เริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ด้วยข่าวการรัฐประหารโดยกองทัพในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างพม่า มีการจับกุมตัวอองซาน ซูจี และผู้นำพรรค NLD ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวัน รวมถึงตัดสัญญาณโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตด้วย โดยการยึดอำนาจครั้งนี้ กองทัพอ้างว่าเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ
การเกิดรัฐประหารที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีกครั้ง ทำให้หลายคนมองว่า กระบวนการประชาธิปไตยในพม่าถูกท้าทายอีกครั้ง และอำนาจของกองทัพที่ไม่เคยหายไปจากการเมืองพม่า รวมไปถึงภาพยึดอำนาจที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในประชาคมอาเซียน
The MATTER พูดคุยกับ อ.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองในพม่า ถึงสิ่งที่อาจเป็นเหตุผลของการรัฐประหารในพม่า ขั้วอำนาจต่างๆ ที่เกิดขึ้น อนาคตของพม่าในอีก 1 ปีที่ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ไปถึงสถานการณ์ของพม่า และไทยที่มีความคล้ายคลึงว่า จะไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร
ก่อนหน้านี้ อาจารย์มองว่าไม่น่าเกิดการรัฐประหาร แต่ตอนนี้เกิดการรัฐประหารขึ้นมาจริงๆ แล้ว อาจารย์มองสถานการณ์อย่างไรบ้าง
บอกที่มาก่อนว่า เราติดตามสื่อต่างประเทศของพม่าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น The Irrawaddy หรืออื่นๆ เขาก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โอกาสที่จะเกิดรัฐประหารมันน้อย แต่ว่าน้อยก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย จนคนเริ่มลืมกันไปแล้ว และเมื่อ 3 วันที่แล้ว กองทัพก็ออกมาเป็นแถลงการณ์ว่า เค้าจะตามรัฐธรรมนูญ คนก็เลยคิดว่าคงไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้ว อาจจะมีการเจรจากับพรรค NLD เราก็คิดว่ามันจบไปแล้ว
แต่วันนี้มันเป็นวันสำคัญที่ว่า เป็นวันเปิดสภาวันแรก หลังจากที่มีการเลือกตั้งช่วงปลายปี ส.ส. และทหารก็จะเข้าไปที่สภา เวลาเราจะวิเคราะห์ว่ามันเกิดอะไรขึ้น หรือสาเหตุที่มันเกิดรัฐประหารครั้งนี้ ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทำไมเขาถึงเลือกทำรัฐประหารในวันนี้ ในกรณีนี้ หลายคนจะบอกว่า เวลากองทัพจะทำรัฐประหาร เขาจะเชื่อเรื่องโชคราง แต่ในกรณีนี้ มันน่าจะไม่ใช่ การเลือกวันที่เปิดสภาเป็นวันรัฐประหาร ถือว่าแปลกมาก ไม่เคยมีเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พม่า แล้วก็จับกุมทั้งนักการเมือง ฝ่ายค้าน คนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ ในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา
สิ่งที่ทำให้กองทัพตัดสินใจก่อการครั้งนี้ มีหลายอย่าง ถ้าจะมองกันจริงๆ ต้องมองการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งสิ่งที่เรารู้สึกว่าแปลกใจประเด็นแรกคือ
1) กองกำลังชนกลุ่มน้อยที่แอคทีฟมากที่สุด คือ อาระกันอาร์มี่ (AA) ที่เขาไม่ลงรอยกับพรรค NLD กับกองทัพมาโดยตลอด เพราะเคยไปเรียกกองกำลัง AA ว่า ‘กลุ่มก่อการร้าย’ ระหว่างกันก็มีการโจมตีกันต่อเนื่อง และเคยมีกรณีจับตัวประกันของพรรค NLD ไป 3 คน ในช่วงก่อนเลือกตั้ง แต่ก่อนการเลือกตั้ง กองทัพไปติดต่อสัมพันธ์กับอาระกันอาร์มี่ คล้ายๆ กับไปร่วมกันประนามพรรค NLD และกรรมการการเลือกตั้งของพม่า อันนี้เป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะอาระกันอาร์มี่เขาสู้กับรัฐบาลอย่างยาวนาน มีข้อพิพาทหลายอย่าง แต่ทำไมเขาเลือกจะไปเข้ากับกองทัพของพม่า
2) อีกอันที่น่าสำคัญพอสมควร แต่ว่ายังไม่ใครพูดถึง คือการที่รัฐบาล NLD เพิ่งออกมายกเลิกโครงการสัญญาท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่เป็นเมกะโปรเจ็กต์ร่วมทุนระหว่างไทยกับพม่า และตอนนี้ทางการไทย ก็พยายามเจรจากับพม่าอยู่ ว่าอย่าเพิ่งยกเลิกได้ไหม แต่ที่ผ่านมาเขายกเลิกสัญญาไปแล้วประมาณ 7 ฉบับ ซึ่งมันสร้างความไม่พอให้กับกองทัพมาก เพราะท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นโครงการที่มีมาตั้งแต่รัฐบาลทหาร แล้วที่ NLD ไม่ค่อยชอบ เพราะว่ามันไม่ใช่โครงการที่ริเริ่มโดยฝั่งเขา และก็มีเรื่องของการไล่ที่ การไม่ผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม มีชื่อเสีย แล้วอิตาลีไทยเองก็มีข่าวไม่ค่อยดีในไทย มันเลยเป็นหลายอย่างที่ทำให้ NLD ยกเลิกสัญญา อันนี้มันยังไม่มีคนพูดถึงจริงจัง ก็ยังพูดไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการรัฐประหารหรือเปล่า แต่ก็น่าสังเกต
3) ประเด็นที่ต้องพูดถึงแน่นอน คือตอนนี้กองทัพพม่า มีข้อขัดแย้งอยู่กับกองกำลังของกะเหรี่ยง แล้วมันเกิดข้อพิพาทขึ้น มีการยิงกันในช่วงที่ผ่านมา เพราะว่ากองทัพอยู่ดีๆ ก็ไปตั้งถนนในเขตของกองกำลัง KNU มีการปะทะกัน ทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพไปที่อื่น และมีคนทั้งสองฝั่งเสียชีวิต
4) ประเด็นที่กองทัพชอบเอามาอ้าง คือว่า เมื่อปีที่แล้ว มีการโกงการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ถูกแต่งตั้งโดย NLD ก็มีหลายประเด็น หนึ่งคือ เขาไม่ให้มีการเลือกตั้งในบางเขตของรัฐยะไข่ โดยอ้างเรื่องของความปลอดภัย ว่ามีปฏิบัติการของอาระกันอาร์มี่อยู่ ซึ่งการเลือกตั้งในหลายเขตนี้ มีคนที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นล้านคน โดยเขาใช้คำว่า ‘Postponed’ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ยังไม่ได้มีการประกาศวันเลือกตั้งใหม่ในรัฐยะไข่เลย อันนี้ก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลนึงที่ทำอาระกันอาร์มี่เข้ากับกองทัพพม่า
แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ มีชื่อเสียมากๆ ในการใช้กฎที่เคร่งเกินไป ซึ่งเขาก็มองว่า เคร่งเพื่อรักษาฐานอำนาจของ NLD ในขณะที่พรรคเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ถูกกีดกันไปพอสมควร เช่นเขาจะมีการเซ็นเซอร์ ถ้าจะวิจารณ์ NLD หรือพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน จะต้องส่งสคริปต์ก่อน
โดยกรรมการการเลือกตั้งเขาจะมีโควต้าให้พรรคต่างๆ ไปพูดสุนทรพจน์ในทีวี แต่ว่าก็ต้องส่งสคริปต์ให้ กกต.พิจารณาว่า เหมาะสมหรือเปล่า แต่ว่ามันมีการพูดถึงว่า ถ้าพูดคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ หรือ ‘เสรีภาพ’ บางพรรคที่แม้จะเป็นประชาธิปไตย หรือวิจารณ์ NLD ก็จะโดนติติง โดนให้ต้องแก้สคริปต์ พรรคบางพรรคไม่ยอม ก็กลายเป็นเรื่องว่า ภายใต้การปกครองของ NLD ประเทศพม่ามีประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า กกต.บอกเลยว่า ไม่ลงรอยกับกองทัพที่สุด เพราะได้ใบสั่งมาจาก NLD และทำเพื่อ NLD
4 เคสหลักๆ นี้ เราก็จะเห็นว่ากองทัพก็จะใช้ข้ออ้างอันไหนก็ได้ มาดิสเครดิต NLD แต่ว่าสำหรับเรา คิดว่าเขาจะดิสเครดิตในประเด็นที่ 4 ในขณะที่ประเด็นที่ 1-3 อาจจะเป็นประเด็นยิบย่อย ส่วนประเด็นท่าน้ำลึกทวาย เราไม่ฟันธง แต่เราคิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะจังหวะเวลาต่างๆ
แม้จะมีการเลือกตั้ง เหมือนมีประชาธิปไตย แต่กองทัพพม่ายังอิทธิพลแค่ไหน
ทุกวันนี้ กองทัพยังมีอำนาจอยู่เยอะ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่ทหารร่างมากับมือ เขาบอกชัดเจนเลยว่า 25% ในรัฐสภาทั้งสองสภา ต้องเป็นโควต้าอัตโนมัติของคนในกองทัพ นี่ยังไม่นับสัดส่วนพรรคนอมินีของกองทัพ ซึ่งมีอยู่ 2-3 พรรคใหญ่ เช่น USDP ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านตอนนี้ แต่ว่าสิ่งที่อาจจะทำให้กองทัพไม่พอใจ คือพรรคเหล่านี้ได้เสียงน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มันก็หักปากกาเซียนเลย เพราะนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า อองซาน ซูจี จะได้เสียงน้อยลง จากการที่โดนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องโรฮิงญา สิทธิมนุษยชน คนก็จะตาสว่างมากขึ้นว่า NLD ไม่ใช่แสงสว่างของประชาธิปไตยในพม่า
แต่พอเลือกตั้งเสร็จ กลายเป็นว่า อองซาน ซูจี ได้เสียงเยอะขึ้นมาก เปรียบเทียบคราวนี้กับคราวก่อน มันอาจจะดูแตกต่างกันไม่มา แต่การที่ได้ที่นั่งของพรรคของกองทัพ ยกตัวอย่างในเนปิดอว์ เมืองหลวงที่เป็นพื้นที่ของทหาร มีบ้านพักของทหารที่เขาย้ายครอบครัวมาอยู่ในเนปิดอว์เพื่อมาเป็นฐานเสียง แต่ครั้งนี้ ที่นั่งจากพรรค USDP ตอนนี้ NLD กินเรียบเลย ยกเว้นแค่บางเขต มันชี้ให้เห็นเลยว่า กองทัพมันก็มีความกลัว ว่าเขาจะไม่สามารถควบคุมได้หรือเปล่า หรือมีการไปก้าวก่ายอำนาจอธิปไตยของกองทัพหรือเปล่า
ถ้าเราจะเข้าใจการเมืองของพม่า เราจะต้องเข้าใจว่า ทุกๆ ฝั่งมันถูกควบคุมโดยสิ่งที่เรียกว่าความกลัวตลอดเวลา ที่ดูสบายที่สุดคือประชาชน เพราะที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็นใครพูดถึงเรื่องรัฐประหารเลย นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่มีนักวิเคราะห์คนไหนขึ้นมาพูดเลยว่ามีโอกาสรัฐประหาร แม้ว่า กกต.ของพม่า จะออกกฎมามากมาย แต่ไม่มีใครคาดคิดเลย เพราะคนมองว่า กองทัพมีโควต้าอยู่แล้ว 25% พรรคของคุณก็มีที่ในสภา ทหารพม่าไม่น่าจะมีทางรัฐประหารอีกแล้ว เพราะปัจจุบันพม่ามาไกลเกินไปที่จะมีรัฐประหาร มีรัฐบาลพลเรือนมาแล้ว 5-6 ปี มีต่างชาติมาลงทุน รัฐบาลโอบามาก็ยกเลิกการคว่ำบาตร EU เองก็กลับมาค้าขายอย่างสมภาคภูมิ พม่ากำลังไปได้สวย เลยไม่มีใครคิดว่าจะมีรัฐประหาร
แม้ไม่มีใครคาดคิด แต่พอเกิดการรัฐประหารขึ้นมาจริงๆ มันสะท้อนอะไรได้บ้าง
เราคิดว่าคนในกองทัพเขากลัวว่า เขาจะไม่สามารถควบคุม NLD ได้อีกต่อไป และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า มิง อ่อง ลาย เขาประกาศว่าจะเกษียณ มันเห็นว่าเขาประกาศจะเกษียณแค่ลมปาก แต่จริงๆ คุณใช้เหตุการณ์ ใช้เงื่อนไขทางการเมือง ในการทำให้คุณยังอยู่ในอำนาจได้ต่อไปอย่างชอบธรรม อย่างน้อยก็ในสายตาของคนในกองทัพ
หรือมันอาจจะเป็นไปได้ว่า กองทัพอาจจะยังไม่สามารถหาตัวแทนของมิง อ่อง ลายได้ และเราก็ไม่ค่อยเชื่อว่า กองทัพ และ NLD จะสามารถหารือกันได้ เพราะเขาไม่ถูกกันเลย แต่เราคิดว่า ถ้ากองทัพจะมาเกี่ยวข้องกับ NLD มันแปลว่าต้องเป็นเรื่องที่กองทัพถูกละเมิดอำนาจอธิปไตยโดยตรง ซึ่งกองทัพก็จะบอกว่า มันเป็นเรื่องของการโกงเลือกตั้ง ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น แต่สำหรับเรา เรามองว่ามันเป็นเรื่องความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยมากกว่า
ตอนนี้ กองทัพประกาศภาวะฉุกเฉิน ยึดอำนาจหนึ่งปี สถานการณ์จะเป็นอย่างไร และอนาคตของประชาธิปไตยพม่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
คราวนี้เราตกใจจริงๆ อย่างที่บอก เราไม่คิดว่ากองทัพเขาจะกล้าทำ แต่จากกระแสของคนพม่าที่เราอ่านความเห็น เขาก็จะบอกว่า ‘นี่แหละมันก็คือกองทัพ ยังไม่ทิ้งลายแบบเดิม’
เราคิดว่าภายใน 1 ปีข้างหน้า มันต้องมีการลุกฮือของประชาชนขึ้นมาแน่นอน เพราะว่าตอนนี้ เหตุผลที่จะทำให้คนลุกฮือขึ้นมา มีสองเหตุผล อันแรกคือ ‘ลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องประชาธิปไตย’ สอง ‘ลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องอองซาน ซูจี’ ซึ่งเวลาเราเห็นคนพม่าโพสต์เกี่ยวกับประเทศ หรือรัฐประหาร เราจะแปลกใจอย่างนึง เขาจะพูดถึงแต่อองซาน ซูจี ดังนั้นหากเราพูดถึงการเมืองพม่า หรือประชาธิปไตยในพม่า เราอาจจะใช้เลนส์จากคนภายนอกมองเข้าไปไม่ได้ เพราะคนพม่า ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงเป็นอองซาน ซูจีอยู่ ซึ่งปัจจัยนี้ มันทำให้คนสามารถออกมารวมตัวได้ และออกมาประท้วงทหาร แต่เราก็ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า การปราบปรามของทหารจะเป็นอย่างไร
ที่เราเดาได้คือ มีการลุกฮือของประชาชนอย่างแน่นอน ซึ่งเราคิดว่ามันจะเป็นมูฟเมนต์ที่ออแกนิคพอสมควร และเนื่องจากกองทัพ ในยุคนึงสิ่งที่อยู่คู่กับกองทัพคือ Military interlligent ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมาก แต่พอมันเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยปุ๊ป เราก็ไม่แน่ใจว่าระบบนี้มันแย่ลงแค่ไหน หรือยังให้ความสำคัญอยู่ไหม แต่สมัยก่อน มันดีมาก เพราะว่ามันมีการสะกดรอยตาม มีการส่งทหารนอกเครื่องแบบไปดักฟังคน แทรกซึมมาในพรรคการเมือง มีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ตอนนี้พอบรรยากาศประชาธิปไตยเกิดขึ้นแล้ว เราก็ไม่แน่ใจว่าการควบคุมฝูงชน เหมือนปี 1988 หรือ 2006 มันก็อาจจะยากขึ้น และกองทัพอาจจะประเมินประชาชนของเขาน้อยไป เพราะนี่คือยุคของอินเทอร์เน็ต คนพม่าใช้เฟซบุ๊กกันมาก ดังนั้นการประท้วงของคนพม่าก็จะต่างออกไป
และอีกอย่างนึง คือเขาแต่งตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ 1 ปี แสดงว่าแผนนี้คือแผนการยึดอำนาจฐาวร อย่างของไทยประกาศกฎอัยการศึก สถานการณ์ฉูกเฉินประกาศทีละเดือน ละค่อยๆ ต่อไป อันนี้คือประกาศ 1 ปีเลย
ถ้าเช่นนั้น แรงกดดันจากนานาชาติจะมีผลอะไรหรือไม่
เราว่าเขาประเมินมาแล้วว่า เขาไม่แคร์ ยิ่งเลือกปฎิวัติในยุคหลังไบเดนขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ แปลว่าไม่ว่าใครเป็นผู้นำก็ไม่แคร์ เราถึงแปลกใจเพราะอเมริกาก็ลงทุนมาเยอะมาก แปลว่าเขามีหนทางของเขา ถ้าเลือกปฎิวัติในยุคทรัมป์เราจะไม่แปลกใจเลย เพราะทรัมป์ไม่แคร์อยู่แล้ว
และอีกประเด็นที่คิดว่าจะมีความสำคัญ คือความสำคัญของพม่ากับจีน เพราะในยุค NLD ของอองซาน ซูจี เขาจำเป็นต้องเข้าหาจีนมากขึ้น เพราะประเทศในโลกตะวันตกบอยคอตรัฐบาล NLD มากขึ้น จากเรื่องของโรฮิงญา ก่อนการเลือกตั้งนักวิเคราะห์ก็พูดแล้วว่า เขาต้องเข้าหาจีนมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลี ไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าพวกเขาไม่แคร์เรื่องการเมืองภายในอยู่แล้ว ขอแค่นักลงทุนของเขาได้รับการปกป้อง ทั้งมีข่าวว่าญี่ปุ่นจะมาลงทุนที่ทวายแทนไทยด้วย แต่ฝั่งอเมริกา และ EU ต้องเป็นปัญหาแน่นอน เพราะเขาต้องออกมาบอยคอตพม่าแน่ๆ
นอกจากพม่า พอเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร คนก็จะพูดถึงอาเซียน ว่ามักเกิดรัฐประหาร การยึดอำนาจเหมือนๆ กัน
รัฐประหารมักจะเกิดในภูมิภาคที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา คือประเทศในกลุ่มขั้วโลกใต้ ลาตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียจะประสบบ่อยมาก เพราะว่าประเทศในโลกใต้มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นสูง มีเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มีการหาประโยชน์จากทรัพยากร โดยคนที่เข้าไปหาประโยชน์ได้มากที่สุดคือคนที่มีอำนาจ มีปืน คือทหาร และที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลพลเรือนในประเทศเหล่านี้ไม่เข้มแข็งพอ เรามองแบบกว้างๆ ว่า รัฐบาลประชาธิปไตย เวลาจะเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ คือต้องการเข้าไปเปลี่ยนแปลง และปฏิรูปโครงสร้างของชนชั้นนำเดิม กรณีของพม่า พอมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก็มีการเปรียบเทียบระหว่าง NLD และกองทัพ ซึ่งคนพม่า เขาเกลียดทหารมากจริงๆ แม้ว่าจะเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแล้ว ถ้าทหารมาต่อสู้ในเวทีประชาธิปไตย ยังไงคนก็ไม่มีทางเลือก
ในบางประเทศที่เขาประสบความสำเร็จในการเอาทหารออกจากการเมือง เวลารัฐบาลพลเรือนขึ้นมา เขาจะมีสเตจในการเปลี่ยนแปลง แทนที่เขาจะพัฒนาเศรษฐกิจก่อน สิ่งแรกๆ ที่เขาทำ คือการเอากองทัพลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และมีการปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้กองทัพสามารถแทรกแซงการเมืองได้ แต่ของไทย ต้องเข้าใจว่า การเข้าไปปฏิรูปกองทัพ แปลว่าเข้าไปเหยียบหางของชนชั้นนำ แล้วคุณจะโดนรัฐประหาร รวมถึงเราต้องเข้าใจว่า แม้แต่นักการเมืองเอง เขาก็มีผลประโยชน์กับทหารเยอะ ดังนั้นการเมืองแบบเก่า คุณไม่มีทางที่จะปฏิรูปกองทัพได้อย่างแน่นอน
สำหรับเรา แม้แต่ NLD มันคือประชาธิปไตยแต่ในรูป ในเรื่องของการยึดหลักการ หรือการมีมาตรฐานในการรักษาประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชนเขาไม่มี พูดง่ายๆ คือมันเป็นการเมืองแบบเก่า ที่พอคุณเข้าไปสู่ระบบแล้ว คุณไม่สามารถหนีออกมาจากการเข้าไปร่วมผลประโยชน์ เพราะ NLD ก็ยังมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนกับธุรกิจสีเทาๆ เยอะมาก และ NLD เขาไม่ชอบให้พรรคเล็กพรรคน้อย ลืมตาอ้าปากได้ เขาชอบที่จะรวบอำนาจ ความเป็นประชาธิปไตยต้องผูกขาดที่คนเดียว ไม่มีการคานอำนาจของพรรคการเมืองใดๆ ได้เลย
มองอย่างงี้ พม่าและไทย ดูมีสถานการณ์คล้ายๆ กันประมาณหนึ่ง และดูห่างไกลจากการที่เอาทหารออกจากการเมือง และมีประชาธิปไตยทีเข้มแข็ง
คล้ายแต่ไม่เหมือน เพราะพม่าคนสั่งได้มีแค่คนเดียวคือทหาร แต่กรณีของไทย ทหารก็ยังถูกครอบไว้โดยสถาบัน นายทุน และชนชั้นนำบางตระกูล พม่าคล้ายกันแต่ไม่มีเจ้า ถูกครอบด้วยอีลีททหารเก่าๆ ทั้งหลาย
และตราบใดที่คุณไม่สร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ ไม่เอาคนรุ่นเก่าออกจากการเมือง ก็มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งยาก