“พวกเราติดนิสัยว่าอยากกินเบียร์สักกระป๋องก็เข้าเซเว่น ไม่ใช่ไง มาลองเอาประสบการณ์ดื่มเบียร์ในบาร์ มานั่งกินเบียร์สด ได้เพิ่ม social capital (ทุนทางสังคม) ได้แลกเปลี่ยนไอเดีย”
สายสัมพันธ์ทางสังคมผ่านน้ำสีเหลืองมีฟอง คือเรื่องที่ ‘วิชิต ซ้ายเกล้า’ หรือ ‘พี่ชิต’ ตัวพ่อของแวดวงคราฟต์เบียร์ หรือที่คอดื่มหลายคนรู้จักในฐานะ เจ้าของ CHIT BEER คราฟต์เบียร์ไทยบนเกาะเกร็ด พยายามบ่มให้ได้ที่ ควบคู่ไปกับต้มเบียร์ดีๆ สักตัว
อย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับ จนยากจะปฏิเสธเพราะมีตัวเลขทางสถิติเป็นที่ยืนยัน ว่าคนไทยดื่มเบียร์ (ขวด 330 มล.) เฉลี่ย 142 ขวดต่อคนต่อปี จนยืนหนึ่งในแถบเอเชีย แซงหน้าเกาหลีใต้ที่มีภาพจำคอทองแดงให้เห็นตามซีรีส์ ตามการจัดทำของ Expensivity ในปี 2564
ด้วยติดเหตุผลเรื่องเวลา จึงทำให้บทสัมภาษณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงแก้วกระทบกัน ก่อนที่เครื่องดื่มเย็นๆ จะไหลลงคออย่างที่จินตนาการไว้แต่ต้น
แต่น้ำเสียงที่ถ่ายทอดเรื่องราวและแนวคิดระหว่างพูดคุยกับ The MATTER ก็สามารถอธิบายถ่ายทอดเรื่องราวของนักต้มเบียร์ รวมถึงความเห็นต่อข้อจำกัดทางกฎหมาย และความคิดที่ทำให้ ‘ความเมา’ ของผู้คนยังเป็นเรื่องจำกัด ได้อย่างน่าตื่นเต้นเหมือนได้นั่งคุยอยู่ในวงล้อมสังสรรค์หลังเลิกงาน
กำลังที่อ่อนแรงลงของไทยเมืองพุทธ
ล้อไปกับข้อมูลที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี พ.ศ. 2563 พบว่า ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยมีมูลค่า 1.67 แสนล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมเครื่องดื่มทุกชนิด 4.45 แสนล้านบาท และตลาดใหญ่ก็ถือครองโดยเบียร์ยักษ์ใหญ่
นั่นเป็นหนึ่งภาพสะท้อนความฮิตของเครื่องดื่มชนิดนี้ ที่ครองใจคนทั่วโลก ไทยเองก็มีให้เห็นแทบทุกเทศกาล แต่คงต้องเว้นบรรดาวันพระใหญ่เอาไว้ ด้วยข้อกำหนดทางกฎหมาย
ทำไมห้ามขายเหล้าวันพระ? น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนเคยสงสัย หรืออาจต้องคอยตอบคำถาม โดยเฉพาะกับเพื่อนต่างชาติ ซึ่งก็ไม่ได้มีคำอธิบายที่ชัดเจน มีเพียงการหยิบยกมาเทียบเคียงหลักคำสอน และบันทึกทางประวัติศาสตร์เท่านั้น
อย่างไรก็ตามด้วย กฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ เพิ่งประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2552 ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นี่เอง จึงยิ่งทำให้มายาคติที่มีต่อพฤติกรรมการดื่ม โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับการขับขี่ฝังรากลึกต่อเนื่อง
“ความเป็นเมืองพุทธ พละกำลังก็น่าจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ” เป็นความเห็นแรกของวิชิต เมื่อเราเปิดบทสนทนาถึงกับดักไทยเมืองพุทธ ว่ายังคงส่งผลต่อการปลดล็อกทั้งในเชิงการดื่ม และผลิตแอลกอฮอล์อีกหรือไม่
กว่าจะมาเป็นนักต้มเบียร์ชั้นครูอย่างทุกวันนี้ วิชิตลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่เพียงต้องท้าทายกับความไม่คุ้นลิ้นของคนไทย ที่หลายปีก่อนยังคงมองว่าเบียร์ต้มเองให้รสชาติต่างจากความเคยชิน จึงยังคงโหยหาตราบนขวด
อีกความท้าทายที่ต้องพิสูจน์ไปพร้อมกัน คือ การไม่คุ้นใจของคนไทย ที่มองว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องของคนวงจำกัด นั่นทำให้เขาต้องต้มทั้งเบียร์ต้มทั้งคนไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่สัมผัสได้ถึงผลลัพธ์ของสิ่งที่พยายามสื่อสาร “อยู่ดีๆ วันหนึ่งเพื่อนชมว่าอร่อย”
“ยิ่งวันเวลาผ่านไป เจเนอเรชั่นที่ตามมามันก็ไม่ซีเรียสขนาดนั้น ไม่ใช่รุ่นพ่อแม่ baby boomer ที่มีความตอแหลเหลืออยู่”
ตามความเห็นของวิชิต มองว่า ไม่ว่าต่อไปคนจะเปิดกว้างกับการดื่มไปเพิ่มขึ้นแค่ไหน ก็เลี่ยงเรื่องดราม่าไม่ได้อยู่ดี ในทุกครั้งที่มีการขยับตัวเกี่ยวกับเหล้าเบียร์ ไม่ว่าจะทางกฎหมายหรือทางสังคม “เราไม่จำเป็นต้องรอให้คนคิดเหมือนกัน โลกนี้บางทีเปลี่ยนแค่ด้วยคน 2-3 คน ประเทศนี้แม่งบางครั้ง เปลี่ยนด้วยคน 10 คน 100 คนเอง”
“กับดักกฎหมายใหญ่กว่ามาก เพราะกับดักเมืองพุทธ มันก็มีแต่คนเห่าทั่วไป ถูกปะ มันไม่มีบทลงโทษ มันเป็นเรื่องความคิด ทัศนคติ”
เห็นต่างเรื่องพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต
แม้จะเห็นว่าข้อกฎหมายมีอิทธิพลอย่างมากต่อการสนับสนุนผู้ผลิตเบียร์ แต่ในฐานะผู้ผลิตกลับเห็นต่างกับความเห็นที่ว่า ‘ไทยยังคงมีกับดักทางกฎหมายทำให้ต้มเหล้าไม่ได้’
“วันนี้พี่ชิตมองว่าอุปสรรคในการผลิตเบียร์แทบจะไม่มี สามารถจะขึ้นโรงเบียร์ได้ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด เผลอๆ 9 เดือนก็สามารถขึ้นโรงเบียร์ได้แล้ว”
ก่อนจะไปทำความเข้าใจว่า เพราะเหตุผลอะไรวิชิตจึงเห็นต่าง คงต้องเข้าใจ ‘ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (แก้ไขเพิ่มเติม)’ หรือที่มักเห็นตามสื่อในชื่อของร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ต้องการสนับสนุนให้คนผลิตสุราบริโภคเองได้ และเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อย
วิชิตเล่าว่า ทั้งที่โรงเบียร์ขนาดเล็ก (brewpub) นั้นไม่ได้ต่างกับร้านอาหารดีๆ แต่ 2 ปีก่อนหน้า กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้แยกขนาดของโรงเบียร์ มองว่าทั้งหมดเป็นโรงงานตามบัญชีชนิดที่ 19(2) ซึ่งจำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการหากมีเครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า ซึ่งข้อจำกัดนี้ก็ถูกทลายในเวลาต่อมา
“เมื่อก่อนพอเราไปขออนุญาต มันจะมาเกี่ยวข้องกับกฎหมายผังเมือง อย่างในนนทบุรีทั้งจังหวัด รู้ไหมว่าคุณไม่สามารถออกใบประกอบกิจการโรงงาน 19(2)”
‘โรงเบียร์มิตรสัมพันธ์’ ถือเป็นผลตอบแทนหลังการต่อสู้ที่ยาวนานกว่า 4 ปี หลังที่ต้องทำเบียร์ใต้ดินจนถูกจับหลายครั้งหลายหน
เชื่อศักยภาพการรวมกลุ่ม
มาถึงตอนนี้หลายคนก็อาจจะตั้งข้อสงสัย ถึงคำถามที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่มีรายละเอียดดักขาผู้ประกอบการรายย่อย อย่างประเด็นของเบียร์ที่ว่า ผู้ผลิตสุราต้องมีศักยภาพผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต ขั้นต่ำ 100,000 ลิตรต่อปี
“คนเข้าใจผิด ไม่ได้หมายความว่าต้องผลิตเบียร์แสนลิตรต่อปี แค่พิสูจน์ให้เห็นว่าเครื่องจักรเรามีความสามารถในการผลิต ไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปี เราก็คำนวณเบียร์เราหมักทุก 7 วัน ก็คำนวณปีหนึ่ง หม้อต้ม ถังหมักที่เรามีรองรับได้ไหม”
วิชิตเล่าติดตลกว่า ด้วยการขั้นตอนการจัดตั้งโรงเบียร์ที่ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก “การที่เราจะมีโรงเบียร์ผลิตได้ 100,000 ลิตรต่อปี 10 ปีก่อน เราอาจต้องหอบเงิน 20 ล้านไปซื้อโรงเบียร์ หม้อต้มจากเยอรมัน แต่ตอนนี้คีบรองเท้าแตะ บินไปที่จีน 2 ล้าน ก็ได้แล้ว”
อย่างไรก็ตามข้อจำกัดเดียวสำหรับวิชิต กลับเป็นปัญหา ‘ไม่มีคนเฝ้าโรงเบียร์’
“30-40 ปีที่แล้ว รู้ไหมคนไทยกินเบียร์ได้ยังไง เรามีคนเยอรมัน 50 คนเฝ้าโรงเบียร์ให้เราตลอดหลายปีที่ผ่านมา วันนี้เรามีคนเฝ้าโรงเบียร์ อยู่กับมันตั้งแต่เช้าจนเย็น สามารถรักษาคุณภาพ มีไม่ถึง 10 คน เราไม่มีคนมีความชำนาญในโรงเบียร์ เราไม่มีโรงเรียนสอนเป็นจริงเป็นจัง”
เมื่อไทยสามารถพัฒนาบุคลากรที่เชี่ยวชาญเป็นของตัวเองได้แล้ว ขั้นตอนสำคัญต่อไป คือการขยายศักยภาพไปสู่ระดับท้องถิ่น “อย่างน้อยหนึ่งจังหวัดมีสักกลุ่ม ซึ่งพี่ชิตเชื่อว่ามี จังหวัดสามแสนคน นายทุนส่วนกลางต้องส่งเบียร์ไปขาย ให้คนทุกหมู่บ้าน มาบำรุงบำเรอคนไม่กี่ตระกูลมันเป็นไปได้ยังไง”
“วันนี้เหมือนเราต้องเขียนประไตรปิฎกการสร้างโรงเบียร์ แล้วส่งคนเข้าโรงเรียน สร้างนักต้มเบียร์มืออาชีพ นายทุนมีอยู่แล้วทุกจังหวัดมันก็ซื้อตัว ใครอยากกลับจังหวัดตัวเอง”
DNA นักดื่ม
“โรงเบียร์มันเหมือนโรงเรียนฝึกนิสัย อย่าไปคิดถึงเบียร์ขวด กินเบียร์กระป๋องไง ยิ่งตอนนี้วันๆ ทำแต่งาน ฝังตัวเองอยู่ในคอนโด เย็นๆ มึงลงมาข้างล่างกินเบียร์กันบ้าง จะได้คุยกันบ้าง อัปเดตข่าวสารกันบ้าง”
วิชิตมองว่า การปิดกั้นโอกาสของผู้ผลิตที่พร้อม ตามมาด้วยต้นทุนค่าเสียโอกาสที่ประเมินค่าไม่ได้ “แน่นอนเราเซฟคนอ่อนแอไว้ได้จริง แล้วคนที่ไม่ได้อ่อนแอละ มันจะทนอยู่ในสังคมห่วย ๆ นี้ไปได้ยังไง ยิ่งไล่ตามจับทุกวัน คนหลายคนมันหมดความหวัง”
“คนเราสามารถรับผิดชอบกับความเมาของตัวเองได้” เป็นข้อสรุปหลังคลุกคลานกกับการต้มเบียร์มายาวนาน วิชิตสะท้อนว่า ทุกคนควรได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้ความผิดพลาดผ่านกฎหมาย โดยข้ามกรอบแนวคิดเดิมที่ว่า “ฉันว่าพวกคุณคิดไม่ได้ ฉันจะคิดแทนคุณ”
“DNAของเรา มันก็เกิดมาเพื่อความสุข ความประณีต สุนทรีย์อยู่แล้ว เพียงแต่เราถูกปิดกั้น แต่การปิดกั้นนี้ก็จะทำยากขึ้นเรื่อยๆ”
“อย่างตอนพี่ชิตเด็กๆ คนด่ากัญชาอุบาทว์ กัญชามันเลวทราม แต่หลายปีที่แล้วป้ายโฆษณา ส.ส. มีใบกัญชาอยู่ข้างหน้า ส.ส. เป็นไปได้ยังไง”
ด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่ไปกว่ากฎธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน วิชิตมองว่ากฎธรรมชาติของสุรา คือ ต้องเป็นสนามให้เราได้ใช้ประสบการณ์ แสดงตัวตน เผื่อผลลัพธ์ของมันคือความหลากหลาย “เป็นไปได้ยังไง 60-70 ล้านคนกินเบียร์อยู่ 2 ยี่ห้อ”
“ถามว่าตอนพระนเรศวรเดินทัพตะวันโพล้เพล้เนี่ย ทหารทำไรกัน ก็นั่งกินเหล้า มึงจะกินเหล้าที่ไหน มันก็ต้องรู้อีกว่าตำบลที่มันเดินทางไปมีพระยาต้มเหล้าอยู่ตรงไหน เห็นไหมทุกตำบลก็ต้มเหล้ากินกัน แล้วอยู่ดีๆ บอกว่าประเทศศิวิไลซ์ มีแผนพัฒนาประเทศ แต่จะกินเหล้าที่พึ่งพาคนกลุ่มเดียว” วิชิตปิดท้ายไว้อย่างสนุก และหากมีโอกาสครั้งหน้าเราจะไม่พลาดพาตัวเองไปเปิดบทสนทนา ท่ามกลางบรรยากาศของคนรักเบียร์