เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะตั้งคำถามต่อธรรมเนียมอะไรสักอย่างเมื่อมันดำเนินไปนานมากพอ
ตลอดเวลาราว 53 ปีที่มี Pride Month มา สิ่งที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงไปพอๆ กันกับขนาด วิธีการ และการเปิดรับต่อการขับเคลื่อน คือข้อถกเถียงรอบๆ การแสดงออกภายในเดือนแห่งการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศนี้ หนึ่งในประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เสมอมา คือการร่วมวงของแบรนด์ต่างๆ ในการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์สีรุ้ง หรือออกแคมเปญที่สะกิดความหลากหลายเพื่อการตลาดที่เราเรียกว่า ‘Rainbow Washing’ แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่าในปี 2023 ข้อถกเถียงนี้ก็ยังไม่ไปไหน ทั้งยังมีกรณีใหม่ๆ มาให้ถกเถียงกันเพิ่มขึ้น
หลายปีที่ผ่านมา ความตื่นรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยนั้นสูงขึ้น และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ Rainbow Washing มากขึ้น จนบางครั้งการตลาดก็มีการปรับกลยุทธ์ให้ ‘Woke’ ขึ้นไปอีกขั้น เช่น การไม่ร่วมขบวนการทาสีรุ้งเพราะมองว่าการสนับสนุน ‘ควรเป็นเรื่องปกติ’ หรือแคมเปญอื่นใดก็ตาม เมื่อมองผ่านๆ อาจดูเป็นก้าวที่ดี แต่เมื่อมองบริบทโดยรอบอีกครั้งมันก็อาจยัง ‘ไม่เป็นเรื่องปกติ’ มากกว่าที่คิด
ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นต่อ Rainbow Washing คือมักเป็นการกระทำที่ผิวเผินและไม่ได้ช่วยเหลืออะไรในการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง ตัวอย่างที่เราเห็นกันชัดๆ คือ เมื่อปี 2012 ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอเมริกัน ‘Chick Fil-a’ มีประวัติบริจาคเงินให้กลุ่มเกลียดชังคนเพศหลากหลายและคลินิก Conversion Therapy ที่แม้จะหยุดทำไปแล้วในปี 2020 แต่หลังการประท้วงจากชุมชน LGBTQ+ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2023 ยังมีการทำการตลาดด้วยการขายเสื้อผ้าสีรุ้งที่ทางแบรนด์เรียกว่า ‘สีซอส’ ของทางร้าน และหลีกเลี่ยงการแตะต้องหรือพูดอะไรก็ตามเกี่ยวกับชุมชนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือเป็นการเลือกเดิน ‘เซฟๆ’ ที่ทำให้ร้านถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยคนเพศหลากหลายและกลุ่มที่ต่อต้านไปพร้อมๆ กัน
อย่างนั้นการมองว่าเป็นเรื่องปกติแล้วไม่ทำอะไรเลยนั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ Rainbow Washing ประสบตรงไหน? คำตอบคือมันไม่ได้เป็นแก้ไขอะไรเลย การตลาดที่ตื่นตัวมากขึ้นสุดท้ายก็อาจจะเป็นการตลาดอยู่วันยังค่ำ ขบวนการการขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศได้ดำเนินมาอย่างเนิ่นนาน โดยมีหลักคิด ข้อเรียกร้อง การเปลี่ยนแปลง การนำเสนอ และการเปิดรับตัวตนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สูงเสียจนการพูดว่า ‘ฉันเองก็รู้นะว่ามีสิ่งที่เรียกว่า Rainbow Washing อยู่’ จึงไม่เพียงพออีกต่อไป
แล้วในกรณีเมื่อเราเป็นคนที่มองว่ามันเป็นเรื่องปกติจริงๆ ล่ะ? การถามหรือไม่ถามเพศ การคุยหรือไม่คุยเรื่องคำสรรพนาม การบอกว่ารักมีหรือไม่มีเพศ หากเราเข้าไปยุ่งวุ่นวายกับคำถามเหล่านั้นและนอกเหนือจากนั้น ก็แปลว่าเราไม่มองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องปกติหรือเปล่า? เพราะเราไม่เคยถามเรื่องเหล่านั้นกับคนตรงเพศ (Straight) หนทางที่ถูกต้องคือการหยุดถาม หยุดพูดคุยทุกประเด็นดังกล่าวแล้วใช้ชีวิตให้ปกติสิ หลายๆ เสียงไปไกลถึงขนาดว่าการมีพาเหรดในตัวของมันเองคือความไม่ปกติด้วยซ้ำ ฉะนั้น ความนิ่งเฉยถือเป็นคำตอบหรือเปล่า?
ขบวนไพรด์มีขนาดใหญ่และแพร่หลายมากขึ้น มีคนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นจริง แต่เรามีสมรสเท่าเทียมแล้วหรือยัง? คำนำหน้าชื่อของเราขึ้นอยู่กับอะไร? เพศของเรายังเป็นปัจจัยในการรับสมัครงานหรือไม่ เมื่อเราส่งใบสมัครงานของเราไปที่บริษัทบริษัทหนึ่ง? คนส่วนใหญ่เข้าใจตัวตนของกลุ่มนอนไบนารี่มากขนาดไหน? แน่นอนว่าเราเองในฐานะบุคคลอาจเข้าใจ และมองว่าประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่สังคมหมู่มากมองเช่นนั้นแล้วหรือยัง?
การมองเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกตินั้นไม่เคยเป็นเรื่องผิดเลย แต่บริบทโดยรอบของมุมมองเหล่านั้นก็สำคัญ เพราะขณะนี้มันเป็นห้วงเวลาของการเรียกร้องเพื่อไปสู่ความปกติที่แท้จริง ซึ่งเรายังห่างไกลมันอยู่มากนัก ฉะนั้น สิ่งที่ควรต้องเกิดขึ้นคือการมองลึกเข้าไปข้างใน แล้วตั้งคำถามว่าที่มองว่าทุกอย่างปกติเป็นเพราะมันปกติจริง หรือเพราะตัวของเราไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่คนในชุมชนต้องเจอ
เช่นนั้นจะให้ทำยังไง? เปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นสีรุ้งได้ไหม หรือไม่ต้องทำดี? ในความเป็นจริงแล้วเรื่องเหล่านั้นจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ เพราะสิ่งที่การขับเคลื่อนต้องการไม่ใช่เพียงแค่รูปภาพในโซเชียลมีเดีย แต่เป็นการสร้างความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับเพศ และกำลังในการก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความเข้าใจ การยอมรับ และความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืนต่างหาก
สิ่งที่กดทับชุมชนเพศหลากหลายหรือกลุ่มการเคลื่อนไหวใดอยู่ ไม่ใช่คนใจร้ายหรือตัวละครร้ายที่เราเด็ดหัวได้แล้วทุกอย่างจะจบลง แต่มันเป็นระบบใหญ่ที่ไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ระบบที่มองคนไม่เท่ากัน และที่สำคัญคือระบบที่ผลิตคนที่มีความเชื่อว่าคนไม่เท่ากันตั้งแต่ต้น เช่นนั้นการปลดเปลื้องพันธนาการที่คุมขังชุมชนคนหลากหลายทางเพศอยู่นั้น จึงไม่สามารถทำได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล แต่เป็นระดับโครงสร้าง และไม่มีใครสามารถต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวแล้วทำให้โครงสร้างนั้นเปลี่ยนแปลงได้
ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการเป็นหนึ่งในเสียงเรียกร้อง เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง สร้างความเข้าใจในสิ่งที่สงสัย มีพื้นที่ให้คนในชุมชนได้พูดและรับฟังเสียงเรียกร้องเหล่านั้น เป็นองค์กรที่มองอย่างพินิจเกี่ยวกับโครงสร้าง นโยบาย สวัสดิการ และคุณค่าภายในที่อาจตกยุคหลงสมัยไป เสียงของเราที่ดังกว่าคนคนหนึ่งจะดังได้ เราจะใช้มันไปเพื่อการตลาดหรือเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง?
และเมื่อความเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว วันนั้นเราค่อยมองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องปกติก็ไม่สาย
อ้างอิงจาก