“เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”
คือถ้อยคำที่ใช้อธิบายการกระทำเล็กๆ ที่ส่งผลต่อกันเป็นทอดๆ ไปจนถึงสิ่งที่อยู่แสนไกลหรือสิ่งยิ่งใหญ่จนเราคาดไม่ถึง เช่นเดียวกับโลกธุรกิจ
โรงงานต่างๆ ปล่อยคาร์บอนมหาศาล จนสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง พื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับกลายเป็นดินแดนอันแห้งแล้งหรือน้ำท่วมหนัก บริษัทกดราคาผลผลิตทางการเกษตร จนคนเริ่มหันหลังให้กับอาชีพนี้ วัตถุดิบที่เคยมีเลยค่อยๆ ขาดแคลนจนราคาแพงเกินเอื้อม
เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการสร้างผลกำไรระยะสั้น แต่สร้างผลเสียในระยะยาว จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่วงหลังๆ เราจะเริ่มได้ยินเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ หรือ ‘sustainability’ กันมากขึ้น เพราะคงจะดีถ้าเราได้ใช้ชีวิตปกติกันไปนานๆ โดยไม่ต้องกังวลว่า พรุ่งนี้น้ำจะท่วมหรือเปล่า ค่าฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มขึ้นแค่ไหน อาหารประเภทนี้จะขาดแคลนไหม
แต่ปัญหาคือ ความยั่งยืนเป็นคำกว้างๆ ที่เราก็ไม่แน่ใจว่าถ้าต้องลงมือทำจริงๆ ต้องเริ่มจากตรงไหน อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าความยั่งยืนบ้าง และนั่นคือช่องว่างที่ ‘Tact’ หยิบมาเป็นมาก่อร่างสร้างโมเดลธุรกิจ
“ตอนนี้เราเรียก Tact ว่าเป็น sustainability consulting เป็นที่ปรึกษาองค์กรที่ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน เราอยากให้คนเห็นคำว่า take action ใน Tact ก็คือว่า t-a-c-t มาจาก take action อย่างพาร์ทเนอร์เราจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนที่อาจจะอยากทำเรื่องความยั่งยืน” แม็ก-ชยุตม์ สกุลคู ซีอีโอของ Tact เล่าถึงนิยามและการทำงานของพวกเขา ณ เวลานี้ที่มีตั้งแต่การให้คำปรึกษาไปจนถึงการลงมือทำ
ผลงานของ Tact มีทั้งกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเป็นที่ปรึกษาให้แคมเปญ ‘ไม่เทรวม’ ที่เกี่ยวกับการจัดการขยะของ กทม. และเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ ไปจนถึงกิจกรรมด้านสังคม เช่น DOTs โครงการที่ร่วมกับ Sea ประเทศไทยพาคนรุ่นใหม่มาพัฒนาทักษะเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับ SME สายสิ่งแวดล้อม ซึ่งปีที่แล้วโครงการ DOTs ช่วยเพิ่มยอดขายเฉลี่ยของ SME เหล่านี้ให้เติบโตขึ้นได้ถึง 3 เท่า
The MATTER จึงชวน แม็ก-ชยุตม์ สกุลคู (CEO) และซึง-ปวรรัตน์ ลิสกุลรักษ์ (COO) จาก Tact มาพูดคุยเรื่องเทรนด์ความยั่งยืน การทำ CSR ยุคนี้ ไปจนถึงวิธีการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่ต้องร่วมงานผู้คนหลากหลายความคิด หลากหลายเจอเนอเรชั่น
สร้างผลกระทบตรงไหน ก็ไปแก้ปัญหาตรงนั้น
งานของ Tact มีตั้งแต่การให้คำปรึกษาไปจนถึงการลงมือทำโดยแก่นหลักที่มีร่วมกัน คือการสร้างความยั่งยืน (sustainability) ให้กับธุรกิจ แต่ถ้าถามว่า ‘ความยั่งยืน’ ที่ว่านี้คืออะไร แม็กให้คำนิยามด้วยสิ่งที่เรียกว่า ESG (Environmental, Social, and Governance)
“อย่าง CSR (corporate social responsibility) คือบริษัทไหนที่เขามีผลกำไรเขาอาจจะไปทำ CSR สมัยก่อนก็เป็นได้ตั้งแต่ปลูกป่า ปลูกปะการัง บริจาค อะไรอย่างนี้ ซึ่งเทรนด์สมัยใหม่จะมีคำว่า ESG ก็คือการที่บริษัทบริษัทหนึ่งจะทำยังไงให้การดำเนินธุรกิจนี้ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม (Environmental) ไม่รบกวนสังคม (Social) แล้วก็ good governance ด้วย คือสมมติว่าถ้าเราเป็นบริษัทผู้ผลิตที่ไม่ใส่ใจในการดูแลสิ่งแวดล้อม ปล่อยมลพิษมากมาย ปล่อยของเสีย ปล่อยคาร์บอนจำนวนมากออกสู่โลก แต่เราทำโครงการ CSR บริจาคเงินช่วยเหลือเด็กปีละล้าน 2 ล้าน มันก็จะดู Green Washing ไปหน่อย มันคงจะดีกว่าถ้าทุกองค์กรมุ่งที่จะรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนเองทำจริงๆ ทั้งมลพิษที่เกิดจากโรงงาน การดูแลพนักงานและผู้คนที่เกี่ยวข้อง”
“แสดงว่าธุรกิจในแบบที่ Tact กำลังขับเคลื่อน หรือคำว่า ‘ความยั่งยืน’ ในมุมของภาคธุรกิจ คือธุรกิจจะดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) รอบข้างตัวเองได้อย่างไร ซึ่งสิ่งนี้หลายๆ คนอยากทำแล้ว แต่ไม่รู้จะทำยังไง ซึ่ง Tact เองก็วางตัวว่าจะเป็นคนที่มาช่วยเขาคิดและลงมือทำ”
ที่มาของเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม
ไม่ว่าจะเป็นข่าวน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก ต่างบ่งบอกว่าผู้คนพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมานานหลายปี เลยชวนให้เราสงสัยว่าทำไมเรื่อง ESG ในโลกธุรกิจถึงเพิ่งจะมาแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
“สมัยก่อนมันยังไม่มีหลักฐานว่ามีความเชื่อมโยง (correlation) กันระหว่างผลตอบแทนทางการเงิน (financial return) กับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG (ESG data) คือเราทำดีไปเนี่ย มันกระทบกับธุรกิจเราไหม ถ้าเป็น CSR แบบปกติ เราอาจจะมองว่ามันคือการทำดีเฉยๆ เรากำไรมาก เราก็ทำดีมาก แต่ปีไหนเราแย่ เราอาจจะเลิกทำก็ได้ แต่พอเป็นแนวคิดของ ESG เราจะเริ่มเห็นงานวิจัยที่แสดงถึงแนวโน้มการเติบโตของบริษัทที่ลงทุนในเรื่องความยั่งยืน เช่น บริษัทที่ดูแลพนักงานดีมาก บริษัทที่ลงทุนแล้วเปิดเผยข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ว่าตอนนี้เขากำจัดคาร์บอน (decarbonize) ไปได้เท่าไรแล้ว เขาช่วยดูแล Stakeholders ไปได้เท่าไรแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะเพิ่มความเชื่อถือของนักลงทุนที่มีต่อบริษัท”
ตอนนี้กองทุนใหญ่ๆ ที่เรียกว่า ‘universal investor’ คือกลุ่มทุนที่ถือเงินในระดับล้านล้านดอลลาร์ (trillion dollar) เริ่มหันมาสนใจการลงทุนด้านนี้มากขึ้น อย่าง BlackRock เขาก็ประกาศเลยว่าเขาเป็นกองทุนที่จะลงทุนใน ESG มีอีกหลายกองทุนมากที่เป็นกองทุนระดับโลกแล้วคนที่นั่งอยู่ในบอร์ดบริหารบอกว่า เฮ้ย ผมจะไม่ลงทุนในธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนเยอะอีกแล้ว แสดงว่าเรื่องการทำอะไรพวกนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของความดี แต่มันมีเรื่องของเศรษฐกิจมาเกี่ยวด้วย ถ้าไม่มีเงินไหลมาจากนักลงทุน เอกชนก็จะเติบโตไม่ได้”
ซึงเสริมว่านอกจากเรื่องธุรกิจแล้ว กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มเข้มงวดมากขึ้นในบางประเทศก็ส่งผลกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นในประเทศไทย บริษัทที่ตื่นตัวและจริงจังกับเรื่องนี้ส่วนใหญ่เลยเป็นบริษัทข้ามชาติ หรือบริษัทที่ทำงานร่วมกับต่างประเทศมากกว่า
“บางทีที่ไม่มีใครลงมือทำเพราะไม่มีระเบียบข้อบังคับ (regulation) เรื่องความยั่งยืน” แม็กเล่าต่อ “สมมติว่าเราขับเคลื่อนธุรกิจแบบทุนนิยม อะไรที่ถูกกว่าเราก็เลือกสินค้านั้น อะไรที่ทำแล้วได้รายได้มากกว่า เราก็เลือกกำไรก่อน เพราะเราทำธุรกิจไปเพื่อเน้นผลกำไร แต่ความยั่งยืนมันเป็นคอนเซ็ปต์ที่ประหลาด คือบางทีสิ่งที่ถูก เราซื้อไม่ได้เพราะมันแย่ต่อโลก ของพวกนี้เราเลยเรียกว่า green premium เพราะเราต้องจ่ายเพิ่ม”
“สมมติว่าเราเป็นบริษัทเครื่องดื่มที่ต้องใช้ขวดจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลซึ่งแพงกว่า เราบอกว่าเราดีมากเลย แต่ถ้าคนในสังคมไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ อยู่ในประเทศที่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ สองคือไม่ได้มีใครบังคับ อีกยี่ห้อหนึ่งก็ไม่ได้ทำ คู่แข่งต้นทุนการผลิตต่อหน่วยก็ถูกกว่า ถ้าทำไปเรื่อยๆ แบบนี้ก็เจ๊งสิ เรื่องอะไรฉันต้องทำ มันเลยเหมือนเกมที่ไม่อยากมีใครเริ่มก่อน ดังนั้นเลยควรมีอีกผู้เล่นหนึ่ง คือ regulator ซึ่งต่างประเทศจะเรียกว่ากฎหมาย EPR (Extended Producer Responsibility) ที่ขยายขอบเขตการรับผิดชอบให้ผู้ผลิตนำบรรจุภัณฑ์กลับไป ผู้ผลิตต้องโดนเก็บภาษี สร้างขวดกี่ขวด สร้างกระป๋องกี่กระป๋อง เก็บตังค์ให้หมด แล้วเอาเงินส่วนนี้มาหยอดในกระบวนการรีไซเคิล สร้างโรงงานรีไซเคิล ทำแคมเปญนู่นนี่นั่น ประเทศแถวสแกนดิเนเวีย แถวเยอรมันจะมีกฎหมายแบบนี้ แต่ไทยยังไม่มี ตอนนี้เลยเป็น voluntary EPR กันอยู่ ซึ่ง Tact ก็ไปช่วยเขาทำ”
สมดุลของอุดมการณ์และความอยู่รอด
เมื่ออยากสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง แต่ประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้ตื่นตัวเรื่องความยั่งยืนมากนัก เมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ บวกกับ CSR ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในฝ่ายแบรนด์ดิ้งหรือฝ่ายประชาสัมพันธ์มากกว่า Tact จึงไม่สามารถทำโครงการที่ตอบ Impact ตรงๆได้ตั้งแต่วันแรกๆ
“ปัจจุบันงบในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมของหลายบริษัท เกินครึ่งไปอยู่ตรงที่ฝ่ายแบรนด์ แต่ว่ามันก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำให้มันอยู่ตรงกลาง เพราะการที่เขาจะจ่ายเงินออกมาสักก้อน เขาก็ต้องถามอยู่แล้วว่าทำไมเขาถึงต้องจ่าย เราก็ต้องตอบให้ได้ มันก็ต้องมีประโยชน์กับบริษัทเขา ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิด ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำเรื่องสังคมให้ดีและสื่อสารให้ได้ด้วย” ซึงเล่า พร้อมกับบอกว่าความยากของ Tact และธุรกิจประเภทนี้ คือการบาลานซ์ระหว่างมุมมองด้านธุรกิจ (business aspect) กับมุมมองด้านการสร้างความเปลี่ยนแปลง (impact aspect)
“อย่างบริการของ Tact ช่วง 2-3 ปีแรก เราทำธุรกิจ เราก็ต้องตามตลาด ดังนั้น เราจะเห็น การแข่งเคส (case competition) แคมเปญ ค่ายต่างๆ ก็คือกิจกรรมที่คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมหลายตัวมากที่เราทำ” แม็กเล่าว่าบางกิจกรรมอย่างการปลูกหญ้าทะเล การแข่งขันกันคิดวิธีจัดการขยะในชุมชน ก็นับว่าเป็นทิศทางที่ดี แต่อาจจะไม่ได้ถึงขั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน หรือเห็นผลลัพธ์ในวงกว้างอย่างที่ Tact อยากให้เป็น แต่กิจกรรมเหล่านี้นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Tact ได้สั่งสมประสบการณ์ และสามารถขยับขยายไปทำโครงการที่ใหญ่ขึ้นได้
“สิ่งนี้ที่เราทำ มันทำให้ Tact ช่วง 2 ปีแรกรอดมาได้ เรามองว่า ก็ในเมื่อทุกคนมีความรู้เท่านี้อยู่ในตลาด Tact ก็ต้องมีบริการแบบนี้ บริการแบบที่เราทำให้เขาได้สื่อสารเรื่องความยั่งยืนในแบบที่เขาต้องการและทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วม แต่วันหนึ่งที่เราเริ่มมีประสบการณ์ในวงการมากขึ้น หรือเราเริ่มที่จะมีลูกค้าที่ไว้ใจเรามากขึ้นแล้ว เราก็อยากนำวงการ”
และวันนั้นก็มาถึงเมื่อหลายบริษัทเริ่มถามหาการลงมือทำจริงด้านความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้ Tact ได้เริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลง “ตอนนี้เรามีโอกาสได้ให้คำปรึกษากับเจ้าหนึ่ง ซึ่งสมัยก่อนอาจจะทำให้แค่อีเวนท์ในการประชาสัมพันธ์ แต่ปัจจุบัน เรามีโอกาสช่วยบริษัทลูกค้าวางกลยุทธ์ ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย และช่วยเสนอวิธีในการทำให้สำเร็จตามเป้า นับเป็นอีกก้าวที่เรามองว่าเราเติบโตขึ้น”
คนกลางที่เข้าใจทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่
นอกจากการปรับตัวให้เหมาะกับความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นของ Tact คือการเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถร่วมงานกับผู้คนหลากหลายช่วงวัย
“Tact จะคุ้นเคยกับการทำงานระหว่างเจเนอเรชั่นเยอะเพราะว่า คนรุ่นเก่ามีทรัพยากร แล้วเขาดูแลประเทศในโลกนี้อยู่ แต่คนที่จะอยู่กับสิ่งนี้ต่อไปคือเจอเนอเรชั่นเรา ซึ่ง Tact น่าจะสามารถพาคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ต่อไป ไปลงมือสร้างโลกของตัวเองขึ้นมา ไปแก้ปัญหาจริงๆ” หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ คือแคมเปญ ‘ไม่เทรวม’ ที่ Tact ทำงานร่วมกับ กทม.
“ทีมเราเป็นที่ปรึกษาให้พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วันนั้นเรามีโอกาสได้ไปทำเวิร์กช็อปเพื่อคิดแคมเปญ จริงๆ เราได้เริ่มทำมาตั้งแต่แผนหลักในการผลักดันการจัดการขยะต้นทาง ซึ่งผู้ผลักดันหลักคืออาจารย์กุ๊ก-สุจิตรา วาสนาดำรงดี ที่จุฬาฯ ทางทีม Tact ก็โชคดีได้ไปเป็นเป็นลูกมืออาจารย์กุ๊ก แล้วก็ช่วยกันทำสไลด์ ทำกลยุทธ์ต่างๆ จนแผนมันออกมาได้ใช้จริง”
“เราจัดเวิร์คช็อปเพื่อคิดแคมเปญกันว่าอะไร คือ pain point ของประชาชนที่ไม่อยากแยกขยะ แล้วก็ให้โหวต เหมือนเราทำ design thinking ตอนนั้นมีตัวแทนจาก กทม. ในเขตนำร่องทั้ง 3 เขตมาด้วย ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ก็มา ส่วน Influencerก็มีพี่ สิงห์-วรรณสิงห์ มาช่วยกันคิด เราสรุปออกมาได้ว่าปัญหาที่ทำให้คนยังไม่อยากแยกขยะมากที่สุดคือคิดว่า ‘แยกไป ก็ไปเทรวมกันอยู่ดี’ เราเลือกอันนี้มาเพราะว่าทุกคนโหวตข้อนี้ จะเห็นว่าวิธีการสื่อสารเราคือ ‘ไม่เทรวม’ เราจะใช้ key message นี้ตลอดว่า ‘กทม. ได้ปรับแล้ว’ เพราะว่า key message ที่คนรุ่นใหม่ไม่ชอบที่สุดคือ ‘เริ่มที่ตัวเอง’ เพราะฟังแบบนี้แล้วรู้สึกว่า โห กทม. ยังจะให้เริ่มที่ตัวเองอีกเหรอ อันนี้ไม่เลย เราสวนทางเลยว่า กทม. ปรับแล้ว เราเตรียมรถคันใหม่ เป็นแบบใหม่แล้ว อยากจะให้ทุกคนช่วยกันบ้าง ชื่อแคมเปญก็เลยออกมาล้อกับของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เป็น ‘ไม่เทรวม ไม่เทรวม ไม่เทรวม’ คุณแยกมา กทม. ไม่เทรวมครับ”
หรืออีกงานสายสังคมที่น่าสนใจ คือโครงการ DOTs ที่ Tact จับมือกับ Sea ประเทศไทย บริษัทแม่ของ Shopee ทำโครงการที่ช่วยเพิ่มยอดขายให้ SME ที่ใส่ใจในความยั่งยืน “ใครทำสินค้าอาหารทางเลือก ใครทำสินค้า upcycling “ใครทำสินค้าทางเลือก ใครทำสินค้า upcycling สินค้าที่ดีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เราก็อยากให้เขาขายดี เราเลยเอาเด็กรุ่นใหม่ไปเรียน ไปฝึกกับเทรนเนอร์เพื่อติดอาวุธ แล้วก็ให้เขาไปเป็นที่ปรึกษาให้ร้าน 2 เดือน แล้วเพิ่มยอดขายให้เขาจริงๆ คือลองขายกันจริงๆ เลย อันนี้ก็ทำเป็นปีที่ 2 แล้ว ปีที่แล้วก็ยอดขายเฉลี่ยโตขึ้น 3 เท่า ทั้งโครงการก็ 2.6 ล้าน ผลลัพธ์ก็ค่อนข้างดี แล้วเด็กๆ ก็มีฟีดแบ็กดี ได้เรียนรู้เยอะ ร้านค้าก็บอกมีประโยชน์ ปีนี้ก็ทำต่อ ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เราเข้าไปช่วยทาง Sea พัฒนาทักษะดิจิทัลให้คนรุ่นใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนขององค์กรครับ”
นอกจากงานเหล่านี้ แม็กและซึงกระซิบว่าพวกเขากำลังซุ่มทำโปรเจกต์ด้าน decarbonization ที่ใกล้จะมีงานใหญ่ออกมาให้ติดตามเร็วๆ นี้ และหากมองอนาคตอันไกล Tact อาจจะมีโครงการใหม่ๆ อีกหลากหลายรูปแบบ
“เราอยากเป็นคนเปลี่ยนแปลงวงการ คือโมเดลธุรกิจอะไรมันก็ยังเปลี่ยนได้ แต่ วิสัยทัศน์ของ Tact จริงๆ คือการ take action ทำให้มันเกิดการลงมือทำมากขึ้น ดังนั้น รูปแบบของการเป็นที่ปรึกษาแบบนี้มันจะโตขึ้น เราจะพาร์ทเนอร์กับเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ได้มากขึ้น จนเขาลดคาร์บอน หรือสร้าง Impact กับผู้คนได้ในวงกว้าง หรือในการมุ่งสู่ net zero ของประเทศไทย เราก็อยากจะเป็นหนึ่งในกลไกในการช่วยคิดหาวิธีและลงมือทำ”
“ดังนั้นคู่ค้าเราอาจจะเป็นรัฐบาล เอกชน หรือองค์กรที่เขาอยากจะแปลงเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนของเขาให้มันไปสู่ impact จริงๆ Tact อยากจะช่วยเปลี่ยนภาพฝันนั้นให้เป็นความจริงได้ในระดับที่ใหญ่ขึ้น”