“ถ้าฉันไม่ได้ แกก็ต้องไม่ได้” ฟังดูเหมือนบทพูดของตัวขี้อิจฉาในละครหลังข่าว เวลาเห็นคนอื่นสมหวังก้าวหน้า แต่ตัวเองกลับคว้าน้ำเหลว ซึ่งวิธีคิดแบบนี้มีอยู่ทั่วไปในชีวิตจริง และอ้างอิงได้จากพฤติกรรมของ ‘ปู’ …ใช่แล้ว ปูที่แปดขานั่นแหละ
เคยเดินตลาดโซนอาหารสด แล้วเห็นปูในกะละมังแบบที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า? เมื่อหันซ้ายหันขวาไม่ยักจะเห็นแม่ค้านั่งเฝ้า ก็ได้แต่สงสัยว่า ปล่อยไว้แบบนี้ไม่กลัวปูจะหลุดหายบ้างเลยหรือ?
แต่พอสังเกตอยู่สักพักจึงได้เข้าใจว่า ยังไงพวกมันก็ไม่มีทางหลุดออกไปไหนได้หรอก แม้ความสูงของกะละมังจะน้อยนิดแค่ไหนก็ตาม ซึ่งแม่ค้าพ่อค้าก็คงรู้ดีเช่นเดียวกัน จนมั่นใจว่าไม่ต้องปิดฝากะละมังหรือนั่งเฝ้าตลอดเวลาก็ได้
เหล่าปูในถังกับความหวังที่เป็นศูนย์
ภาพที่เห็นตรงหน้าคือปูตัวแล้วตัวเล่า พยายามปีนป่ายขึ้นไปเพื่อเป็นอิสระจากถังหรือกะละมัง แต่ไม่มีตัวไหนทำได้สำเร็จ เพราะปูตัวอื่นๆ คอยฉุดดึงปูที่พยายามหนีอยู่ให้กลับลงมาอยู่เรื่อยๆ เพราะถ้าตัวมันหนีออกไปไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าตัวอื่นจะหนีไปได้เช่นกัน
และนี่ก็คือจิตภาพหรือวิธีคิดแบบปู (Crab Mentality) ที่สะท้อนถึงความริษยา
ในทางจิตวิทยา จิตภาพแบบปูสามารถอ้างถึงภาวะบางอย่างที่คล้ายกับพฤติกรรมของมนุษย์ นั่นก็คือ การที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งพยายาม ‘ขัดขวาง’ ‘บั่นทอน’ หรือ ‘ฉุดรั้ง’ สมาชิกคนอื่นในกลุ่ม จากความสุขหรือความเจริญก้าวหน้าที่ตนไม่สามารถมีได้
คนที่มีจิตภาพแบบปูสังเกตได้ไม่ยาก เพราะพวกเขาจะแสดงออกอย่างชัดเจนว่ากำลัง ‘ตื่นตระหนก’ เวลาเห็นคนรอบข้างมีความสุข หรือกำลังมีชีวิตที่ดีกว่า โดยเฉพาะคนที่พวกเขาคอยดูถูกมาตลอดหรือมีสถานะที่ด้อยกว่า จะยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย กลัวตัวเองจะดูด้อยกว่า พวกเขาจึงต้องพยายามดึงคนเหล่านั้นลงมาให้อยู่เท่าเทียมตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยวาจาที่บั่นทอนจิตใจ หรือการกระทำที่ไร้ความปราณี
โดยเราจะเห็นวิธีคิดแบบนี้ได้ชัดในโลกของการทำงาน จากคนที่ชอบโทษทุกอย่างยกเว้นตัวเอง มองการทำงานกับคนอื่นเป็นการแข่งขัน ให้เครดิตงานทั้งหมดกับตัวเอง แม้จะเป็นการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม มีทัศนคติเชิงลบเมื่อเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ คิดว่าความสำเร็จไม่ได้มาจากตัวของคนนั้น เช่น “ที่เขาทำได้ก็เพราะเขามีคนอื่นคอยช่วยต่างหาก”
หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันก็ตาม เราจะเห็นคอมเมนต์บนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะโพสต์ของบุคคลสาธารณะ ซึ่งมีบางพาร์ทในชีวิตที่น่าอิจฉากว่าคนทั่วไป เช่น “หน้าตาก็สวยดี แต่หุ่นอ้วนไปหน่อย” หรือ “รวยไปทำไมถ้าชีวิตไม่มีความสุข” ซึ่งแม้จะเป็นความจริงหรือไม่ แต่คนที่ได้รับคำพูดหรือการกระทำเหล่านั้น ก็จะถูกบั่นทอนความมั่นใจและความสุขในชีวิตไปแล้ว
นอกจากนี้ พวกเขายังมองทุกอย่างเป็น ‘การแข่งขัน’ ที่ต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ การที่คนอื่นได้รับอะไรที่ดีกว่า นั่นแปลว่าพวกเขากำลังพ่ายแพ้ จนต้องถือคติที่ว่า “ถ้าฉันไม่ได้ แกก็ต้องไม่ได้” พวกเขาจึงต้องการให้ทุกคนล้มเหลวไปด้วยกัน มากกว่าปล่อยให้ตัวเองล้มเหลวอยู่คนเดียวท่ามกลางความสำเร็จของผู้อื่น
คนที่เข้าข่าย crab mentality จะมีกรอบความคิดแบบยึดติด (fixed mindset) โดยเชื่อว่าคุณลักษณะ สติปัญญา และความสามารถของพวกเขาไม่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้มากกว่านี้แล้ว จึงเลือกที่จะหลีกเลี่ยงความท้าทายใหม่ๆ ล้มเลิกกับอะไรง่ายๆ มองว่าความพยายามเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ และเพิกเฉยต่อคำแนะนำของคนอื่น
สำหรับพวกเขา
การเหยียบคนอื่นเพื่อให้ตัวเองดูสูงขึ้น
มันทั้งสบายและใช้ความพยายามน้อยกว่า
เมื่อเทียบกับการพัฒนาตัวเอง
ที่ชีวิตไม่ไปไหน เพราะใครฉุดรั้งไว้หรือเปล่า
เคยรู้สึกมั้ยว่า ชีวิตเราอาจได้เจออะไรที่ดีกว่านี้ ถ้าไม่มีใครคอยฉุดรั้งเอาไว้ หรือบ้านเมืองสามารถน่าอยู่ได้มากกว่านี้ หากไม่มีคนบางกลุ่มคอยถ่วงความเจริญ ยัดเยียดความคิดหรือโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้ผู้คน ‘จำนน’ ว่าชีวิตที่เป็นอยู่คือชีวิตที่ดีแล้ว และไม่ต้องการขวนขวายเพื่อสิ่งที่ดีไปกว่านี้ เช่น การบอกให้คนอื่นใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ในขณะที่ตนกินหรูอยู่สบาย หรือวัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่มี ซึ่งถ้าหากคนที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ทำให้ผู้คนก้มหน้าก้มตายอมรับชะตาที่พวกเขากำหนดได้ พวกเขาก็ไม่ต้องพยายามทำอะไรให้ตัวเองเหนื่อยมากขึ้น เพราะฉะนั้น บางครั้งที่ชีวิตเราไม่ไปไหนสักที ไม่ใช่เพราะตัวเราเสมอไป แต่อาจมีสาเหตุมาจากสังคมที่เราอยู่ด้วย
“สภาพแวดล้อมที่เราอยู่เปรียบเสมือนมือที่มองไม่เห็น
ที่เข้ามาขัดเกลาพฤติกรรมของเราโดยไม่รู้ตัว”
จากหนังสือเรื่อง Atomic Habits ของ James Clear
หากสังเกตว่าตัวเองกำลังตกเป็นเหยื่อของพวกที่มีวิธีคิดแบบปูในถัง เราควรรีบจัดการวิธีคิดของตัวเองให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะถูกครอบงำหรือถูกบั่นทอนให้จำนนอยู่กับความด้อยค่าหรือคุณภาพชีวิตที่ต่ำต้อย สาเหตุที่ต้องรีบจัดการกับตัวเองนั่นก็เพราะ คนที่มีวิธีคิดแบบนี้มักไม่รู้ตัวเอง หรือไม่ยอมรับว่ากำลังอิจฉาคนอื่นอยู่ แต่สิ่งที่เราทำได้แน่ๆ เลยก็คือ ‘ยึดมั่นในความต้องการของตัวเอง’ เอาไว้ให้แน่น เพราะมีแค่ตัวเราที่รู้ดีว่าอะไรที่ดีและเหมาะสมสำหรับเราที่สุด
เช่น เมื่อมีโอกาสย้ายไปทำงานในบริษัทที่มีสภาพแวดล้อมดีกว่า เงินเดือนสูงกว่า มีชื่อเสียงมากกว่า ดูมีเส้นทางที่เติบโตกว่า แล้วมีเพื่อนร่วมงานพยายามเกลี้ยกล่อมให้อยู่ต่อ เพราะเรากำลังจะได้เจออะไรที่ดีกว่าเขา จึงอ้างนู่นอ้างนี่หรือคิสเครดิตให้บริษัทนั้นดูแย่ แน่นอนว่าเราสามารถรับฟังความเห็นและคำแนะนำของผู้อื่นได้ แต่ถ้าชั่งน้ำหนักดูแล้ว เรามั่นใจว่าหลังจากย้ายงาน ชีวิตเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน ก็จงฟังเสียงของตัวเองให้มาก เพราะเราจะไม่กลับมานั่งเสียดายในภายหลัง
หากเราถูกบั่นทอนจากความคิดแง่ลบของผู้อื่น พยายามเตือนตัวเองว่า ‘อย่าไปติดกับ’ และ ‘สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง’ อยู่เรื่อยๆ ผ่านการเรียนรู้ทักษะใหม่ และพัฒนาทักษะเก่าให้ดียิ่งขึ้น เพราะความตั้งใจของพวกเขาคือการพรากความมั่นใจไปจากเรา จนเราไม่กล้าที่จะทำอะไร แม้แต่จะไขว่คว้าสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง เพราะฉะนั้น สะสมคุณค่าและความมั่นใจไว้ในระดับที่พอดี เพื่อที่เราจะได้ไม่อ่อนไหวไปคำพูดของใครได้ง่ายๆ
หรือถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสังเกตได้ว่า ตัวเราเองนี่แหละที่เผลอฉุดคนอื่นมาโดยตลอด อย่างแรกอยากให้บอกกับตัวเองก่อนเลยว่า “ไม่เป็นไรเลย” ความรู้สึกอิจฉาคือเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ และในโลกความเป็นจริงย่อมมีคนที่รวยกว่า ดูดีกว่า เก่งกว่า โชคดีกว่า ซึ่งเรามองว่าพวกเขาน่าอิจฉาเป็นเรื่องปกติ แต่ธรรมชาตินั้นกำลังบอกอะไรบางอย่างในตัวเราด้วย อย่างการที่เราเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นตลอดเวลา หรือปล่อยให้ความสำเร็จของผู้อื่นลดทอนตัวเรา นั่นแปลว่าเรากำลังมีปัญหากับการตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองอยู่
เมื่อเราห้ามความรู้สึกตามธรรมชาติไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็มองไม่เห็นถึงคุณค่าในตัวเอง ลองพยายามปรับตัวเองให้มี growth mindset หรือกรอบความคิดที่ว่าทุกอย่างสามารถพัฒนาและเติบโตได้เรื่อยๆ หากเราเปิดใจที่จะเรียนรู้ เพราะตอนต้นเราได้กล่าวไปแล้วว่า คนที่เข้าข่าย crab mentality มักจะมีกรอบความคิดแบบ fixed mindset ที่ทำให้พวกเขาย่ำอยู่ที่เดิม และเลือกดึงคนอื่นลงมามากกว่า แต่ถ้าหากเราใช้ความอิจฉาในทางที่ถูกต้อง เราจะพบกับแรงขับเคลื่อนให้พัฒนาตัวเองมากขึ้น จนสามารถไปในจุดที่คนอื่นอยู่หรืออาจจะสูงกว่านั้นก็ได้
แม้เป็นเรื่องยากกับการนั่งมองความสำเร็จของใคร แล้วไม่นำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง แต่การเปรียบเทียบก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ในทางกลับกัน สังคมที่คอยแต่จะฉุดรั้งกันไม่ให้เจริญก้าวหน้า เห็นใครได้ดิบได้ดีไม่ได้ ท้ายที่สุดแล้วก็คงไม่ได้พัฒนาไปไหนเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก