1
ผมเป็นคนไม่ชอบปีนเขา ถ้ามีเวลาว่างจริงๆ ขออยู่กับหนังสือสักเล่ม สนทนากับมิตรสหาย หรือเอนกายพักผ่อนดีกว่า ขณะที่บางคนชอบปีนเขา ท้าทายกับทีละก้าวบนเนินดินที่ค่อยๆ ชันขึ้นไป หยาดเหงื่อและความเมื่อยล้ากลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อพวกเขาได้สูดอากาศเย็นๆ และสัมผัสความงามของธรรมชาติมาจากที่สูง
ไม่เกี่ยวกับดีหรือไม่ เราแค่ชอบต่างกัน และเลือกใช้ชีวิตแบบนั้น
คนร่างกายแข็งแรงมีโอกาสเลือกความรื่นรมย์ให้ชีวิต ใครชอบกิจกรรมไหนก็จัดสรรเวลาแล้วพาตัวเองไป แต่คงเป็นไปได้ยากกับ ‘เด็กพิการทางการเคลื่อนไหว’ ที่อยู่กับร่างกายที่มีข้อจำกัด — บางคนแค่เดินบนที่ราบยังไม่ง่าย บางคนเดินด้วยตัวเองไม่ได้ และน่าเศร้ายิ่งนัก เขาเหล่านั้น-บางคนถูกคนใกล้ตัวสร้างกรอบขึ้นมาปิดกั้นความเป็นไปได้ให้กับชีวิต
ตั้งแต่ปี 2555 โครงการ ‘ปีนเพื่อเปลี่ยนชีวิต’ (Climb to Change a Life) โดยมูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ (Zy Movement Foundation) ได้พาเด็กพิการทางการเคลื่อนไหว ครอบครัว และอาสาสมัคร (ที่อาสามาแบกน้องๆ ขึ้นไปพิชิตยอดเขา) ไปพิชิตภูกระดึง (2555) น้ำตกเอราวัณ (2557) ยอดเขาเทวดา (2558) และครั้งล่าสุดเมื่อ 26 – 27 พฤศจิกายน 2559 กับการพิชิตเนินช้างศึก ณ หมู่บ้านอีต่อง ทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
วอเตอร์ ลี ประธานมูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ เล่าให้ฟังว่า ย้อนไปในปี 2555 กลุ่มเพื่อนนักธุรกิจได้จัดโครงการปีนภูเขาคินาบาลู ประเทศมาเลเซีย ซึ่งสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาเลยขอพาน้อยซาย-ลูกชายที่พิการทางการเคลื่อนไหวไปด้วย จากการร่วมแรงร่วมใจของพ่อและเพื่อนนักธุรกิจ น้องซายได้กลายเป็นเด็กพิการอายุน้อยที่สุดในโลกที่พิชิตยอดเขาคินาบาลูได้สำเร็จ
“ผมอยากให้เขาภูมิใจ ว่าถึงแม้จะพิการ แต่อย่างน้อยก็ขึ้นยอดเขาคินาบาลูได้นะ” คนเป็นพ่อพูดถึงความตั้งใจ
จากนั้นไม่นาน จดหมายจากเพื่อนนักธุรกิจส่งถึง วอเตอร์ ลี ทุกคนสะท้อนไปในทางเดียวกันว่า การขึ้นยอดเขาโดยมีน้องซายอยู่ข้างหลัง (แม้จะหนักกว่า เหนื่อยกว่า และใช้เวลานานกว่า) ได้สร้างความรู้สึกบางอย่างขึ้นมาในใจ เป็นความหมายที่ยากจะอธิบายเป็นคำพูด
จดหมายเหล่านั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ วอเตอร์ ลี จนเกิดเป็นโครงการ ‘ปีนเพื่อเปลี่ยนชีวิต’ ในเวลาต่อมา
2
ว่ากันโดยกิจกรรม คุณอาจมองว่าเป็นแค่การปีนเขา แต่สำหรับเด็กที่เคยเห็นแต่ภูเขาในทีวี เต็มที่ก็แค่นั่งรถผ่าน การมีอาสาสมัครมาช่วยให้ไปถึงยอดเขา จึงเป็นระหว่างทางและปลายทางที่มีความหมายมากกว่านั้น
เช้าวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2559 เด็กพิการทางการเคลื่อนไหวทั้ง 29 คน ครอบครัว อาสาสมัคร และผู้จัดงาน รวมแล้วกว่าสองร้อยชีวิต เดินทางออกจากกรุงเทพฯ สู่หมู่บ้านอีต่อง ทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยการปีนเขาจะเริ่มในเช้าตรู่ของวันต่อมา
แต่คืนนั้นฝนตกอย่างหนัก สร้างคำถามในใจน้องๆ ครอบครัว และอาสาสมัครที่เดินทางมาด้วยความตั้งใจ
“จะได้ปีนเขาไหม” เด็กคนหนึ่งเอ่ยถามกับพ่อ แววตาของเขาเฝ้ารอกิจกรรม
เพื่อความปลอดภัย ทีมงานจึงขึ้นไปสำรวจพื้นที่อีกครั้ง ก่อนจะกลับมาให้คำตอบว่า ทุกคนสามารถปีนขึ้นไปตามความตั้งใจได้อย่างปลอดภัย จากกำหนดการเดิมหกโมง ต้องขยับออกไปเริ่มช่วงแปดโมง ระหว่างรอคิวปล่อยตัว เด็กๆ แต่ละคนมีอาการตื่นเต้น บางคนรอไม่ไหวที่จะขึ้นไปสู่ข้างบน จนถึงร้องงอแงอยากขึ้นตอนนี้เลย
“ตื่นเต้นไหม” ผมถามน้องคนหนึ่ง
“ครับ” เขายิ้มกว้าง และใช้แขนทั้งสองข้างหมุนล้อวีลแชร์ผ่านไป
450 เมตรสู่บนสุดของเนินช้างศึก ถ้าเดินตัวเปล่าๆ ถือเป็นระยะทางและความชันในระดับที่คนไม่พิการได้เหงื่อและเมื่อยขาพอสมควร แต่ครอบครัวและอาสาสมัครต้องช่วยเหลือน้องๆ ไปจนถึงปลายทาง ความเหนื่อยจึงมากกว่าการก้าวเดินเพียงลำพัง
น้องบางคนอาศัยเพียงการประคอง บางคนสลับไปมาระหว่างเดินเองและขึ้นขี่หลัง และบางคนต้องพึ่งพาพี่อาสาสมัครตลอดเส้นทาง น้องบางคนเดินเซอย่างยิ้มแย้ม บางคนเดินตัวอ่อนเหมือนคนหมดแรง และบางคนหัวเราะร่าอยู่บนหลังของพี่อาสาสมัคร
เวลาราวสองชั่วโมง คนสุดท้ายก็เอาชนะความเหนื่อยจนไปถึงยอดเขา
ประทีป ทรัพย์เกสร พ่อของ ‘น้องใบไผ่’ อายุ 16 ปี ซึ่งป่วยเป็น CP (Cerebral Palsy) หรือสมองพิการ เล่าว่า ก่อนมาร่วมกิจกรรม มีคนตั้งคำถามกับเขาว่า “ประสาทหรือเปล่า” เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่เด็กพิการทางการเคลื่อนไหวจะขึ้นสู่ยอดเขาได้สำเร็จ และเอาเข้าจริง ตอนนั้นเขาเองก็ไม่มั่นใจนักว่าจะเป็นไปได้
“ด้วยความที่น้องอยากมา ใจมุ่งมั่น ผมลองพาเขาไปขึ้นทางลาด แล้วถามว่า ‘เหนื่อยไหม’ เขาว่า ‘เหนื่อย’ ผมเลยถามไปว่า ‘แต่ปีนเขาจะเหนื่อยกว่านี้เป็นร้อยเท่าเลยนะ หนูจะไปเหรอ’ เขาก็ยืนยันว่าจะไป เขาเคยเห็นแต่ภูเขาไกลๆ เลยอยากรู้ว่าปีนเขาเป็นยังไง น้องมีความมุ่งมั่น ทำไมเราถึงไม่ให้โอกาสล่ะ ยังไงไม่รู้ล่ะ ไปก็ไป”
แม้ทรงตัวด้วยตัวเองได้ไม่เต็มที่ แต่น้องใบไผ่อดทนเดินเองตั้งแต่ต้นจนจบ โดยมีพี่ๆ อาสาสมัครและครอบครัวคอยประคองตลอดทาง
“ผมเห็นเขาเหนื่อยมาก เลยถามว่า ‘พักไหม’ เขาก็ตอบว่า ‘ไหมๆ’ (ไม่ๆ) เขาอยากเดินขึ้นเอง พอไปถึงข้างบน ผมชวนให้เขาดูบรรยากาศ ถามว่าสวยไหม เขาว่า ‘สวยๆๆ’ แล้วก็ยิ้ม”
3
“จากที่ไม่แน่ใจว่าเป็นไปได้ไหม พอไปถึงยอดเขา คุณพ่อรู้สึกยังไงบ้าง” ผมถามพ่อของน้องใบไผ่
ก่อนคำตอบจะดัง เขายิ้มอย่างมีความสุข แววตาเป็นประกายชัดเจน
“ขึ้นไปถึงปั๊บ ผมคิดถึงตอนอยู่ตีนเขาเลย มันเป็นไปได้ยังไง (เน้นเสียง) ผู้ปกครองหลายคนก็พูดเหมือนกัน ไม่คิดเลยว่าน้องจะขึ้นมาได้ มันเป็นปาฏิหาริย์”
นอกจากดีใจที่พิชิตยอดเขาได้สำเร็จ เป้าหมายของ ‘ปีนเพื่อเปลี่ยนชีวิต’ คือการเปลี่ยนความคิดของครอบครัว เพราะไม่ว่าจะพิการหรือไม่ เด็กเป็นดาวหนึ่งดวงที่พร้อมจะสร้างความเป็นไปได้มากมาย แต่ครอบครัวจำนวนไม่น้อยสร้างกรอบขึ้นมาปิดกั้นความเป็นไปได้ บางครอบครัวไม่แม้แต่จะพาไปใช้ชีวิตนอกบ้าน หลบหลีก ปิดบัง และไม่ยอมรับ จนข้อจำกัดทางร่างกายค่อยๆ ขยายตัวไปสู่จิตใจ เด็กๆ จนไม่มั่นใจและไม่ภูมิใจในตัวเอง
“ผมเองต้องกลับไปมองใหม่ คงมีอีกหลายเรื่องที่ผมมองว่าน้องทำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเขาทำได้ ถ้าเขาพึ่งพาจนเคยชิน พอทำอะไรไม่ได้ ก็จะมองหาเรา แล้วตัวคุณเองจะมีชีวิตไปอีกนานเท่าไร”
“อะไรคือสิ่งที่คาดหวังให้พ่อแม่ได้รับ” ผมถาม วอเตอร์ ลี ซึ่งนอกจากเป็นคนริเริ่มกิจกรรม เขายังเรียนรู้ความพิการจากลูกชายของตัวเองอีกด้วย
“พ่อแม่ก็ต้องมองลูกตัวเองใหม่ เขาทำได้ ไม่ใช่แค่ปีนเขา แต่หมายถึงทุกๆ เรื่อง เด็กพิการไม่ได้ต้องการความสงสาร เขาต้องการความเข้าใจ” เขาให้มุมมอง
หลายวันแล้ว…ที่น้องๆ พิการทางการเคลื่อนไหวทั้ง 29 คนและครอบครัวเดินลงมาจากเนินช้างศึก และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ประสบการณ์ครั้งแรกของน้องๆ ที่ปีนเขาได้สำเร็จ และครอบครัวที่เห็นว่าทำได้ อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างในชีวิตให้ราบรื่น แต่อย่างน้อยคงจุดประกายให้เห็นว่าชีวิตมีความเป็นไปได้อยู่
ไม่ว่ากับการปีนเขาหรือเรื่องอะไรก็ตาม