โลกเราร้อนขึ้นทุกวัน อากาศก็เปลี่ยนแปลงเดี๋ยวฝุ่นมา เดี๋ยวฝนตก ไหนจะน้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกละลายที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เราได้ยินกันบ่อย มันมากระทบต่อชีวิตของพวกเราแล้ว และยังมีผลไปถึงอนาคตด้วย
และตอนนี้ เราก็เห็นขบวนการทางสังคม ที่พูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น อย่าง ‘เกรต้า ธันเบิร์ก’ นักเคลื่อนไหววัย 16 ปี ที่ออกมาพูดสุนทรพจน์บนเวที UN ในเรื่องนี้ ว่าคนทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหานี้ และขอให้ผู้ใหญ่และประเทศมหาอำนาจแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนด้วย หรือนำขบวนชุมนุม Climate Strike ที่เยาวชนและคนทั่วโลกหลายล้านออกมากดดันรัฐบาล ให้แก้ไขปัญหาเรื่องนี้จริงจัง
ในขณะที่ท่ัวโลก หันมาพูดเรื่องนี้กันอย่างแพร่หลาย ในไทยเองเราก็มีการเดิน Climate Strike เช่นกัน โดยเยาวชนเหล่านี้ก็ได้ไปยื่นจดหมายเปิดให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ‘หลิง นันทิชา โอเจริญชัย’ นักศึกษาจบใหม่ไฟแรง ผู้ริเริ่มจัดกิจกรรมนี้ ก็เล่าให้เราฟังว่า ถ้าไม่มีคนออกมาเรียกร้อง รัฐบาลก็จะไม่เริ่มทำอะไรในปัญหานี้
ทำไมถึงคิดมาเริ่มทำ Climate Strike
ตอนแรกที่คิดเลยคือโกรธว่า ทำไมไม่มีใครสนใจเลย ยิ่งอยู่กรุงเทพฯ เรายิ่งเห็นว่า ไปไหนก็มีแต่พลาสติกด้วย เราคิดว่าถ้าเราไม่มาทำตอนนี้ เราก็ไม่รู้จะทำยังไง เหมือนสิ่งที่เราทำ ที่เราเรียกร้องก็เพื่อให้เราได้มีชีวิตรอดต่อไป ว่าโลกจะร้อนนะ เราจะตาย มันก็เหมือนเราหาวิธีหยุดโลกแตก
คิดว่าทำไมเมืองไทย ต้องมี Climate Strike Thailand ด้วย
มันเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก การที่มีคนหนึ่งคนออกมา มีตัวแทนคนไทย แปลว่ารัฐบาลไทยก็จะโดนกดดัน ถ้าไม่มีคนออกมาเลย รัฐบาลก็จะไม่รู้สึกอะไร
เราจัดการ strike มา 3 ครั้งแล้ว คิดว่าการที่ออกมาเดินขบวน หรือถือป้าย จะทำให้คนอื่นๆ หันมาสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมกับเรายังไง
การเดิน strike ของเมืองนอกมันจะปั่นป่วน สร้างความวุ่นวายมาก ทั้งวุ่นวาน เพราะคนออกมาเป็นแสนๆ คน จนคนที่ไม่แคร์ก็ต้องแคร์ แต่ที่ไทยยังเป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ ที่ออกมา เวลาคนอื่นเห็นคนที่ถือป้าย ก็อาจจะยังไม่เข้าใจ ยิ่งเห็นเรื่องพลังงาน ฟอสซิลแล้วด้วย
แต่ตอนนี้เราทำมา 3 ครั้งแล้ว ครั้งนี้ เราเริ่มพอรู้แล้วว่าเรามาพูดเรื่องแบบนี้ มันไม่เวิร์ก ยิ่งสำหรับคนไทย เราต้องหาวิธีใหม่ ครั้งนี้เราเลยพูดถึง น้ำท่วม และหน้าแล้ง คือพูดอะไรที่ดูเข้าถึงคนไทย มีผลกระทบโดยตรง และเราก็ไม่ได้บอกว่าใครผิดอะไร แต่เราอยากให้เห็นว่ามันเป็นวิกฤตฉุกเฉินแล้ว
เวลาคนมาเห็น คนที่เราเดินผ่าน เขาอาจจะไม่ได้สนใจอะไรตอนนั้น แต่เขาอาจจะกลับไปพูดคุยกันได้ ว่าวันนี้ เจอคนมาประท้วงเรื่องนี้ แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนาว่าน้ำท่วม หรือหน้าแล้งมันเกี่ยวกับโลกร้อน และการมีบทสนทนาเหล่านี้ มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
ในตอนแรก เราต้องการผลักดันนโยบายกับรัฐบาล หรือว่าเปลี่ยนกฎหมายไป แต่เราคิดว่าตอนนี้ความเคลื่อนไหวในเมืองไทย หรือความเข้าใจเรื่องโลกร้อนมันยังน้อยอยู่ ที่เราจะไปบอกว่าตอนนี้ประชาชนเรียกร้องจากรัฐบาล เพราะตอนนี้เราก็เป็นกลุ่มน้อย ที่มีชาวต่างชาติมาร่วมเยอะด้วย
หลายคนถามว่า เรียกร้องแล้วมันจะไปแก้ปัญหาอะไร มันอาจจะไม่ได้ไปแก้จริงๆ แต่มันต้องเริ่มจากว่าคนหันมารู้ก่อน เพราะก่อนเราจะแก้ปัญหาได้ เราต้องรู้ว่าเรามีปัญหาอะไร มันคือการสร้างการตระหนักรู้ ซึ่งถ้าเราจะใช้คำว่ารณรงค์ ตอนนี้เราก็รณรงค์กันมาเป็น 10 ปีแล้ว ตอนนี้หลิงพยายามจะเปลี่ยนภาษาที่ใช้ หรือเปลี่ยนการเข้าถึงคนไทย เราอาจต้องทำให้ตลกขึ้น สนุกขึ้น ไม่ต้องพูดถึงข้อมูลยากๆ เราคิดว่าจะทำยังไงให้เข้าใจง่ายมากที่สุด และคนอยากทำมากที่สุด อย่าไปบังคับใคร
เรื่องโลกร้อนเราก็พูดกันมานานแล้ว คิดว่าทำไมคนยังมีความเข้าใจน้อยอยู่
ตอนนี้พอเราพูดถึงโลกร้อน คนก็จะพูดว่าใช้ถุงพลาสติกน้อยลง ใช้ถุงผ้าเพิ่มขึ้น คือมันก็ถูกนะ แต่ว่ามันเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง เป็นปัญหาที่เล็กมากๆ เมื่อเทียบกับโลกร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น ระบบนิเวศพังทลาย ขาดแคลนน้ำ อาหาร
จริงๆ เราได้ยินเรื่องโลกร้อน ถุงพลาสติกกันมาหลายปี เห็นป้ายช่วยกันรักโลกษ์ ลดการใช้น้ำคนละนิด เห็นจนชิน จนเราคิดว่าไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราต้องการที่สุดคือให้ภาครัฐบาล กับภาคเอกชนเข้ามาเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายก็ต้องให้คนทุกคนเปลี่ยนด้วย เพราะหลายคนอาจจะคิดว่าเปลี่ยนคนเดียวก็ไม่ได้มีอะไรมาก แต่ถ้าเราทำกันเยอะจริงๆ มันเปลี่ยนประเทศได้ และควรทำให้มันง่ายที่สุดสำหรับเขา
เพราะเราไม่ต้องการให้ใครต้องมาเสียตังค์เพิ่มขึ้นเพื่อรักษ์โลก มันไม่แฟร์ จริงๆ รัฐบาลต้องเป็นคนดูแลเรื่องนี้ ต้องอำนวยความสะดวกเรื่องนี้
การเดินขบวน Climate Strike เรามักเห็นภาพคนต่างชาติมาร่วม เด็กอินเตอร์มาร่วมค่อนข้างเยอะ คิดว่าทำไมถึงมีเด็กไทยยังมาร่วมน้อยอยู่
วัฒนธรรมไทย คือเด็กไม่ควรมาเถียงกับผู้ใหญ่ จริงๆ ทั่วโลกก็มีปัญหาเรื่องนี้ เกรต้าพูดอะไรไป ผู้นำโลกก็มองว่าเป็นเด็ก ทั้งเราว่าการศึกษาไทยอาจจะไม่ได้ย้ำในเรื่องนี้ ว่าไม่ใช่แค่เด็กต้องดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ต้องสอนให้เด็กรักสิ่งแวดล้อม ว่าโลกนี้เป็นเหมือนพ่อแม่เรา เขาให้อาหาร ให้อากาศ ให้น้ำ พอเรารู้สึกแบบนี้ เราถึงจะอยากปกป้องโลก เพราะว่าเรารักเขา และเขาก็รักเรา มันต้องเริ่มจากตรงนั้น ถึงจะโตมาอยากทำเรื่องพวกนี้ได้
อีกอย่างคนมักมองภาพการประท้วงว่าดูรุนแรง วุ่นวาย และเราไม่มีวัฒนธรรมแบบนั้น การเคลื่อนไหวก็ดูเหมือนแค่มาบ่นๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ที่สำคัญของเราคือ มันเป็นการ strike ทั่วโลก มีเด็กหลายล้านคนออกมาร่วมกัน มาเรียกร้องอย่างเดียวกัน ขนาดนี้แล้ว แปลว่ามันต้องมีอะไรผิดพลาดในระบบแล้ว ไม่ใช่แค่คนไม่กี่คน แต่ฝรั่งก็ยังมาร่วม แสดงว่าเราคือคนบนโลกเหมือนกัน
คิดไหมว่าจะทำยังไงให้ดึงคนไทยมาสนใจมากขึ้น
เราอยากให้มันเป็นกระแส ไม่ได้อยากให้มากระจุกอยู่ที่กลุ่มคนที่รักษ์โลก เราเลยตั้งใจให้มันเป็นเทรนด์ เราคิดว่าจะทำให้คนรู้สึกว่ามันสนุก น่าร่วม ไม่ได้มาพูดเรื่องจริงจังอย่างฟอสซิล คาร์บอน หรือนโยบายอยากให้คนเห็นว่ากิจกรรมแบบปลูกต้นไม้เหล่านี้มันสนุก
แล้วการประท้วงก็ไม่ใช่ว่าเครียดมาก หรือไปด่าคน ไปโทษคน แต่เราอยากแสดงน้ำเสียงว่าให้มาร่วมกัน เรายังมีความหวัง จึงอยากเปลี่ยนภาษา หรือน้ำเสียง
เราเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมานาน เราก็เห็นว่ามันมีแต่ข่าวแย่ๆ หดหู่ ไม่มีความหวัง ถ้ามันไม่มีความหวังเราก็ไม่รู้จะแก้ปัญหานี้ไปเพื่ออะไร เพราะคนไทยชอบอะไรที่มันสบายๆ ไม่เครียด เราไม่อยากให้คอนเทนต์เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นอะไรที่คนต้องมาเสียพลังสมองเพื่อที่จะเข้าใจ เราอยากให้เหมือนดูทีวีโชว์ ดู Netflix อยากให้คนรับชม แล้วติดตามต่อไป อยากทำให้คนมาดู มาเรียนรู้ และพูดคุยกัน
อีกอย่างนึง เราพูดอยู่ทุกวัน ว่าในการใช้ชีวิตเรามีอะไรที่ช่วยลด หรือช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ มันอาจจะดูน้อยนิดเมื่อเทียบกับระบบ แต่ทำไปก็ไม่เสียหาย อยากให้ทางออกไปเลยว่าเราทำอะไรได้บ้าง แต่ต้องเป็นทางที่ง่าย สะดวก และถูก มันมีหลายอย่างที่เราพูดได้ว่า win-win ทั้งสองฝ่าย
การ Climate Strike ทั่วโลก มันคือการหยุดเรียน หยุดงานเพื่อมาร่วม หลายคนก็จะมอง หรือออกความเห็นว่าต้องทำขนาดนั้นเลยหรอ ตั้งหยุดเพื่อมาประท้วงเลยหรอ
จริงๆ ไม่ควรต้องมีใครมาเสียสละเวลากับการเดินประท้วง ยิ่งเด็กก็ไม่ควรจำเป็นต้องมาทำอะไรแบบนี้ แต่เหตุผลที่เราใช้ทั่วโลกคือ เดี๋ยวเราก็ไม่มีอนาคตอยู่แล้ว เราจะไปเรียนกันทำไม เราถึงมาเดิน strike กัน ที่เราออกมาทำตรงนี้ เพราะมันเป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆ มันเป็นวิกฤต และมันเป็นอนาคตของเราทุกคน ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ ละทิ้งปัญหานี้ไปในตอนนี้ ในอนาคตมันอาจจะแย่ลงและไม่มีทางแก้แล้ว เขาถึงเรียกว่ามันเป็น climate emergency ว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องทำตอนนี้
เราก็มีวันเด็กทุกๆ ปี ก็จะพูดว่าเด็กเป็นอนาคตของประเทศชาติ แล้วคุณไม่มีอนาคตให้เขาแล้วเขาจะทำยังไง ทำไมเด็กต้องเป็นอนาคตของประเทศด้วย ทำไมเด็กไม่เป็นประเทศตอนนี้ ไม่เป็นคุณค่าของประเทศตอนนี้หรอ ทำไมต้องรอถึงอนาคตให้เด็กเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความหวัง ความฝันก็หายไปหมดแล้ว
โลกร้อนมันเป็นปัญหาใหญ่ แต่หลิงคิดว่าทำไมเรายังไม่เห็นการลงมือ แก้ไขจริงๆ จังๆ
มนุษย์เรา มักมองไม่เห็นอันตราย หรือไม่เห็นผลกระทบเชิงลบที่มีโดยตรงต่อเรา ถ้ามันยังไม่เกิดขึ้น สมมติเราพูดว่าขี่มอไซค์ ถ้าไม่ใส่หมวกกันน็อคจะอันตราย แต่คนก็มองว่าไม่เป็นไรหรอก จนกว่าจะเกิดอันตรายต่อตัวเอง หรือเราเห็นข่าวน้ำท่วม เราก็คงคิดว่าแย่เนอะ แต่เราคงไม่ออกมาประท้วงรัฐบาลว่าทำไมไม่ทำอะไร ถ้าไม่ใช่บ้านเรา เรามักจะไม่แคร์จนกระทั่งมันมาถึงตัวเรา จนกว่าเราจะเห็น เราจะไม่กลัว และไม่แก้ปัญหา แต่นี่เป็นสาเหตุที่หลิงชอบพูดว่า อีกไม่ถึง 10 ปี เราเห็นแน่ๆ อย่าคิดว่าเราอยู่ไกลจากปัญหา
แต่ว่าเราก็ไม่โทษประชาชนที่ไม่ทำอะไร เพราะรัฐบาลเป็นกลุ่มคนที่ควรมีผู้เชี่ยวชาญ ที่เขาน่าจะรู้เรื่องโลกร้อนมานานแล้ว แล้วควรจะดำเนินการ เราก็ทำได้ดีของเราที่สุดแล้ว เราก็อยากให้เขาทำงานของเขาให้ดีขึ้น หรือทำอยู่ไหมก็ไม่รู้ เพราะมันเป็นเรื่องน่ากลัวมากๆ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจหรือเปล่า ถึงไม่ดำเนินการ แต่สุดท้ายเงินมันคืออะไร ถ้าเราใช้มันไม่ได้ ตอนนี้เงินอาจจะเห็นผลทันทีมากกว่า คนเลยคิดกันว่าไม่เป็นไรไว้ก่อนค่อยแก้
แต่จริงๆ ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากจากโลกร้อน เพราะเราอยู่ตรงชายฝั่ง อย่างกรุงเทพเองก็อยู่ใต้น้ำทะเล ทุกวันเราก็จมลมไปเรื่อยๆ ระดับน้ำทะเลก็สูงขึ้นเรื่อยๆ
กรณีที่เรามองว่าอีกไม่นาน หลิงคิดว่าถ้าเราไม่แก้ไขตอนนี้ ปัญหานี้จะไปถึงจุดไหน
คิดง่ายๆ เราว่าเหมือนน้ำท่วมใหญ่ปี 2011 เมืองไทยก็คงจะเป็นแบบนั้นในอีกไม่กี่ปี แต่ว่าครั้งนี้จะไม่ใช่ว่า มันมาแล้วมันก็ไป หรือว่าเราจะเอาถุงทรายมากั้นไว้ แต่ประเทศเราจะจมน้ำแล้ว และมันจะแย่ตรงที่ประเทศอื่นก็โดนเหมือนกัน จะมีการแย่งชิงทรัพยากรกัน อย่างน้ำ หรืออาหาร
อย่างที่จีนทำอยู่ในตอนนี้ ที่เขาทำเขื่อนกักเก็บน้ำ เขาฉลาดที่เริ่มกักเก็บให้มันเพียงพอเรียบร้อยแล้วสำหรับคนจีนเอง ประเทศไทยเราก็โดนผลกระทบจากการกักเก็บนี้ อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เราก็ต้องดูไว้ว่า แต่ละประเทศเขาก็ดูแลของเขากันเอง มันมีความเห็นแก่ตัวแบบเอาตัวรอดก่อน เราก็ต้องเอาตัวรอด แต่จริงๆ เราอยากให้ทุกคนทำงานร่วมกันมากกว่า
เพราะทรัพยากรโลกมันเป็นระบบนิเวศของมัน ไม่ใช่ว่าคุณปิดกั้นน้ำ และน้ำจะอยู่ตรงนั้นอย่างเดียว มันกระทบทั้งระบบ ถ้าคิดง่ายๆ เหมือนเป็นร่างกายคน มีเส้นเลือดที่ต้องไหลเวียน ถ้าเราไปสร้างที่กั้นไว้ ไม่ให้มันไหลเวียน เส้นเลือดก็แตก คนก็ตาย
โลกเรามันเหมือนร่างกายเรา แล้วมันต้องมีความสมดุลตลอด โลกร้อนก็เหมือนคนไข้ขึ้น ถ้าไข้ขึ้นแค่ 2 องศา เราต้องไปโรงพยาบาล มันก็เหมือนกับโลก ตอนนี้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1 องศา และจะไป 2 องศา แค่ครึ่งองศามันก็ทำให้ระบบนิเวศต่างๆ พังได้ มันต้องส่งไปโรงพยาบาล ไปหาหมอ ไม่ใช่ว่าบอกให้ไปนอนพัก 3 วัน แล้วค่อยมาดูอาการ มันถึงจุดที่เราต้องรีบพาตัวเราไปหาหมอแล้ว
และมันมียาต่างๆ ที่มาฟื้นฟูได้ มีสมุนไพรหลายๆ อย่างที่ช่วยได้ อย่างโลกร้อน บางคนก็คิดทำนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น คิดทำกระจกในชั้นบรรยากาศที่จะสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไป โลกจะได้ไม่ร้อน แต่อย่าไปยุ่งกับธรรมชาติมาก มันสมบูรณ์ของมันอยู่แล้ว เราควรมาทำอะไรที่ธรรมชาติ เช่นการปลูกต้นไม้ หรือการฟื้นฟูชายฝั่ง มหาสมุทร พวกนี้ถ้ามันได้การฟื้นฟูนิดเดียว มันก็จะฟื้นไปเรื่อยๆ เหมือนร่างกายเรา ถ้าเราหยุดกินน้ำเย็น มากินน้ำร้อน ร่างกายก็จะเริ่มฟื้นฟูตัวเองเร็วได้ แต่เราต้องเริ่มตอนนี้ ต้องให้ยามันนิดนึง มันถึงจะฟื้นฟูได้ ถ้าเราป่วย เราคงไม่อยากทำอะไรแย่ๆ เพิ่มขึ้น เพราะมันจะไม่ฟื้นฟูตัวเองได้
ถ้าเราโลกเปรียบเป็นร่างกายมนุษย์ คิดว่าประเทศไทยมีนโยบายมาฟื้นฟูร่างกายเพียงพอยัง
สิ่งที่เริ่มทำได้เลย ที่เราเรียกร้องรัฐบาลไป คือการประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน และการหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานฟอสซิล ซึ่งมันมีอุปสรรคหลายอย่าง แต่การมีอุปสรรคไม่ได้แปลว่าเราไม่ควรทำ เข้าใจว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนมันมีข้อจำกัดบางอย่าง อย่างเช่นไม่มีแบตเตอรี่เพื่อมาเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ไม่ใช่ว่าเราทำทีละนิดไม่ได้ มันไม่ได้ต้องเพอร์เฟ็กต์ 100% ซึ่งตอนนี้เมืองไทยมีเป้าหมาย แต่สิ่งที่ทำจริงมันกลับกัน นี่จึงเป็นเรื่องที่เราอยากผลักดัน
จริงๆ มันก็มีอีกหลายเรื่องเลยที่ทำได้เลย เช่น การปลูกป่า มันไม่ได้ยาก ไม่ได้ลงทุนเยอะขนาดที่กระทบเศรษฐกิจ อีกอย่างนึงคือเรามักลืมว่า สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญกับเราอย่างไรบ้าง อีกอย่างเราเป็นคนเมือง เราอยู่ไกลจากธรรมชาติมาก จนบางทีเราลืมว่าเราพึ่งพามันแค่ไหน เราเป็นหนึ่งเดียวกับมัน การที่เรารู้สึกตรงนี้มันสำคัญ มันอาจจะแก้ไขทันทีไม่ได้ แต่อาจจะทำให้อนาคตดีขึ้นไปเรื่อยๆ
อย่างปีหน้า รัฐมีนโยบายแบนถุงพลาสติก ก็เป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่ว่าแบนผู้ประกอบการใหญ่ๆ อย่างเดียว แต่รัฐต้องมาทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการรายเล็กๆ อย่างป้าขายลูกชิ้น เขาก็ไม่มีทางเลือก เขาก็ต้องใช้ถุงพลาสติก แต่คุณการสนับสนุนเขาได้ยังไงบ้าง อย่างน้อยที่เขามาใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ มันมีหลายๆ อย่างที่รัฐบาลสนับสนุนได้ หรือคนรายได้ต่ำ จะให้เขากินเนื้อน้อยลง เพื่อมากินวีแกนทุกวัน ก็คงไม่ไหว ตอนนี้การรักษ์โลกมันแพงไปสำหรับคนหลายคน แล้วจะทำยังไงให้เข้าถึงได้ง่ายสุดโดยไม่ต้องพยายาม
อย่างเช่นในต่างประเทศ เมืองของเขามันง่ายมาก เรานั่งรถเมล์ เราไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ที่เรานั่งคือรถเมล์พลังงานไฟฟ้า หรือว่าไปร้านอาหาร ก็มีทุกอย่างเป็นกระดาษ หรือย่อยสลายได้ โดยที่คนมากินมาใช้ ไม่ต้องพยายามอะไร หรือในด้านระบบคมนาคมอย่างเดียว มีคำที่พูดถึงไว้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ประเทศที่คนมีรถขับเอง แต่ทุกคนพร้อมขึ้นระบบขนส่งสาธารณะ เพราะมันเป็นระบบที่ดีพร้อมที่ทุกคนอยากใช้ เราต้องการอะไรแบบนั้นที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น
มันไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม ยังมีเรื่องสิทธิมนุษย์ คนที่โดนผลกระทบจากโลกร้อน อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ ไม่มีความช่วยเหลือเข้าไป หรือเข้าถึงน้อยมันก็คือความเหลื่อมล้ำทางสังคม คนรวยถ้าน้ำท่วมขึ้นมาก็อาจจะย้ายบ้าน หรือไปประเทศอื่น แต่คนที่เหลือที่ไม่มาทางเลือกจะทำยังไง
หรือสิทธิเยาวชน เด็กๆ ต้องหยุดเรียนเพราะ PM2.5 หรือเพราะน้ำท่วม มันไม่ใช่แค่เรื่องสำหรับคนรักสิ่งแวดล้อม แต่มันเป็นเรื่องของทุกคน ที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งของทางแก้ไขปัญหา มันมีหลายๆ ทางที่ต้องมาคิดร่วมกัน
เราคิดว่าตอนนี้ทุกๆ อาชีพ สามารถใช้งาน ใช้ความสามารถในด้านนั้นมาให้ความสำคัญกับเรื่องโลกร้อน ทุกอาชีพต้องมุ่งตรงไปเรื่องนี้ เพื่อไปแก้ปัญหาโดยตรง อย่างเช่นนักข่าว อาจจะพูดเรื่องนี้ได้โดยการพูดถึงมากขึ้น แชร์เรื่องนี้มากขึ้น มันมีหลายๆ อย่างที่คนช่วยกันได้
เราเห็นว่าคนตื่นตัวกันมากขึ้น งดรับถุงพลาสติด พกกระติกน้ำ เราคิดว่ามันพอไหม
ไม่พอค่ะ จริงๆ แค่น้ำกับไฟ เราก็ใช้พลังงานกันไปมหาศาล อย่างห้างสรรพสินค้ายิ่งใช้เยอะมาก ซึ่งมันเป็นพลังงานที่เราใช้จากระบบนิเวศ ซึ่งรัฐบาลต้องอำนวยความสะดวก ต้องตอบรับความต้องการ เพราะยังไงเราก็ต้องใช้พลังงานต่อไป เราหยุด เลิกใช้ไม่ได้อยู่แล้ว ง่ายที่สุดคือรัฐบาลต้องเปลี่ยนที่มาของพลังงาน มาใช้พลังงานทดแทน
คนๆ นึงปรับเปลี่ยนชีวิตเท่าไหนยังไงก็ไม่พอ เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภาครัฐ และเอกชน เพราะว่าสมมติว่า 7-11 มีการเปลี่ยนแพคเกจเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ต้นทุนอาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่คนก็สามารถใช้ได้ การที่มีบริษัทแห่งนี้เปลี่ยน มันสามารถปรับเปลี่ยนการใช้ของทั้งประเทศได้
ปัญหาไม่ใช่ว่าเราไม่มีเทคโนโลยี หรือทางแก้ไข แต่ว่าเราไม่ทำ เพราะอาจจะมองว่าต้องเสียผลกำไร แต่มันเป็นการตัดสินใจว่าเราจะให้ความสำคัญกับอะไร และถ้ารายใหญ่สามารถทำได้ รายเล็กก็เริ่มทำได้ อย่างนโยบายยกเลิกถุงพลาสติกที่ออกมา ทำได้ง่ายมาก เราไม่ต้องเริ่มที่ปลูกจิตสำนึกใคร ไม่ต้องมารณรงค์ให้ใครทำ ตั้งเป็นกฎหมายได้เลย เพราะมันเป็นเรื่องที่จำเป็น เราไม่มีเวลาเหลือแล้วที่จะมาชักชวนคนให้ลดถุงพลาสติก หรือให้ใช้ไฟน้อยลง เราตั้งเป็นนโยบาย และค่อยมาประณีประนอมกันว่าใครสะดวกเท่าไหน ทำได้เท่าไหน แต่ว่ามันจำเป็นต้องเป็นกฎระเบียบ
บางคนจะมองว่า ทำไมต้องไปเรียกร้องรัฐบาล เรื่องแบบนี้เริ่มต้นที่ตัวเองก็พอแล้ว
มันพอสำหรับตัวเอง พอที่จะรู้สึกดีว่าเราได้ช่วย ซึ่งก็ช่วยจริงๆ แต่มันก็ยังไม่พอต่อระบบที่จะลดอุณหภูมิโลกในระดับนั้นยังไม่พอ เราประชาชนทำได้เท่าที่ทำ ถ้าคุณสามารถชักชวนเพื่อน พ่อ แม่ให้มาทำ มันก็จะกระจายไปเรื่อยๆ ได้ จนคนเยอะพอที่จะเปลี่ยนแปลง เหมือนตอนแรกเราทำ strike คนเดียว ครั้งแรกก็มีแค่ 30 คน ตอนนี้เราก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว มีคนพูดถึงมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงมันเกิดมาจากจุดเล็กๆ ตลอด ถ้าเรามองย้อนดู มันเริ่มจากอะไรแค่นี้ แล้วคนที่บอกว่าทำไม่ได้หรอก ก็จะเป็นคนที่ตามมาทีหลัง ส่วนคนที่เริ่มก็คือคนที่มองว่าเราทำได้ เรายังมีความหวัง มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่านี้ ถ้ามันดีจริงๆ มันไม่มีเหตุผลอะไรที่คนจะไม่ทำตาม
การปรับเปลี่ยนระบบ การใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราคิดว่ามันต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะประเทศไทยไม่มีทางเลือก เราต้องโดนผลกระทบจากโลกร้อนแน่ๆ แต่ถ้ามันเห็นอยู่แล้ว ทำไมเราไม่เริ่มทำตอนนี้ และถ้าเราเปลี่ยนตอนนี้มันก็ดีกว่าเราไปแก้ไขปัญหาในอนาคต
คิดว่าทำไมคนที่ตระหนักถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อม หรือออกมาลงมือ เป็นไอคอนประเด็นนี้ มักเป็นภาพของคนรุ่นให
เด็กมีเวลา อย่างหลิงเพิ่งเรียนจบ เราก็มีเวลามาทำ Climate Strike ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เงิน แต่เราก็มาทำ อีกอย่าง เด็กกลัวตัวเองไม่มีอนาคต แต่เราไม่ชอบว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เราพูดถึงอนาคต มันไม่ใช่อนาคตแล้ว มันคือตอนนี้ที่เรามีปัญหาเหล่านี้ แล้วเวลาคนอื่นคิดว่ามันเป็นอนาคต ก็จะคิดว่าฉันก็อาจจะตายแล้วในตอนนั้น มันก็เลยไม่เป็นปัญหา แต่คือจริงๆ เรามีปัญหานี้อยู่แล้ว โลกเราร้อนมานานแล้ว มันเหมือนเราพูดว่า ถ้าสูบบูหรี่ไปนานๆ อนาคตปอดเราจะไม่ดี แต่ไม่เป็นไร ตอนนี้ขอสูบก่อน เดี๋ยวค่อยลด ค่อยเลิกก็ได้
ทั้งเด็กยังไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนระบบมาก อันนี้จึงเป็นสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดที่จะออกมาพูดรื่องนี้ และสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ใหญ่ หรือเด็กคนอื่น และต้องให้ผู้ใหญ่เข้าใจด้วยว่าเด็กก็มีเหตุผล
เราบอกว่าเด็กไม่มีอำนาจในระบบ แล้วเราคิดว่าพลังของเด็ก และคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม
ไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงระบบหมายความว่า เราไม่ใช่นักการเมือง เราไม่มีอำนาจไปตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนกฎหมาย แต่ว่าเราสามารถกดดัน หรือเปลี่ยนแปลงความคิดเพราะว่าผู้ใหญ่ก็ต้องใส่ใจว่าเด็กคิดยังไง แต่อาจจะต้องการเด็กมากกว่า 1 คน แล้วคิดว่าต้องมีผู้ใหญ่ที่เขาเห็น และรับฟังเด็ก
คือจริงๆ เราไม่อยากให้มันเป็นการเคลื่อนไหวของเยาวชน เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องของทุกคน และเยาวชนควรไปตั้งใจเรียนรู้มากกว่า คือเราไม่ควรต้องมาทำอะไรแบบนี้
จะบอกอย่างไรกับคนรุ่นอื่นๆ ด้วยว่า ปัญหานี้มันต้องแก้ไขร่วมกัน ไม่ใช่แค่ภาระของคนรุ่นใหม่อย่างเดียว
อย่างที่เราบอกว่าทุกคนต้องกินข้าว ต้องกินน้ำ คือมันยากเพราะว่าเวลาเราจะชวนให้ทุกคนมาช่วยแก้ไขปัญหา แต่การแก้ไขปัญหามันต้องออกมาจากรัฐบาลซะส่วนใหญ่ ที่เราช่วยได้ในตอนนี้คือการพูดถึงมัน การทำความเข้าใจ การทำความรู้จักสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างความรู้ และสร้างความกลัวว่า มันมีส่งผลกระทบต่อเราทุกคนโดยตรง แต่ว่าอาจจะค่อยๆ มา
ง่ายๆ คือน้ำ อาหาร และบ้านของเราทุกวันนี้ เราก็ไม่อยากไม่มีกิน หรือให้บ้านน้ำท่วม แต่ที่สำคัญที่สุดคือคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่ามันเกี่ยวอะไรกับโลกร้อน ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราพยายามทำ คือการสร้างความเชื่อมโยงแล้วเวลาคนไทยรู้มากพอ รัฐบาลก็จะเริ่มตื่นตัวแล้ว ว่าคนรู้แล้ว เราก็อยู่นิ่งๆ ไม่ได้แล้ว ถ้าไม่รีบทำการแก้ไข จากตรงนั้น มันจะกดดันให้เขาแก้ไข
ตอนนี้ที่เราเน้นคือการสร้างการตระหนักรู้ให้กับคนทั่วไป วันนั้นเราเพิ่งยื่นจดหมายกับรัฐบาลไป แต่เราก็รู้ว่าเขารับไว้ ไม่รู้จะดำเนินการจริงๆ ไหม แต่เราเน้นสร้างความรู้ให้คน ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้เป็นปัญหามานานแล้ว แต่ความเข้าใจอาจจะยังไม่ลึกพอ เราอยากเริ่มจากตรงนั้น