(1)
สัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพิ่งแถลงผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้ชื่อย่อว่า ITA (Integrity and Transparency Assessment) โดยทั่วประเทศ 8,303 หน่วยงานที่เข้าประเมิน ได้คะแนนในระดับซี หรือ 67.90 คะแนน เต็ม 100
ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช.แถลง คะแนน ITA ประเมินภายใต้ตัวชี้วัด 10 ตัว ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่ การใช้งบประมาณ การใช้อำนาจ การแก้ปัญหาทุจริต ประเมินทั้งจากคนในองค์กร คนนอกองค์กร ผู้รับบริการ และผู้ที่ติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐเหล่านี้ ว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณตรงไปตรงมาหรือไม่ มีการเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ มีการรับสินบน การคอร์รัปชั่น หรือใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชา สั่งให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องบ้างไหม
ผลก็คือ หากใช้เกณฑ์ของ ป.ป.ช. ทั่วประเทศ คือต้องผ่านเกณฑ์ที่ 80 คะแนน คะแนนเฉลี่ยหน่วยงานราชการทั่วประเทศจะเข้าข่าย ‘สอบตก’ และมีมากกว่า 499 หน่วยงานที่ได้คะแนนระดับต่ำ หรือได้เกรดเอฟ
เป็นการสอบตก โดยที่ ป.ป.ช.เอง ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจาก ‘รายงานคะแนน’ ในแต่ละปี และรายงานภาพรวมว่าปีนี้ แนวโน้มการ ‘รับสินบน’ และการใช้ทรัพย์สินของรัฐเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว ‘น้อยลง’ ส่วนการบริหารงานภาครัฐ ไปในแนวทางที่มี ‘ธรรมาภิบาล’ มากขึ้น
(2)
ส่วนคะแนนที่ย่ำแย่นั้น มีการชี้แจงจากแต่ละหน่วยงานที่คะแนนต่ำเตี้ยเรี่ยดินว่า อาจเป็นเรื่องทาง ‘เทคนิค’ เช่นบางหน่วยงานก่อนหน้านี้ ที่ได้คะแนนต่ำ (เกรดเอฟ) บอกว่ากำลังปรับปรุงหน้าเว็บไซต์พอดี เลยทำให้ผู้ประเมินไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้
สำหรับหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ แม้คะแนนจะอยู่ในเกณฑ์ ‘ดีมาก’ คืออยู่ที่ 90 คะแนนขึ้นไป ชนะแม้กระทั่งหน่วยงานตรวจสอบอย่างสำนักงาน ป.ป.ช. แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ข้อบังคับกลาโหม ว่าด้วยการเงินการคลัง พ.ศ.2555 กระทรวงกลาโหม ได้เปิดช่องให้สามารถปรับระบบบัญชี และระบบตรวจสอบเองได้ โดย ‘สำนักงานตรวจสอบภายใน’ ให้หน่วยงานเหล่านี้ อยู่นอกเหนือจากการตรวจสอบทั้งจากสภาผู้แทนราษฎร ทั้งจากประชาชนทั่วไป หรือมีกระทั่งงบที่เรียกกันว่า ‘งบลับ’
แต่ถ้าถามว่าประชาชนเชื่อหรือไม่ ว่าสถานการณ์ในช่วงการ ‘ปฏิรูป’ 6 ปี ที่ผ่านมา หลังจากผ่าน ‘โครงการรับจำนำข้าว’ ไปนั้น ‘ดีขึ้น’ คนที่จ่ายใต้โต๊ะให้หน่วยงานรัฐ จ่ายกันน้อยลง ตำรวจรีดไถชาวบ้านน้อยกว่าเดิม ข้าราชการจะเลื่อนตำแหน่ง ไม่ต้องจ่ายให้ผู้บังคับบัญชาอีกแล้ว ผู้ต้องหาที่ต้องการ ‘หลุดคดี’ ไม่สามารถ ‘วิ่ง’ เพื่อเคลียร์คดีได้ ไม่มีการจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะ เพื่อฝากเด็กเข้าโรงเรียนรัฐชั้นนำอีกแล้ว และการทำโครงการจัดซื้อ–จัดจ้าง ในยุคนี้ ไม่มีการ ‘หักเปอร์เซ็นต์’ กันอีกต่อไป…
ทุกคนทั้งที่รับ และที่จ่าย ล้วนหัวเราะกันในลำคอ
(3)
ถามว่า ‘ราก’ ของการคอร์รัปชั่นในประเทศนี้มาจากไหน? คำตอบเรื่องนี้อย่างเป็นทางการหาได้ยากเย็น คำอธิบายที่เป็นชัดมากที่สุด น่าจะมาจากผาสุก พงษ์ไพจิตร และสังศิต พิริยะรังสรรค์ ที่เคยเขียนไว้ในหนังสือ Corruption and Democracy in Thailand ว่าการคอร์รัปชั่นในไทยนั้น เป็นวัฒนธรรม ‘โบราณ’ ผ่านธรรมเนียมอันดีงามของไทย ว่าด้วย ‘ระบบอุปถัมภ์’ และการ ‘เก็บส่วย’
ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ข้าราชการบ้านเรา ซึ่งทำงานกับ ‘ผู้ปกครองเมือง’ ไม่ได้รับ ‘เงินเดือน’ อย่างเป็นทางการจากส่วนกลางด้วยซ้ำ หากแต่ใช้วิธีการหักค่าธรรมเนียมจากประชาชน 30% บ้าง 10% บ้าง เข้ากระเป๋าตัวเอง ขณะเดียวกัน เพื่อไม่ให้ส่วนกลางเสียประโยชน์ ข้าราชการก็จะส่ง ‘ส่วย’ ไปให้ส่วนกลาง จ่ายกันเป็นวงจร จนกลายเป็นระบบอุปถัมภ์
ระบบพวกนี้ ฝังรากอยู่กับระบบราชการไทย ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย จากประชาธิปไตยเต็มใบ เป็นเผด็จการ เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือประชาธิปไตยครึ่งๆ กลางๆ การคอร์รัปชั่นใน ‘ระบบราชการ’ ก็ไม่ได้หายไปไหน
ซึ่งหากเทียบกับมาตรฐานประเทศที่มี ‘ประชาธิปไตย’ อื่นๆ แล้ว
เรื่องการคอร์รัปชั่นในไทย
ถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก
รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกตั้งชื่อเล่น (จากใครไม่รู้) ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ‘ปราบโกง’ ด้วยวิธีการสำคัญคือการ ‘ลดอำนาจ’ ของนักการเมืองลง พร้อมกับขยายอำนาจขององค์กรอิสระ กลไกที่เพิ่งเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 ให้อยู่เหนือนักการเมืองมากขึ้น
แต่ถามว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงดีขึ้นหรือไม่ ดูจากการที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ยังคงแย่งเก้าอี้ เข้าไปบริหารในกระทรวง ‘เกรดเอ’ เราต่างก็รู้ดีว่าเป็นเพราะอะไร..
และล่าสุด จากการจัดอันดับขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.เอง ก็เห็นชัดว่า หน่วยงานราชการส่วนใหญ่ยัง ‘สอบตก’ แม้แต่องค์กรที่ว่าด้วยการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างสำนักงานอัยการสูงสุดนั้น ได้คะแนนเพียง 71.30 คะแนน น้อยกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ 83.95 คะแนนเสียอีก
แม้เราจะตั้งคำถามว่า การจัดอันดับของ ป.ป.ช. เชื่อถือได้หรือไม่ แต่ก็อย่าลืมที่จะตั้งคำถามอีกคำถามเช่นกันว่า ถ้าแม้แต่ ป.ป.ช. ยังจัดอันดับให้หน่วยงานราชการแย่ถึงเพียงนี้ ก็หมายความว่าน่าจะสะท้อน ‘ข้อเท็จจริง’ อะไรบางอย่างอยู่บ้าง
(4)
“มันแย่ขนาดนั้นเลยเหรอ?” เพื่อนต่างชาติผมถามขึ้นมา ขณะที่ผมเล่าว่าการ ‘รังวัด’ ที่ดิน ต้องจ่ายค่าดำเนินการบางอย่าง เพื่อเดินเรื่องให้เร็วขึ้น หรือถ้าเราขับรถเร็วกว่ากำหนดแล้ว จะสามารถ ‘เคลียร์’ กับตำรวจ (บางคน) ได้ โดยไม่ต้องไปจ่ายใบสั่ง จ่ายค่าปรับที่โรงพัก
เรื่องพวกนี้ สังคมตะวันตกไม่คุ้นเคยเท่าไรนัก แต่ในเอเชีย ในประเทศรอบบ้านเราหลายประเทศ การจ่ายส่วย ยังคงเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป ผสมปนเปกับการหักเปอร์เซ็นต์ หักหัวคิว ซึ่งแน่นอน เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยไม่เข้มแข็ง การมีส่วนร่วมของพลเมืองมีอยู่น้อยนิด
ทำให้ความไม่เท่าเทียม และไม่เท่ากัน
ขยายเป็นวงกว้าง
นอกจากนี้ ระบบราชการเองก็ถูกจัดวางให้มีสถานะ ‘เหนือ’ พลเมืองทั่วไป ไม่ได้รับการพัฒนาให้มีความเป็นสากล ทั้งตัวกลไก ทั้งตัวระบบตรวจสอบ ซ้ำประชาธิปไตยที่ล้มเหลว ยังทำให้อำนาจรัฐราชการเติบโตขึ้น สยายอำนาจออกไปอีกเรื่อยๆ ความไม่เท่ากันนี้เอง ทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถอาศัย ‘ดุลยพินิจ’ ในการชี้ผิด ชี้ถูก ชี้เป็นชี้ตาย ให้กับพลเมืองได้
ที่แย่กว่าการจัดอันดับของ ป.ป.ช. ก็คือการจัดอันดับโดยองค์กร Transparency International ปี พ.ศ.2562 ที่ให้ไทย อยู่ในอันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ด้วยคะแนน 36 เต็ม 100 ในขณะที่ประเทศข้างบ้านอย่างมาเลเซีย อยู่ในอันดับที่ 51 ของโลก อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 85 ของโลก หรือแม้แต่เวียดนาม ก็ยังดีกว่า อยู่ที่ 96 ของโลก หากรอบๆ บ้าน จะแย่กว่าเราก็มีแค่ ลาว กัมพูชา และพม่า เท่านั้น
ขณะเดียวกัน หลายปีที่ผ่านมา อันดับในทางสากล ของประเทศนี้ ไม่ได้ดีขึ้นเลย สวนทางกับตัวชี้วัดของ ป.ป.ช. ที่บอกว่าสถานการณ์กำลังดีขึ้น..
(5)
‘ตามน้ำ’ ข้าราชการระดับซี 10 ของกระทรวงเกรดเอ กระทรวงหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อน อยู่ดีๆ ก็อธิบายให้ผมฟัง พร้อมกับเฉลยสาเหตุของการคอร์รัปชั่นในระบบว่ายิ่งอยู่สูง ยิ่งปฏิเสธยาก…
ในแง่หนึ่ง การคอร์รัปชั่นในหน่วยงานราชการ (บางแห่ง) คือการส่งต่อกันเป็นทอดๆ จากล่างไปถึงบนสุด หากมียูนิตใดยูนิตหนึ่งที่เกิด ‘ตรง’ มาก หรือตั้งใจขวาง แน่นอนว่าคนนั้นจะไม่ได้ไต่ขึ้นไปสู่ระดับบน แต่จะ ‘ตัน’ อยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ หรือมีอำนาจตัดสินใจน้อยที่สุดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มีชุดความคิดที่อธิบายเพิ่มเติมการ ‘ตามน้ำ’ เหมือนกัน ว่าถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ทำให้ส่วนรวมเสียหาย เช่น หักเปอร์เซ็นต์เพียงน้อยนิด แต่สเป็กของที่ได้ ไม่ได้ต่างจากเดิม ถนนยังเป็นถนน รถตู้ ยังเป็นรถตู้ อาวุธ ก็ยังเป็นอาวุธ ยังเป็นของดี ไม่ว่าจะเป็นของจีน หรือของอเมริกัน
เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่า
เป็นเรื่องเสียหายอะไรกับการตามน้ำนั้น
ขณะเดียวกัน หลายคนยังรู้สึกว่าการ ‘ตามน้ำ’ นั้นมีประโยชน์ เช่น หมอในโรงพยาบาล รู้สึกว่าได้ ‘ส่วนลด’ จากบริษัทยา มาตั้งกองทุนสวัสดิการช่วยเจ้าหน้าที่ผู้น้อย หรือจ้างคนเพิ่ม หรือถ้าผู้อำนวยการโรงเรียน จะเอาเงินแป๊ะเจี๊ยะ มาพัฒนาโรงเรียน เพราะอาศัยงบประมาณรายปีจากรัฐ อย่างไรก็คงไม่พอ..
นั่นอาจแปลว่า ในแง่หนึ่ง คนที่ ‘ตามน้ำ’ อาจรู้สึกผิดอยู่บ้าง จนต้องหาชุดความคิดอื่น มาอธิบายการกระทำของตัวเองว่าได้สร้างประโยชน์บางอย่าง หรือถ้าหาอะไรมาอธิบายไม่ได้ ก็จะบอกว่า งานที่ทำนั้น สร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม เป็นข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน
ถ้าเป็นแบบนี้ ก็สรุปได้อีกอย่างว่าสถานการณ์การคอร์รัปชั่นในไทยนั้น ‘แย่’ เกินกว่าที่จะเยียวยา ระบบตรวจสอบไม่เคยจัดการอะไรได้จริง และผู้ประเมิน ก็ไม่อาจประเมินสถานการณ์ให้แย่ลงได้ เพราะจะส่งผลเสียกับตัวผู้ประเมินเองว่าทำงานไม่ได้ผล..
สิ่งที่น่ากลัวก็คือ ประเทศที่รังเกียจการโกงประเทศนี้ ยังคง ‘จับทาง’ ไม่ถูกว่าสาเหตุของการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นอยู่ที่ไหน รากที่แท้จริงมาจากอะไร และพยายามทำให้การ ‘ฉ้อราษฎร์’ เป็นไปได้ ถ้ารัฐไม่เสียหายมาก รวมถึงตัวเขา ยังทำประโยชน์บางอย่างได้อยู่
เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะวนอยู่ในวังวนของการคอร์รัปชั่นต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ และสุดท้าย ‘ความโปร่งใส’ ก็เป็นแค่ชื่อของ ‘การประเมิน’ และการจัด ‘อีเวนต์’ ประจำปีเท่านั้น