ฝันร้ายในห้องเรียนของใครหลายคน อาจเป็นการสุ่มเลขที่แล้วออกไปตอบคำถามหน้าห้อง ความประหม่าต่อสายตาหลายสิบคู่ที่จับจ้อง ยังไม่จบลงแค่ตรงนั้น การพูดต่อหน้าสาธารณะชนหรืออย่างน้อยก็เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเราในการทำงาน ก็ยังคงสร้างความประหม่าได้ไม่แพ้ตอนเด็ก เวลาต้องออกไปเสนองานหรือพูดต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก เราเลยสรรหาวิธีให้เราพูดได้แบบไม่ติดขัด เลยมักจะมีสคริปต์ติดมือไปเป็นโพยกันตายเวลาเลิ่กลั่กจำอะไรไม่ได้ขึ้นมา แต่สคริปต์ที่เชื่อว่ามีไว้กันตายนี้ต่างหากที่จะฆ่าเราเสียเอง
เจอภารกิจพูดหน้าชั้นนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนจนทำงาน แต่หลายคนก็ยังสงสัยอยู่ดีว่า ทักษะการพูดเพื่อนำเสนอเนี่ย มันจำเป็นต่อการใช้ชีวิตจริงๆ หรอ? ถ้าหากเราเป็นคนพูดไม่เก่งมาตั้งแต่แรกจะทำยังไง? หากทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเจอลูกค้าหรือไม่ค่อยได้พบปะกับใคร จำเป็นต้องมีทักษะนี้ด้วยหรือเปล่า? เราเองคงตอบแบบฟันธงลงไปไม่ได้เช่นกันว่ามันจำเป็นมากๆ หรือไม่จำเป็นสักหน่อย แต่ที่แน่ๆ คือ หากเรามีทักษะนี้ติดตัวไว้ย่อมเป็นผลดีกับการทำงานของเรามากกว่า
มาดูผลการวิจัยจาก Northeastern University บอกว่าคนที่ทำงานกับข้อมูลเนี่ยโดยทั่วไปจะมีทักษะการวิเคราะห์และตีความ แต่พวกเขามีปัญหาเรื่องการสื่อสารความรู้ความเข้าใจที่มีออกไปให้คนอื่นเข้าใจด้วย และกว่า 70% บอกว่าความก้าวหน้าในหน้าที่การงานขึ้นอยู่กับทักษะการสื่อสารเพื่อนำเสนอด้วยเช่นกัน เพราะถ้าเราไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วเนี่ยข้อมูลที่วิเคราะห์มาก็จะไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย
ทักษะนี้จึงเป็นเหมือนตัวช่วยให้สื่อสารความสามารถของเราออกไปให้เป็นที่ประจักษ์อีกทางเช่นกัน แม้จะไม่ได้เป็นคนพูดเก่งมาตั้งแต่แรก การฝึกฝนก็สามารถช่วยเราได้ ‘สคริปต์’ จึงกลายมาเป็นตัวช่วยให้เราสื่อสารได้อย่างครบถ้วน แต่ว่าการออกไปยืนอ่านตามที่จดตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ได้เป็นการสื่อสารที่ดีเท่าไหร่ เพราะการนำเสนอเรื่องราวนั้น เราควรสร้างแรงจูงใจต่อผู้ฟัง ทำเสนอแบบมีชั้นเชิง การเล่าเรื่องจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการอ่านให้ฟัง ลองดูตัวอย่างนี้
“เนื่องจาก-โครงการนี้-มีความจำเป็น-ต่อการพัฒนาในแผนก”
“เพราะฉะนั้นจึง-ต้องการให้ทุกคน-ให้ความร่วมมือ”
“ประโยชน์ที่จะได้รับ-เป็นผลดีแก่ส่วนรวม”
สารพัดความไม่เป็นธรรมชาติจะโผล่มาเสมอ ถ้าหากเราได้แต่อ่านตามสคริปต์แบบคำต่อคำ การเว้นวรรค ถ้อยคำที่เลือกใช้ จะออกมาเหมือนท่องจำมากกว่าการเล่าเรื่อง เมื่อเป็นแบบนั้นแล้วคนฟังที่นั่งอยู่ตรงหน้าคงไม่มีใครอยากฟังหุ่นยนต์ที่ท่องตามสคริปต์ในมือ ดังนั้น การพูดต่อหน้าสาธารณะชน ไม่ว่าจะเสนองานที่ปั้นมากับมือ ขายงานให้ลูกค้า หรือกล่าวสุนทรพจน์ ไม่ควรเป็นการอ่านสคริปต์แบบคำต่อคำ เพราะมันจะกลายเป็นการอ่านไม่ใช่การเล่านั่นเอง
แต่ทีนี้เราจะไม่ใช้สคริปต์เลยสักใบ ใช้มันสมองของเราเพียงอย่างเดียวจะได้ไหม? ก็อาจจะเป็นไปได้สำหรับคนที่มีความจำดีเลิศ หรือเข้าใจคอนเทนต์ในมืออย่างถ่องแท้จนสามารถเล่าเองได้เป็นขั้นเป็นตอน (และก็คงไม่มาอ่านคอนเทนต์นี้ด้วยเช่นกัน)
แต่ถ้าเราไม่ได้โปรขนาดนั้นและอยากกันเหนียวไว้ก่อน กลัวจะประหม่าเมื่อถึงเวลาจริงจนเกิด dead air เพราะลืมทุกอย่างในหัวไปหมดแล้ว การมีสคริปต์ไว้ในมือจึงไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรามีสคริปต์ในมือ แต่สามารถพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ คือ เราเลือกจดมาแบบไหนและเลือกใช้สคริปต์อย่างไรต่างหาก
มาดูเทคนิคเล็กน้อยจากทีม Body Talk ที่สอนการพูดและสื่อสารในโลกธุรกิจโดยเฉพาะกันเถอะ
จดในแบบที่เราจำได้ ไม่ใช่แค่ลิสต์ที่ต้องพูด
หากเราจดลิสต์สิ่งที่เราจำเป็นต้องพูดมาเป็นข้อๆ หนึ่ง สอง สาม สี่ เรียงราย อาจช่วยให้เราไม่ตกหล่นประเด็นไหนไปสักอัน แต่ว่าความต่อเนื่องของมันก็สำคัญเช่นกัน การจดเป็นลิสต์เพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของทั้งหมด
ลองจดเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันว่าหนึ่งมีที่มาจากอะไร จะไปต่อที่สองได้อย่างไร เมื่อไหร่ถึงจะไปสาม และจบลงที่สี่ได้อย่างไร เพื่อให้ทุกอย่างที่เราเล่านั้น มีความต่อเนื่องกัน ไม่ใช่แค่ลิสต์ความสำคัญของโปรเจ็กต์นี้แบบเหมือนมายืนอ่านทีละข้อมากกว่าการเล่าเรื่องราวและความเชื่อมโยงให้ผู้ฟังเห็นภาพ รูปแบบของการจดจึงไม่ได้กำหนดตายตัว เน้นที่เราจะจำได้ง่ายและสามารถเล่าได้อย่างต่อเนื่องจะดีกว่า
ต้องเข้าใจเรื่องที่เราจะเล่าอย่างหมดจด
อันนี้ Body Talk ยังไม่ได้แนะนำ แต่เราอยากแนะนำเอง เพราะเวลาเราจะเล่าอะไรได้อย่างเป็นธรรมชาติ อย่างแรกสุดเลยไม่ใช่เรื่องที่ว่า เราจำเนื้อหาของมันได้เท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจในเนื้อหาที่เราจะเล่าว่า เราเข้าใจมันมากแค่ไหน หากเราเข้าใจมันในภาพรวมแล้ว
แม้อาจจะไม่ได้เป๊ะทุกรายละเอียด (แต่เป๊ะก็ย่อมดีกว่า) แต่เราจะสามารถรู้ได้โดยอัตโนมัติเลยว่า เมื่อเล่าถึงตรงนี้แล้วเราต้องไปตรงไหนต่อ หมดปัญหาเล่าแบบพันขาตัวเอง แบบไม่ต้องดูสคริปต์ที่จดมาด้วยซ้ำ
อย่าลืมฝึกพูด เพื่อกระตุ้น muscle memory
muscle memory เกิดจากการทำซ้ำๆ แล้วจำได้ แบบไม่ต้องเริ่มใหม่ทุกครั้งที่ทำสิ่งนั้น ลองนึกภาพการเล่นกีตาร์เพลงแรกๆ กว่าจะเปลี่ยนคอร์ดได้ทันดั่งใจ มือไม่เคยยอมไปพร้อมกับความคิด แต่เมื่อฝึกซ้ำๆ ย้ำไปเรื่อยๆ มือของเราจะเปลี่ยนคอร์ดได้ทันโดยอัตโนมัติ ยิ่งฝึกมากเท่าไหร่ ยิ่งคล่องมากเท่านั้น
แต่ไอ้ความจำนี้ ไม่ได้อยู่ที่กล้ามเนื้อเหมือนกับชื่อ แต่อยู่ที่สมองส่วนความทรงจำ สิ่งนี้ก็สามารถนำมาปรับใช้กับการฝึกพูดได้เช่นกัน หากเราอยากลื่นไหลแบบไม่ต้องเหลือบตามองสคริปต์ทุกครั้งที่เปลี่ยน section ลองฝึกการพูดให้คล่องและพยายามย้ำเตือนตัวเองให้จำช่วงรอยต่อของเรื่องให้ได้ และ muscle memory จะเป็นตัวช่วยให้เรานึกออกเองว่าเมื่อจบตรงนี้ จะต้องไปตรงไหนต่อแบบอัตโนมัติ
สะกิดตัวเองด้วย trigger notes
พูดคล่องได้ดั่งใจ แต่พูดน้ำไหลไฟดับจนอาจออกทะเลไปเกินเนื้อหา การมี trigger notes จะคอยช่วยทอดสมอไม่ให้เราออกทะเลไปไกลกว่านี้และกลับฝั่งได้ทันท่วงที
โดย trigger notes อาจเป็นคีย์เวิร์ดของขอบเขตเนื้อหา คำที่ควรใช้หรือไม่ควรใช้ เส้นขีดแบ่ง section การเล่าเรื่อง คำที่ต้องเน้นย้ำ หรืออะไรที่จะเข้ามาช่วยให้เราอยู่ในวงของเนื้อหาและไม่ตกหล่นอะไรไป ส่วนเราเองอย่าลืมทำความเข้าใจกับสิ่งที่จดเพื่อไม่ให้เกิด dead air หน้างานว่านี่เราจดอะไรมานะ เส้นนี้มันหมายความว่าอะไร ไฮไลต์ตรงนี้ก็ด้วย
เพราะฉะนั้น การฝึกพูดก่อนลงสนามจริงยังคงจำเป็นเสมอ อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า การอ่านต่างจากการเล่าเรื่อง ทั้งการเว้นวรรค น้ำเสียง จังหวะการพูด จะมีส่วนช่วยให้การเล่าเรื่องของเราน่าฟังมากขึ้น และหากเราตัดสินใจมีสคริปต์ในมือควรฝึกซ้อมกับสคริปต์ใบเก่งของเราให้เข้าขากัน แบบที่มองเห็นคำนี้ปุ๊บรู้แล้วว่าต้องพูดอะไร เครื่องหมายที่ขีดไว้กับมือนี้หมายความว่าอย่างไร เพื่อให้สคริปต์เป็นตัวช่วยมากกว่าเป็นตัวถ่วงในการเสนองาน
อ้างอิงข้อมูล