นั่งทำงานมาหลายชั่วโมงจนเริ่มรู้สึกล้า อ่านประโยคเดิมซ้ำไปมาเพราะอ่านไม่รู้เรื่อง เหมือนสมองส่วนที่ต้องตีความหยุดร่วมมือกับสายตาชั่วคราว ความเหนื่อยล้าแบบนี้อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าถึงเวลา ‘พักเบรก’ ได้แล้ว แต่พอจะลุกไปเดินเล่นขยับร่างกาย เสียงในหัวกลับแย้งขึ้นมาว่า “นี่เวลางานนะ จะพักได้จริงเหรอ?”
ถ้าใครเคยเจอสถานการณ์ใกล้เคียงกันนี้ เราอยากจะบอกว่า ‘พักไปเถอะ’ เพราะบางทีเวลาว่างระหว่างการทำงาน ไม่ได้หมายถึงการ ‘ไม่ทำงาน’ เสมอไป ตรงกันข้าม การหยุดพักอาจช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้นด้วยซ้ำ
เพราะสมองต้องการหยุดพัก
เอลิสัน กรีน (Alison Green) ได้เขียนถึงชีวิตการทำงานของเธอ ในบทความ ‘Should I Feel Guilty About Having So Much Downtime at Work?’ โดยเล่าว่า เธอเป็นคนที่ทั้งทำงานเร็ว และมีประสิทธิภาพจนได้รับรางวัลพนักงานแห่งปีของบริษัท แต่ใครจะรู้ว่าเธอกลับมีเวลาว่างออกไปเดินเล่นกับน้องหมา งีบหลับ เล่นโยคะ และทำอีกหลายกิจกรรม โดยเฉพาะช่วงทำงานจากที่บ้าน ขณะที่เพื่อนร่วมงานบางคนใช้เวลา 8 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นเพื่อทำงานแบบเดียวกัน
หลายครั้งที่เอลิสันคิดไอเดียดีๆ ออกระหว่างพาน้องหมาไปเดินเล่น แต่กลับไอเดียตีบตันเมื่อพยายามจดจ่อหน้าคอม โดยไม่พัก ขณะเดียวกัน เธอเองก็รู้สึกผิดว่ากำลังขโมยเวลาจากบริษัทอยู่ไหม เธอจะกลายเป็นคนปรับตัวไม่ได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมกดดันหรือเปล่า แต่ที่สุดแล้วเอลิสันก็ค้นพบว่า เธอควรภูมิใจกับการบริหารจัดการเวลาของตัวเองมากกว่าจะรู้สึกผิด เพราะหากต้องทำให้ครบ 8 ชั่วโมง ก็คงต้องเพิ่มงานให้มากขึ้นซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเธอลดลง
เรื่องราวของเอลิสันอาจทำให้บางคนหรือบางบริษัทบอกว่า “ดีเลย งั้นเอางานไปอีก!” แต่เราอยากชวนมองอีกมุมว่า เรื่องราวนี้อาจกำลังตอกย้ำว่า ‘ความโปรดักทีฟ’ ไม่ได้หมายถึงการทำงานตลอดเวลา แต่เป็นการทำงานที่ดีและมีคุณภาพภายในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ‘เวลาว่าง’ ระหว่างการทำงาน อาจไม่ได้หมายถึงความสูญเปล่าเสมอไป แต่กลับเป็นช่วง ‘เติมพลัง’ ให้สมองของเราได้พักเบรกจากข้อมูลมหาศาลในแต่ละวัน
“การจะเรียนรู้อะไรได้ดี คุณต้องศึกษามันซักพัก แล้วค่อยหยุดพัก”
ลอเรน แฟรงค์ (Loren Frank) ศาสตราจารย์แห่งศูนย์ประสาทวิทยาเชิงบูรณาการแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ให้สัมภาษณ์ในบทความ Why Your Brain Needs Idle Time
แฟรงค์ยกตัวอย่างงานวิจัย ที่พบว่าคนเราจะรับข้อมูลใหม่ๆ ได้ดี เมื่อสมองมีเวลาได้ประมวลผลข้อมูลต่างๆ แม้แต่การหยุดพักหลังจากอ่านข่าว บทความ หรืออีเมลสำคัญๆ ที่ช่วยให้เราจดจำข้อมูลที่เพิ่งรับรู้มาได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย เช่นเดียวกับงานวิจัยของ software company Memory (AI) ที่พบว่า คนที่ให้เวลาตัวเองได้พักระหว่างการทำงานอย่างสม่ำเสมอ มีสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าคนที่ไม่ได้พักเลยถึง 33%
นอกจากนี้ แฟรงค์พยายามทำความเข้าใจกระบวนการประมวลผลข้อมูลในสมองผ่านการทดลองกับหนู โดยให้หนูหาทางออกจากเขาวงกตสองครั้ง ซึ่งพบว่า หนูที่ ‘ได้พัก’ หลังจากหาทางออกครั้งแรกจะสามารถหาทางออกจากเขาวงกตครั้งที่สองได้เร็วขึ้น ส่วนหนูที่ ‘ไม่ได้พัก’ จะใช้เวลาทั้งสองครั้งไม่ต่างกันมากนัก เพราะสมองของเจ้าหนูยังไม่ทันได้จดจำว่าก่อนหน้านี้เจอเส้นทางแบบไหนมาบ้าง เช่นเดียวกับสมองของมนุษย์ที่ต้องการช่วงเวลาว่างๆ เพื่อจะประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลไว้ในระยะยาว
ว่างแบบไหนให้ได้งาน
ปัญหาหนึ่งสำหรับบางคน คือ การไม่อนุญาตให้ตัวเองมีเวลาว่างเล็กๆ น้อยๆ เพราะรู้สึกผิดหรืองานยุ่งมากจนกลัวจะทำไม่ทัน เลยกลายเป็นการ ‘พักแบบไม่ได้พัก’ ไม่ว่าจะเป็นการลุกไปนั่งจิบกาแฟเช็คข่าวในมือถือ ตอบอีเมล คุยโทรศัพท์เรื่องงาน หรือแม้แต่การอ่านเรื่องชวนปวดหัวในโซเชียลมีเดีย แม้กายหยาบจะไม่ได้นั่งอยู่หน้าคอมแล้ว แต่สมองและหัวใจยังคงว้าวุ่นอยู่กับข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน
ขณะที่การใช้เวลาว่างแบบมีประโยชน์กับการทำงานจริงๆ ควรเป็น ‘การผ่อนคลาย’ ที่หลายคนมองข้ามไป อาจเป็นกิจกรรมง่ายๆ อย่างการออกไปมองวิวที่ระเบียง ฟังเพลงสบายๆ ลุกขึ้นมาขยับร่างกาย หรือแม้แต่การงีบสั้นๆ (แต่อย่าลืมตั้งนาฬิกาปลุกล่ะ) โดยอาจจะแบ่งเวลาราวๆ 10-15 นาที หรืออาจจะมากน้อยกว่านั้น เพื่อปล่อยให้หัวใจได้ผ่อนคลาย ให้สมองได้หยุดคิด หยุดรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ เข้ามาชั่วคราว
แต่หากตารางแน่นเอี๊ยด หรือหยุดคิดเรื่องงานไม่ได้ ในเว็บไซต์ health.clevelandclinic.org แนะนำว่าเราอาจตั้งเวลาให้การพักไม่กี่นาทีเป็นเหมือนงานๆ หนึ่งของวัน โดยระหว่างพัก ให้ลองโฟกัสไปที่ความรู้สึกของตัวเอง เช่น การถามตัวเองว่า เรารู้สึกยังไงกับกลิ่นหญ้าในสวน เสียงนกรอบข้าง หรือเสียงรถบนถนน
แม้จะฟังดูย้อนแย้งว่าการพักแบบนี้ดูไม่ได้งานเอาเสียเลย แต่ไม่แน่ว่าวิธีนี้อาจจะคุ้มกว่าการอ่านประโยคเดิมซ้ำๆ ทั้งที่สมองไม่ประมวลผลแล้ว หรือฝืนนั่งปวดหลังหน้าคอมไม่ยอมขยับตัว จนสุดท้ายก็อาจจะกลายเป็นการทำงานผิดพลาด มีปัญหาสุขภาพตามมา หรือแม้กระทั่งเผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงาน
‘ไม่กล้าพัก’ อาจเป็นสัญญาณของ Toxic Productivity
สาเหตุที่บางคนไม่กล้าหยุดพัก นอกจากภาระอันหนักอึ้งแล้ว บางครั้งอาจมาจากความกลัว ‘ไม่ได้ทำงานตลอดเวลา’ ซึ่งความกลัวเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของ toxic productivity หรือการหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่า ฉันต้องคิดงานตลอดเวลา ต้องทำงานห้ามหยุดพัก โดยไม่สนใจเรื่องสุขภาพ ความสัมพันธ์ ชีวิตในด้านอื่นๆ หรือแม้แต่ช่วงที่เจอปัญหา เราจะไม่เสียเวลามานั่งคิดทบทวน หาวิธีแก้ไขหลายๆ ทาง แต่รีบลงมือทำอะไรสักอย่างทันทีซึ่งอาจส่งผลเสียในภายหลังได้
แคทรีน เอสเคอร์ (Kathryn Esquer) นักจิตวิทยาผู้ก่อตั้ง Teletherapist Network กล่าวว่า “เราอาจใช้เวลาว่างเพื่อพักผ่อน เติมพลัง และฟื้นฟูตัวเอง แต่หลายคนใช้เวลาเหล่านั้นทำงานมากขึ้นเพื่อให้รู้สึกมีค่า เติมเต็ม และรู้สึกว่าควบคุมสิ่งต่างๆ ได้” ผู้คนหรือองค์กรที่ตกหลุมพรางของเจ้า toxic productivity นี้เลยมักจะมีความรู้สึกว่า ‘การทำอะไรสักอย่าง’ สบายใจกว่า ‘การไม่ทำอะไรเลย’ แต่กลับมีงานวิจัยที่พบว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคน ‘ยุ่งตลอดเวลา’ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงมากกว่า แถมยังกีดกันชีวิตเราออกจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวหรือคนรอบตัวอีกด้วย
“ความรู้สึกเหนื่อยไม่ควรเป็นเรื่องปกติ และอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอยู่ในวงจรของ toxic productivity.. อีกสัญญาณหนึ่ง คือการประชุมผ่าน Zoom ทั้งที่การประชุมนั้นสามารถใช้โทรศัพท์ หรือส่งอีเมลได้” ซิโมเน่ มิลาซัส (Simone Milasas) ผู้เขียน Joy of Business กล่าว พร้อมอธิบายว่าความกลัว ‘เวลาว่าง’ ทำให้เราพยายามยืดเวลาการทำงานออกไปให้นานที่สุด จนกลายเป็นงานที่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นโดยไม่จำเป็น แล้ววนกลับมาส่งผลเสียต่อตัวงานและคนทำงานในที่สุด
เพราะช่องว่างบนโลกใบนี้ ไม่ได้มีไว้เพื่อให้เรา ‘เติมเต็ม’ อะไรบางอย่างเสมอไป แต่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความสมดุลให้กับโลก ไม่ต่างจากชีวิตมนุษย์ที่บางที ‘เวลาว่าง’ และ ‘การหยุดพัก’ อาจเป็นส่วนหนึ่งของงานที่สมบูรณ์และชีวิตที่สมดุลเช่นเดียวกัน
อ้างอิงจาก