ยังจำความรู้สึกตกใจได้ดี ตอนที่รู้ว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าลูกเกดทำมาจากองุ่น คำถามมากมายตามมาในหัว ทำไมคนอื่นถึงไม่รู้เรื่องง่ายๆ แค่นี้? ต่อให้ไม่รู้มาก่อน ก็น่าจะพอเดาออกได้บ้าง? แล้วไม่เคยสงสัยเลยหรอว่ามันทำมาจากอะไร? คนที่สงสัยในความไม่รู้ของคนอื่น อาจจะโดนคำสาปเข้าให้แล้ว
จริงๆ ไม่ใช่ความรู้สึกดูแคลน อวดรู้ หรือความรู้สึกด้านลบใดๆ อาการนี้ มีชื่อเรียกว่า Curse of Knowledge คำสาปของคนรอบรู้ จนไม่รู้ว่าคนอื่นรู้หรือไม่รู้อะไรบ้าง สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่กับชุดความรู้ใดมากๆ เชี่ยวชาญอะไรมากๆ หรืออยู่กับชุดความรู้ใดมานานมาก จนคิดว่าสิ่งนี้คือเรื่องปกติ เรื่องพื้นฐาน ที่ใครๆ เขาก็รู้กันทั้งนั้น พอรู้ว่าคนอื่นเขาไม่ได้รู้แบบเราก็งงงวยยกใหญ่ ว่าทำไมเขาถึงไม่รู้นะ
ความไม่รู้ของเขาไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เราเองที่ไม่รู้ว่าเขาไม่รู้ก็ไม่ผิดเช่นกัน
คำสาปแห่งความรู้จนไม่รู้นี้ เริ่มต้นจากการทดลองในปี ค.ศ. 1990 ของ อลิซาเบธ นิวตัน (Elizabeth Newton) จาก Stanford University แบ่งกลุ่มผู้ทดสอบเป็นสองกลุ่ม เป็น ‘Tapper ผู้เคาะ’ และ ‘Listener ผู้ฟัง’ โดยให้กลุ่มผู้เคาะ เคาะโต๊ะเป็นเพลงที่ทุกคนน่าจะรู้จักดี อย่าง Happy Birthday, Twinkle Twinkle Little Star แน่นอนว่ากลุ่มผู้ฟัง ต้องฟังเสียงเคาะและทายว่าเสียงเคาะนั้นเป็นเพลงอะไร
กว่าร้อยเพลงคุ้นหูที่ถูกเคาะเป็นท่วงทำนอง กลุ่มผู้เคาะเดาไว้ว่าคนฟังจะทายถูกสัก 50% แน่ล่ะ มีแต่เพลงฮิต ย่อมมั่นใจว่าใครๆ ก็ต้องเคยฟัง แต่กลุ่มผู้ฟัง กลับตอบถูกเพียง 2.5% เท่านั้น
เกิดอะไรขึ้นกับผู้ฟัง เพลงฮิตเหล่านั้นหายไปจากความทรงจำของพวกเขาได้อย่างไร? ทำไมผู้ฟังถึงจำทำนองเพลงคุ้นหูอย่าง Happy Birthday ไม่ได้?
มาเริ่มที่ผู้เคาะกันก่อน พวกเขาต้องเลือกเพลงจากลิสต์ที่ได้ มาเคาะให้เป็นจังหวะ เพลงที่เลือกเนี่ย คือเพลงที่พวกเขารู้จักท่วงทำนองของมัน จนสามารถนำมาเคาะตามจังหวะได้ จนเวลาเคาะ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเสียงทำนองในหัวคลอไปด้วย จนผู้เคาะรู้สึกว่า ฟังยังไงมันก็เป็นเพลงนี้เท่านั้น ฟังเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย
คำสาปมันเริ่มขึ้นตรงนี้แหละ
เราลองไปนั่งในบทคนฟังดูบ้าง “ป๊อก ป๊อกป๊อก ป๊อก ป๊อก ป๊อก” เรารู้แค่ว่าต้องเดาให้ถูกโดยไม่มีคำใบ้อะไรเลย มีแต่เสียงเคาะโต๊ะเว้นจังหวะ พยายามจินตนาการเป็นเพลง แต่เมื่อไม่มีคำใบ้ใดๆ ให้ทายจากเสียง มันก็ยังคือเสียงเคาะโต๊ะอยู่ดี
คนเคาะที่รู้มาแต่แรก อาจไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเดาไม่ออกนะ ชัดเจนขนาดนี้ นั่นเพราะเขามีเพลงนั้นอยู่ในหัวตั้งแต่แรก แต่คนฟังเนี่ย เขาไม่มีอะไรในหัวเลย นอกจากความพยายามฟังเสียงเคาะโต๊ะแล้วจับให้ลงทำนองสักเพลง
คำสาปนี้ไม่ได้หยุดอยู่ที่เพลง Happy Birthday หรือเสียงเคาะโต๊ะ มันหมายรวมถึงความรู้ในทุกๆ เรื่อง กราฟิกดีไซเนอร์ที่ไม่เข้าใจว่าการปรับขนาดภาพเป็นเรื่องยากตรงไหน ช่างภาพที่คิดว่าใครๆ ก็รู้จักกฎสามส่วน หรือแม้แต่พ่อค้าแม่ค้า ที่คิดว่าการคิดเลขในใจ ใครๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ก็เป็น Curse of Knowledge เช่นกัน
ยิ่งมี Curse of Knowledge ในการทำงานมากเท่าไหร่ ความลำบากในการทำความเข้าใจยิ่งมากเท่านั้น ครั้งหนึ่ง เราเองเคยหัวเสียกับเพื่อนร่วมงานที่แยกประเภทของสาย USB ไม่ถูก เพราะคิดเอาเองว่าในยุคสมาร์ตโฟน ไม่ได้เป็นของแรร์ ก็อนุมานเอาว่าคนอื่นน่ารู้ความแตกต่างของ USB อย่างน้อยก็ระหว่าง Micro USB, Type-C และ Lightning
หากไม่ใช่เรื่องของ USB แต่เป็นเรื่องของเนื้องานล่ะ จะเป็นอย่างไร?
หากเราทำงานใดงานหนึ่งมาเป็นระยะเวลานาน หรือเชี่ยวชาญชนิดหลับตาทำได้แล้ว เราอาจจะเผลอคิดว่า ของง่ายๆ แบบนี้ใครๆ ก็ทำได้น่า เมื่อต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น อาจหลงลืมที่จะอธิบายสิ่งที่อีกฝ่ายควรจะรู้ เพราะติดกับดักคำสาปที่ว่าใครๆ ก็รู้เรื่องนี้ทั้งนั้น ทั้งที่เรารู้เพราะเราอยู่กับมันทุกวันต่างหาก แต่สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่กับงานนั้น ไม่ได้เชี่ยวชาญ ทุกอย่างคือของใหม่สำหรับเขา จากมุมของคนที่ไม่รู้ คงต้องอาศัยการทำความเข้าใจ การฝึกฝน จนเชี่ยวชาญ
สมมติเราเป็นนักเขียน เราจะบอกให้คนที่ไม่ได้เขียนบ่อย ไม่เคยเขียน มาเริ่มเขียน เขาต้องรู้อะไรบ้าง รูปประโยคที่ถูกต้อง การใช้สันธาน ระดับภาษา รูปแบบบทความ และอื่นๆ เท่าที่จำเป็น เราคงไม่อธิบายทุกอย่างที่รู้ออกไป 100% เพราะเขาเองก็ไม่จำเป็นต้องรู้ขนาดนั้นเพื่อเริ่มต้น
Curse of Knowledge จึงเป็นเรื่องของการสื่อสารด้วย เมื่อเรารู้แล้วว่าคนอื่นไม่ได้รู้แบบเรา เราจะสามารถอธิบายให้เขาเข้าใจได้ไหม อาจจะมีหัวเสียที่ต้องมาคอยอธิบายสิ่งพื้นฐานที่ทำอยู่ทุกวัน ช้าก่อน เราไม่จำเป็นต้องอธิบายทั้งหมด ลองประเมินก่อนว่าอีกฝ่ายเป็นใคร ทำหน้าที่อะไร มีความจำเป็นต้องรู้เรื่องใด ในระดับไหน แล้วอธิบายเท่าที่เขาจำเป็นต้องรู้ก็พอ ที่เหลือก็เป็นความสามารถในการสื่อสารของเราแล้ว ว่าจะสามารถถ่ายทอดความรู้ที่มีออกไปได้แค่ไหน
หากรู้สึกอาการช็อกอยู่บ่อยๆ เวลาใครแสดงความไม่รู้ออกมา ชาวต้องคำสาป Curse of Knowledge มารวมกันตรงนี้ เรามีทางออกเบื้องต้นมาแนะนำ
ทำความเข้าใจถึงความแตกต่าง
แต่ละคนย่อมมีความสนใจแตกต่างกัน หรือแม้แต่อาชีพเดียวกัน ความเชี่ยวชาญแต่ละด้านก็ยังต่างกัน จึงไม่แปลกที่แต่ละคนจะมีเรื่องที่รอบรู้ไปหมด และเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน นั่นรวมถึงตัวเราเองด้วยเหมือนกัน อย่าเพิ่งอนุมานเอาว่าใครๆ ก็ต้องรู้แบบที่เรารู้
อธิบายแค่ในสิ่งที่จำเป็น
หากมีความจำเป็นอย่างการทำงานร่วมกัน เมื่อรู้แล้วว่าคนอื่นไม่รู้เรื่องไหน เราควรถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ออกไปให้เขารู้ด้วย อาจไม่จำเป็นต้องทั้งหมดที่เรารู้ แต่เมื่อเขาไม่รู้มาก่อน ลองเริ่มจากพื้นฐานและสิ่งที่เขาจำเป็นต้องรู้ในเรื่องนี้ เขาจะเอาไปทำอะไรต่อ ขั้นต่อไปคืออะไร อาจเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ บอก ค่อยๆ สอนกันต่อไป
แลกเปลี่ยนความสนใจกับคนรอบตัว
ลองแลกเปลี่ยนความสนใจของเรากับคนรอบตัว ไม่ว่าจะเพื่อน ครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้เรารู้ว่าใครสนใจเรื่องไหน มีความรู้ในเรื่องไหน และเขายังไม่รู้อะไร ให้เราเคยชินกับความรู้และความไม่รู้ แถมเพิ่มความรู้ให้ตัวเองและฝึกฝนการถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นด้วย
สุดท้าย คำสาปนี้เป็นเหมือนความเข้าใจไปเองของเรา ว่าคนนั้นคนนี้ ต้องรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ เราสามารถถอนคำสาปนี้ได้ด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้ ความสนใจกับผู้อื่นอยู่เสมอ เข้าใจว่าแต่ละคนย่อมมีความรู้ ความสนใจ ที่แตกต่างกัน ทั้งเราและผู้อื่นเอง ก็ยังคงมีเรื่องไม่รู้ให้เรียนรู้กันอีกมาก
อ้างอิงข้อมูลจาก