“งานนี้ดีมากเลย”
“ทางที่เสนอมาก็น่าสนใจนะ แต่ฝั่งนี้ก็มีเหตุผล เดี๋ยวเรากลับมาคุยเรื่องนี้กันต่อสัปดาห์หน้า”
เคยตกตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้หรือเปล่า? สถานการณ์ที่ดูจากภายนอกบรรยากาศในออฟฟิศก็เหมือนจะสงบสุขดี คนในทีมถนอมน้ำใจกันจนแทบไม่มีปัญหาขัดแย้งให้กวนใจ แต่ทำไมเราไม่รู้สึกมีความสุขกับบรรยากาศนี้เลยนะ
ไม่มีความขัดแย้งก็ดีไม่ใช่หรอ ไม่โดนติอะไรแถมได้คำชมอยู่เนื่องๆ ไม่ดีตรงไหน? แน่นอนว่าใครๆ ก็ต้องดีใจเวลาได้รับคำชม แต่ถ้าได้คำชมแล้วจบไป ไม่มีอะไรต่อท้าย ก็ไม่รู้ว่าจะนำไปพัฒนาต่อยังไง หรือพอเข้าห้องประชุมเพื่อหาข้อสรุป ก็ไม่ได้อะไรเหมือนเดิม ทุกสัปดาห์ต้องกลับมาประชุมเรื่องนี้วนไปทุกที แบบนี้แล้วถ้าอยู่ไปนานๆ เข้า นอกจากงานจะไม่คืบหน้าแล้ว ยังรู้สึกเหมือนที่ลงแรงไปไม่ได้อะไรกลับมาสักนิด
ถ้าพูดถึงบรรยากาศที่ทำให้พนักงานรู้สึกหมดไฟ หลายคนคงนึกถึงการทำงานที่เคร่งเครียด เดดไลน์กระชั้นชิด สั่งงานช่วงสายขอบ่ายสามโมง หัวหน้าฉุนเฉียว แถมยังดุด่าเวลาไม่พอใจ แต่พายุลูกใหญ่มักมาพร้อมหลังคลื่นน้ำที่ราบเรียบเสมอ หัวหน้าประเภทหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกหมดไฟได้ไม่แพ้กัน คือหัวหน้าแบบ people-pleaser หรือคนที่คอยรักษาบรรยากาศให้ไร้ความขัดแย้ง ด้วยการตามใจเสียงคนรอบข้างจนไม่กล้าตัดสินใจอะไรเลย
ในฐานะคนทำงานคงไม่มีอยากตกอยู่ในลูปการประชุมแบบไร้ทิศทางของเช้าวันจันทร์แบบนี้ตลอดไปแน่ แล้วหัวหน้าประเภทนี้เป็นยังไงนะ หากต้องเอาตัวรอดในออฟฟิศนี้เราจะทำยังไงดี
เมื่อการเป็น people-pleaser ไม่เท่ากับการเป็นหัวหน้าที่ดี
มองเผินๆ ชาว people-pleaser ดูไม่น่าจะสร้างความลำบากใจให้ใครได้ เพราะนิสัยส่วนใหญ่มักเป็นคนที่เอาความรู้สึกของคนอื่นเป็นที่ตั้ง เอาความรู้สึกของตัวเองไว้ทีหลัง คอยสังเกตว่าคนรอบข้างต้องการอะไร อยากได้ยินความเห็นแบบไหน แล้วจึงทำตามนั้น
นิสัยเหล่านี้เองที่ทำให้แวบแรกพวกเขาถูกมองว่าเป็นคนดี และเอาใจใส่คนอื่น แต่สิ่งที่ทำให้พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ส่งผลดีต่อใครเลย คือการตามใจคนอื่นเกิดจากความอยากให้คนอื่นชื่นชอบและยอมรับ ร้อยคนก็ร้อยความต้องการ ลองนึกภาพดูว่าการต้องทำให้ทุกคนพอใจ จะทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อยแค่ไหน ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คนประเภทนี้ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรด้วย เพราะไม่อยากทำให้คนอื่นรู้สึกผิดหวัง
แน่นอนว่าการเป็น people-pleaser ไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการฝึกฝนและแก้ไข หากไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบความเป็นอยู่ของใครก็คงไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ แต่พอเป็นบริบทในที่ทำงาน แถมเป็นหัวหน้าด้วยแล้ว นิสัยนี้สร้างความลำบากให้กับคนทำงานไม่น้อย
แม้ว่าดูภายนอกจะเหมือนเป็นคนที่เอาใจใส่คนอื่น แต่บางทีการเป็นหัวหน้าก็ต้องอาศัยทักษะการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเช่นกัน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ชาว people-pleaser มักต้องการเป็นที่ชื่นชอบของลูกน้องโดยไม่รู้ตัว เมื่อได้เป็นหัวหน้า บางทีก็ยอมอะลุ่มอล่วยกฎบางอย่างให้คนในทีมรู้สึกว่าทำงานง่ายขึ้น แต่มักเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียกับงานทีหลัง เราอาจสังเกตได้ เช่น ยอมให้พนักงานทำตามไอเดียที่เสนอมา ด้วยแผนการที่อาจเกินงบและกำลัง แต่ก็ไม่ยอมเบรกหรือแสดงความคิดเห็นที่มีประโยชน์กับโปรเจ็กต์นั้น ผลที่ได้อาจทำให้พนักงานเหนื่อยเกินความจำเป็น แถมผลที่ได้กลับมาอาจไม่คุ้มกับที่ลงทุนลงแรงไปซะเลย
เหนื่อยแค่ไหนเมื่อมีหัวหน้า people-pleaser ในออฟฟิศ?
ปกติแล้วการทำตามความคาดหวังของคนอื่นเป็นเรื่องทั่วไปของมนุษย์ในสังคม เพราะคงไม่มีใครอยากเป็นผูกมิตรกับคนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลแน่ๆ เพียงแต่การตอบรับทุกอย่างกับทุกคนก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเช่นกัน
แม้ในความคิดของชาว people-pleaser จะกลัวการปฏิเสธ แต่การตามใจคนอื่นมากไปก็ไม่ได้การันตีว่าคนอื่นจะชื่นชอบ มีงานวิจัยปี 2020 จาก Harvard Business School ร่วมกับมหาวิทยาลัย North Carolina ศึกษาผลกระทบจากการทำตามความต้องการของผู้อื่น ระบุว่า มีหลายตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าคนที่มีลักษณะตามใจคนอื่นมักไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เช่น การนำเสนอแผนธุรกิจ หรือการสัมภาษณ์งาน เนื่องจากในมุมมองของคนนอกจะรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้ไม่น่าเชื่อถือ โดยสังเกตจากความไม่สบายใจเวลาที่ต้องทำหรือพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เชื่อจริงๆ
เช่นเดียวกับในบริบทการทำงาน นิสัยของหัวหน้าที่ยอมทำตามความพอใจของ ก็ส่งผลต่อคนทำงานไม่น้อย เช่น ไม่สะสางปัญหาที่ค้างคา เพราะต้องการรักษาความสงบสุข นานวันเข้าจากปัญหาเล็กๆ ก็ค่อยๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะแก้ไข นอกจากนี้ยังสูญเสียความเชื่อมั่นในการเป็นหัวหน้าอีกด้วย เพราะคอยปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้อื่นอยู่ตลอด ท้ายที่สุดก็ทำให้คนทำงานหมดไฟ เพราะรู้สึกเหนื่อยล้าจากความเอาแน่เอานอนไม่ได้ และหวังจะรักษาความสัมพันธ์จนไม่มีเวลาให้ทุ่มเทกับการพัฒนางานให้ดีขึ้น
อย่างที่บอกไปว่าการมีหัวหน้าเป็น people-pleaser ไม่ส่งผลดีกับการทำงาน แล้วถ้ารู้สึกว่าสถานการณ์นี้คุ้นๆ กับสิ่งที่กำลังเจออยู่ในออฟฟิศ และสงสัยว่ากำลังเจอหัวหน้าที่ตามใจคนอื่นอยู่หรือเปล่า อาจลองเช็คได้จากลิสต์นี้
หัวหน้าคนนั้นดูลำบากใจเวลาให้หรือรับฟีดแบ็ก: หัวหน้าประเภทนี้มักกลัวการแสดงความเห็น ไม่ว่าจะเป็น การให้ฟีดแบ็กง่ายๆ อย่าง ดีหรือไม่ดี ต้องการหรือไม่ต้อง ไปจนถึงฟีดแบ็กเชิงสร้างสรรค์ จุดแข็งจุดอ่อนเพื่อให้ทีมนำไปพัฒนาต่อ เพราะพวกเขามองว่าการให้ฟีดแบ็กจะนำไปสู่ความขัดแย้งและไม่เป็นที่ชื่นชอบ ขณะเดียวกันก็ไม่พร้อมรับฟังความเห็นจากคนในทีมด้วย เมื่อได้รับคำวิจารณ์มักเก็บมาขุ่นเคืองใจภายหลัง พอไม่สามารถพูดเรื่องนี้ตรงๆ กับหัวหน้าได้ ก็ยิ่งทำให้คนทำงานรู้สึกอึดอัดในที่ทำงาน
หัวหน้าคนนั้นทำตัวเป็นฮีโร่ในการทำงาน: เป็นเรื่องปกติที่หัวหน้ามักต้องเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ เวลาเกิดความผิดพลาด ชี้แนะจุดบกพร่องเพื่อให้ทีมได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา แต่หัวหน้าที่ชอบทำให้คนอื่นพอใจ จะเข้ามาช่วยเหลือด้วยความรู้สึกว่า “ฉันคือผู้เสียสละ” แสดงตัวว่าเขาผู้เดียวเท่านั้นที่กอบกู้สถานการณ์แย่ๆ ได้ เพราะอยากเป็นคนสำคัญ ด้วยวิธีการเช่น ทำงานมากกว่าคนอื่น หรือเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองคนเดียว ดูเผินๆ เหมือนเป็นเรื่องดี แต่ภายใต้การช่วยเหลือนี้ลูกน้องมักรู้สึกเหมือน ‘ติดหนี้บุญคุณ’ และรู้สึกไร้ค่า มากกว่าจะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้
หัวหน้าคนนั้นไม่กระจายงานให้คนในทีม: หัวหน้าแบบ people-pleasing หลายครั้งจึงละเลยหน้าที่ที่หัวหน้าที่ดีควรทำไป เช่น การให้ทีมรับผิดชอบงานตามเดดไลน์ สร้างเป้าหมาย และตัดสินใจว่าคนในทีมว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร ทำให้คนทำงานรู้สึกไม่มีงานที่ท้าทายกับศักยภาพของตัวเอง และหมดไฟในที่สุด
ทำอย่างไรเมื่อต้องทำงานกับหัวหน้าที่ตามใจคนอื่น
ความจริงหัวหน้าแบบ people-pleaser ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว ในด้านหนึ่งการนึกถึงคนอื่นก่อนก็พอมีข้อดีอยู่บ้าง เนื่องจากพวกเขามีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นได้ดี ซึ่งนำไปสู่การสนับสนุนความสามารถของคนในทีมได้
ไม่ปฏิเสธหรอกว่าการทำงานกับคนประเภทนี้จะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยจนแทบอยากจะลาออกทุกเช้า แต่ในเมื่อต้องทำงานที่นี่ต่อ ระหว่างนี้เราสามารถเอาตัวรอดยังไงดี? โมตี้ คอปเพส (Moty Koppes) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาก็ได้เสนอวิธีทำงานร่วมกับหัวหน้าประเภทนี้ได้ คือ
- ชื่นชมเพื่อให้เปิดใจ: บางครั้งอาจลองชื่นชมพวกเขาบ้างเวลาที่พยายามตัดสินใจ หรือกำหนดทิศทางให้กับคนในทีม เพื่อส่งสัญญาณให้พวกเขารับรู้ว่านี่เป็นสิ่งที่ดี และเป็นสิ่งที่ทีมต้องการ
- ให้ข้อเสนอแนะอย่างสุภาพ: การให้ข้อเสนอแนะก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้พวกเขารู้ว่าเป็นสิ่งที่ทำได้เป็นเรื่องปกติ อาจจะลองให้ข้อเสนอแนะที่อีกฝ่ายไปแก้ไขได้ พร้อมกับผสมคำชมเล็กน้อย เพราะการเป็นที่ชื่นชอบนั่นแหละคือสิ่งที่หัวหน้าประเภทนี้ต้องการมากที่สุด ระวังอย่าชมมากไป เพราะอาจทำให้เราดูเป็นคนไม่จริงใจก็ได้
- เสนอรับงานเท่าที่จำเป็น: การทุ่มเททำงาน พร้อมใจทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่คนทำงานควรทำอยู่แล้ว แต่หากบางครั้งที่รู้สึกว่าไม่ได้รับงานที่ท้าทายความสามารถเลย การบอกให้หัวหน้ารู้ว่าเราพร้อมรับผิดชอบงานนี้ก็อาจช่วยหัวหน้ารู้สึกตัวว่าควรกระจายงานออกจากตัวบ้าง แต่ทั้งนี้ก็ควรทำเท่าที่จำเป็น และหลังจากประเมินงานในมือตัวเองเรียบร้อยแล้วว่าไม่เดือดร้อนด้วยนะ
- ขอความช่วยเหลือหากจำเป็น: หากทำทุกวิถีทางแล้วพฤติกรรมที่ชอบทำให้ผู้อื่นพอใจของหัวหน้าก็ยังคงสร้างปัญหาให้กับคนในทีมอยู่ดี ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องแจ้งฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพื่อช่วยให้เขาพัฒนาทักษะการสื่อสารและความกล้ายืนหยัดความคิดตัวเอง หรือประเมินความเหมาะสมในตำแหน่งของตัวเองอีกครั้ง
บางทีการเผชิญหน้าพูดคุยถึงปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมา ก็อาจเป็นทางออกให้เราสามารถตัดสินใจทางเลือกของตัวเอง ว่าจะอยู่ต่อหรือพอแค่นี้หลังจากนี้ได้มากขึ้นก็ได้
อ้างอิงจาก