เมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การถูกแบ่งแยก กีดกัน ปฏิเสธ จึงได้กลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวและไม่มีใครอยากเผชิญ ภายใต้ความกดดันให้เป็นที่ชื่นชอบและเป็นที่ยอมรับ จึงทำให้ใครหลายคนต้องพยายามอย่างหนักเพื่อ ‘เอาใจผู้อื่น’ อยู่ตลอดเวลา
ทุกๆ สังคม ไม่เราก็คนใกล้ตัว จะต้องมีคนใดคนหนึ่งที่แสนดี ใจกว้าง ชอบช่วยเหลือผู้อื่น เห็นใจผู้อื่นอยู่เสมอ แม้ภายนอกคนคนนั้นจะดูเป็นคนน่าคบหาคนหนึ่ง แต่ลึกๆ แล้วการกระทำดังกล่าวบ่งบอกอะไรในตัวเขาได้หลายอย่าง และเชื่อมั้ยว่า ผลลัพธ์ของการทำดีที่คิดว่าน่าจะดี จริงๆ อาจเป็นไปในทางที่ตรงกันข้ามเลยก็ได้
“ได้ครับพี่ ดีครับนาย” เราพยายามเอาใจทุกคนมากไปหรือเปล่า?
‘นักเอาใจผู้คน’ หรือ people-pleaser คือคนไนซ์ๆ คนหนึ่ง ที่ชอบทำอะไรเพื่อผู้อื่น ตามใจผู้อื่น หรือมีการจัดลำดับความสำคัญแบบเอาคนอื่นมาอยู่เหนือตนเองเสมอ
ซึ่งความดีนั้นก็มีที่ไปที่มา อาจด้วยส่วนหนึ่งของเราเองก็มีความสุขกับการได้กระทำสิ่งเหล่านั้น เช่น เราไม่มีเงินหรอก แต่พอเห็นของน่ารักๆ ก็อดไม่ได้ที่จะซื้อไปฝากคนอื่น เพราะอยากให้เขาดีใจและมีความสุขที่ได้รับ ส่วนเราเองก็มีผลพลอยได้ไปด้วย จากการที่ได้เป็นผู้ให้ ซึ่งก็ตรงตามที่ผลการศึกษาหนึ่งบอกว่า คนเราจะมีความสุขเวลาใช้เงินเพื่อคนอื่นมากกว่าตัวเอง เพราะเรารู้สึกถึงพลังบวก จากการที่ได้แสดงออกถึงความใจดี
แน่นอนว่าการทำดีต่อผู้อื่นนั้นไม่เป็นปัญหา หากมันเกิดจากจุดประสงค์ลึกๆ ของเราเอง แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากความดีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความสุขหรือความต้องการของเรา แต่เกิดจาก avoiding conflict หรือ ‘ความกลัว’ ที่จะขัดแย้งกับผู้อื่น เช่น เลือกเรียนในคณะที่ตัวเองไม่ชอบ ไม่ถนัด แต่ทางบ้านอยากให้เรียน เวลาใครขอให้ช่วยเหลืออะไร ก็มักจะหลุดปากไปว่า “ได้ครับ/ค่ะ” ทันทีทุกครั้ง แบบพระเอกในภาพยนตร์เรื่อง Yes Man หรือไม่ว่าเรื่องไหนใครจะผิด ก็มักจะเป็นฝ่ายที่พูดขอโทษก่อนเสมอ
การเป็นคนดีในแบบที่สอง แน่นอนว่า ไม่ได้เกิดขึ้นจากความเต็มใจของเรา 100% แต่เกิดจาก ‘ความพยายาม’ อย่างหนักหรือ ‘ความฝืน’ ที่จะทำให้ผู้อื่นพึงพอใจ ไม่ว่าระหว่างนั้นเราจะไม่อยากทำ เหนื่อย เบื่อ หรือโกรธอยู่ก็ตาม ซึ่งคนประเภทนี้มักจะมีปัญหาในการปฏิเสธ ด้วยความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าผู้อื่นจะคิดยังไงกับตัวเอง หรือถ้าตอบ ‘ไม่เอา’ ‘ไม่ชอบ’ ‘ไม่ต้องการ’ ออกไป ก็กลัวจะโดนทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ลำพัง ไม่มีใครคบ
ไหน ใครเป็นแบบที่สองบ้าง?
เป็นคนดีมากไปก็อันตรายเหมือนกัน
ด้วยความต้องการเป็นที่รักของคนทุกฝ่าย ไม่ว่าใครต้องการสิ่งไหน อยากให้ทำอะไร เราก็พร้อมจะสนองทุกเมื่อ แต่นอกจากจะเหนื่อยโดยไม่รู้ตัว เสียเงินโดยใช่เหตุ สุขภาพจิตเราเองก็น่าเป็นห่วงไม่ใช่น้อย เพราะเคยสังเกตมั้ยว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเอาตัวเองไปผูกกับความต้องการของคนอื่นมากเกินไป เมื่อนั้นเรามักจะหลงลืมหรือละเลยความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ เราอยากทำจริงๆ หรือไม่?
แล้วถ้าเราไม่อยากทำ เหตุใดเราจึงกำลังทำอยู่?
เมื่อรู้ตัวเช่นนั้นแล้ว ก็เกิดเป็นความอึดอัด ขัดข้องใจ ซึ่งถูกกดเอาไว้ในส่วนลึก ก่อนจะค่อยๆ ก่อตัวใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น แต่ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี เพราะกลัวว่าถ้าตามใจเสียงเรียกร้องของตัวเอง จะทำให้เราไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คน
สุดท้ายความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้ก็กลายเป็นระเบิดเวลา ที่กว่าเราจะรู้ตัว ก็พบว่าตัวเองเผชิญหน้ากับโรคเครียด โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลไปเสียแล้ว ทั้งยังมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ เพราะไม่กล้าตัดสินใจอะไร โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเลือกฝั่งเลือกฝ่าย ก็มักจะเป็นไปได้ยากเหลือเกิน เพราะถ้าปฏิเสธฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็กลัวว่าจะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ
ไม่เพียงแค่นั้น สิ่งที่เราทำให้ผู้อื่นเพื่อหวังผลลัพธ์ในทางบวก บางทีมันอาจจะส่งผลในทางตรงข้ามกันก็ได้เพราะเวลาที่เราทำอะไรเพื่อคนอื่นมากเกินไป พวกเขาอาจใช้ประโยชน์เหล่านั้นในการเอาเปรียบเราในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของงาน เช่น เราอาจจะอาสาทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย สุดท้ายอย่างมากเราก็คงได้คำชม คำขอบคุณ ความนิยมชมชอบในที่ทำงาน แต่เมื่อถึงเวลาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ความมีน้ำใจสูงส่งอาจไม่ใช่เกณฑ์ที่จะใช้คัดเลือก แต่เมื่อมีงานอะไรเข้ามาพวกเขาก็จะเลือกเข้าหาให้เราช่วยเหลือเป็นคนแรก
เราอาจจะกลัวว่าคนอื่นจะตัดสินเรายังไง
แต่ความเป็นจริงก็คือ
ทุกคนกำลังยุ่งกับเรื่องของตัวเอง
เกินกว่าจะมาใส่ใจเรา
หรือในเรื่องของความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเพื่อน คนรัก หรือญาติพี่น้อง การตามใจคนอื่นจนลืมนึกถึงตัวเองจะทำให้ความสัมพันธ์เกิดความไม่บาลานซ์ แรกๆ เราอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้อีกฝ่ายพึงพอใจ มีความสุขมากที่สุด แต่นานวันเราจะเริ่มตั้งคำถามถึงการให้อยู่เพียงฝ่ายเดียว พยายามอยู่เพียงฝ่ายเดียวและเมื่อตระหนักได้ว่า เราไม่ได้รับสิ่งเหล่านั้นกลับคืนมาในแบบเดียวกัน ก็อาจเกิดเป็นความผิดหวังขึ้นในขณะที่อีกฝ่ายคิดเพียงแค่ว่า เขาจะทำอะไรยังไงก็ได้ เพราะรู้ว่าท้ายที่สุด เราจะยังอยู่กับเขา และให้อภัยเขาอยู่ดี
หันมาใจดีกับตัวเอง และพูดว่า ‘ไม่’ ให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเลิกเป็นคนใจดี หรือเลิกเอาใจใส่ผู้อื่น เพราะมนุษย์ปฏิบัติต่อกันเช่นนี้ ย่อมดีกว่าการประสงค์ร้ายต่อกันเป็นไหนๆ เพียงแต่เราอาจจะต้องสงวนความใจดีบางส่วน เอาไว้ให้ตัวเองบ้าง หัด ‘ช่างมัน’ ให้กับบางเรื่อง และบอก ‘ไม่’ ให้กับบางสิ่ง แทนที่จะแบกรับทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Yes Man ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่าผลลัพธ์ของการตอบ ใช่ ได้ โอเค ไปหมดนั้นเป็นอย่างไร
จริงๆ แล้วมันมีเส้นบางๆ คั่นระหว่างชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วย ‘คุณค่าที่แท้จริง’ กับขับเคลื่อนด้วย ‘ความวิตกกังวล’ ชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยคุณค่าที่แท้จริง คือการที่เราทำอะไรบางอย่างเพื่อผู้อื่น เพราะเรามองเห็นคุณค่าของการกระทำนั้นจริงๆ เช่น เราใจดีต่อผู้อื่น เพราะเราเชื่อว่ามันคือสิ่งที่มนุษย์ควรจะกระทำแก่กันไม่ใช่เกิดจากความรู้สึกที่ต้องฝืนใจทำ และสุดท้ายเราจะไม่รู้สึกเสียดาย หรือรู้สึกผิดที่ทำลงไปแม้แต่นิดเดียว
แต่ชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยความวิตกกังวลนั้นต่างกัน เพราะเราทำดีต่อผู้อื่น เพียงแค่ต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง หรือเผชิญหน้ากับการที่ถูกมองว่าเป็นคนไม่อดทน ไม่พยายาม ไม่เสียสละ ซึ่งชีวิตแบบนี้จะทำให้ความซื่อสัตย์ที่เรามีต่อตัวเองหายไป ไม่กล้าที่จะปฏิเสธ หรือทำอะไรในสิ่งที่หัวใจตัวเองต้องการ ซ้ำความจริงใจต่อผู้อื่นก็หดหายไปด้วย เพราะจริงๆ แล้ว เราไม่ได้ทำเพื่อเขาจากใจจริงของเราเอง
แคร์ทุกอย่างบนโลกอาจเป็นเรื่องยาก
จะง่ายกว่ามั้ย หากเราเลือกแคร์เฉพาะ
ผู้คน สถานที่ และสิ่งของที่สำคัญกับเราจริงๆ
หากจะทำ ก็ทำเพราะเราเชื่อในคุณค่าของการกระทำนั้นจริงๆ ทำเพราะรู้สึก ‘อยากทำ’ ไม่ใช่เพราะ ‘ต้องทำ’ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกโกรธ ขัดข้อง ไม่พอใจ ก็อย่าโทษตัวเองที่มีความรู้สึกเชิงลบเหล่าน้ัน เพราะมันเป็นข้อมูลชั้นเยี่ยมเลยล่ะ ที่ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้ต้องการทำสิ่งนั้นจริงๆ ซะหน่อย
ฉะนั้น พยายามอย่าให้เสียงของคนอื่น ดังกว่าเสียงความต้องการในใจของตัวเอง คิดก่อนตอบรับ กลับมาแคร์ตัวเองบ้าง เอาใจตัวเองบ้าง มี self-compassion หรือความเมตตาต่อตัวเองบ้าง เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่อยู่เคียงข้างเราไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คนที่อยู่ในกระจกที่เราส่องทุกวันนี้แหละ
อย่าลืมว่าเราเป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง การจะทำให้คนทั้งโลกมารัก มาถูกใจเราไปหมด ดูจะเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่และเกินตัวไปหน่อยเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก