“เธอตั้งชื่อความเชื่อของเธอว่า ‘ความจริง’ เหรอ? … น่ารักจัง”
บก. ใจดี (14 มิถุนายน 2017)
อาจจะไม่เกินเลยไปนัก หากผมจะพูดว่าประโยคสั้นๆ ง่ายๆ ของ บก.ใจดีข้างต้นนั้น เป็นหนึ่งในโควตคำพูดในภาษาไทยที่ผมชอบที่สุด เพราะนอกจากมันจะจิกกัดเหลือประมาณ คมคายอย่างเหลือเกินแล้ว มันยังมีความหมายในตัวเองที่ลึกซึ้งมาก ซึ่งสามารถสะท้อนภาพความเป็นไปของสังคมมนุษย์ได้มากทีเดียว—แทบจะทุกที่ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงอดไม่ได้ที่จะขอจับนำมาดัดแปลงเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นชื่อบทความนี้
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องราวมากมายที่ทำให้ผมพานหวนคิดถึงคำพูดของ บก.ใจดี ขึ้นมาอีกครั้ง (ไม่นับข้อเท็จจริงที่ว่า ระบบของเฟซบุ๊กได้เตือนผมว่าผมเคยแชร์ข้อความนี้เมื่อตอน 1 ปีก่อน) ทั้งเรื่องที่มาจากรูปของช่อ พรรณิการ์ วาณิช กับเพื่อนๆ ของเธอที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, น้องๆ นักเรียนในโรงเรียนหลายแห่งทำพานไหว้ครูสะท้อนความคิดทางการเมืองและต้านเผด็จการ ไปจนถึงข่าวที่มีชายหนุ่มคนหนึ่งตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองจากความเครียด เพราะกลัวความผิดจาก พรบ. คอมพิวเตอร์ เพียงเพราะเขาโพสต์การเมืองอย่างดุเดือด[1] หรือกระทั่งเรื่องราวที่ข้ามพรมแดนของไทยออกไป ทั้งการประท้วงที่ฮ่องกง หรือการที่ซาอุดิอาระเบียตัดสินประหารชีวิตเด็กชายคนหนึ่งเพียงเพราะเขาไปร่วมชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวมุสลิมชีอะห์ตอนที่เขาอายุ 10 ขวบ (ปัจจุบันอายุ 18 ปี และกำลังจ่อโดนโทษประหารชีวิตอยู่)[2]
หากเราพยายามจะสรุปปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้ให้เป็นคำพูดสั้นๆ สักคำ ผมก็คิดว่าคำพูดของ บก.ใจดี ข้างต้นถูกต้องมากทีเดียว เพียงแต่มันดูจะหมดความ ‘น่าดูแคลน’ ระดับแค่พูดว่า ‘น่ารักจัง’ ไปแล้ว เป็นปัญหาและความเดือดร้อนมากเกินกว่าที่การมองบน กลอกตา มองเหยียด หรือพูดจาเอ็นดูตอบจะเป็นการสมควรแล้ว ผมจึงคิดว่าควรจะเขียนถึงเรื่องนี้เต็มๆ สักที (แม้จริงๆ ก็ควรจะบอกว่าเขียนถึงเรื่องแนวนี้มาโดยตลอด เพียงแค่อาจจะกระจัดกระจายกันอยู่บ้าง)
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนก็คือ ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ ที่คนเราจะมีความเชื่อส่วนตัวไปในทิศทางไหนก็ได้ จะมีหรือไม่มีเหตุผลก็ได้ จะสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กับข้อเท็จจริง ก็ยังได้ เพียงแค่ในกรณีแบบนั้น ท่านก็พึงต้องทนรับคำวิจารณ์ต่อความคิดเห็นของท่านเอาเอง และเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ เช่นกันที่เราจะเชื่อความเชื่อหรือความคิดเห็นหนึ่งมากกว่าแบบอื่นๆ เราย่อมมีสิทธิที่จะเลือกตามแต่ที่เราเห็นสมควร หรือนิยมชมชอบโดยจริตส่วนตัว กระทั่งด้วยอคติส่วนบุคคล
แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อท่านพยายามจะนำเอาความเชื่อส่วนตัวที่ท่านเชื่อนั้นมากวัดแกว่งอวดโอ้ เยี่ยงคนวิตถารอวดองคชาต และบังคับจะให้คนอื่นเห็นตามปรารถนาที่จะให้เห็นให้จงได้ หรือแย่ยิ่งกว่านั้นคือ พยายามยัดปากผู้อื่นมิให้สามารถแสดงออกหรือคิดเห็นในแบบที่แตกต่างจากท่านได้ ปานว่าไปเที่ยวบังคับใช้องคชาตความเชื่อนั้นยัดปากคนไปทั่วก็มิปาน ซึ่งท่านย่อมรู้ดีว่าการเอาองคชาตไปบังคับยัดปากใครๆ โดยเขาไม่ยินยอมนั้น ย่อมเป็นเรื่องผิดอย่างชัดเจน—อย่างยากจะหาทางอธิบายความถูกต้องได้ แต่การกระทำในลักษณะเดียวกันนี้ก็ยังดูจะถูกปฏิบัติอย่างทั่วไปในสังคมไทยนี้ และในหลายๆ ครั้ง กระทั่งมีการพยายามจะชมเชยการกระทำดังว่าเสียด้วยซ้ำ
การกระทำแบบที่ว่าคือการพยายามทำให้ ‘ความเชื่อกลายเป็นความจริง’ ครับ
‘ความจริง’ คือในความหมาย truth นะครับ ไม่ใช่ fact ที่แปลว่าข้อเท็จจริง ที่ผมต้องแยกให้ชัดก็เพราะว่าโดยทั่วไปแล้วเราจะถือกันว่า ข้อเท็จจริงคือสภาพของการมีอยู่ที่เป็นจริงโดยถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ต่อให้ข้อคิดเห็นที่มีต่อมันเปลี่ยนแปลงไปมากมายเพียงใด หรือมีจำนวนเพียงไหนก็ตาม เช่น ข้อเท็จจริงที่ว่าโลกหมุนรอบตัวเอง แต่ ‘ความจริง’ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ตามแต่เงื่อนไขแวดล้อมของยุคสมัยด้วย และบางครั้งอาจจะกระทั่งไม่ตรงกับตัวข้อเท็จจริง เช่น การที่ครั้งหนึ่งคนแทบจะทั้งโลกเคยเข้าใจว่าโลกแบน ทั้งนี้ นอกจากเหตุผลเรื่องคำอธิบายและความเข้าใจที่จำกัดแล้ว ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและเทคนิคความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่มากพอในยุคสมัยนั้น ก็ส่งผลให้ ‘ความจริง’ นี้ขัดกับ ข้อเท็จจริงที่ว่าโลกนั้นแท้จริงเป็นทรงกลมได้ เป็นต้น
ความเป็นทรงกลมของโลกคือข้อเท็จจริงที่ถาวร ไม่ว่าความเข้าใจที่มีต่อตัวมันเอง (โลก) ที่เรียกว่าความจริงจะไม่ได้เป็นไปตามนั้น อย่างไรก็ดี ความสำคัญประการหนึ่งของความจริงก็คือ ความจริงนับเป็น ‘ความรู้’ (knowledge) หรือ ‘ข้อมูลทั่วไป’ (common information) แบบหนึ่งด้วย เมื่อมันเป็นความรู้ประเภทหนึ่ง ความจริงจึงมีลักษณะสำคัญมากๆ ที่ต่างจาก ‘ความเชื่อ’ (belief) นั่นคือ 1) ความจำเป็นที่จะต้องวางตัวเองอยู่บนชุดเหตุผลบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจะกลายเป็นความจริงได้มักจะต้องวางอยู่บนชุดการให้เหตุผลที่สังคมในยุคสมัยนั้นๆ ให้การยอมรับโดยทั่วไป และ 2) ซึ่งผมคิดว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ‘การสามารถพิสูจน์ความถูกผิดได้’ หรือ falsifiability นั่นเอง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ ‘จำเป็น’ ที่จะต้องมีในฐานะความจริง แต่ไม่จำเป็นจะต้องมีในความเชื่อ เมื่อความเชื่อจะมีหรือไม่มี 2 คุณสมบัตินี้ก็ทำให้บางครั้งความเชื่อตรงกับความจริง บางครั้งก็ซ้อนทับกันแค่บางส่วน หรือบางครั้งอาจจะไม่ตรงอะไรกันเลยก็ได้
อย่างกรณีเรื่อง ‘โลกแบน’ ในยุคสมัยที่ยังถูกให้ค่าในฐานะความจริง ด้วยความที่มันอยู่บนตรรกะหรือชุดเหตุผลที่อธิบายว่า หากโลกไม่ได้แบน ตัวมนุษย์และสิ่งต่างๆ จะสามารถ ‘ตั้งอยู่’ โดยไม่ไหลหรือตกไปไหนได้อย่างไร? การที่ของสามารถดำรงอยู่อย่างที่เห็นอยู่นี้ได้ ก็ดูจะมีเพียงความเป็นไปได้เดียวนั่นคือ ‘โลกต้องแบน’ ซึ่ง นั่นก็ชัดเจนว่าอย่างน้อยมีชุดคำอธิบายอันเป็นเหตุเป็นผลในตัวเองของมันอยู่ และเราต้องเข้าใจด้วยว่าความเข้าใจนี้อยู่ในยุคก่อนที่จะมีการเดินเรือรอบโลก การค้นพบและเข้าใจในเรื่องแรงโน้มถ่วง การค้นพบและคำนวณวิถีดวงดาวของโคเปอนิคัส หรือการมีภาพถ่ายทางอากาศไปจนถึงอวกาศ เพื่อพิสูจน์ให้ชัดคาตาว่า แท้จริงแล้วโลกเป็นเช่นไรกันแน่ ฉะนั้นผมคิดว่าเราพอจะพูดกันได้ว่าในยุคสมัยหนึ่งที่การค้นพบต่างๆ เงื่อนไขทางเทคโนโลยีและความคิดต่างจากตอนนี้มากๆ นั้น ความเข้าใจดังกล่าวก็ฟังดูสมเหตุสมผลและฟังขึ้นมากทีเดียว และนั่นคือลักษณะประการแรกของคามจริงครับ
ลักษณะประการที่สองก็อย่างที่บอกไปคือเรื่องความสามารถในการพิสูจน์ผิดถูกได้ ซึ่งอาจจะไม่ได้ใช้เวลาชั่วข้ามคืน หลายครั้งใช้เวลานานเป็นศตวรรษในการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจต่อข้อเท็จจริง ที่เราเรียกกันว่า ‘ความจริง’ นี้ และหลายครั้งไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่ายดายด้วย เกิดการสังเวยเพื่อความเปลี่ยนแปลงนับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่เรื่องความเข้าใจต่อโลก ฮิสทีเรียในผู้หญิง ไปยันการรักร่วมเพศเดียวกัน อย่างไรก็ดี ‘ความจริง’ สามารถถูกท้าทายและพิสูจน์ความถูกต้องได้ โดยอิงตามเงื่อนไขและข้อค้นพบที่มากขึ้นในแต่ละยุคสมัย เพราะฉะนั้นความจริงที่เคยบอกว่าโลกแบน เมื่อผ่านการพิสูจน์ความถูกผิดด้วยความรู้ใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ หลักฐานชุดใหม่ รวมไปถึงมุมมองวิธีคิดแบบใหม่แล้ว ความจริงแบบเดิมจึงถูกล้มลงในที่สุด และความจริงในปัจจุบันจึงกลายเป็นว่า ‘โลกเราเป็นทรงกลม’ ถูกต้องตรงกันกับ ‘ข้อเท็จจริง’ ที่เป็นมาแต่ต้น
แต่แน่นอน อย่างที่หลายท่านก็น่าจะทราบดี ปัจจุบันนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงเชื่ออยู่ว่า ‘โลกแบน’ สิ่งที่คนเหล่านี้เชื่อจึงไม่ได้อยู่ในสถานะ ‘ความจริง’ หรือ ‘ความรู้’ อีกต่อไป เป็นเพียง ‘ความเชื่อ’ หรือกระทั่งศรัทธาแบบมืดบอด (blind faith) เท่านั้น
เพราะความเชื่อไม่จำเป็นจะต้องมี ‘ตรรกะหรือเหตุผลในตัวมันเอง’ และพร้อมๆ กันไป ‘ไม่จำเป็นต้องถูกพิสูจน์ความถูกผิดในตัว’ ด้วย จะเชื่อว่าโลกแบนอยู่ก็เรื่องของพวกคุณ จะคิดว่านมรสช็อกโกแลตมาจากการรีดเต้านมของวัวที่มีสีน้ำตาลก็เรื่องของพวกคุณด้วยเช่นเดียวกัน และแน่นอน เมื่อเลือกจะอยู่บนความเชื่อหรือข้อคิดเห็นส่วนตัวแบบนี้ ก็ย่อมต้องยอมรับกับการวิพากษ์วิจารณ์เอาเอง
เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พยายามจะบอกว่า ‘ความเชื่อของตนเท่านั้นที่ถูกต้อง’ และคนที่คิดเห็นหรือแสดงความเชื่อแบบอื่นใด กระทั่งความเชื่อที่อยู่ใกล้เคียงกับความจริงมากกว่าก็ตามผิดอย่างไร้เหตุผล ไร้คำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน การทำแบบนี้เองจึงไม่ต่างจาก การยืนอยู่ในศตวรรษที่ 21 และบังคับให้ทุกคนยอมรับอีกครั้งว่า ‘โลกแบนคือความจริงเพียงหนึ่งเดียว’
หากวินาทีนี้ ไม่ว่าท่านจะยืนอยู่ฟากฝั่งไหนของความคิดเห็นทางการเมืองก็ตาม จะเชียร์เพื่อไทย อนาคตใหม่ ประชาธิปัตย์ หรือพลังประชารัฐก็แล้วแต่ หากมีคนชี้หน้ามาบังคับท่านว่า “โลกแบนคือความจริง หากมึงไม่เห็นว่าจริง ก็จงออกจากโลกใบนี้ไปเสีย” พวกเราก็คงสามารถพูดได้ในทันทีและเข้าใจตรงกันโดยชัดเจนว่า คนที่มาพูดนี้น่าจะเพี้ยนหรือบกพร่องทางปัญญาสักอย่างเป็นแน่แท้ แต่น่าเสียดายที่พฤติกรรมแบบเดียวกันนี้เมื่อเกิดขึ้นในไทย และเปลี่ยนจากเรื่องที่ค่อนข้างจะมีความเป็นวัตถุวิสัย (ข้อเท็จจริงเรื่องโลก) ไปเป็นเรื่องที่ผูกอยู่กับอัตวิสัยของพวกท่านเองมากขึ้นเสียหน่อย อย่างเรื่องชาติ เรื่องพรมแดน เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเรื่องศาสนาแล้ว คนจำนวนมากกลับไม่สามารถเห็นความผิดปกติผิดเพี้ยนที่เคยมองเห็นได้นี้เสียแทบจะโดยทันที
เหตุผลที่ผมบอกว่ากระแสความคลั่งชาติ คลั่งเจ้า หรือคลั่งศาสนานั้น ไม่ต่างจากการมาบอกว่า ‘โลกแบนคือความจริง’ และบังคับให้ทุกคนเชื่อ ผู้เห็นต่างต้องหุบปากไม่ก็ถูกลงโทษนั้นก็เพราะว่า ทุกวันนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็นับตั้งแต่ปี 1789 เป็นต้นมา (หากไม่นับถอยร่นไปยันแมกนาคาร์ตา) ฐานการทำความเข้าใจและชุดตรรกะการใช้เหตุผลในการมองตัวมนุษย์และระบบสังคมมนุษย์นั้น แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากเมื่อ 3-5 ศตวรรษก่อนหรือหลายพันปีก่อนในกรณีศาสนามากแล้ว ชุดเหตุผลและตรรกะที่เคยฟังขึ้นและยอมรับในฐานะความจริงในสมัยนั้นไม่ฟังก์ชั่นอีกต่อไป
ในเวลานี้คำอธิบายแบบเดิมๆ ที่วางอยู่บนฐานของตรรกะแบบที่ว่าจึงหมดคุณค่าในฐานะความจริงลง เฉกเช่นเดียวกันกับการอธิบายว่าโลกแบน
เรามีหลักสิทธิมนุษยชน ที่เสมือนการค้นพบข้อเท็จจริงเรื่องแรงโน้มถ่วงในทางสังคมศาสตร์ เราได้สร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา ที่เสมือนการได้ขี่จรวดออกไปในอวกาศและมองกลับมาดูรูปร่างที่แท้จริงของโลกแล้ว เราจึงไม่ได้อยู่ในยุคสมัยที่ความจริงวางฐานอยู่บนความเชื่อมั่นในความไม่เท่ากันของมนุษย์ การเชื่อฟังโดยไม่สามารถพิสูจน์ ตรวจสอบ หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้อีกต่อไป ความคลั่งชาติ คลั่งเจ้า คลั่งศาสนาที่วางฐานอยู่บนชุดตรรกะแบบนั้นจึงเป็นได้อย่างมากที่สุดก็เพียง ‘ความเชื่อส่วนบุคคล’ ของแต่ละท่านเท่านั้น มันไม่ได้มีสถานะในฐานะความจริงอีกต่อไป และไม่สมควรจะมีที่ยืนในฐานะความจริงอีกแล้วด้วย เป็นชุดความเชื่อที่ได้ที่ทางในประวัติศาสตร์มามากเกินพอ และสร้างความเจ็บปวดมามากเกินกว่าคุณค่าของตัวมันเองมากแล้ว
คนเรามีสิทธิที่จะเชื่อจะรักจะผูกพันธ์กับคุณงามความดีในอดีตของบุคคลใดก็ตามที่เคยได้ยินคำเล่าขานมา มีสิทธิที่จะเชื่อในตำราอันว่าด้วยประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของชาติที่ผูกรัดไว้ด้วยจินตกรรมของตัวเอง กระทั่งมีสิทธิเชื่อในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระผู้เป็นเจ้าหรือศาสดาที่อยากจะคุกเข่าให้ แม้ว่าข้อมูลทั้งมวลที่ว่ามานี้จะไม่เคยผ่านการวิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบความถูกผิดใดๆ มาเลยก็ตามที แต่ความจริงของยุคสมัยที่ว่า คนคือคน ไม่มีใครคือเทพยดาแต่ใดมา ก็จะยังคงอยู่ต่อไป โดยไม่ควรจะต้องแยแสต่อความเชื่อส่วนบุคคลใดๆ และไม่ได้จะถูกแทนที่ได้ง่ายๆ เพียงแค่การบังคับท่องคุณธรรม 12 ประการอีกต่อไป
ที่พยายามเขียนอธิบายอย่างละเอียดมากๆ มาจนถึงจุดนี้ ไล่เรียงดูจริงๆ ก็คงจะเห็นได้ถึงความผิดเพี้ยนที่พยายามจะเรียกอ้างเอาว่าความเชื่อของตนนั้นคือความจริงบ้างแล้ว เหมือนที่เราเข้าใจความเพี้ยนของกลุ่มที่บอกว่าโลกแบน ณ เวลานี้ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะชี้เพิ่มเติมต่อไปสักหน่อยก็คือ อะไรที่ทำให้เราสามารถเห็นความผิดปกติพิกลพิการทางความคิดในกรณีโลกแบนได้ในทันที แต่พอเป็นเรื่องคลั่งชาติ คลั่งเจ้า คลั่งศาสนาแล้ว เรากลับยากเหลือเกินที่จะรู้ตัว กระทั่งบางครั้งใช้เวลาหลายทศวรรษ มาเริ่มรู้สึกตัวก็ค่อนชีวิตมาแล้วก็มี หรือบางคนลงโลงไปแล้วก็ยังไม่ทันมองเห็นความพิลึกพิลั่นนี้
หากตอบแต่เพียงว่า เราถูกสั่งสอนและจับยัดทางความคิดแบบนี้มาด้วยโครงสร้างอำนาจทางสังคมเรา ทั้งการศึกษา การเมือง และวัฒนธรรม ก็คงจะจำเจและมักง่ายไปสักหน่อย แต่มันก็คือความจริงนั่นแหละครับ ปัญหาคือการสั่งสอน การบังคับยัดความเชื่อที่ว่านี้มันทำอะไรกับเราต่างหาก จึงทำให้สุดท้ายแล้วเราไม่รู้สึกตัวถึงความพิลึกพิลั่นในตัวเราเอง สิ่งที่มันทำกับเราคือการ ‘ตั้งค่าโดยปริยาย หรือ default setting ให้กับการมีปฏิกิริยาตอบโต้กับหัวเรื่องนั้นๆ เป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเรื่องชาติ เจ้า หรือศาสนา’ ว่าอีกแบบก็คือ มันไม่ได้ทำให้เราตัดขาดจากความเป็นไปหรือกระแสของสังคมโลกอะไรโดยปริยาย เราดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุขในทุกๆ วัน แทบไม่ได้ต่างจากประชากรหลักส่วนใหญ่ของโลกนี้ เพราะ ‘ค่าโดยปริยาย’ ที่ถูกตั้งนั้น มันไม่ได้เข้ามายุ่มย่ามกับตัวเราตลอดเวลา และเอาเข้าจริงๆ แล้ว การเข้าควบคุมทุกเรื่องของมนุษย์ในสังคมนั้นมันยากมาก และต้องอาศัยเงื่อนไขมากมายที่เอื้อมากพอด้วย (อย่างกรณีเกาหลีเหนือน่าจะใกล้เคียงที่สุด)
แต่เมื่อมันเป็น ‘ค่าโดยปริยาย’ ที่บังคับสวมลงมาใส่เราแบบเฉพาะเรื่องนี้เอง โดยเนื้อแท้แล้วมันจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของความเป็นปกติชีวิตของเรา
เราจะมีปฏิกิริยากับมันเพียงแค่ ‘ณ จุดหนึ่งของเวลาที่หัวเรื่องนั้นๆ ถูกอ้างอิงถึง’ ปฏิกิริยาของเราก็จะถูกบังคับให้แสดงอาการ ‘ปกป้องอย่างสุดชีวิต’ เป็นการชั่ววูบเท่านั้น ว่าง่ายๆ ก็คือ เป็น ‘การแสดงทางการเมือง’ หรือ political performance แบบหนึ่งเท่านั้น แค่กระทำในระดับ ‘ร่วมหมู่’ เท่านั้นเอง
ลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นเหมือนกัน ในวันที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ประกาศตัวว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับพรรคไทยรักษาชาติ และอีกครั้งเมื่อภาพในอดีตของช่อ พรรณิการ์ ถูกขุดขึ้นมา เราแสดงอาการกันปานว่าชีวิตจะสูญสิ้นลงไปให้จงได้หากมีสิ่งเหล่านี้อยู่ร่วมกับเรา ทั้งที่ข้อเท็จจริงก็คือ ทุกท่านก็มีชีวิตอยู่มาได้โดยปกติสุขดี โดยที่สิ่งเหล่านี้ได้เกิดมีขึ้นอยู่ตลอดเวลา ท่านก็กลับไปทำกิจกรรมอันเป็นปกติของท่านได้ในทันที ภายหลังจากที่ ‘ได้ทำการแสดงทางการเมืองตามที่โหมดปริยายบอกให้ท่านทำ’ เสร็จสิ้นแล้ว
การแสดงทางการเมืองแบบร่วมหมู่และกระทั่งแข่งกันโชว์ความเข้มข้นในความรัก ความโกรธ ความศรัทธาของตนต่อชาติ หรือสถาบันฯ นี้เอง ที่ทำให้บางทีเราอาจมองไม่เห็นความพิลึกพิลั่นในตัวของเราเอง เพราะในเวลานั้นๆ ความพิลึกพิลั่นเดียวในสายตาเราคือ ‘พวกที่ไม่ออกมาแสดงแบบเดียวกันกับที่พวกท่านกำลังแสดงอยู่’ (หรือกระทั่งพวกที่แสดงออกแบบไม่เข้มข้นพออย่างที่ท่านเห็นว่าสมควร) นั่นคือความผิดเพี้ยนเดียวที่จะมองเห็น ณ ช่วงเวลาสั้นๆ ที่โหมดปริยายถูกบังคับทำงาน และเมื่อจบการทำงานของโหมดก็จะกลับเข้าสู่ชีวิตปกติ
อย่างไรก็ดี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ข่าวมากมายอันมาจากหัวเรื่องเดียวกันคือ การบังคับเอาความเชื่อส่วนตัวของตนมาบังคับให้ทุกคนเรียกว่าความจริงดูจะไม่ได้แข็งแกร่งทรงพลังดังเดิมอีกแล้ว เวลาดูจะไหลเป็นเส้นตรงจริงๆ ไม่ได้หมุนวนเป็นวงกลม กลุ่มคนเจเนอเรชั่นใหม่ได้แสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้ยืนนิ่งๆ ให้เอาองคชาตความเชื่อนั้นมายัดปากพวกเขาได้ง่ายๆ อีกต่อไป เราเห็นทั้งกระแสหลั่งไหลตอบโต้คอมเมนต์คลั่งชาติ คลั่งสถาบันแบบล้นเกิน ไปพร้อมๆ กับขบวนพานแห่งความหวังในวันไหว้ครู
ผมก็ได้แต่เขียนบอก ฝากไปถึงคนเหล่านั้นโดยอาศัยพื้นที่ตรงนี้สั้นๆ นี่แหละครับว่า “ขอบคุณมากๆ ครับ ที่ทำให้ได้รู้สึกถึงความหวังที่ไม่ได้รู้สึกมานานแล้ว”
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู workpointnews.com
[2] โปรดดู hedition.cnn.com