ถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่ในสังคมจะมีกลุ่มคนที่เราถือกันว่าน่าจะต้องเป็นผู้ที่ชี้นำสังคม เป็นผู้ทรงภูมิ ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่ชี้นำคนอื่น เช่น สอนให้รู้จักอดกลั้น ควบคุมความรู้สึก เราเองก็คาดหวังว่าคนที่เป็นแบบอย่างนั้น ก็น่าจะต้องทำสิ่งที่ตัวเองสั่งสอนในฐานะแบบอย่างด้วย ในบางพื้นที่เช่นนักบวชก็จะมีกฏเกณฑ์ควบคุมความบริสุทธิ์นั้นอยู่
ที่กล่าวว่าน่าจะเป็นเรื่องธรรมดานั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมนุษย์เองก็เป็นมนุษย์ สิ่งที่พูดมักจะว่าด้วยอุดมคติ แนวทางที่ต้องควบคุมดูแล สุดท้ายก็เผลอไผล ทำในสิ่งที่ตัวเองสั่งสอนคนอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นบ้านเราก็เรียกว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” ในภาษาอังกฤษก็มีสำนวนว่า ให้ทำในสิ่งที่ตัวเองสอนคนอื่นหรือ “Practice what you preach.” ตรงนี้ก็ดูจะเข้าเค้าความว่า พูดนั้นง่ายกว่าทำ
ประเด็นเรื่องการพูดหรือตำหนิคนอื่น แต่สุดท้ายกลับทำสิ่งเหล่านั้นเอง ส่วนหนึ่งเราอาจจะนิยามว่าเป็นพฤติกรรมของพวกปากว่าตาขยิบ (hypocrite) แต่ทว่าในกระบวนการของจิตใจก็มีวิธีการที่จิตใจหรือ mind ของเรานั้น ทำการรับมือกับลักษณะไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นกับเรา โดยที่จิตใจของเรานั้นจะทำการปฏิเสธและฉายสิ่งที่ไม่พึงปรารถนานั้นไปสู่คนอื่นเป็นกระบวนการที่เรียกว่า ‘projection’
มองเห็นตัวเองในคนอื่น
จิตใจของมนุษย์เป็นเรื่องซับซ้อน หลายครั้งที่เราเองต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เช่นการที่เราอาจจะมีหรือทำในสิ่งที่ผิดกับมาตรฐานที่เราเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าไม่สมควร จิตใจของเราก็มีวิธีการรับมือที่หลากหลาย ในหลายๆ กรณีที่เราเองก็อาจจะเคยเห็นมาบ้าง คือ การที่เกิดกรณีของการโทษกันขึ้นมาเฉยๆ หรือการที่คนคนหนึ่งมีพฤติกรรมตรงข้ามกับสิ่งที่ตัวเองพูด วิพากษ์วิจารณ์ และตัดสินตั้งมาตรฐานอย่างเข้มงวดกับสังคม
กระบวนการที่ฟังดูยอกย้อนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการป้องกันตัวเอง (defensive mechanism) ที่จิตใจของมนุษย์ใช้เพื่อปกป้อง—หรือกึ่งๆ หลอกตัวเอง ด้วยการบอกว่าสิ่งที่ไม่พึงประสงค์นั้นเกิดขึ้นที่อื่น บางครั้งคือเกิดขึ้นกับคู่กรณีหรือคู่ขัดแย้งในทำนองที่ซัดทอดกันซึ่งๆ หน้าว่า เอ้อ ความผิดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรานะที่ผิด แต่เป็นอีกฝ่ายหนึ่งต่างหาก หนึ่งในตัวอย่างคลาสสิกของการซัดทอดมักยกตัวอย่างเป็นเรื่องชู้สาว เช่นการที่ชายที่มีคู่ครองแล้วไปรู้สึกต้องใจกับหญิงอื่น ชายคนนั้นแทนที่จะยอมรับความผิดว่าเกิดความรู้สึกไปเอง ก็อาจจะไปโทษว่าผู้หญิงคนนั้นมีความพึงพอใจแก่ตนและเป็นฝ่ายทอดสะพานมา—คุ้นๆ
ความพิเศษของกระบวนการการซัดทอดนี้ไม่ได้อยู่แค่การที่เราป้ายหรือย้ายความผิดของเราไปสู่คนอื่น แต่ในระดับของจิตใจมันคือการที่จิตใจของเรานำเอาสิ่งที่อยู่ภายใน (internal) ไปฉายให้ปรากฏอยู่ภายนอก (external) แนวคิดเรื่องการฉายความผิด—หรือฉายความรู้สึกนี้—เกิดขึ้นในทฤษฎีของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ โดยด้านหนึ่งเป็นวิธีการที่อัตตา (ego) ของเราพยายามรักษาตัวตนเอาไว้ด้วยการปฏิเสธสิ่งไม่พึงปรารถนาออกไปจากตัวตนของเรา
ความน่าสนใจอีกประการ คือ ในการปฏิเสธคุณลักษณะหรือความรู้สึกในใจแล้วเอาไปป้ายไว้กับสิ่งอื่น เช่น การเป็นชู้ ความคดโกง หรืออะไรก็ตาม การได้วิพากษ์วิจารณ์หรือมองเห็น ขบคิด ก็เป็นอีกวิธีที่นอกจากจิตใจของเราจะฝากสิ่งที่ตัวเรารับไม่ได้แล้ว ยังถือโอกาสให้เราได้สังเกตการณ์และใคร่ครวญกับสิ่งนั้นๆ ไปด้วย
การซัดทอดและปมในใจ
ในด้านหนึ่งการซัดทอดหรือการฉายภาพเป็นกระบวนการทั่วไปของจิตใจ คือพบได้ในชีวิตประจำวันและไม่จำต้องเป็นเรื่องเลวร้ายหรือความผิดพลาดแต่อย่างเดียว เราอาจจะมีการฉายภาพความรู้สึกบางอย่างไปที่คนอื่น กระทั่งตัวละครหรือสรรพสัตว์ ก็เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจความรู้สึกอันซับซ้อนของตัวเราเอง
แต่ก็จะมีบางกรณีที่การซัดทอดหรือฉายความรู้สึกเชิงลบนั้น กลายเป็นภาวะหลอกตัวเอง ในกรณีที่มีการซัดทอดจนดูจะเป็นปัญหาก็อาจจะสัมพันธ์กับปมในใจบางอย่าง นักจิตวิทยามักจะโยงไปที่การมีความเคารพตัวเองต่ำ หรือบ้างก็มีการกลบเกลื่อนปมของตัวเองไว้ การฉายภาพนั้นไปสัมพันธ์ในหลายระดับ ตั้งแต่ความขัดแย้งส่วนบุคคล เช่น ตีกันแล้วบอกอีกฝ่ายทำ หรือบอกว่าคนอื่นก็ทำ ไปจนถึงระดับสังคม
กรณีความขัดแย้งในระดับสังคมที่ค่อนข้างชัดเจนและเกี่ยวข้องกับการซัดทอดก็เช่นการต่อต้านคนรักเพศเดียวกันหรือ homophobic ที่ระยะหลังเรามักจะเห็นข่าวว่า คนที่เคยเป็นพวกเกลียดหรือต่อต้านมาก่อน สุดท้ายกลับเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน
อันที่จริงการซัดทอดหรือการฉายตัวตนหรือความกังวลไปที่คนอื่นมีมิติที่ค่อนข้างซับซ้อน บางส่วนก็เกี่ยวข้องกับการปากว่าตาขยิบ เช่น การเม้าท์คนอื่น ด้านหนึ่งในการเม้าท์นั้นก็เป็นการถือว่าตัวเองมีคุณธรรมหรือมีมาตรฐานสูงกว่า แต่ความย้อนแย้ง คือ ลึกๆ แล้วเราเองก็อาจจะกลบเกลื่อนความกังวลแบบเดียวกับที่เรากำลังเม้าท์อยู่เอาไว้
ตรงนี้เองในทางจิตวิทยาก็อาจจะสะท้อนปัญหาของจิตใจของคนคนนั้น ในการต้องการทำให้ตัวเองรู้สึกดีด้วยการยกตนเหนือกว่าคนอื่น ไมเคิล เบิร์สตีน (Michael Brustein) นักจิตวิทยาอธิบายไว้กับ healthline.com ว่าคือปมที่จริงๆ แล้วคนคนนั้นรู้สึกว่าต่ำต้อยกว่าคนอื่นและมีการเคารพตัวเองต่ำ ปัญหาคือถ้าเรากำลังฉายภาพปัญหาของเราไปไว้ที่คนอื่น โดยไม่ได้กลับมาทบทวนและเติบโตขึ้นจากปัญหานั้น หรือก็คือก้าวให้พ้นจากการหลอกตัวเอง สุดท้ายการฉายปัญหาที่สัมพันธ์กับความขัดแย้งจริงๆ และการยอมรับปัญหาของตัวเราเองก็เลยเป็นก้าวที่ยาก แต่ก็เป็นก้าวสำคัญไปสู่การคลี่คลายปัญหาในลำดับต่อไป
การโทษคนอื่น หรือการสร้างเงาของตัวเองขึ้นและฉายทับเงานั้นไปที่ภายนอกของเราจึงเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์และการทำงานของจิตใจที่น่าสนใจ เกิดขึ้นได้ทั้งที่เราเองรู้ตัวและไม่รู้ตัว ในระดับทั่วไปก็อาจจะเป็นข้อสังเกตเล็กๆ ที่เราเองอาจจะใช้สังเกตความรู้สึกหรือความนึกคิดที่เราอาจกำลังฉายเรื่องซับซ้อนในใจของเราไปไว้ที่คนอื่นเพื่อสะท้อนกลับมาที่ตัวเราอีกทอดหนึ่ง
แต่นอกจากเรื่องความยอกย้อนและการทำงานของจิตใจแล้ว ก็ต้องแยกให้ออกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเช่นการซัดทอด การไม่ยอมรับ การหลอกลวงที่ไม่ใช่แค่หลอกตัวเอง แต่หลอกชาวบ้านแล้วกลบเกลื่อนไม่มิด อันนั้นก็อาจจะเป็นความเฮงซวยรูปแบบหนึ่งเฉยๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart