มองไปยังแฟนเก่าบางคน แทบจะนึกไม่ออกเลยว่า เราและเขาเคยเป็นคนที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด
คำหวานที่เคยมีให้กันกลายเป็นรสขม สัญญาที่เคยมีก็แตกสลายเหมือนไม่เคยพูดกันเอาไว้ ของที่ให้กันและกัน ถ้าไม่ทวงคืนหรือเผาทิ้ง ก็คงอยากจะโยนมันทิ้งลงแม่น้ำไปพร้อมๆ กับหัวใจที่เคยแนบมากับมัน นี่เหรอคือคนที่เราเคยรัก? นี่เหรอตัวเราที่เคยรักเขา? บ่อยครั้งเหลือเกิน ความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกเกิดขึ้นในห้วงเวลาเพียงไม่กี่วัน เทียบกับเวลาเป็นเดือนหรือปีที่เรารักกันมานั้นก็น้อยมาก จนบางครั้งเราถึงกับตั้งคำถามว่า มนุษย์ถูกออกแบบมาให้รักกันได้จริงไหมเลยทีเดียว
เลิกกันทั้งที เราจะเลิกกันดีๆ ได้หรือเปล่า?
อย่างน้อยก็เห็นแก่เวลาที่เราเคยรักกัน
เลิกกันแล้วเส้นทางชีวิตผันเปลี่ยน
ความสัมพันธ์และความรัก ไม่ใช่เพียงการผูกมิตรกับใครสักคน เราแต่ละคนมีแผนการต่างๆ ในชีวิต ทั้งการเรียน การงาน การเงิน ฯลฯ รวมถึงเรื่องของความรักและครอบครัวก็ถือเป็นส่วนสำคัญ ที่ไม่ว่าเราจะอยากวางแผนหรือไม่ก็ตาม แต่เราก็อาจต้องคำนึงถึงมันในแผนการของชีวิตอยู่เสมอ เมื่อความสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของแผนการชีวิต การเลิกราจึงสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนที่สะท้อนไปยังทุกมุมในแผนการของเราได้
หนึ่งในงานวิจัยที่พูดเกี่ยวกับผลกระทบของการเลิกราต่อคนคนหนึ่งคือ Breaking Up is Hard to do: The Impact of Unmarried Relationship Dissolution on Mental Health and Life Satisfaction โดยกาลีน่า โรดส์ (Galena Rhoades) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ งานวิจัยมุ่งศึกษาไปยังความยากลำบากจากการเลิกรากันของคู่รักที่ไม่ได้แต่งงาน ในแง่มุมจิตวิทยา ผลกระทบต่อสุขภาพจิต และความพึงพอใจในชีวิต
สำหรับกลุ่มตัวอย่างวัย 18-35 ปี จำนวน 1,295 ราย พบว่าการเลิกรากับคนรักมีความเชื่อมโยงกับความทุกข์ทางใจที่สูงขึ้น และเชื่อมโยงต่อความพึงพอใจในชีวิตที่ต่ำลง แต่นี่น่าแปลกใจคืองานวิจัยพบว่า หากความสัมพันธ์เหล่านั้นมีคุณภาพสูง การเลิกราจะนำไปสู่ความการลดลงของความพึงใจในชีวิตที่เล็กน้อยกว่าความสัมพันธ์คุณภาพต่ำ เรียกง่ายๆ คือถ้าเราเต็มที่กับความสัมพันธ์มาตลอดทาง เราจะรู้สึกเติมเต็มกว่าการทำอย่างขอไปทีในวันที่มันจบลงแล้วนั่นเอง
งานวิจัยยังพบอีกว่า รูปแบบความสัมพันธ์ที่ต่างกัน จะนำมาสู่การเพิ่มและลดลงของระดับความทุกข์ทางใจ และความพึงพอใจในชีวิตที่แตกต่างกัน โดยคู่ที่ใช้ชีวิตร่วมกัน (Cohabitating) แล้วมีแผนจะแต่งงานกัน แต่กลับเลิกรากันไปก่อน จะปรากฏเส้นการลดระดับความพึงพอใจในชีวิตที่ชันกว่ามากๆ เรียกได้ว่า
ยิ่งวาดแผนการเอาไว้มาก หากจบกันก็ยิ่งเจ็บมากเท่านั้น
เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว ดูเหมือนเรากำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง เราจะรักใครแบบเต็มที่ไม่เผื่อใจ เพื่อความสัมพันธ์แบบมีคุณภาพสูงและยืนยาว แต่ก็เสี่ยงที่จะหักสะบั้นและพาเราหลงทางจนไม่พึงใจในชีวิต? หรือเราจะกั๊กตัวเองไว้ในความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องเติมเต็มใจมากก็ได้ แต่ขอแค่ตอนจบลงไปแล้วไม่เจ็บหนักก็พอ? ความเสี่ยงนั้นมีอยู่จริง จนมากพอที่เราต้องคิดและเลือกก้าวเดินอย่างระมัดระวังอยู่บ่อยครั้ง เพราะแผนการที่ถูกทำลาย สามารถส่งแรงกระเพื่อมสู่ใจของเราได้เช่นกัน
เมื่อชีวิตไม่เป็นไปตามแผนที่วาดไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจของเราคือการสูญเสียความควบคุม ยิ่งเมื่อเป็นสิ่งที่เราควรจะมีอำนาจเหนือมันมากที่สุดอย่างชีวิตของตัวเองแล้ว ผลของมันก็จะยิ่งรุนแรง ความวิตกกังวล ความผิดหวัง ความโมโห ฯลฯ ความรู้สึกแง่ลบเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่เราต้องหาวิธีจัดการ และแย่หน่อยที่การจัดการของเราในบางครั้ง กลับไม่ใช่การพยายามทำให้ชีวิตเข้าที่เข้าทาง แต่คือการกล่าวโทษใครสักคนแทน
ใครสักคนนี่แหละที่เป็นคนผิด
เรามักมองจุดจบของความสัมพันธ์เป็นความล้มเหลว ซึ่งก็เข้าใจได้ถ้าจะมองอย่างนั้น เพราะหากมองอย่างตัดทอนปัจจัยและรายละเอียดอีกร้อยพันในความคิดของคนคนหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ถือเป็นเรื่องดี และจุดจบของสิ่งที่ดีตามตรรกะ ก็ต้องเป็นคู่ตรงข้ามคือสิ่งที่แย่น่ะสิ ดังนั้น สิ่งที่นำไปยังจุดจบเหล่านั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่แย่ไปด้วย และเมื่อมันเป็นสิ่งที่แย่ หรืออะไรบางอย่างล้มเหลว บ่อยครั้งจึงมีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวการในความสัมพันธ์ แต่แล้วจะเป็นอะไรไปได้ ถ้าไม่ใช่ตัวเราหรือเขา?
เราจำเป็นต้องหาวิธีจัดการต่อความรู้สึกแง่ลบที่เกิดจากการเลิกรา ซึ่งก็คือการรับมือ (Cope) ทว่าเราแต่ละคนต่างมีวิธีการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ไม่เหมือนกัน โดยหนึ่งในวิธีที่เราอาจใช้ได้ในกรณีนี้ก็คือ การหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง (Rationalization)
เพราะช่วงเวลาแห่งความว่างโหวงในใจ ย่อมเรียกร้องให้เราหาหลักยืนอยู่เสมอ
ตัวอย่างวิธีการข้างต้น โดยมากมักมาในรูปของการทึกทักสร้างคำอธิบาย เกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดจากตัวเองเอง เช่น เราไม่ต้องไปเลือกตั้งก็ได้ เพราะมีคนโหวตเป็นล้านๆ เสียงแล้ว ขาดเสียงเราไปคนเดียวมันจะเป็นอะไรไป? หรือการไม่รีบแม้จะตื่นสาย เพราะรีบไปยังไงก็ไม่ทันนัดอยู่ดี ฯลฯ ใจความของการกระทำเหล่านี้ ล้วนเป็นการพยายามคงไว้ซึ่งอีโก้ของตัวเองผ่านการใช้เหตุผล และแน่นอนว่าความสัมพันธ์ที่พังลงส่วนใหญ่มักทำร้ายอีโก้ของเรา แต่มันจะทำร้ายเราได้ก็ต่อเมื่อเราเป็นคนผิด ดังนั้น เราจึงเลือกที่จะสะท้อนมันไปที่อีกคนเสียเลย เพื่อป้องกันการถูกทำร้าย
การรับมือรูปแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่เราเรียกว่า การปรับตัวผิด (Maladaptive Coping) ซึ่งต่างจากการรับมือหรือการปรับตัวรูปแบบอื่นๆ ตรงที่มันไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแง่บวกในระยะยาว แต่ใกล้เคียงกับการหนีความจริง หรือการพยายามลดความไม่สบายใจ แล้วสร้างแผลที่ลึกลงไปกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเหล้า เพื่อให้เราไม่ต้องรับรู้โลกอย่างที่มันเป็น การใช้มุกตลกแง่ลบ เพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกภายในอันแตกหัก การนอนหลับหนีปัญหา หรือการเบือนหน้าหนี ฯลฯ
แน่นอนว่า การกล่าวโทษกันแบบนี้ บ่อยครั้งดูจะเป็นการระเบิดความรู้สึกด้านลบของเราให้ออกไปจากตัวเองได้บ้าง แต่ในเชิงการปฏิบัติ เราอาจไม่ได้เดินออกไปไหนจากความรู้สึกเหล่านั้นเลย
เลิกกันอย่างสร้างสรรค์เกิดขึ้นจริงได้จริงไหม?
เป็นเรื่องจริงว่าการเลิกราถือเป็นประสบการณ์ในแง่ลบ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าทุกชิ้นส่วนของทุกประสบการณ์เหล่านั้น จะต้องเป็นด้านลบเสมอไป หากเราเลือกวิธีการรับมือในแง่บวกหลังจากการเลิกรา ชิ้นส่วนด้านบวกจะเผยตัวให้เราได้เห็น และมันอาจทำให้เราเติบโตขึ้นในความสัมพันธ์ได้
ในหัวข้อแรกสุดข้างต้น เราพูดถึงความพึงพอใจในชีวิตที่ไม่ดิ่งเหว หลังจากการจบความสัมพันธ์คุณภาพสูงมาแล้ว ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้น ซึ่งพูดเกี่ยวกับจุดจบของความสัมพันธ์คุณภาพต่ำชื่อ Addition through subtraction: Growth following the dissolution of a low quality relationship โดยแกรี่ ลูวานดาวสกี จูเนียร์ (Gary Lewandowski Jr.) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา จาก Monmouth University เป็นงานวิจัยที่เล็งตามหาผลลัพธ์แง่บวกหลังการจบความสัมพันธ์ที่ไม่น่าพึงใจ
ผลของการวิจัยพบว่า คู่รักที่เดินออกจากความสัมพันธ์คุณภาพต่ำ จะได้เติบโต พัฒนา หรือตามหาตัวตนของตัวเองภายหลังการเลิกรา ซึ่งหากอ่านงานวิจัยนี้คู่ไปกับงานวิจัย Breaking Up is Hard to do: The Impact of Unmarried Relationship Dissolution on Mental Health and Life Satisfaction ในหัวข้อแรก ทั้งหมดนี้สามารถบอกเราได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่เติมเต็มกันที่สุด หรือความสัมพันธ์ที่คนทั้งคู่ไม่เติมเต็มเลย แต่ทั้ง 2 ความสัมพันธ์ล้วนมีแง่มุมบวกให้เราโฟกัส เพื่อรับมือกับการจากลาอย่างไม่เป็นพิษภัยต่อตัวเองและเขาคนนั้น
บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราไม่อาจฉุดรั้งความสัมพันธ์ไว้ได้ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นความผิดของใครในเราทั้งคู่ โลกอาจจะไม่แฟร์ หรือสถานการณ์อาจจะทำให้เป็นเช่นนั้น และแม้ว่าการจบกันจะทำให้เราเจ็บ เศร้า หรือเสียใจราวกับโลกทั้งใบถล่มลงมา แต่ทุกสิ่งก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องลบเสมอไป เพราะสุดท้ายแล้ว เรามักเป็นใครสักคนของอีกคนหนึ่งในความสัมพันธ์ และเขาก็เป็นแบบนั้นให้เราเช่นกัน
เป็นบทเรียน เป็นการเติบโต เป็นสิ่งดีๆ ที่ผ่านมาในชีวิต หรือเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงกันและกันไปตลอดกาล
อ้างอิงจาก