เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วย ‘มาตรฐาน’ โดยเฉพาะมาตรฐานทางศีลธรรม ทำไมเธอไม่ทำแบบนี้ล่ะ ทำไมเธอไม่ทำแบบนั้นล่ะ ทำไมเธอเอาเงินไปใช้ฟุ่มเฟือยไม่เอาไปบริจาค ทำไมไม่เลิกเหล้าเลิกบุหรี่ ทำไมเธอไม่เป็นคนดี ทำไมเธอไม่อยู่ในศีลในธรรม
แต่สุดท้ายหลายแล้วก็มักจะ อ้าว! พอเจอคนที่สอนเรื่องนู้นเรื่องนี้คนอื่นแต่สุดท้ายตัวเองก็ไม่ยักกะทำได้เหมือนที่สอนคนอื่นเลย กับคนพวกนี้เราก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย! แกมันคน ‘ปากว่าตาขยิบ’ ไม่เห็นจะทำในสิ่งที่ตัวเองสั่งสอนชาวบ้านแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Practice what you preach ได้เลย
ประเด็นเรื่องบอกคนอื่นได้แล้วทำไม่ได้ หรือสุดท้ายถ้าเราสอนอะไรแล้วคนสอนต้องปฏิบัติสิ่งนั้นด้วยไหม ซึ่งจริงๆ ไอ้การสอนได้ทำไม่ได้มันก็มีความซับซ้อนในตัวเองและเป็นประเด็นทางศีลธรรมในการดำเนินชีวิตพอสมควร เช่น เรามักมีกรณีแบบพ่อยังสูบบุหรี่บอกลูกว่าไม่ควรสูบบุหรี่นะ แบบนี้พ่อจะมีสิทธิสอนลูกไหม เพราะตัวเองก็ยังเลิกบุหรี่ไม่ได้ และในทางกลับกันโทษของบุหรี่ที่พ่ออยากให้ลูกงดสูบมันก็เป็นเรื่องจริง ต่อให้คนพูดทำได้หรือไม่ได้ สิ่งที่คนคนนั้นบอกมันก็เป็นเรื่องจริงนี่นา แล้วแบบนี้ตกลงว่าการสอนคนอื่นจำเป็นมั้ยที่คนสอนต้องทำสิ่งนั้นด้วย
สอนได้…ทำไม่ได้? แต่เจตนาดีและสิ่งที่สอนก็ดีจริงๆ นะ
คำว่า ‘ปากว่าตาขยิบ’ ฟังยังไงมันก็ดูแย่ เพราะปากว่าอย่าง ตาก็ส่งสัญญาณว่าจะทำอีกอย่าง แต่โลกนี้ มนุษย์เรามักจะมองเห็นมาตรฐานบางอย่างที่มันเป็นอุดมคติกว่าที่ตัวเองทำได้เสมอ ดังนั้นคำว่าทำให้ได้แบบที่ตัวเองสอนคนอื่น บางทีก็เลยเป็นเรื่องที่ยากและในทางกลับกันสิ่งที่ตัวเองสอนมันก็เป็นเรื่องถูกต้อง ในทำนองเรื่องสูบบุหรี่หรืออื่นๆ ที่เออ เราก็รู้แหละว่าเรื่องนี้ อยากให้คนอื่นทำ ถึงแม้ว่าเราเองก็ทำไม่ได้เหมือนกัน เจตนาดีนี่นา
ในอาการ ‘ปากว่าตาขยิบ (Hypocrisy)’ เลยมีความซับซ้อนในตัวเองพอสมควร เพราะในระดับทั่วๆ ไป เราก็มีหลายเรื่องที่เรารู้ว่าอะไรดีไม่ดี แต่เราเองก็ทำไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นถ้าเรามองด้วยมุมมองของการใช้เหตุผลมากๆ แบบว่า
โอเคถ้าเราตัดเรื่องคนพูดออกจากสมการแล้วฟังแต่สิ่งที่คนๆ นั้นพูดไปเลย สรุปว่าตกลงแล้วคนที่สอนอะไรก็ตามต้องทำสิ่งที่ตัวเองสอนด้วยไหม ในเมื่อ สิ่งที่คนๆ นั้นสอนนั้น ถูกต้องและเป็นประโยชน์
โลกมันไม่อุดมคติขนาดนั้นเนอะ ถ้าเอาคนที่มือเปื้อนเลือดมากๆ มาสอนเรื่องเมตตาธรรม ต่อคำสอนนั้นถูกต้องแม่นยำ เป็นเหตุเป็นผลแค่ไหน สุดท้ายเราก็ไม่น่าจะยอมรับคำสอนหรือความคิดนั้นลงไปไหว ในอีกด้านถ้าเรามองว่าทุกคำสอนย่อมต้องมี ‘ภาคปฏิบัติ’ ของตัวเอง ถ้าจะเที่ยวสอนชาวบ้านลอยๆ โดยที่ไม่เคยเผชิญหรือทำอะไรที่ตัวเองกำลังสอน เราจะรู้ได้ไงว่ามันจริง มันดี มันมีปัญหาตรงไหนบ้าง เพราะในโลกนี้ ‘ความคิด’ หรือ ‘แนวทางการปฏิบัติ’ ในระดับที่สำเร็จรูป มีความเป็นเป็นสัจนิรันดร์ชนิดที่ว่าเอาความคิดพวกนั้นมาพูดซ้ำๆ ก็เหมือนได้เห็นสัจธรรมบนโลกแล้ว ก็คงไม่น่ามีมั้ง
ดังนั้นกรณีแบบพ่อติดบุหรี่แล้วห้ามลูกสูบด้วยก็อาจจะเป็นอาการกลับหัวกลับหางนิดหน่อย คือพ่อเองก็รู้ว่าการสูบบุหรี่มันไม่ดีจริงๆ และไม่อยากให้ลูกเป็นแบบที่ตัวเองเป็น แบบนี้ก็ถือว่าพ่อเองก็ปฏิบัติสิ่งที่ตัวเองสอนนะ แต่เป็นในทางตรงกันข้าม
แต่ว่าเราก็อาจยังอาจนับพฤติกรรมของคนเป็นพ่อว่าอยู่ในข่ายปากว่าตาขยิบได้อยู่ดี และปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าคำสอนนั้นจริงไม่จริง หรือคำพูดนั้นมีเจตนาดีต่อเราหรือต่อโลกแค่ไหน
แต่ปัญหาของความปากว่าตาขยิบอยู่ที่ ‘มุมมองของเรา’ ที่มีต่อคนคนนั้น ในแง่ของลักษณะนิสัยและศักยภาพที่เราคาดหวังจากคนที่มีพฤติกรรมปากว่าตาขยิบมากกว่า
ปัญหาของความปากว่าตาขยิบที่อยู่บนพื้นฐานของความหลอกลวง
มนุษย์เรามักวาดมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เป็นอุดมคติกว่าที่ตัวเองทำได้จริงเสมอ เราอยากประหยัดอดออม อยากเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อยากมีวิถีชีวิตที่แข็งแรง แต่สุดท้ายเราก็มักจะทำไม่ได้คุณภาพตามที่วาดฝันไว้ ดังนั้นถึงสิ่งที่เราวาดและเที่ยวไปบอกคนอื่นให้ทำมันจะจริง ปัญหาเลยไปตกอยู่ที่ตัวคนพูดเองที่สุดท้ายกลับทำไม่ได้ ทำให้ถูกย้อนตัดสินว่า อ้าวแกก็มีมาตรฐานที่ดี ที่มีอุดมคตินี่นา แต่สุดท้ายก็อ่อนแอ ไม่เห็นมีเจตนารมณ์ที่แข็งแรงพอจะทำได้อย่างที่ปากว่าเลย
แต่ดูเหมือนว่าความปากว่าตาขยิบจะมีหลายมิติ นักวิจัยทำการศึกษาสำรวจทางจิตวิทยาเพื่อหาคำตอบว่าทำไมเราถึงเกลียดพวกปากว่าตาขยิบนักและพบว่า เราไม่ได้รู้สึกว่า โอเคคนนั้นมันสอนได้แต่ทำไม่ได้เพราะมันอ่อนแอ แต่เรารู้สึกว่าคนที่สอนและด่าชาวบ้าน ‘ที่ทำให้เรารู้สึกว่าคนนั้นทำอย่างที่ตัวเองพูด-แล้วทำไม่ได้’ มันคือการทำให้เราเข้าใจผิดว่าคนๆ นั้นเป็นคนที่ดี (อย่างที่ตัวเองไปสอนคนอื่นก็มีนัยว่าฉันทำแล้ว เธอทำด้วยสิ) สุดท้ายพอเรารู้ว่า อ้าวมึงก็ไม่ได้เป็นคนดีอย่างที่มึงบอกให้คนอื่นทำ แบบนี้มันหลอกกันนี่หว่า ในความปากว่าตาขยิบมันเลยมีการสร้างภาพและหลอกลวงเราประกอบอยู่ด้วย
ไอ้การรับรู้ว่าคนปากว่าตาขยิบนั้นกำลังหลอกลวงสร้างภาพตรงนี้แหละที่ทำให้เราเกลียดพวกปากว่าตาขยิบนัก
ในการทดลองคณะนักวิจัยจาก Yale University ทำการสำรวจและแยกแยะว่า เนี่ยมันจะมีพวกที่ปากว่าตาขยิบแล้วทำเหมือนกับว่าตัวเองก็ทำได้เหมือนที่ตัวเองวิจารณ์คนอื่น กับอีกประเภทที่บอกว่า เออ ก็รู้แหละว่าเรื่องนี้มันไม่ดีแล้วยอมรับตรงๆ ว่า บางทีก็รู้นะว่ามันไม่ดี แต่เออเราก็ทำว่ะ นักวิจัยบอกว่า คนจะไม่ว่าอะไรพวกที่มีพฤติกรรมปากว่าตาขยิบแบบที่ทำไม่ได้แล้วยอมรับ ผลสรุปคือการที่เราเกลียดๆ พวกปากว่าตาขยิบเนี่ย คืออยู่ที่สัญญาณที่เหมือนจะหลอกเราว่าแกทำได้นะ แต่กลับทำไม่ได้ ทำให้เราสูญเสียความเชื่อมั่นไป เพราะรับรู้ว่าคนนั้นๆ กำลังหลอกเราอยู่ (ว่าเป็นคนดี เป็นคนมีคุณภาพ อะไรทำนองนั้น)
สุดท้ายแล้วก็คล้ายว่า การที่เราหรือใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์หรือสอนอะไร สุดท้ายคนฟังก็คงพอจะจับสังเกตได้ว่าคนคนนั้นสอนหรือวิจารณ์เพื่อผลประโยชน์ของคนอื่น หรือเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง-เพื่อแค่ให้ตัวเองดูสูงส่งขึ้น ยิ่งถ้าพูดเพื่อให้ตัวเองดูดี แถมยัง ‘ความปากว่าตาขยิบ’ คือพูดอย่างทำอีกอย่าง ยิ่งทำให้เรารู้ถึงความโป้ปดและหมดศรัทธากันไปตามๆ กัน