‘รัฐประหาร’ วิธีทางการเมืองของกองทัพทหารที่ยึดอำนาจ เข้ามาปกครองประเทศ ที่แม้ในทางรัฐศาสตร์ และการเมืองโลกจะถูกมองว่าล้าหลัง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งประวัติศาสตร์ไทยเอง เราก็คุ้นชินกับเหตุการณ์นี้ รวมไปถึง ล่าสุดในประเทศพม่า ที่เพิ่งมีการยึดอำนาจไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แม้ว่ากองทัพพม่า จะอ้างว่ายึดอำนาจเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ และปกป้องประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม แต่จากงานวิจัยต่างๆ ก็มีให้เราเห็นแล้วว่า รัฐประหารไม่ใช่คำตอบ และไม่ใช่ทางออกที่ทำให้ประเทศก้าวหน้าสู่ประชาธิปไตย ซึ่ง ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์เอง ก็ยืนยันถึงจุดนี้ ใน 3 ประเด็น
อาจารย์ประจักษ์กล่าวกับเราว่า ข้อเท็จจริงทางรัฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ชี้ชัดว่าประการแรกว่า ‘ไม่มีประเทศไหนที่ทำรัฐประหารแล้วเจริญได้’ ด้วยความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้การรัฐประหารกลายเป็นวิธีที่ล้าหลัง และไม่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกแล้ว
“ก่อนหน้านี้ ศตวรรษที่ 20 ในช่วงที่มีภัยในการสู้รบช่วงสงครามเย็น การทำรัฐประหารเป็นเรื่องปกติ หลายประเทศก็ใช้วิธีนี้ แต่พอศตวรรษที่ 21 มา แทบไม่มีประเทศไหนในโลกทำรัฐประหารกันแล้ว การทำรัฐประหารกลายเป็นสิ่งล้าหลังในโลกไปแล้ว ด้วยความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งคุณค่าทางกฎหมายระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ โลกาภิวัฒน์ที่ทำให้ ในศตวรรษนี้ ถ้าประเทศไหนยังทำรัฐประหาร ต้นทุนจะสูงมาก ทั้งที่จะโดนบอยคอตจากนานาชาติ โดนแทรกแซง โดนตัดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ที่มีต่อนักลงทุน ที่จะขาดความเชื่อมั่น
ถ้าไปดู ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ประเทศที่ยังมีรัฐประหารอยู่ คือประเทศที่ล้าหลังทางการเมืองมากๆ บางประเทศคนไทยยังไม่เคยรู้จักชื่อด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น บูร์กินาฟาร์โซ มาลี ซูดาน ขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาไม่เลือกวิธีนี้กันแล้ว แม้แต่ประเทศที่เคยทำรัฐประหารบ่อยๆ ในลาตินอเมริกา อย่างบราซิล ชิลี อาร์เจนตินา หรือในอินโดนีเซีย และหลายประเทศ ดังนั้น ตอนนี้ถ้ายังทำรัฐประหารอยู่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเยอะ ประเทศก็จะยากที่จะเจริญก้าวหน้า เพราะเหมือนคุณตัดตัวเองออกจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในเชิงการทูต ในทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญนักลงทุนจะไม่เชื่อมั่น เพราะประเทศนี้ไม่มีกฎเกณฑ์
ในยุคที่ไม่มีใครทำรัฐประหาร ถ้าคุณยังทำ คุณก็ไม่สามารถให้ความไว้วางใจกับนักลงทุนได้ว่า ประเทศจะเดินหน้าต่อไปยังไง เขาก็จะถอนทุน และเกิดความหวั่นเกรง อย่างพม่าในครั้งนี้ ก็ไม่ง่ายเหมือนตอนที่เขารัฐประหารในอดีต บริษัทใหญ่หลายๆ บริษัทตอนนี้เริ่มประเมินสถานการณ์แล้วว่าจะย้ายทุนออก หรือจะหยุดผลิตชั่วคราวแล้ว” อาจารย์กล่าวในประเด็นแรก
นอกจากการรัฐประหาร ที่ทำให้รัฐบาลพลเรือนถูกยึดอำนาจแล้ว ยังเป็นการทำให้นายพล และทหารขึ้นสู่อำนาจโดยปริยาย ซึ่งประเด็นที่ 2 นี้ อาจารย์ประจักษ์ก็บอกว่างานวิจัยยังชี้ชัดเจนว่า ‘ไม่มีนายพลที่เข้าไปบริหารประเทศ แล้วประเทศพัฒนาขึ้น’
“ประเด็นนี้ เชื่อมโยงกับข้อที่ 1 ในโลกยุคปัจจุบัน ถ้าเราไปดู แทบจะไม่มีประเทศไหนที่นายพลเข้ามาบริหารประเทศ โดยเฉพาะนายพลที่บริหารประเทศผ่านการยึดอำนาจ เพราะทั่วโลกสรุปแล้วว่า ยุคปัจจุบัน ภัยความมั่นคงมันเปลี่ยนไป เวลาเราพูดถึง security มันไม่ใช่ความมั่นคงแห่งรัฐ (state security) เป็นหลักแล้ว เขาเน้นไปที่ความมั่นคงของมนุษย์ (human security) ปัจจุบันถ้าพูดถึงภัยความมั่นคง มันไม่ได้หมายถึงสงครามแล้ว สงครามสู้รบเกิดขึ้นน้อยลงมากในโลกนี้ แต่ภัยความมั่นคงจริงๆ มันคือโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ ภาวะความอดอยาก ขาดแคลนทางอาหาร ทรัพยาการ การเข้าถึงน้ำ และอากาศที่สะอาด สิ่งเหล่านี้มันมาคุกคามชีวิตมนุษย์ในแต่ละรัฐ”
อาจารย์ชี้ว่า เมื่อความหมายของความมั่นคงเปลี่ยน ตัวผู้ที่จะรับมือเรื่องราวเหล่านี้ก็ต้องเปลี่ยนด้วย
“พอคอนเซ็ปต์เรื่องความมั่นคงเปลี่ยนไป ทหารไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดในการรับมือเรื่องพวกนี้ ถามว่าทหารสู้กับเชื้อโรคได้ไหม ? หรือทหารไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดที่รับมือกับเรื่องอากาศ ดังนั้นยุคปัจจุบันเราต้องการคนที่มีความรู้เท่าทันมาบริหารเรื่องเหล่านี้”
จะเป็นนักบริหาร นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ หรือพลเรือนที่สามารถมารับมือกับภัยคุกคาม ความมั่นคงที่ซับซ้อนมากขึ้น ก็เลยไม่มีใครเอานายพลมาบริหาร”
มันไม่เหมือนในยุคสงครามเย็น ที่ภัยความมั่นคงคือจะโดนบุก โดนยึดครอง ปัจจุบันไม่มีแล้ว ยกเว้นถ้าทหารคนไหนมีความทะเยอทะยาน อยากขึ้นสู่อำนาจ ก็ต้องไปลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือตั้งพรรค แต่รูปแบบการยึดอำนาจ ปกครองตนเอง และตั้งเพื่อนฝูงนายพลมาปกครอง มันไม่มีใครเขาทำ ก็อาจจะเหลือ พม่า ไทย และอียิปต์เท่านั้น” อาจารย์ยกตัวอย่าง
สำหรับประเด็นที่ 3 ไม่เพียงแค่เรื่องของการบริหาร และพัฒนา แต่อาจารย์ประจักษ์ยังชี้ข้อเท็จจริงอีกหนึ่งข้อว่า การรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงทางการเมือง ที่ทำให้ ‘ประเทศเกิดความแตกแยกมากกว่าความสมานฉันท์’
“ถ้าเราไปดู มีงานศึกษาวิจัยว่า การรัฐประหารในปัจจุบัน มันทำได้ยาก เพราะไม่ได้รับความชอบธรรม ดังนั้นถ้าจะทำ คณะรัฐประหารจะใช้เหตุผลหลัก คือสังคมมีความแตกแยก และประชาธิปไตยมีความถดถอย กองทัพจึงจะเข้ามาทำให้สังคมสงบสุข และฟื้นฟูประชาธิปไตย ทุกประเทศที่ผมกล่าวถึงทำอย่างนี้หมด
ปกติคณะรัฐประหารมักจะมีข้ออ้างสองข้อ คือรัฐบาลพลเรือนคอร์รัปชั่น หรือไม่ก็โกงการเลือกตั้ง มีประชาธิปไตยที่สกปรก ข้ออ้างแบบนี้ก็ปรากฏขึ้นในประเทศอื่นๆ ไม่ใช่แค่ไทย ครั้งนี้เราก็เห็นว่า พม่าก็อ้างเรื่องโกงการเลือกตั้ง การเลือกตั้งไม่ยุติธรรม ต้องหาข้ออ้างที่ดูชอบธรรมหน่อยว่า เราไม่ได้รัฐประหารเพื่อตัวเอง เพื่อบ้านเมือง และเพื่อประชาธิปไตยด้วยซ้ำ
แต่ผลที่เกิดขึ้นจากปรากฎนักวิชาการก็ไปศึกษา และมีงานวิจัยที่ชี้ว่าระดับความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ หลังการเกิดรัฐประหารยิ่งถดถอยลงไปเรื่อยๆ ไม่ได้ฟื้นฟูประชาธิปไตย แต่ทำให้ความเป็นเผด็จการดิ่งลึกลงไปเรื่อยๆ สิทธิเสรีภาพคนก็หายไป สิทธิเสรีภาพสื่อยิ่งหายไปกว่าเดิม ในเรื่องความแตกแยก ไม่มีประเทศไหนที่ทำรัฐประหารแล้ว สงบสุขขึ้นกว่าเดิม บางประเทศบานปลายเป็นสงครามการเมือง เพราะว่ามันไม่สามารถทำให้คนยอมรับร่วมกันได้ ว่าอำนาจของคุณมีความชอบธรรม เมื่อคุณทำรัฐประหาร ฝ่ายที่สูญเสียอำนาจไป หรือฝ่ายที่เขาสนับสนุนรัฐบาลของเขา เขาไม่มีทางที่จะยอมรับการปกครองของคุณ อย่างเช่นตอนนี้ที่เราก็เริ่มเห็นคนพม่าออกมา อารยะขัดขืน บอยคอตแล้ว”
นอกจากสามประเด็นที่สะท้อนจากการทำรัฐประหาร เหตุการณ์ในพม่าครั้งนี้ มักทำให้คนพูดถึงประชาคมอาเซียน และความเป็นเพื่อนบ้านของประเทศในภูมิภาคนี้ ว่ามีความเหมือนกัน ทั้งในเรื่องของอำนาจกองทัพ ความเป็นเผด็จการ ซึ่งอาจารย์ประจักษ์ก็มองว่า เพราะภูมิภาคนี้ยังมีประชาธิปไตยที่ไม่เข้มแข็ง และการไม่แทรกแซงกันของอาเซียน ยิ่งทำให้เกิดรัฐประหารง่ายขึ้นด้วย
“อาเซียนเรามีประวัติที่ไม่ดี หลายประเทศก็เคยเป็นแชมป์เปี้ยนรัฐประหารมาก่อน อินโดนีเซียก็ถูกปกครองโดยเผด็จการทหารยาวนาน กัมพูชา ไทย พม่าก็มีการทำรัฐประหารมาเยอะ เรียกได้ว่าเป็นภูมิภาคที่ประชาธิปไตยมันยังไม่ตั้งมั่นเท่าไหร่ แต่ละประเทศก็จะมีนโยบายไม่ยุ่งกันเอง เขาใช้คำหรูๆ ว่าเราจะสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์ของประเทศเพื่อนบ้าน แต่จริงๆ หลักการนี้มันตั้งขึ้นมาเพราะเขารู้ว่า แต่ละประเทศมีแผล ฉะนั้นอย่าวิพากษ์วิจารณ์กันเองเยอะ เพราะถ้าเราไปวิจารณ์เขาเดี๋ยวก็โดนกลับ
พูดง่ายๆ พลเอกประยุทธ์จะกล้าไปวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารในพม่าได้อย่างไร เพราะพูดไปมันเข้าตัวเอง สมมติแกไปบอกว่า การรัฐประหารนี้ไม่ชอบธรรม ไปล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งได้ยังไร ผู้นำก็เป็นผู้หญิงด้วย เขาพูดไม่ได้ มันเข้าตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งก็คือสิ่งที่พลเอกประยุทธ์ทำตอนการรัฐประหารปี 2557 ดังนั้น เวลาเกิดการรัฐประหารขึ้น อาเซียนก็จะไม่ค่อยเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ หรือบอยคอตกัน มันก็น่าเศร้า เพราะเป็นภูมิภาคที่ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนไม่ตั้งมั่น ดังนั้นเวลาเกิดเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเทศเพื่อนบ้านก็จะเงียบ เพราะประเทศตัวเองก็ละเมิดเหมือนกัน
ฉะนั้นพอเป็นแบบนี้มันยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยง ให้เกิดการรัฐประหารได้ เพราะสมมติคุณเป็นนายพลในพม่า คุณรู้ว่าถ้าคุณทำรัฐประหาร อย่างน้อยในประเทศเพื่อนบ้านก็จะไม่มีใครมาเอาเรื่อง ไม่โดนบอยคอต เหมือนไทยตอนปี 49 และ 57 เพื่อนบ้านก็ไม่มีใครมาว่าเรา
ดังนั้นก็อย่าประมาท ก็ต้องมีบทเรียนจากพม่า คือไม่ใช่ว่าของไทยเราไม่มีความเสี่ยงในการเกิดรัฐประหารเช่นกัน มันก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะว่าถ้าเราดูพม่า จริงๆ ทหารก็มีอำนาจเยอะอยู่แล้ว และก็เอาอำนาจไปฝังในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แบบเดียวกับไทย แต่พอถึงจุดนึงที่เขารู้สึกว่า สั่นคลอนแล้ว จะโดนปฏิรูป โดนปรับเปลี่ยน เขาก็ต้องตัดสินใจกระชับอำนาจผ่านการรัฐประหาร มันเหมือนเป็นเครื่องมือที่เขาคุ้นเคยที่สุด มันเป็นสกิลที่เขามี และอยู่ใน DNA ของเขา ซึ่ง DNA นี้อยู่ในทหารไทยเช่นกัน”
โดยสำหรับสถานการณ์การเมืองในพม่าครั้งนี้ อ.ประจักษ์ ยังได้แนะนำหนังสือ 2 เล่ม คือ ‘เมียนมา การเมืองการปกครองระยะเปลี่ยนผ่าน’ โดย อ.ดุลยภาค ปรีชารัชช และ ‘ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด’ โดย ตั้น เมี่ยน-อู ซึ่งเล่มแรกนั้น อาจารย์แนะนำว่า เป็นหนังสือในเชิงตำรารัฐศาสตร์ เรียนรู้โครงสร้าง และเข้าใจภาพการเมืองของพม่า ขณะที่เล่มผ่าพม่านั้น เป็นเล่มที่เล่าประวัติศาสตร์ของพม่า จากอดีตตั้งแต่มนุษย์ยุคใหม่ ถึงปัจจุบันมา ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นชนชั้นนำ ที่ทำให้ในช่วงที่หนังสือเปิดตัว ได้สร้างความฮือฮาในสังคมพม่าด้วย
photo by. Asadawut Boonlitsak