เจ็บปวดขนาดนี้จะให้กลั้นน้ำตาเอาไว้ยังไงไหว
ทุกครั้งที่อยากร้องไห้ หรือร้องออกมาแล้ว จะต้องได้ยินประโยคจากคนรอบตัวประมาณว่า “อย่าร้องไห้สิ” หรือ “เรื่องแค่นี้ต้องร้องไห้ด้วยเหรอ” หรือ “ทำไมไม่หาอย่างอื่นทำจะได้ไม่ร้องไห้” หรือแม้แต่การเอามาล้อเลียนกันภายหลังว่า “ตอนนั้นร้องไห้เป็นหมาเลย” คำพูดเหล่านี้ทำให้น้ำตากลายเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอที่ไม่ควรให้ใครได้เห็น ทำไมถึงต้องคาดหวังว่าเราจะเข้มแข็งได้ตลอดเวลากันนะ
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเศร้าแล้วเราไม่ยอมร้องไห้
เราไม่รู้ตัวหรอกว่า ในขณะที่เรากำลัง ‘ทำตัวเข้มแข็ง’ ด้วยการพยายามกล้ำกลืนก้อนหน่วงในคอลงไป พยายามเงยหน้ามองเพดานเพื่อกลั้นน้ำตา หรือพยายามไปหาอย่างอื่นทำเพื่อไม่ให้ตัวเองร้องไห้ ความรู้สึกโกรธ เศร้า สูญเสีย ก็ยังไม่ได้จางหายไปไหน ยิ่งเก็บเอาไว้ ก็ยิ่งเติบโต และรอคอยวันที่จะระเบิดออกมา
เราอ่อนแอบ้างก็ได้นะ สตีเฟน ซิเดอร์รอฟฟ์ (Stephen Sideroff) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียได้ให้ความคิดเห็นเอาไว้ว่า ความรู้สึกของเรานั้นมีพลัง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นและถูกเก็บซ่อนเอาไว้จะสร้างความไม่สมดุลให้กับร่างกาย ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่เราหิว เราก็กิน เราหาอาหารเพื่อมาเติมเต็มความไม่สมดุลของร่างกาย ดังนั้นถ้าเรารู้สึกเศร้าหรือเจ็บปวด เราก็ต้องหาอะไรมาเติมเต็มความไม่สมดุลนั้นเหมือนกัน
ถ้าเราปล่อยความไม่สมดุลนั้นให้อยู่กับเรานานๆ ความรู้สึกที่เราคิดว่าซ่อนเอาไว้ดีแล้วจะกัดกินใจของเรา และ ‘ปลิ้น’ ออกมาโดยที่เราไม่รู้ตัว เราอาจรู้สึกไม่อยากทำอะไรเลยนอกจากนอนอยู่ในห้องคนเดียว ไม่อยากคุยกับใคร ละทิ้งทุกคนในชีวิต พูดหรือทำอะไรไม่ดีกับคนใกล้ตัว ไม่สามารถมีความสุขหรือรับความรักจากใครได้อีก และข่าวร้ายคือมันสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้นอย่า ‘ใจร้ายกับตัวเอง’ โดยการทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ตัวเองร้องไห้
การร้องไห้ช่วยอะไรเราได้
ความรู้สึกโกรธและเศร้าเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเรียนรู้ เติบโตขึ้นในระยะยาว เราแค่ต้องรู้ว่าควรจัดการกับมันอย่างไร ในทางวิทยาศาสตร์ ความโกรธ ความเศร้า ความเครียด จะทำให้ร่างกายของเราเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ ระบบประสาทอัตโนมัติจะเริ่มตอบสนอง โดยที่ระบบประสาทซิมพาเทติกที่มีหน้าที่สั่งการให้เราตื่นตัวพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินหรืออันตรายจะทำงาน ทำให้เลือดไหลเวียนมากขึ้น กล้ามเนื้อรู้สึกตึง อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น ส่งผลกับจังหวะของลมหายใจ และฮอร์โมนความเครียดอย่างอะดรีนาลีนและคอร์ติซอลจะถูกหลั่งออกมา
การร้องไห้นั้นช่วยกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเทติก ซึ่งเป็นระบบที่ควบคุมให้อวัยวะในร่างกายของเราทำงานอย่างปกติ ดังนั้นไม่แปลกที่การร้องไห้จะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้ มีงานวิจัยที่พบว่าการร้องไห้จะทำให้ร่างกายหลั่งสารออกซิโทซิน และเอนโดรฟินออกมา เพื่อให้เรารับมือกับความเจ็บปวดไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจได้ดีขึ้นด้วย
การร้องไห้คือกระบวนการรักษาใจที่เราสามารถทำได้เลยในทันที จูดิธ ออร์ลอฟฟ์ (Dr.Judith Orloff) จิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียได้พูดถึงการร้องไห้เอาไว้ว่า การร้องไห้นั้นสำคัญมากในการฟื้นฟูจิตใจ โดยเฉพาะกับความรู้สึกสูญเสีย ความเครียด ความรู้สึกไม่แน่นอน เวลาคนเรามีความรู้สึกลบที่รุนแรงเกิดขึ้นในใจ บางคนก็วิ่งเข้าหาตัวช่วยอย่างสิ่งมึนเมาหรือสารเสพติด แต่ในเมื่อเรามีระบบการรักษาใจในร่างกายของตัวเองอยู่แล้ว เราก็ต้องใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
น้ำตาจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น
ในช่วงแรกของความเสียใจ ไม่ว่าจะโกรธ เศร้า ถูกหักหลัง หรือสูญเสียอะไรมา เป็นธรรมดาที่เราจะอยากร้องไห้ การได้ร้องไห้โฮออกมา ร้องไห้จนตัวสั่นโยนไปหมด หรือแม้กระทั่งร้องไห้จนหายใจไม่ออก อาจทำให้เรารู้สึกว่า ‘นี่เราเสียสติไปแล้วเหรอ’ แต่จริงๆ คือเรากำลังปลดปล่อยความรู้สึกโกรธ เศร้า เสียใจเหล่านั้นออกมาจากใจ
ลอเรน บิลส์มา (Lauren Bylsma) ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยพิตตส์เบิร์กได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า ผู้คนมักจะรู้สึกดีขึ้นหลังจากได้ร้องไห้ อาจเป็นเพราะการร้องไห้ทำให้เราได้หยุดพักฟังเสียงในใจ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นถึงทำให้เราร้องไห้ออกมา เราจะได้ทบทวนอารมณ์ของตัวเอง เข้าใจตัวเองมากขึ้น ดังนั้นการร้องไห้จะช่วยทำให้เรารู้ว่าอะไรที่สำคัญกับเรา โดยเฉพาะการร้องไห้ให้กับสิ่งที่ทำให้เราเสียใจโดยไม่คาดคิด
เมื่อเราได้เข้าใจตัวเองในทุกครั้งที่เราร้องไห้ สิ่งที่กำลังแบกเอาไว้จะเริ่มเบาลง ในช่วงแรกเราอาจร้องไห้หนักในทุกคืนก่อนนอน แต่มันจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นเพียงน้ำตาซึมตอนเจอสิ่งที่ทำให้นึกถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น จนถึงวันหนึ่งที่เราเข้าใจทุกอย่างได้แล้ว เราจะไม่ร้องไห้ให้กับเรื่องนี้อีกต่อไป และสามารถก้าวเดินได้อีกครั้งแบบเติบโตขึ้น เข้มแข็งขึ้น และให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกลายเป็นความทรงจำชิ้นสำคัญ
ถ้าอยากร้องไห้ก็ร้องได้เลยนะ
อ้างอิงจาก