ข่าวการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 4 รายในพม่า ที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีครึ่ง เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 25 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตยภายในประเทศพม่าที่หลายฝ่ายจับตามอง
ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี นับตั้งแต่ปี 2533 ที่มีการบังคับใช้บทลงโทษด้วยการประหารชีวิตในประเทศพม่า ดังนั้นการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้ของรัฐบาลทหารพม่าถือได้ว่ามีนัยสำคัญและดูเหมือนการพยายามส่งสัญญาณอะไรบางอย่างแก่ฝ่ายตรงข้าม ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกๆวัน
The MATTER ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองในพม่าถึงแรงขับเคลื่อนที่ทำให้รัฐบาลทหารพม่าจำเป็นจะต้องใช้การประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมไปถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาจากการกระทำในครั้งนี้
อาจารย์มองว่าการประหารชีวิตนักโทษการเมืองทั้ง 4 ราย ในครั้งนี้ มีนัยหรือความสำคัญต่อการเมืองพม่าในปัจจุบันอย่างไรบ้างครับ
ต้องบอกก่อนว่าการเมืองพม่านั้นเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง 2 ฝ่าย คือระหว่างกองทัพพม่ากับฝ่ายนิยมประชาธิปไตย การต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้ก็จะมีคีย์เวิร์ดอยู่หนึ่งคำที่หลายๆ ฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันก็คือ “กองทัพต้องการก่อให้เกิดความกลัวในสังคมของพม่า” และ “ฝ่ายประชาชนจะชนะรัฐได้ก็จะต้องต่อสู้โดยปราศจากความกลัว”
ทีนี้ระยะเวลากว่า 1 ปีครึ่งแล้วจากการรัฐประหารครั้งล่าสุด อาจารย์มองว่ากองทัพพม่าเองประเมินกระแสการต่อต้านจากประชาชนต่ำเกินไป กล่าวคืออาจจะมองว่าประชาชนอาจจะอยู่กับบ้านไม่ได้ออกมาเดินประท้วงกันมากมายขนาดนี้ แต่ตอนนี้การประท้วงมันไม่ได้เป็นเพียงแค่การตีหม้อตีไหหรือออกมาเดินประท้วงตามถนนตามเมืองเพียงแค่นั้นแล้ว
ตอนนี้แรงต้านจากภาคประชาชนกำลังเข้าสู่โหมดสงครามกลางเมืองแบบเต็มรูปแบบคือมีการจัดตั้งกองกำลังของประชาชนซึ่งก็คือ กองกำลังปกป้องประชาชน หรือ People’s Defence Force (PDF) และถึงแม้กองกำลังนี้จะเป็นกองกำลังที่ไม่ได้มีประสบการณ์การรบ แต่ก็คือชนชั้นกลางที่รู้สึกโกรธแค้นรัฐบาลทหารพม่าแล้วก้ไปเข้าร่วมกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธ์ุตามแนวชายแดนไทย-พม่า
ในความเป็นจริงแล้วกองกำลัง PDF อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเข้มแข็ง ถ้ากองทัพพม่าไม่ได้เปิดฉากโจมตีประชาชนอย่างโหดเหี้ยมตั้งแต่วันแรกของการทำรัฐประหาร วันที่ 1 ก.พ. 64 ซึ่งหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเองก็มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมประท้วงรายแรก อีกทั้งยังรวมไปถึงการซุ่มยิงหรือการทำทารุณกรรมต่างๆ นานา กับกลุ่มผู้ประท้วงจนมีผู้เสียชีวิตสะสมมากถึงหลักพันคน
พอมันเป็นการจัดตั้งกองกำลังและดำเนินการด้วยความโกรธแค้นและเมื่อมีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงถึงหลักพันคน ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทำให้ความโกรธแค้นของประชาชนมันเพิ่มมากขึ้น จนประชาชนต้องเดินทางไปยังพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธ์ุเพื่อต่อสู้ ซึ่งก็ถือเป็นกระบวนทัศน์เดิมๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในการเมืองพม่า
พูดง่ายๆ ก็คือการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้
เปรียบเสมือนกับการ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’
แม้จะมีข่าวออกมาว่ามีการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว 4 รายด้วยกัน แต่ก็มีข้อมูลเปิดเผยออกมาว่ามีการประหารชีวิตเพิ่มไปอีก 3 รายจากข้อมูลในโซเชี่ยลมีเดียของพม่าซึ่งก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจากว่าข่าวสารต่างๆ ของรัฐบาลทหารพม่าจะต้องได้รับการยืนยันจากสื่อของรัฐบาลทหารพม่าก่อนเท่านั้นจึงจะสามารถยืนยันได้ ซึ่งกองทัพพม่านั้นจะแตกต่างจากกองทัพไทยคือจะไม่มีการใช้โซเชี่ยลมีเดียแต่จะเป็นการเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์เป็นหลักและจะไม่มีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อใดๆ เลยโดย ผู้นำกองทัพ
กองทัพเองก็รับแรงกดดันเนื่องจากต้องรับศึกหลายด้าน เลยต้องการผ่อนคลายสถานการณ์การต่อสู้ด้วยความกลัว
บทลงโทษด้วยการประหารชีวิตไม่เคยเกิดขึ้นในพม่ามานานหลายสิบปี ถึงแม้ว่าพม่าจะปกครองด้วยรัฐบาลทหารที่มีภาพจำด้านความรุนแรง แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ไม่เคยใช้กลไกทางศาลหรือกฎหมายในการที่จะลงโทษด้วยการประหารนักโทษการเมืองมานานหลายสิบปีแล้ว แม้จะมีบทลงโทษด้วยการประหารชีวิตในยุคของนายพลเนวินที่พม่าโดดเดี่ยวตัวเองจากโลกภายนอกมาก่อน
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพม่าเพิ่งจะเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการปกครองด้วยรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในยุคของรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ National League Democracy (NLD) การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้สร้างภาพจำให้ประชาคมโลกเห็นว่าพม่ามีทิศทางทางการเมืองที่ก้าวหน้ามากขึ้น เป็นประชาธิปไตยแล้ว นักลงทุนควรที่จะเข้าไป แต่ในท้ายที่สุดก็กลับมาสู่การเมืองในรูปแบบเดิมคือวงจรรัฐประหารแบบไม่จบไม่สิ้น
หากเราย้อนไปดูรายชื่อของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกประหารชีวิตทั้ง 4 ราย คนทั่วไปจะรู้จักกันดีเพียงแค่ 2 คน คือ นายเพียว เซยาร์ ตอ สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และนายจ่อ มิน ยู หรือ“โก จิมมี” ศิลปินนักเคลื่อนไหวชาวพม่า โดยในกรณีของ โก จิมมี่ อาจจะเทียบได้กับคนเดือนตุลาของไทย คือเป็นบุคคลที่ไฮโปรไฟล์มาก เป็นนักเคลื่อนไหวคนแรกๆ ของพม่าเลยก็ว่าได้
สิ่งนี้ทำให้เราได้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่าเลือกที่จะประหารคนที่ไฮโปรไฟล์มากๆ ซึ่งอาจารย์เชื่อว่าคนที่ถูกจับที่แล้วถูกตัดสินลงโทษด้วยการประหารชีวิต 2 คนนี้คือคนที่ไฮโปรไฟล์ที่สุด การประหารคนที่ไฮโปรไฟล์ขนาดนี้ก็เป็นไปเพื่อการสร้างความกลัว ตัดไม้ข่มนาม หรือ เชือดไก่ให้ลิงดูเป็นหลัก เนื่องจากตัวกองทัพเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มืดแปดด้านเหมือนกัน เนื่องจากต้องรับศึกหลายด้านทั้งจากกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) และ กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่นี่จะทำยังไงให้ สถานการณ์การต่อสู้มันเบาบางลงก็เลยเลือกเป็นวิธีนี้
รัฐบาลทหารพม่าย่อมรู้ดีว่าการประหารนักโทษการเมืองครั้งนี้จะทำให้พม่าถูกประณามจากนานาชาติแน่นอน อะไรคือแรงจูงใจจากเวทีโลกที่ทำให้พม่าตัดสินใจประหารนักเคลื่อนไหวในครั้งนี้
ที่น่าสนใจคืออาจารย์เชื่อว่ารัฐบาลทหารพม่าเขาประเมินแล้วว่า อาเซียน (ASEAN) จะไม่ออกมาพูดอะไรในเรื่องนี้เพราะสิงคโปร์เพิ่งจะลงโทษประหารชีวิตนักโทษไปเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา สิงคโปร์ ออกแสดงจุดยืนเรื่องการรัฐประหารในพม่ามาเยอะมากและพอเมื่อสิงคโปร์ทำสิ่งที่คนทั่วโลกด่า เลยทำให้สิงคโปร์ไม่สามารถแสดงท่าทีอะไรได้มากกับการประหารชีวิตนักโทษการเมืองของพม่าในครั้งนี้
ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็เพิ่งจะลงโทษประหารชีวิตนักโทษไปเช่นเดียวกัน คือในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สิงคโปร์และญี่ปุ่นก็ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ ทำให้ยิ่งรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องนี้เนื่องจากประเทศฉันก็มีบทลงโทษประหาร ขณะเดียวกันรัฐบาลทหารพม่าเองเขาก็รู้ว่าแรงกดดันจากนานาชาติมันจะไม่มากไปกว่านี้แล้ว จึงถือว่าปัจจัยต่างๆ เอื้อให้รัฐบาลทหารพม่าตัดสินใจแบบนี้
1 ปีครึ่งที่ผ่านมา แรงกดดันจากนานาชาติเป็นอย่างไรบ้างกับสถานการณ์ในพม่า
พูดตรงๆ เลยคือเขาไม่แคร์เลย ไม่สนใจเลย เพราะในประวัติศาสตร์การสร้างชาติพม่ากองทัพพูดชัดมาตั้งแต่ต้นว่า สิ่งที่จะบ่อนเซาะทำลายความสมัครสมานสามัคคีในประเทศของเขาคือการยั่วยุจากภายนอก กองทัพพม่าจึงไม่เคยเชื่อใจหรือไว้ใจประเทศอื่นๆ เลย
เราจะเห็นได้จากเวลาที่พม่ามาคบกับไทย จีน หรือ อินเดีย ก็จะเป็นการคบแบบไม่สุด อย่างจีนนี่ชัดเจน เพราะในภูมิภาคเองก็ไม่มีใครไว้ใจจีนหนึ่งร้อยเปอเซ็นต์ ส่วนไทย พม่าคิดว่าพึ่งพาไทยได้นิดหน่อยก็เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากกองทัพเหมือนกัน แล้วไทยก็ต้องการที่ใช้สุญญากาศทางการเมืองตรงนี้ เพื่อเข้าไปลงทุน เจรจาธุรกิจ หรือ เพิ่มโอกาสต่างๆ ให้มากขึ้นขณะที่กองทัพไทยที่มีความคุ้นเคยกับกองทัพพม่ามากก็จะได้รับประโยชน์จากจุดนี้
แต่ถามว่า พม่าเชื่อใครไหม
อาจารย์เชื่อว่าเขามีลักษณะประจำชาติเขา คือ
เขาไม่เชื่อใครเลยและเป็นพวกพารานอยด์
การประหารชีวิตในครั้งนี้ส่งผลอย่างไรบ้างต่อกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า
ขอมองโลกในแง่ร้าย อาจารย์มองว่ามันจะแย่ลงเรื่อยๆ คือมองว่าเป็นการ “ลั่นกลองรบ” อย่างเป็นทางการก่อนหน้านี้เขาก็อาจจะลั่นกลองรบอย่างจริจังแล้วแหละแต่ว่ามันยังไม่ได้มีสัญญาณหรือจุดเปลี่ยนใดๆ ที่จะบ่งบอกได้ว่าสงครามได้เริ่มขึ้นแล้วจริงๆ
อย่างไรก็ตามนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกประหารชีวิตในครั้งนี้เป็นบุคคลสำคัญมากๆ ของพรรค NLD แล้วเป็นคนสนิทสำคัญของ อองซานซูจี ทั้งคู่ ถือเป็นนัยสำคัญเลยเพราะทั้ง 2 คน สนิทกับอองซานมากเป็นพิเศษ อย่าง เพียว เซยาร์ ตอ เราจะเห็นเขาเดินคู่กับ อองซานซูจี ตลอดเวลา
คือต้องเข้าใจก่อนว่า จริงๆ แล้วการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าจะแบ่งออกเป็น 2 สายหลักๆ คือ
- ฝ่ายที่คิดว่าพรรค NLD คือทุกสิ่งทุกอย่างหรือเป็นสถาบันทางการเมืองที่ดีที่สุด
- ฝ่ายที่มองว่าเราควรจะละทิ้งพรรค NLD และควรจะต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยด้วยความหลากหลายมากขึ้น
ในกรณีของ โก จิมมี กับ เพียว เซยาร์ ตอ เป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรค NLD คือกลุ่มคนที่คิดว่าพรรค NLD จะเป็นเสาร์หลักในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า กลายเป็นว่าการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ประชาชนเพียงอย่างเดียว การประหารชีวิตไม่ได้เป็นเพียงการตบหน้าประชาชนแต่ยังเป็น การส่งสัญญาณไปยัง รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ National Unity Government (NUG) ซึ่งมีแกนนำส่วนหนึ่งที่เป็นผู้สนับสนุนพรรค NLD มาก่อน ว่าคุณจะเป็นอย่างพรรค NLD คุณก็จะต้องมีจุดจบแบบนี้
อีกอย่างส่วนตัวก็เลยมองว่าการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นการจงใจทำร้ายจิตใจ อองซานซูจี โดยตรง ถือเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก จับทรมานเขาก็แล้ว จับขังก็แล้ว พรากเขาจากครอบครัว และ ยังจะทะยอยฆ่าคนสนิทเขา
อาจารย์จึงมองว่า ความเคลื่อนไหวฝั่งประชาชนจะรุนแรงขึ้นแต่ถ้าเราดูจากบทเรียนที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่าง ช่วงปี 70 อูนุเคยเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย หลังจากถูกปล่อยตัวออกมา โดยเข้ามาตั้งพรรคการเมืองในไทย และก็ใช้การเคลื่อนไหวรูปแบบเดียวกันก็คือการประสานกับกลุ่มต่างๆ แต่ในท้ายที่สุด ขบวนการนี้มีชีวิตอยู่ 3-4 ปี แล้วผู้นำก็แตกกัน
ถ้ามองย้อนกลับไปจากบทเรียนในอดีตสิ่งสำคัญที่สุดของกระบวนการประชาธิปไตยคือการต้องมีผู้นำ อาจารย์ไม่เชื่อในการเคลื่อนไหวที่ไม่มีผู้นำ แม้จะไม่มีพระเอกขี่ม้าขาวแต่อย่างน้อยต้องมีแกนนำเพื่อนำขบวนการและเพื่อเชื่อมต่อขบวนการของคุณกับคนรอบข้าง และยังจะต้องเป็นคนประนีประนอมกับหลายๆ ฝ่ายได้ด้วย
เพราะในท้ายที่สุดหากให้ คนพม่ามาเป็นแกนนำก็จะแตกกันเพราะทุกคนมีเป้าประสงค์เป็นของตัวเอง จึงจะต้องมีผู้นำที่สามารถหลอมรวมทุกฝ่ายเพื่อที่จะมุ่งหน้าไปที่วาระหลักเพียงวาระเดียว คือการทำให้กองทัพพม่าลงจากอำนาจให้ได้
ตอนนี้ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) จะต้องเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง เนื่องจากโจทย์ที่ยากที่สุดคือแต่สิ่ง คุณจะรวมจิตใจของคนทั้งชาติได้อย่างไร ? เกลี้ยกล่อมโน้มน้าวในกลุ่มชาติพันธุ์ให้มาร่วมต่อสู้ได้อย่างไร ?
การประหารชีวิตในครั้งนี้ส่งผลอย่างไรบ้างต่อประเทศไทย ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย
ไม่กระทบเลย ประเทศไทยเวลาพูดถึงพม่าก็จะลอยตัวเหนือปัญหา ปัญหาใดๆ ก็คือปัญหาภายในประเทศของเขา อันนี้คือนโยบายของไทยที่มีต่อเกือบทุกประเทศ ยกเว้นในกรณีที่ไทยได้รับผลกระทบด้วย
ในสายตาของคนธรรมดามองไม่ต้องเป็นทหาร เราก็จะเห็นว่าไทยได้รับผลกระทบจากการสู้รบครั้งนี้เยอะมาก เช่นเรื่องเครื่องบินรบรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนของไทย คนไทยโกรธมาก แต่กองทัพมองว่าเคลียร์กันแล้ว เป็นเรื่องเล็ก ขณะเดียวกันก็มีข่าวจากฝั่งพม่าว่า เฮลิคอปเตอร์ของไทยก็บินเข้าไปในฝั่งพม่า 2 ครั้ง
มีคนตั้งคำถามว่า เฮลิคอปเตอร์ฝั่งไทยบินเข้าไปทำไมเพราะมันไม่มีเหตุผลใดๆ เลย ที่จะต้องเข้าไปในพม่า แต่พอเข้าไปได้ก็แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ทางทหารของไทยกับพม่ามันแน่แฟ้นจริงๆ และก็คุยกันได้ตลอด
ทหารมองอีกอย่าง ประชาชนมองอีกอย่าง
ขณะที่เรื่องการประหารชีวิต ทุกภาคส่วนก็กระอึกกระอัก เนื่องจากคนไทยหลายคนแม้จะมองว่าประเทศไทยควรจะพัฒนาให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่หลายคนก็ยังมองว่าก็ควรมี โทษประหารชีวิตอยู่ เพราะเขามองว่าเป็นวิธีการสกัดกั้นอาชญากรรมร้ายแรงที่ดีที่สุด พอมาถึงเรื่องพม่าก็เลยไม่ออกความเห็นกัน
เพราะมุมมองของสังคมไทยยังไม่เหมือนในสังคมยุโรปที่ต่อต้านโทษประหารชีวิต มุมมองประชาธิปไตยของไทยเป็นเรื่องของการเมืองมากเกินไป คือมองไปที่การเลือกตั้ง การไม่มีรัฐประหาร แต่ซึ่งจริงๆ แล้วประชาธิปไตย มันเป็นเรื่องอื่นๆ ที่อยู่รอบตัว ด้วยเช่น สิทธิมนุษยชน เป็นต้น
จะส่งผลอย่างไรกับฉากทัศน์การเมืองของพม่าในอนาคตบ้าง
ตอนนี้มีคำเตือนจากสถานทูตหลายแห่งไม่ให้เดินทางไปประเทศพม่า อาจารย์เชื่อว่าสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นจริงๆ จะมีความพยายามก่อวินาศกรรมอีกเยอะมาก อย่าไปคิดว่ากองทัพพม่าที่มีแสนยานุภาพสูง จะห้ามไม่ให้ประชาชนต่อต้านกองทัพได้ ถ้า สหรัฐฯ แพ้สงครามเวียดนามแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้
อนาคตอาจจะมีการลองสังหารบุคคลสำคัญและจะมีการลอบโจมตีฐานที่มั่นของกองกำลัง PDF ครั้งใหญ่ตามมาในอนาคต ประชาชนจะออกมาเดินประท้วงได้ยากมากยิ่งขึ้น การเคลื่อนไหวจะอยู่แทบชายแดนมากขึ่้น
ผลกระทบที่ไทยจะต้องเจอคือผู้อพยพจะเข้ามาสู่ประเทศไทยสูงขึ้นแน่นอน นับตั้งแต่นี้การสู้รบจะเยอะขึ้นและมีหลายรูปแบบมากขึ้น จะมีแกนนำพม่าอพยพมาอยู่ไทยมากขึ้น นี่คือรูปแบบการต่อสู้ทางการเมืองในรูปแบบเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) อาจจะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้ในตอนนี้
ในอนาคตเราจะเห็นการประหารนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกหรือไม่
เห็นแน่นอน ตอนนี้มีอยู่ในลิสต์ร้อยกว่าคนเริ่มประหารไปแล้ว ยิ่งเป็นเริ่มจากคนสำคัญที่สุดด้วย ก็จะมีให้เห็นตามมาเรื่อยๆ