ปีหน้าจะเป็นยังไงต่อไป? ดูจะเป็นคำถามในใจที่เอาต์ไปแล้ว เพราะคำถามของคนทำธุรกิจหลายคน ตลอดจนคนเดินถนนทั่วไปในวันนี้ คงเป็นคำถามเดียวกันว่า จะผ่านปีนี้ไปได้สวยงามหรือไม่
เมื่อ COVID-19 ระบาดระลอกใหม่ (ตามที่เขาเรียกกันอะนะ) ในช่วงใกล้ปิดปีที่แสนทรหด หลายคืนที่ผ่านมา คงจะเป็นช่วงเวลาที่หลายคนข่มตานอนได้ลำบากเหลือเกิน ฉันทำดีแล้ว ฉันป้องกันดีแล้ว หลายเดือนระหว่างล็อกดาวน์รอบก่อนก็อดทนเต็มที่แล้ว ทำไมยังเกิดระลอกใหม่ได้ล่ะเนี่ย?
ยิ่งช่วงใกล้ปีใหม่ เป็นช่วงที่คนจะออกเดินทาง และจับจ่ายใช้สอย ตลอดจนสังสรรค์รวมตัว ทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ เชื่อเหลือเกินว่าผู้ประกอบการหลายคนก็รอจังหวะนี้ จับกระชอนในมือเตรียมกอบโกยให้มั่น
แต่ COVID-19 ที่ระบาดจากศูนย์กลางสมุทรสาครดับฝันเสียแล้ว ท่ามกลางมือที่ยกก่ายหน้าผาก The MATTER ใช้วิธีโทรสัมภาษณ์ (เพราะเราต้อง Social Distancing แบบที่รัฐบาลบอก) ผู้ประกอบการในหลายกลุ่มธุรกิจที่ดูจะได้รับผลกระทบถ้วนหน้า
อะไรๆ ก็ผับ ก็บาร์ โดนก่อนเพื่อนเลย
นี่คือการส่งเสียงจาก ภู – ภูวณัฎฐ์ แท่นวัฒนกุล เจ้าของร้าน ‘House of HEALS’ สถานบันเทิงยามค่ำคืนย่านพญาไท ที่มีโชว์แดร็กควีน เรียกความนิยมจากนักท่องเที่ยวได้มหาศาลในหลายเดือนที่ผ่านมา
เท่าที่จำได้ บาร์แดร็กควีนแห่งนี้เป็นบาร์ที่เปิดในช่วงที่โรคระบาดกำลังเกิดขึ้นพอดี แต่ภูวณัฎฐ์ก็เดิมพันว่าจะอยู่รอด และมันก็ไปได้สวย จนกระทั่งเกิดการระบาดระลอกใหม่
“เวลามันเกิดอะไรแบบนี้ขึ้น คุณนึกออกไหม ผับมันเป็นที่แรกที่คนจะไม่มา ผับบาร์คือที่ๆ แรกที่คนจะรู้สึกว่ามีโอกาสสูงที่จะติด”
ทันทีที่คืนวันที่ 19 ธันวาคม รัฐบาลยืนยันการระบาด COVID-19 ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่สมุทรสาคร วันต่อมา ยอดขายของ House of HEALS ลดลงไป 70-80% คนเข้าร้านบางตาทันที จนมาวันนี้ก็ยังไม่ดีขึ้น
“อะไรก็ช่าง เกิดอะไรขึ้นมาผับซวยอย่างแรก โดนเพ่งเล่งก่อนเลย”
ร้านอาหารทะเลก็ก่ายหน้าผากไม่แพ้กัน
นอกจาก House of HEALs แล้ว ภูวณัฎฐ์ยังทำธุรกิจร้านอาหารที่มีวัตถุดิบหลักจากปลาแซลมอนชื่อ ‘เหลือใจ’ ซึ่งมีหลายสาขาทั่วกรุงเทพฯ เราจึงถามชีพจรของร้านเหลือใจบ้าง เขาเล่าว่า กระทบไม่แพ้กัน แต่ยังเบากว่าบาร์แดร็กควีน
“เหลือใจ ตั้งแต่มีข่าวระลอกใหม่ ยอดก็ลดลงวันต่อวันราว 30-50% ตอนนี้เหลือรายได้ 50% จากปกติแล้ว เราคิดว่าคนกลัวที่จะออกจากบ้านแล้ว ประกอบกับข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อมาเดินที่ห้างสยามสแควร์วัน สาขาที่ห้างฯ ก็โดนผลกระทบด้วย ส่วนสาขาที่ติดมหาวิทยาลัย พอย้ายไปเรียนออนไลน์กันก็กระทบอีก”
อย่างไรก็ตาม เหลือใจยังพอหาทางรอดได้หากเกิดการล็อกดาวน์ระดับประเทศรอบที่ 2 เพราะภูวณัฎฐ์พาร้านรอดมาแล้วในการล็อกดาวน์รอบที่หนึ่ง โดยไม่ตัดเงินเดือนพนักงานสักคน และใช้วิธีการอัดฉีดโปรโมชันออนไลน์เดลิเวอรีแน่นๆ แทน
“ถ้าล็อกดาวน์รอบ 2 เกิดจริง สำหรับเหลือใจ เราจะแค่เซ็ง มันประคองไม่ให้เจ๊งได้ อาจจะไม่ได้กำไร ขาดทุน แต่ไม่เจ๊ง ยังมีกระแสเงินสดจะเลี้ยงพนักงาน น่าจะขายเดลิเวอรีได้ ยอดไม่เยอะแต่หมุนจ่ายพนักงานได้ แต่ถ้าเป็น House of HEALS คิดหนักเลยนะ เพราะถ้าล็อกดาวน์เราขายอะไรไม่ได้เลย ต้องหางานอื่นหรือพลิกแพลงธุรกิจเพื่อให้พนักงานทำงานและพอมีเงินเข้ามาได้”
“เรารู้สึกว่าถ้าจะล็อกดาวน์จริง ก็ฮึบ ล็อกให้จบ 14 วันเราอดทนให้ แล้วจะได้ทำมาหากินต่อ อย่ามาครึ่งๆ กลางๆ ว่าจะล็อกไม่ล็อก เปิดได้นะ แต่ห้าม 1-2-3-4-5 ห้ามคนเยอะ ห้ามคนเต้น ต้องมีที่กั้น เพราะเปิดได้แต่นั่นนี่ สุดท้ายคนก็ไม่มาอยู่ดี”
ผู้ประกอบการอย่างภูวณัฎฐ์ต้องการที่สุดในเวลานี้ก็คือ ‘ความชัดเจน’ ต่อมาตรการต่างๆ
“แต่ประชุมกันแล้วสรุปไม่ได้จะทำยังไง เราจะบอกพนักงานเรายังไง ในฐานะผู้ประกอบการเราต้องการความชัดเจน คุยมาแล้วบอกมา เราจะได้เตรียมตัว ไม่ใช่ประชุมวันนี้ แต่พนักงานออกมาทำงานแล้ว เราซื้อของมาสต็อกเตรียมขายแล้ว แค่ขาดทุนวันเดียวเราก็ไม่ไหวนะ”
“เราอยากให้ COVID-19 มันจบไป ทุกคนคงขอแบบนี้เหมือนกันแหละ เพื่อที่จะทำมาหากินได้ อย่างรอบแรกที่ล็อกดาวน์มันจบไป เราเห็นผู้ประกอบการหลายคนเขาลงทุนเพิ่มนะ เพราะเขาจะเอาเงินคืนจากช่วงที่ขาดทุนไป ฉะนั้นทุกคนก็อัดฉีดเงินเพิ่ม ดังนั้นรอบนี้มันจะหนักกว่ารอบที่แล้วมากสำหรับคนทำธุรกิจ เพราะเราคิดว่าสถานการณ์มันดีแล้วไง เราเลยกลับมาสู้”
สถานการณ์จากร้านขายยาในสมุทรสาคร
เรามีโอกาสได้คุยกับเจ้าของร้านขายยาในสมุทรสาคร ซึ่งตั้งห่างจากตลาดกลางกุ้งประมาณ 10 กิโลเมตร เภสัชกรหญิงรดา (นามสมมติ) เล่าให้ The MATTER ฟังว่า ตอนนี้เธอปิดร้านยาว 14 วันตามที่จังหวัดถูกล็อกดาวน์ เพราะบ้านเธออยู่ชานเมืองกรุงเทพฯ และขับรถไปเปิดร้านทุกวัน
“วันแรกที่มีข่าว เรากลับบ้านมาก็คิดว่าจะเอายังไง พอเขาล็อกดาวน์ เราก็ตัดสินใจปิดร้าน 14 วันและกักตัวเองอยู่ที่บ้าน เพราะเราไม่แน่ใจว่ามันปลอดภัยแค่ไหน ห่วงคนที่บ้านด้วย เข้าออกก็จะยากเพราะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทั้งขาเข้าและออก”
ดังนั้นตอนนี้ร้านขายยาและตัวรดาเอง ก็มีรายได้เป็น 0 บาทมาได้หลายวันแล้ว แถมยังมีของค้างสต็อกอีกจำนวนมาก เพราะเธอสั่งมาสต็อกสำหรับขายช่วงปีใหม่ ตามปกติแล้วช่วงสิ้นปี แรงงานเดินทางกลับบ้าน ก็จะมาซื้อยาสามัญติดกลับบ้านไป หรือไม่ก็มาซื้อส่งกลับไปที่บ้านเกิด แต่ตอนนี้จังหวัดสมุทรสาครเข้าสู่สภาวะสูญญากาศก็ว่าได้
ถ้าเทียบกับรอบแรกซึ่งเธอได้รับผลกระทบน้อย ยอดขายลดลงราว 50-60% รอบนี้ถือว่าผลกระทบมาเต็มร้อยไม่น้อยไปกว่าใคร
“เรายังไม่แน่ใจว่าจะกี่วันกว่าจะกลับไปทำงานได้ เพราะไม่รู้เขาจะต่อล็อกดาวน์ไหม”
“การล็อกดาวน์รอบนี้เราจะผ่านไปได้ไหม เราไม่แน่ใจ แต่เราก็ต้องสู้ต่อไป” เธอบ่นให้ฟัง “ร้านเราเพิ่งดีขึ้นได้เดือน สองเดือนที่ผ่านมาเอง” ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ เปิดร้านไม่ได้ เธออาจจะต้องไปรับจ๊อบให้กับโรงพยาบาล หรือร้านขายยาเชนอื่นๆ เพื่อหารายได้อีกทางไปก่อน
โชคดีหน่อยที่บ้านของรดายังพอมีสายป่านให้เธอปิดร้านได้หลายวัน แต่สิ่งที่เธอห่วงหลังจากปลดล็อกดาวน์รอบสองในสมุทรสาคร คือกำลังซื้อของลูกค้า ที่อาจจะไม่เหมือนเดิม
“ล็อกดาวน์จังหวัดเราโอเค เราเข้าใจ มันเพื่อความปลอดภัย แต่เราอยากให้มีการตรวจปูพรมระหว่างนี้ เพื่อให้ธุรกิจอื่นๆ สามารถรันไปได้ พอกลับมาเปิดร้าน ทุกคนจะได้มีกำลังซื้อ”
ร้านสัก ที่โรคระบาดสั่งห้ามใกล้ชิด
ผู้ประกอบการอีกรายที่เรานึกถึงและอยากลองคุยดูคือเจ้าของร้านสัก เพราะเราคิดว่าไม่ใช่เพียงแค่ร้านอาหารหรือธุรกิจปัจจัยสี่ที่จะได้รับผลกระทบ แต่คนทำงานศิลปะ ที่อาจจะดูขบถต่อสังคม ก็คงได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยกันไป
สุกัลย์ เขตวรกาญจน์ เจ้าของร้านสัก ‘338 TATTOO’ ย่ายฝั่งธนบุรี เล่าสถานการณ์ให้ฟังไม่ต่างจากที่เราคิด เขาโดนยกเลิกคิว โดนเลื่อนคิวพร้อมคำถามว่า ‘ขอเลื่อนแบบไม่มีกำหนดได้ไหม?’ ซึ่งทำอะไรไม่ได้นอกจากยอม เพราะก็เข้าใจสถานการณ์
338 TATTOO ถือเป็นร้านที่มีลูกค้าคิวแน่นและได้รับความนิยมตลอด ทำให้มีลูกค้าจากต่างจังหวัดมาสักเป็นประจำ ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากคนไม่อยากออกจากบ้าน และลูกค้าหลายคนก็ต้องกักตัว ก็คือหลายคนกังวลใจไม่อยากเดินทางข้ามจังหวัดแล้ว
“บอกไม่ได้ว่ารายได้ลดไปเท่าไหร่ รายได้แต่ละวันเราไม่แน่นอนอยู่แล้ว แต่ที่แน่ๆ รายได้ลดแน่นอน”
ตั้งแต่การล็อกดาวน์รอบแรก สุกัลย์ก็ปิดร้านตามคำสั่ง – รายได้เหลือ 0
ร้านที่เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าต่างชาติก็ขาดลูกค้ากลุ่มนี้ไปทันที ต่างกันที่ตอนนั้นเขายังมีเงินเก็บ แต่การระบาดรอบนี้ เขาไม่แน่ใจหากล็อกดาวน์และสั่งปิดร้านสัก ที่เป็นกิจการที่ระบุว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพและต้องมีใบอนุญาต รอบนี้เขาจะผ่านมันไปยังไง เขาก็เหมือนผู้ประกอบการอื่นๆ ที่มีการลงทุนเพิ่ม
“ผมเพิ่งต่อเติมร้านไป มีการจ้างช่างสักคนอื่นมาประจำ ตอนนี้ก็ถือว่ามีหนี้บ้านเป็นก้อนใหญ่เลย ซึ่งร้านสักมันเป็นธุรกิจที่ต้องใกล้ชิดกับลูกค้าอยู่แล้ว จะให้มีมาตรการอย่างไรล่ะ นอกจากปิดร้าน จะให้พลิกแพลงไปทำธุรกิจอย่างอื่น จะทำยังไง” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไดออกมาแถลงหลังประชุม ศบค. ชุดใหญ่ (ซึ่งเป็นการแถลงรอบที่สอง จากรอบแรกเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม) โดยย้ำว่าจะยังไม่มีการล็อกดาวน์ เปิดทางให้แรงงานผิดกฎหมายทำงานได้ยังไม่มีการลงโทษ และขอให้นายจ้างพาแรงงานเข้าระบบโดยถูกต้อง พร้อมแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- พื้นที่ควบคุมสูงสุด
- พื้นที่ควบคุม
- พื้นที่เฝ้าระวังสูง
- พื้นที่เฝ้าระวัง
ทั้งยังกล่าวว่า วีคซีนจะมีการฉีดให้ประชาชนแน่เมื่อพร้อม และขอให้ประชาชนอย่าเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง หากมีความเสี่ยงหรือมีอาการขอความร่วมมือกักตัว 14 วัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การแถลงของรัฐบาลทั้ง 2 รอบดูเหมือนจะไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบได้เท่าไหร่นัก แม้นายกฯ จะบอกว่าสาธารณสุขและคณะแพทย์ต่าง ๆ ยังควบคุมได้ในระดับน่าพอใจ เหลือเพียงแต่ความร่วมมืออย่างเต็มที่จากทุกคน