนั้นไม่ใช่การโต้ตอบที่มาจากความเห็นแก่ตัวหรือความแปลกแยกอะไรเลย แต่มันคือการตอบสนองที่เรียกว่า การสร้างระยะห่างทางจิตวิทยา หรือ Psychological Distance
เราสามารถอธิบายการสร้างระยะห่างทางจิตวิทยาได้ผ่านทฤษฎี Construal Level Theory (CLT) ที่นิยามโดยยาคอป โทรป (Yaacov Trope) และนิรา ลิเบอร์แมน (Nira Liberman) นักจิตวิทยาสังคม จากคณะจิตวิทยามหาวิทยาลัยนิวยอร์คและเทลอาวีปตามลำดับ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวพูดถึงความสามารถของมนุษย์ในการตีความบางสิ่งให้เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมได้มากหรือน้อย ว่าขึ้นอยู่กับระยะห่างของพวกเขาต่อสิ่งนั้น กล่าวคือยิ่งเรามีระยะห่างต่อสิ่งใดมาก สิ่งนั้นย่อมมีลักษณะเป็นนามธรรมขึ้นเท่านั้น
ระยะห่างดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ทั้งระยะห่างทางเวลา เมื่อเราพูดถึงอดีตหรืออนาคต ระยะห่างทางกายภาพ เช่น เราไม่อาจเข้าใจเรื่องราวของประเทศที่ห่างไกลได้เท่ากับประเทศที่เราอาศัยอยู่ หรือระยะห่างทางตัวตน ที่เราไม่อาจเข้าใจคนที่มีสถานะหรือตัวตนทางสังคมแตกต่างจากเรา ได้มากเท่าคนที่คล้ายคลึงกับเรา ฯลฯ
เมื่อเรานำทฤษฎีดังกล่าวนี้เข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น เพื่อพูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่พวกเรากำลังประสบอยู่ เราจะตอบคำถามได้มากมาย เช่น เหตุผลของการบ่นถึงอากาศแปรปรวน ก็เพราะว่านั่นคือสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ในขณะเดียวกัน แม้เราจะรู้ว่าการเกิดไฟป่านั้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากเราอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมของความเป็นเมือง ทำให้เราไม่ได้มองมันด้วยมุมมองที่จับต้องได้ เพราะถือว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่ไกลตัวเรามาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุในป่าของประเทศที่เราจำนวนมากไม่เคยเห็นเสียด้วยซ้ำ
นอกจากนั้น มนุษย์ยังสามารถสร้างระยะห่างเหล่านั้นได้เองอีกด้วย เพราะบ่อยครั้งเมื่อความรู้สึกท่วมท้นเกินไป จนไม่อาจขยับเขยื้อนตัวไปทำอะไรได้เลย เราจึงมักสร้างกำแพงในใจของตัวเอง ทั้งปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับหลักฐาน ผลกระทบ และปิดรับสิ่งที่เราพอจะทำได้ต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของสภาพอากาศปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นเราอาจสร้างระยะห่างทางสมมติฐาน (Hypotheticality) หรือการคิดว่าเรื่องบางเรื่องเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้น และในมุมมองของคนจำนวนมาก ภัยพิบัติครั้งใหญ่ก็มักตกอยู่ในเรื่องทำนองนี้
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ และไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิด เพราะระยะห่างทางสมมติฐานสามารถลดความรู้สึกเร่งด่วน ที่เป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศนี้ได้ มากไปกว่านั้นคืออาจมีผู้เล็งเห็นความวิตกกังวลและระยะห่างดังกล่าว แล้วใช้มันเป็นช่องทางเพื่อหาผลประโยชน์อีกด้วย
ก็โลกมันเป็นอย่างนี้แหละ
หนึ่งในตัวอย่างของคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการผลักดันแนวคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่ได้เป็นอันตรายเท่าที่คิดคือ แพทริก มัวร์ (Patrick Moore) อดีตสมาชิกและประธานองค์การเพื่อสิ่งแวดล้อมกรีนพีช (Greenpeace) ที่ลาออกพร้อมประกาศกร้าวว่า แนวคิดของนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมนั้นละทิ้งความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ยึดติดกับอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า ทั้งยังพูดถึงประเด็นการเพิ่มพูนของคาร์บอนไดออกไซด์ว่าเกิดขึ้นจริงและเป็นเรื่องดี หรือการยกคำพูดว่าสาเหตุของการเกิดขึ้นของมนุษย์ในโลกนั้น ก็เพราะโลกต้องการพลาสติกและคาร์บอนไดออกไซด์ในงานเสวนาของสถาบัน Heartland Institute
แล้วอะไรทำให้คนคนหนึ่งผลักดันแนวคิดนี้อย่างสุดทาง? หากเราไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับ Heartland Institute เป็นสถาบันต่อต้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เราจะพบว่าหนึ่งในผู้สนับสนุนสำคัญของพวกเขา คือมูลนิธิโคก (Koch Foundation) ซึ่งมีธุรกิจหลักอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และเป็นผู้มีประวัติเผยแพร่ข้อมูลเท็จในประเด็นดังกล่าวอยู่อย่างยาวนาน เรียกได้ว่าเขาทำหน้าที่เป็นนักล็อบบี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แลกกับสภาพของโลกที่ถดถอยลง
มัวร์เป็นเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น เพราะยังมีนักคิดและผู้นำทางความคิดแบบอนุรักษนิยมที่ผลักดันแนวคิดรูปแบบดังกล่าวว่า การที่แผ่นน้ำแข็งละลายนั้นเป็นไปตามวัฏจักรธรรมชาติของโลก แถมแผ่นน้ำแข็งยังเติบโตอีกต่างหาก หรือนาซ่าได้รับเงินจากรัฐเพื่อทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ ผู้นำทางความคิดรูปแบบดังกล่าวมักวางกรอบว่า มุมมองและเรื่องราวที่พวกเขาพูด ถือเป็นเพียงการตั้งคำถาม แต่คำถามเหล่านั้นก็ล้วนมีคำตอบจากนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว
จากข้อมูลองค์กร Australian Psychological Society (APS) พบว่านักวิทยาศาสตร์ผู้ทำงานเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศถึง 97% ยืนยันว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ แม้แต่งานวิจัยเกี่ยวกับการเติบโตของแผ่นน้ำแข็งในขั้วโลกใต้ ที่เหล่าผู้นำทางความคิดดังกล่าวมักอ้างอิง ผู้วิจัยเองยังบอกว่า ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้นเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งเป็นคำแถลงที่พวกเขาไม่พูดถึง
แล้วฉันตัวคนเดียวจะไปทำอะไรได้?
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ก่อให้เกิดอัมพาต ต่อการตัดสินใจในประเด็นสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง คือความรู้สึกว่าเราในระดับบุคคลไม่อาจทำอะไรได้
-
- การไม่รับถุงพลาสติกของเราจะช่วยโลกได้แน่หรือ?
- การเปลี่ยนแปลงอาหารการกินของเราจะส่งผลกระทบหรือไม่?
- การไม่เปิดแอร์ของเราจะสร้างแรงกระทบต่อปัญหาระดับโลกได้ขนาดไหน?
ความจริงคือปัญหาเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขได้ในระดับปัจเจก เพราะมันต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในระดับสถาบันและนโยบายต่อการขยับเขยื้อน ทั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือระดับโลก ดังนั้น ความรู้สึกเล็กจ้อยของเราจึงไม่ใช่เรื่องแปลก และก็ไม่ได้หมายความว่าเราไร้อำนาจด้วย
หากไม่ใช่การรวมตัวของปัจเจก แล้วสังคมคืออะไร? การเปลี่ยนแปลงระดับสังคมจะเกิดได้จากการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความเร่งด่วนของปัญหา โดยความรู้เหล่านี้จะนำไปสู่การเรียกร้อง การคว่ำบาตร การประท้วง หรือนำไปสู่เครื่องมือที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่กว่านั้น จนนำไปสู่สังคมที่ตื่นรู้ และสร้างภูมิคุ้มกันต่อแนวคิดที่อาจนำไปสู่ภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่กว่าเดิมได้
นั่นคือความเปลี่ยนแปลงอันยั่งยืนกว่าที่เราคิดว่า เรามีอำนาจจะทำเสียด้วยซ้ำ
อ้างอิงจาก