ความไม่สบายใจมันสุมอยู่ในอก ความพะว้าพะวังมันแน่นอยู่ในใจ รู้สึกบาปหนัก ปรับตัวไม่ได้กับศาสนาที่นับถือ หรือรู้สึกเหมือนมี ‘บางสิ่ง’ มาคอยตาม ปัญหาเหล่านี้จะหายไปมั้ย ถ้าเราเปลี่ยนศาสนา?
ไม่นานมานี้ วิธีการแก้ปัญหาทางใจอย่างหนึ่งที่ถูกแนะนำในโลกออนไลน์คือ ‘การเปลี่ยนศาสนา’ มีงานวิจัยหลายชิ้นพูดถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างเปลี่ยนไปนับถือศาสนาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าไม่ถึง ปรับตัวกับศาสนาที่นับถืออยู่ไม่ได้ ความรู้สึกไม่สบายใจ หรือเรื่องบาปบุญคุณโทษ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเข้าใจได้ เพราะมนุษย์แต่ละคนก็มีความเชื่อ ความศรัทธาแตกต่างกันไป
ทว่าบางเหตุผลก็ชวนให้เรารู้สึกว่า ความเชื่อปรับตัวเข้ากับโลกปัจจุบันได้ขนาดนี้เลยเหรอ? นั่นก็คือการเปลี่ยนศาสนา เพราะอยากหนีจากสิ่งเหนือธรรมชาติ หรืออยากรีเซ็ตบาปที่เคยทำ เหมือนกดเริ่มเกมใหม่แล้วย้ายเซิร์ฟหนีอดีตอะไรอย่างนั้น
แล้วการเปลี่ยนศาสนาช่วยรีเซ็ตบาปได้จริงๆ เหรอ? The MATTER ขอชวนพูดคุยกับ รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์จากสาขาวิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ไปพร้อมกัน!
เมื่อพุทธเชื่อว่าบาปเป็นผลจากการทำไม่ดี แล้วศาสนาอื่นมองบาปยังไง?
ก่อนที่จะพูดถึงการเปลี่ยนศาสนา เราอาจต้องทำความเข้าใจกับ ‘บาป’ ที่เป็นเหตุของความไม่สบายใจจนหลายๆ คนเลือกจะเปลี่ยนศาสนากันก่อน
จริงๆ แล้วการกระทำที่เป็นบาปของแต่ละศาสนามีความคล้ายกันกว่าที่เราคิด เพราะบางอย่างที่เรารู้ได้ด้วยจิตสำนึกว่าไม่ดีอย่างการฆ่า ขโมย ข่มขืน ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่หลายศาสนาบัญญัติว่าเป็นบาป เหมือนเป็น common law เป็นจริยธรรมสากล แต่ความเชื่อเรื่องบาปบางเรื่องในแต่ละศาสนาก็แตกต่างกันไป เช่น ศาสนาตระกูลอับราฮัมอย่างยูดาห์ คริสต์ และอิสลาม ซึ่งเชื่อเรื่องบาปกำเนิดที่ติดตัวมา
ทั้งนี้ความเข้าใจเรื่องบาปยังแตกต่างกันไปตามแต่ละวัฒนธรรมด้วย เช่น การไม่กินเนื้อวัวในกลุ่มผู้นับถือเจ้าแม่กวนอิม โดยอาจารย์ดนัยกล่าวว่า ความเชื่อเรื่องการกินเนื้อวัวแล้วเป็นบาปนั้นไม่ได้มีในทุกพื้นที่ที่นับถือ ผู้นับถือในจีนก็กินเนื้อวัวตามปกติ แต่ในไทย ความเชื่อนี้มาจากอิทธิพลของ ทีวีซีรีส์เรื่องกำเนิดเจ้าแม่กวนอิม จากช่อง TVB ฮ่องกง ในปี พ.ศ.2528 เช่นเดียวกับบทความวิชาการเรื่อง พระโพธิสัตว์กวนอิมกับความเชื่อเรื่องการรับประทานเนื้อวัว ในมุมมองวิถีปฏิบัติแบบจีนในพุทธศาสนามหายานและศาสนาเต๋า ที่ระบุว่า การไม่รับประทานเนื้อวัวของผู้นับถือเจ้าแม่กวนอิมเกิดจากปัจจัยอื่นๆ รวมถึงทีวีซีรีส์เรื่องดังกล่าวเช่นกัน และไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางพุทธมหายานแต่อย่างใด
อาจารย์ดนัยยังกล่าวต่อว่า ความเชื่อเรื่องการล้างบาปเมื่อเข้ามานับถือศาสนาใหม่เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว เช่น พิธีบัพติศมาหรือศีลล้างบาปในศาสนาคริสต์ หรือการล้างบาปในแม่น้ำคงคาของคนฮินดู นอกจากนี้แนวคิดดังกล่าวยังมีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ลัทธิอนุตตรธรรมในไต้หวัน ในอีกแง่หนึ่ง การล้างบาปจึงเป็นเหมือนหนึ่งในวิธีเรียกศรัทธาสาธุชนให้มานับถือศาสนาของตนมากขึ้น
“แนวคิดที่ว่าเปลี่ยนศาสนาแล้วบาปกรรมมันยกยอดทิ้งไปเลยมั้ยเนี่ย
จริงๆ ศาสนาใหญ่ก็มีความเชื่อแบบนี้ เช่นศาสนาเทวนิยมทั้งหลาย…
เพราะฉะนั้นแนวคิดแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นใหม่”
ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ
อาจารย์ดนัยยังกล่าวอีกว่า ถึงแม้จะมีแนวคิดการล้างบาปเมื่อเราเข้ารับศาสนาใหม่ แต่ก็ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งมองกว่าการล้างบาปไม่สามารถทำได้จริง บางคนถึงจะทำบุญ ทำความดีชดเชย หรือเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น มันก็ยังลบความรู้สึกผิดในใจไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยนศาสนาหรือไม่ ‘ก็ไม่สำคัญเท่ากับการเปลี่ยนจิตใจให้เลิกยึดติดกับบาปที่เราทำ’
ดังนั้น แต่ละศาสนาจึงมีวิธีให้เราคลายความกังวลจากบาป หรือปล่อยวางจากการทำผิด พุทธมีการปลงอาบัติ คริสต์มีการสารภาพบาป เหมือนเป็นการเยียวยาจิตใจให้บรรเทาความทุกข์ออกไป และในบางกรณี ‘เราสามารถใช้คำสอนของศาสนานั้นๆ ในการเยียวยาจิตใจของเราได้’
“สุดท้ายมันก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการไปเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อ
แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราเปลี่ยนจิตใจของเราให้เลิกยึดติดกับความชั่ว
หรืออะไรบางอย่างที่เราทำได้หรือเปล่า”
ทั้งนี้อาจารย์ดนัยยังอ้างถึงหนังสือเซเปียนส์ ที่บอกไว้ว่า บางครั้งศาสนาก็เป็นเพียงความเชื่อหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม จึงไม่แปลกเลยว่า นอกจากการเปลี่ยนศาสนาแล้ว การเลิกนับถือศาสนา หรือการออกมาจากความเชื่อเหล่านั้น ก็นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่หลายๆ คนใช้เพื่อคลายความกังวลในเรื่องต่างๆ ได้
สังคมไทย สังคมพหุวัฒนธรรม
จากความเชื่อและความเข้าใจ การเปลี่ยนศาสนาจึงเป็นหนึ่งในวิธีหนียอดนิยมของคนไทย เมื่อรู้สึกว่ามีสิ่งเหนือธรรมชาติมาตามติด บางคนก็รีวิวว่าได้ผล บางคนไม่นับถืออะไรก็ยังเจอ สรุปแล้ววิธีนี้ช่วยให้เราหนีสิ่งลี้ลับได้สำเร็จจริงๆ หรือเปล่า?
อาจารย์ดนัยให้คำตอบถึงเรื่องนี้ว่า “พูดยากนะเรื่องผี เพราะแต่ละศาสนาก็มีสิ่งเหนือธรรมชาติต่างกัน พุทธกับพราหมณ์เชื่อเรื่องภพภูมิ อิสลามเชื่อว่ามีญิน คริสต์ก็มีปีศาจหรือซาตาน ‘คนมันจะโดนผีตามมันก็โดน’ ผีไม่ได้เลือกหลอกตามศาสนาหรอก”
นอกจากนี้อาจารย์ยังเล่าต่อว่า “คนไทยพุทธไปยุโรปโดนผีคริสต์หลอก ท่องนโมตัสสะก็ไล่ไม่ไป ต้องท่องสันตะมารีย์ (บทวันทามารีย์) ผีถึงจะไปก็มี ชาวมุสลิมถูกผีจีนเข้า ต้องเชิญหลวงจีนมาสวดกงเต๊กให้ก็มี หรือชาวคริสต์โดนผีไทยหลอกจนต้องไปทำสังฆทานให้ก็มี ซึ่งถ้านับตามหลักศาสนาเขาแล้วนั่นก็เป็นบาป แต่นี่เป็นสังคมไทยมันจึงวัดไม่ได้ ‘ผีเขาหลอกข้ามศาสนากันได้หมดแล้ว จะเจอยังไงก็เจอ ย้ายศาสนาไปก็ไม่มีผล มันไม่มีนัยอะไร’”
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ดนัยจึงสรุปทิ้งท้ายสั้นๆ ว่า สำหรับความเชื่อเรื่องการล้างบาปเมื่อเปลี่ยนมานับถือศาสนาใหม่นั้นมีมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร อีกอย่างการเปลี่ยนศาสนาก็ไม่สำคัญเท่าการปรับเปลี่ยนที่ใจ เพราะหากเรายังยึดติดกับบาป บาปก็จะยังอยู่ในใจไม่หายไป ต่อให้เราย้ายศาสนาก็ไม่ช่วย ดังนั้น แต่ละศาสนาก็เลยมีวิธีคลายความรู้สึกผิดออกไป ซึ่งเราสามารถใช้คำสอนของศาสนานั้นๆ เยียวยาจิตใจของเราโดยไม่ต้องเปลี่ยนศาสนาก็ได้
สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนศาสนา ถ้าเราปล่อยวางความทุกข์ใจได้ ความไม่สบายใจหรือความพะว้าพะวังก็อาจจะคลี่คลายลงได้เช่นกัน!
อ้างอิงจาก
ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2014/.pdf