เรามักเห็นมุกตลกขำขันเรื่องบรีฟประหลาดๆ การฟาดฟันกันระหว่างครีเอทีฟและบรีฟที่ได้มาในมือ เรื่องราวยอดฮิตระหว่างเอเจนซี่กับลูกค้าที่ร้อยทั้งร้อยต้องเคยเจอ บนความขำขันนั้นมีน้ำตาของคนทำงานซ่อนอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่แค่เอเจนซี่เท่านั้นที่ต้องรับมือกับการตามใจลูกค้า
เรื่องราวแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอาชีพ แม้แต่ชาวออฟฟิศที่ต้องทำงานร่วมกับหลายฝ่าย หรือต้องทำงานภายใต้บังคับบัญชาของหัวหน้า แล้วถ้าหากวันหนึ่งเราเจอบรีฟประหลาดเหมือนที่ชาวเอเจนซี่เจอ แต่มาจากหัวหน้าของเราเอง เราจะท้วงติงได้ไหม? ปฏิเสธอย่างไรถ้าเห็นว่าไอเดียนี้มันไม่เวิร์ก?
‘Yes Man’ เป็นคำที่เอาไว้เรียก คนที่ไม่ค่อยปฏิเสธใคร ใครยื่นงาน ภาระ หน้าที่อะไรมาก็รับไว้เสียหมด การเป็นแบบนั้นอาจทำให้เราได้คะแนนจิตพิสัยในสายตาเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน แล้วตัวเราล่ะ อยากรับมันไว้แต่แรกหรือเปล่า? หากเรารับทุกอย่างเอาไว้ด้วยความเกรงใจ ไม่กล้าปฏิเสธ เราคงไม่อาจเรียกสิ่งนั้นว่าน้ำใจหรือความเต็มใจได้ 100% การรู้จักปฏิเสธไม่ให้ตัวเองเป็น Yes Sir เอ้ย Yes Man อาจทำให้เราได้ทำในสิ่งที่เต็มใจมากกว่าการรับทุกอย่างไว้จนล้นมือ
หรือไม่ต้องรอให้เราเป็น Yes Man ก็ได้ ถ้าหากวันหนึ่งหัวหน้าเดินมาพร้อมกับไอเดียที่ไม่มีทางเป็นไปได้ หรือดูแล้วไม่เวิร์กแน่นอน เราจะทำอย่างไรกับไอเดียนั้น? ถ้าเราเลือกจะปฏิเสธ หัวหน้าจะไม่พอใจหรือเปล่า? จะโดนเพ่งเล็งไหมนะ?
อำนาจในที่ทำงานจึงมีส่งผลต่อการตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างมาก แน่นอนว่า ถ้าหากเป็นเพื่อนร่วมงานร้องขออะไรที่เราไม่อยากทำ เราจะตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำได้ง่ายกว่านี้ แต่เมื่อเป็นเจ้านาย ตัวเลือก ‘ไม่’ จึงไม่ได้อยู่ในอันดับแรกหรือไม่อยู่ในตัวเลือกตั้งแต่แรกแล้วด้วยซ้ำ
“เจ้านายที่ดีจะรู้สึกพึงพอใจเมื่อลูกน้องกล้าที่จะปฏิเสธ เขาจะรับฟังเหตุผลและหาทางออกของเรื่องนี้ โดยทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการและการเลือกใช้คำของเราด้วย” ไดแอน อะมุนสัน (Diane Amundson) ผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจและการสื่อสาร พูดถึงการ say no ต่อเจ้านายไว้ในบทความจากเว็บไซต์ fastcompany จะเห็นได้ว่า การปฏิเสธไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่คือการเลือกใช้วิธีที่จะปฏิเสธมากกว่า “ไม่ทำหรอก ไอเดียแบบนี้” “มันทำได้ที่ไหนกันเล่า ปัดโธ่” จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะคงไม่มีใครอยากรับฟังหากถูกปฏิเสธด้วยคำพูดเหล่านี้ แล้วเราควรปฏิเสธแบบไหนกันล่ะ? มาดูกัน
“ได้เลย ลองมาดูว่าต้องทำอะไรก่อนดี”
เรามีงานอยู่ในมือจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ต้องอ้าแขนรับงานที่ถูกยื่นมาจากเจ้านายอีก จะไปบอกว่า “ไม่ว่างทำให้หรอก” ก็ไม่ควร เพราะมันดูไม่มืออาชีพเอาเสียเลย และอาจทำให้ถูกตั้งคำถามถึงความสามารถในการทำงานของเราอีกด้วย เมื่อเกิดสภานการณ์แบบนี้ อย่ามัวปิดปากเงียบ
ถ้าประเมินแล้วว่างานที่มีในมือมันมากเกินไป และไม่รู้ว่าต้องทำอะไรก่อน งานที่มีอยู่แล้ว หรืองานที่เจ้านายเสนอมา ให้ใช้วิธีพูดคุยกับเจ้านายว่า แน่นอน ทำได้ แต่อยากให้ทำอะไรก่อนกัน เพราะฉันมีงานอยู่ในมือดังนี้ พร้อมกางลิสต์งานที่เรามีให้เจ้านายดู นอกจากเจ้าจะได้รู้ว่าควรทำอะไรก่อนแล้ว ยังเป็นการตั้งคำถามต่อเจ้านายไปในตัวว่า เนี่ย มีงานอยู่เท่านี้ ยังต้องทำอีกจะไหวหรอ? แบบที่เราไม่ต้องพูดว่าไม่สักคำเดียว
“แบบนี้ดีเลย แต่เรามาลองไอเดียอื่นๆ เผื่อไว้ดีไหม?”
เจ้านายผู้มาพร้อมไอเดียล้านแปด มักจะทำให้เรากลืนไม่เข้าคายไม่ออกเสมอ ถ้าหากไอเดียนั้นไม่เข้าท่าสักเท่าไหร่นัก จึงต้องมีท่าไม้ตายของการบอกว่าไอเดียนี้ไม่เวิร์ก คือ การถามว่ามีไอเดียอื่นไหม ที่เรามักจะได้ยินในห้องประชุมอยู่บ่อยๆ วิธีนี้นอกจากเจ้านายใช้กับเรา หรือเราใช้กับเพื่อนร่วมงานแล้ว เราก็สามารถใช้กับเจ้านายได้เช่นกัน
และเพื่อให้คำถามของเรามีน้ำหนักมากขึ้น อย่าลืมพูดถึงข้อดีหรือข้อเสียของไอเดียนั้นๆ เช่น ไอเดียนี้โอเคเลย ตรงที่ … แต่คิดว่าตรง … อาจจะยังไม่เข้ากันเท่าไหร่ เป็นต้น เพื่อให้เจ้านายเห็นว่า เราไม่ได้ปฏิเสธไปเพราะไม่อยากทำ เพราะขี้เกียจทำ แต่เพราะไอเดียนี้มันมีปัญหาจริงๆ และเราได้พิจารณาแล้วว่ามันมีปัญหาอย่างไร
แต่การถามว่ามีไอเดียอื่นๆ อีกไหม ก็มีแค่สองทางเลือกเหมือนเดิม ถ้าเจ้านายตอบว่า มีไอเดียอื่นๆ อีกดังนี้ หรือเดี๋ยวจะไปลองคิดอีกที ถือว่าทริกนี้ของเราประสบความสำเร็จ แต่ถ้าตอบว่าไม่ อยากทำแบบนี้แหละ เราอาจตอบไปว่า ก็ได้ครับ ล้อเล่น! เราควรย้ำถึงปัญหาของไอเดียนั้นอย่างจริงจัง นอกจากบอกว่ามันมีปัญหาอย่างไรแล้ว ลองพูดถึงผลที่ตามมาของมันด้วย อาจทำให้เห็นภาพของปัญหามากขึ้น
“ถ้าขอลองแก้ตรงนี้สักหน่อย จะเป็นไรไหม?”
การปฏิเสธแบบไม่มีทางออกให้ บอกแค่ ไม่ ฉันไม่ทำ ฉันทำไม่ได้หรอก จะทำอย่างไรต่อก็เรื่องของคุณ (ว่าแต่ใครจะกล้าพูดแบบนั้น) เป็นสิ่งที่ควรเลี่ยงอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะกับเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานก็ตาม ตราบใดที่เรายังต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น หากเขาไว้วางใจว่าเราสามารถทำได้ นั่นเพราะเขาเชื่อมั่นในความสามารถของเรา
หากไอเดียหรือโปรเจ็กต์นั้นยังไม่เวิร์ก หรือมีปัญหาอะไร ควรมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ไอเดียนี้มีปัญหาตรงนี้ เราคิดไว้คร่าวๆ ว่าถ้าเป็นแบบนี้จะดีกว่านะ ลองเสนอทางออกให้เขาไปด้วย ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ถ้าหากอยากให้เรารับงานนี้ไป เราจะขอปรับหรือแก้ไขในส่วนนี้นะ ให้เขารับรู้ตั้งแต่แรก ว่างานจะออกมาเป็นแบบนี้นะ เราไม่ได้ถือวิสาสะปรับเปลี่ยนอะไรไปเอง
ในการทำงานจริง เราจะได้เจอกรณีที่หลากหลาย เราจึงเลือกทางออกแบบสำหรับหลากหลายกรณี ไม่ว่าจะด้วยเวลาที่เร่งรัด เรามีงานล้นมือ หรือเพราะไม่อยากทำไอเดียที่ดูแล้วไม่เวิร์กแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น เพราะเราควรรู้จักปฏิเสธเข้าไว้ ตราบใดที่งานมันออกมาเป็นชื่อเรา ไม่ว่าจะมาจากไอเดียใคร เราคงไม่อยากให้งานที่เรารู้ว่ามีปัญหาตั้งแต่แรกเผยแพร่ออกไปในนามของเรา แถมเรายังคงต้องทำงานร่วมกัน เจอหน้ากันอยู่อีกนาน การดับเครื่องชนอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก
อ้างอิงข้อมูลจาก