อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น …ว่ามะ?
ยินดีต้อนรับสู่โลกแห่งความลี้ลับ โลกที่วันดีคืนดี อดีตแนวร่วม กปปส. อย่าง สุกัญญา มิเกล ประกาศสนับสนุนม็อบเยาวชนและสมัครสมาชิกพรรคก้าวไกลตลอดชีพ ส่วนคู่ขัดแย้งอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล ก็ไม่น้อยหน้า ประกาศชัดหลังเลือกตั้งว่า ‘โอเค’ ที่ทักษิณกลับบ้าน หากไม่แก้ ม.112 และเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่ 2 บุคคลสาธารณะข้างต้นที่แสดงท่าทีโยกย้ายมาสนับสนุนก้าวไกล–เพื่อไทย หากลองนึกดีๆ คุณคงมีน้องพี่อนุรักษนิยมใกล้ตัว หรืออาจจะเพื่อนร่วมโลกอินเทอร์เน็ต ที่แสดงท่าทีสลับมาเชียร์ 2 พรรคใหญ่เช่นกัน
ปรากฎการณ์อนุรักษนิยมย้ายค่าย อกหัก กลับใจ หรืออะไรก็ตามแต่ที่คุณอยากนิยาม น่าจะเป็นปรากฎการณ์ชวนงงที่ทำให้ใครหลายคนเกาหัวแกร่กๆ ไม่ต่างกัน
เพื่อเข้าใจสิ่งนี้ The MATTER ขอคำอธิบายจาก กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเหตุผลที่อนุรักษนิยม (not all) แสดงท่าทีสนับสนุน 2 พรรคที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ แทนพรรคเดิมที่เคยสนับสนุน
เข้าใจอนุรักษนิยมไทย
หากอยากเข้าใจการสวิตช์สลับฝั่งของกลุ่มอนุรักษนิยม การทำความเข้าใจตัวตนและวิธีคิดก่อน อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
เช่น ทำความเข้าใจว่า อนุรักษนิยมไม่ได้มอง ‘อุดมการณ์’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเลือกสนับสนุนพรรคการเมือง ค้านกับสิ่งที่ใครหลายคนอาจสงสัยว่า เฮ้ย อุดมการณ์ก็ไม่เหมือนกัน ไปจับมือกันได้ไง
“สำหรับอนุรักษนิยม อุดมการณ์ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในการมีส่วนร่วมหรือมีปฏิบัติการทางการเมือง ไม่ใช่องค์ประกอบพื้นฐานในการคำนวณและเลือกว่าจะสนับสนุนฝ่ายใด แต่การเมืองคือการต่อสู้เชิงผลประโยชน์” กนกรัตน์อธิบาย
นี่อาจตอบคำถามได้ว่า ทำไมหนึ่งในตำราที่อนุรักษนิยมชื่นชอบจึงเป็น ‘สามก๊ก’ วรรณกรรมจีนที่เล่าเรื่องการสลับขั้วย้ายข้างและชิงไหวพริบทางการเมือง
ภายในกลุ่มของอนุรักษนิยมเองก็มีความแตกต่างหลากหลายเช่นกัน อาจารย์จากรัฐศาสตร์แบ่งประเภทอนุรักษนิยมในไทยคร่าวๆ เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- อนุรักษนิยมชนชั้นนำ : เป็นกลุ่มอนุรักษนิยมที่อยากรักษาอำนาจทางการเมืองที่ผูกขาดมายาวนานผ่านสถาบันที่เป็นจารีต เช่น ชาติ ศาสนา สถาบันกษัตริย์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีอำนาจมายาวนาน
- มวลชนอนุรักษนิยมสุดขั้ว : เป็นกลุ่มที่มักอิงกับความเป็นสถาบันกษัตริย์นิยม ศาสนานิยม และชาตินิยมสุดขั้ว มีอำนาจมากในช่วงทศวรรษ 2510 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเผด็จการระดมคนกลุ่มนี้ผ่านการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้าน, นวพล, กระทิงแดง เพื่อตอบโต้ขบวนการฝ่ายซ้ายในยุคนั้น
- ฝ่ายซ้ายอนุรักษนิยม : เป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายคนเดือนตุลาฯ ในช่วงทศวรรษ 2510 ที่แม้ต่อต้านเผด็จการทหาร แต่มีองค์ประกอบของอนุรักษนิยมเยอะ เช่น ชาตินิยม, ต่อต้านตะวันตก, ต่อต้านประชาธิปไตยที่มองว่าเป็นเครื่องมือโลกตะวันตก, เป็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ, เชื่อในศีลธรรม (ปัจจุบันกลายเป็นภาคประชาชน–ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม)
- อนุรักษนิยมแบบอ่อน : เป็นกลุ่มที่เติบโตท่ามกลางการต่อสู้กันระหว่างระบอบเผด็จการทหารราชการเป็นใหญ่ และระบอบประชาธิปไตยที่มีแต่นักการเมืองท้องถิ่น–คอร์รัปชั่น จึงไม่อยากได้เผด็จการทหารแต่ก็ไม่ไว้ใจนักการเมืองและกลัวอำนาจประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็ชอบอะไรที่มีประสิทธิภาพ มีแนวคิดเสรีนิยมทางสังคมเศรษฐกิจ และสนับสนุนความเท่าเทียมบางมิติ เช่น สิทธิ LGBTQ+ ..ถูกนิยามว่าเป็นกลุ่ม ‘ย้อนแยง’ ที่มีความอนุรักษนิยม แต่ก็ชอบบางองค์ประกอบของเสรีนิยม
อนุรักษนิยมจึงไม่ใช่กลุ่มก้อนเนื้อเดียวที่เหมือนกันทั้งหมดอย่างที่ใครอาจเข้าใจ
ขณะที่การมีปฏิสัมพันธ์และสลับข้ามขั้วในกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ กนกรัตน์อธิบายว่า ในทศวรรษ 2510-2520 ‘ชนชั้นนำอนุรักษนิยม’ เคยร่วมกับ ‘มวลชนอนุรักษนิยมสุดขั้ว’ เพื่อต่อต้าน ‘อนุรักษนิยมฝ่ายซ้าย’ มาก่อน
ต่อมาในยุคทักษิณที่ระบอบเลือกตั้งเข้มแข็งจนอนุรักษนิยมต่อรองแทบไม่ได้ อนุรักษนิยมทั้ง 4 กลุ่มก็สวิตช์มาร่วมกันผนึกกำลังต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น
ทำไมอนุรักษนิยมย้ายซบก้าวไกล?
“ก้าวไกลสร้างความหวังให้ประชาชน เลยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่อนุรักษนิยมบางส่วน หรือ ‘สลิ่มกลับใจ’ ที่เบื่อรัฐประหารมาก เขาก็เลือก” คือข้อความที่ ใบตองแห้ง—อธึกกิต แสวงสุข เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
ศิลปินอย่างสุกัญญา มิเกล และเจนนิเฟอร์ คิ้ม ผู้เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย (กปปส.) ก็ย้ายค่ายมาสนับสนุนก้าวไกลในการเลือกตั้ง ’66 ที่ผ่านมา สอดคล้องกับที่กนกรัตน์อธิบายว่า มีอนุรักษนิยมหันมาสนับสนุนก้าวไกลจริง
และที่ชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งได้ กนกรัตน์มองว่าเพราะมีอนุรักษนิยมอ่อนๆ เป็นฐานมวลชนขนาดใหญ่นี่แหละ
การสลับซบก้าวไกลเกิดขึ้นหลังจากที่อนุรักษนิยมผนึกกำลังต้านทักษิณจนได้รัฐประหารและรัฐบาลประยุทธ์เป็นรางวัล แต่เมื่อผ่านพ้นไป 9 ปีกลับทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมแบบอ่อนเริ่มไม่พอใจ เพราะบ้านเมืองบริหารด้วยระบอบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ และอนุรักษนิยมชนชั้นนำเริ่มหมดความชอบธรรมในการเป็น ‘คนดี’
“ความชอบธรรมแบบความเป็น ‘คนดี’ ท่ามกลางการบริหาร 9 ปี ของกลุ่มอนุรักษนิยมชนชั้นนำและระบบราชการมันหายไปหมดแล้ว ขณะที่ก้าวไกลมีองค์ประกอบของความเป็นคนดี มีความเป็นระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ จึงเห็นเลยว่ากลุ่มคน โดยเฉพาะอนุรักษนิยมอ่อนๆ หันมาสนับสนุนก้าวไกล”
“การทำงานของก้าวไกลและการก้าวเป็นผู้นำของ ‘พิธา’ มีองค์ประกอบจำนวนมากที่อนุรักษนิยมอ่อนๆ ชอบ คือ มีการศึกษา เป็นชนชั้นกลางค่อนสูง (upper middle class) อันเป็นองค์ประกอบประชาธิปัตย์ในอดีต และเป็นพรรคที่มีองค์ประกอบของศีลธรรมสูง มีความเป็นคนดี ซึ่งในอดีตภาพความเป็นคนดีมันอยู่ในชนชั้นนำอนุรักษนิยม อนุรักษนิยมสุดขั้ว และฝ่ายซ้ายอนุรักษนิยม” กนกรัตน์ กล่าว
ภาพคนดีของก้าวไกลปรากฎผ่านการทำงาน 4 ปีที่ผ่านมาในฐานะฝ่ายค้าน และถูกแคมเปญผ่านนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นต่างๆ เช่น นโยบาย ‘รัฐโปร่งใส ไร้กลโกง’ ที่มุ่งตรวจสอบการโกงของภาครัฐ เป็นต้น
นอกจากนี้ นักวิชาการรัฐศาสตร์อธิบายสาเหตุที่อนุรักษนิยมบางส่วนมีท่าทีสนับสนุนก้าวไกลไว้หลายประเด็น เช่น
- อนุรักษนิยมเชื่อแล้วว่าก้าวไกลคือคนละกลุ่มกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
- ก้าวไกลดูมีประสิทธิภาพในการทำงานกว่าอนุรักษนิยมชนชั้นนำและระบอบราชการเดิม
- ก้าวไกลมีโอกาสเป็นพลัง–เครื่องมือต่อสู้ที่ชนะกลุ่มทักษิณ และชนะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ฉ้อฉล
- ก้าวไกลมีองค์ประกอบที่มีศีลธรรม ความดีงาม ความเป็นคนดี ขณะที่อนุรักษนิยมชนชั้นนำไม่เหลือองค์ประกอบเหล่านี้แล้ว
- พรรคอื่นๆ กลายเป็นพรรคอนุรักษนิยมที่ขาดประสิทธิภาพ เช่น ประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคที่ถูกครอบงำโดยนักการเมืองท้องถิ่น ไม่ชอบธรรมจากการร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ เป็นต้น
แต่เมื่อถามว่า ก้าวไกลกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของอนุรักษนิยมบางส่วนใช่มั้ย กนกรัตน์หัวเราะ ก่อนจะตอบว่า “best choice because they have no choice” หรือที่แปลว่า ก้าวไกลไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วต่างหาก!
“ต้องยอมรับว่า ก้าวไกลไม่ใช่ที่ทางของคนพวกนี้ มันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่สุดท้ายพวกเขา [อนุรักษนิยม] จะไม่แฮปปี้กับก้าวไกล เช่น ม.112 การพูดถึงความเท่าเทียมทางสังคมที่ไกลเกินกว่าผู้ใหญ่อนุรักษนิยมอ่อนๆ จะรับได้ หรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจนำประเทศสู่ความขัดแย้งมากกว่านี้” กนกรัตน์ กล่าว
แล้วเพื่อไทยละ? ทำไมอนุรักษนิยมมีท่าทีเอนเอียงมาสนับสนุนเพื่อไทย
ในทางตรงกันข้าม เราอาจไม่ได้เห็นการสลับค่ายย้ายขั้วจากฝั่งอนุรักษนิยมมาร่วมแลนด์สไลด์เท่าไหร่นัก แต่หลัง กกต. ประกาศผลเลือกตั้ง ’66 สู่การจัดตั้งรัฐบาล จะเห็นได้ว่าท่าทีอนุรักษนิยมบางส่วนเปลี่ยนไป
เปลี่ยนไปอย่างไร? บางคนแสดงท่าทีสนับสนุนเพื่อไทยให้ตั้ง ‘รัฐบาลสมานฉันท์’ ร่วมกับฝ่ายบริหารเดิม บางคนแสดงออกว่าไม่เป็นไรหากทักษิณกลับบ้าน เช่น สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนพันธมิตรฯ ประกาศว่าโอเคที่ทักษิณกลับมา ถ้ารับโทษและจงรักภักดีต่อสถาบัน หรือกลุ่มนักเรียนดีที่ประกาศว่าความขัดแย้งเหลือง–แดงถึงจุดสิ้นสุดแล้ว (ในวันที่เพื่อไทยเริ่มเจรจากับพรรครัฐบาลเดิม)
ซึ่งสันติสุข มะโรงศรี ผู้ประกาศข่าวจากท็อปนิวส์เคยอธิบายว่า “สลิ่มไม่ได้เปลี่ยนมาชอบเพื่อไทย แต่เขาแค่ยอมรับผลการเลือกตั้ง”
ที่ชัดเจนมาก คือ ท่าทีของพลังประชารัฐที่อ้างว่า 40 เสียงที่มีอยู่จะโหวตหนุนแคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย ทั้งที่พลังประชารัฐมีต้นกำเนิดเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐบาลรัฐประหารที่ยึดอำนาจจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ สังกัดเพื่อไทย และมีคณะกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของ กปปส.
อาการแบบนี้สอดคล้องกับที่กนกรัตน์ระบุว่า มีอนุรักษนิยมชนชั้นนำและมวลชนอนุรักษนิยมสุดขั้วสลับมาสนับสนุนเพื่อไทย เพราะการเติบโตขึ้นของก้าวไกลและม็อบคนรุ่นใหม่คือภัยคุกคามมากกว่าเพื่อไทย
ที่เป็นภัยคุกคามมากกว่า นักวิชาการรัฐศาสตร์อธิบายว่าเพราะก้าวไกลและมวลชนผู้สนับสนุนแย่งชิงความชอบธรรมไปจากกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษนิยม และเพราะมวลชนก้าวไกล คือ การรวมกันของมวลชนเสื้อแดง มวลชนอนุรักษนิยมแบบอ่อน และมวลชนคนรุ่นใหม่ แตกต่างจากมวลชนเสื้อแดงยุคเพื่อไทยที่มีสถานะเพียงชนชั้นกลางระดับล่างภายใต้สังคมที่ไม่ให้ค่าคนจน
“ในแง่มวลชนพื้นฐานก้าวไกลน่ากลัวกว่าเพื่อไทยมาก มวลชนอนุรักษนิยมอ่อนๆ และคนรุ่นใหม่จัดการยากมาก เพราะคนพวกนี้มีความชอบธรรมและมีเสียงในสังคม คือลูกหลานชนชั้นกลาง” กนกรัตน์ กล่าว
ข้อเรียกร้องของก้าวไกลและมวลชนมีลักษณะท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในทุกมิติ เช่น ทลายทุนผูกขาด หยุดอำนาจกองทัพ ต่อต้านระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องซึ่งไปไกลกว่าที่เพื่อไทยเคยเรียกร้อง
และเหตุผลสำคัญที่อนุรักษนิยมบางส่วนมีท่าทีสนับสนุนเพื่อไทย เพราะเพื่อไทยเป็นพันธมิตรหนึ่งเดียวที่ดูมีโอกาสสู้ก้าวไกลในการเลือกตั้งได้
ส่วนเพื่อไทย หากหันไปจับมือกับพรรคอนุรักษนิยมชนชั้นนำ กนกรัตน์ให้เหตุผลว่าเพราะเพื่อไทยยอมรับความพ่ายแพ้ต่อชนชั้นนำอนุรักษนิยมและอนุรักษนิยมสุดขั้วแล้ว และเชื่อว่ามวลชนเสื้อแดงไม่สามารถทำให้ชนะคนเหล่านี้ได้
“ชนชั้นนำอนุรักษนิยมมีเครื่องมือทางกฎหมายครบมือ ยากมากที่เพื่อไทยจะเอาชนะเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นนำอนุรักษนิยมเหล่านี้ได้ เขาสู้มา 20 ปีแล้ว จึงมีแนวโน้มที่เขาจะรู้ว่าทางรอดเดียวของเพื่อไทย คือ การหันไปจับมือกับอนุรักษนิยมสุดขั้ว และระดมการสนับสนุนจากมวลชนอนุรักษนิยมสุดขั้วที่ชนะการต่อสู้มาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่อนุรักษนิยมโยกย้ายสู่ฐานที่มั่นใหม่ ในประเทศที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เชื่อว่าเราคงมีโอกาสเห็นอะไรที่ ‘ไม่เคยเห็น’ ได้อีกมหาศาล