เลิกงานแล้ว เหนื่อยใจแทบขาด อยากกลับบ้านไปนอนบนเตียงนุ่มๆ กินข้าวกับครอบครัว ดูหนังสบายๆ ให้หายล้า แต่แค่เดินมาขึ้น BTS เห็นจำนวนคนแล้วก็อยากร้องไห้ ทำไมคนเยอะขนาดนี้
The MATTER เลยลองไปเก็บข้อมูลว่า หากเราอยากกลับบ้านตอนเลิกงาน ต้องรอบีทีเอสนานแค่ไหน แล้วเวลาไหนบ้างที่คนจะเยอะจนล้นจนควรหลีกเลี่ยง หรือยืนตำแหน่งไหนดีที่มีโอกาสได้เข้าไปในขบวน
ซึ่งเราเก็บข้อมูลในวันจันทร์ถึงศุกร์ ช่วงเวลา 17.00 – 20.00 น. ที่สถานีอโศก และสถานีศาลาแดง เนื่องจากเป็นสถานีเชื่อมต่อกับ MRT ที่จะมีปริมาณคนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเป็นย่านออฟฟิศที่มีคนทำงานเป็นส่วนใหญ่ (ส่วนสถานีหมอชิตเป็นสถานีปลายทาง และอนาคตถ้าเรามีแรงมากกว่านี้ เราจะขยายพื้นที่สำรวจให้มากขึ้นอีกครั้งนะ)
1. ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยง
สถานีอโศก – หมอชิต : 18.00 – 19.00
สถานีอโศก – เคหะฯ : 17.30 – 19.00
สถานีศาลาแดง – สนามกีฬาฯ : 17.30 – 20.00
สถานีศาลาแดง – บางหว้า : 17.30 – 19.30
เรียกได้ว่าเวลาเหล่านี้เป็นช่วงพีคของความหนาแน่นบนชานชาลาหลังเวลาเลิกงาน หากใครสามารถวางแผนหลีกเลี่ยงได้และไม่อยากขึ้นไปเผชิญกับความเบียดเสียดบนสถานี เราก็ขอแนะนำให้ลองเลื่อนเวลาที่จะกลับบ้านอีกนิด ก็อาจทำให้สบายขึ้นได้อีกหน่อย เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน รอเส้นทางรถไฟฟ้าขยายและอาจช่วยกระจายคนไปยังสายต่างๆ ได้มากขึ้น
2. ต้องรอนานแค่ไหน เฉลี่ยมากี่นาทีต่อ 1 ขบวน
สถานีอโศก – หมอชิต : ประมาณ 2 นาที
สถานีอโศก – เคหะฯ : ประมาณ 2 นาที
สถานีศาลาแดง – สนามกีฬาฯ : ประมาณ 4 นาที
สถานีศาลาแดง – บางหว้า : ประมาณ 4 นาที
โดยทางบีทีเอสได้ให้ข้อมูลเรื่องตารางเวลาและความถี่เพิ่มเติมไว้ที่ : https://www.bts.co.th/service/timetable.html ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ต้องรอนานนัก ถ้าหากไม่เกิดเหตุขัดข้องอะไรขึ้นมาก่อน อันนี้ก็คงต้องเสี่ยงดวงเอานะ
3. จุดที่คนมักยืนหนาแน่น
สถานีอโศก – หมอชิต : ท้ายขบวน
สถานีอโศก – เคหะฯ : หัวขบวน และท้ายขบวน
สถานีศาลาแดง – สนามกีฬาฯ : ท้ายขบวน
สถานีศาลาแดง – บางหว้า : หัวขบวน
เราสังเกตว่าบริเวณที่คนมักจะหนาแน่นนั้นเป็นบริเวณที่มีบันไดเลื่อนขึ้นไปยังชานชาลา รวมถึงการออกแบบสถานที่ทำให้บริเวณกลางขบวนมีพื้นที่ยืนรอน้อยจนคนไม่สามารถยืนได้มากเท่ากับบริเวณหัวและท้ายขบวนซึ่งมีบริเวณให้ยืนรอมากกว่า การออกแบบของชานชาลาจึงมีผลต่อการกระจายความหนาแน่นของสถานีด้วยส่วนหนึ่ง
ผลสำรวจทั้งหมดที่เราได้มานั้นทำให้เห็นว่าผู้คนต้องใช้บีทีเอสในการเดินทางกลับบ้านเป็นจำนวนมาก รถไฟฟ้ากลายเป็นอีกหนึ่งการเดินทางสำคัญที่ขาดไม่ได้
นอกจากนี้ ในทางหนึ่งอาจหมายถึงสถานที่การทำงานที่ส่วนใหญ่ผู้คนต้องเดินทางเข้ามาทำงานกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพชั้นใน จนอาจจะตั้งคำถามถึงการวางผังเมืองในอนาคต รวมถึงการวางแผนส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าแต่ละสายว่าจะออกแบบอย่างไรให้ผู้คนไม่ต้องเบียดเสียดขึ้นรถไฟฟ้า และทำให้ทุกคนได้กลับถึงบ้านอย่างสบายใจมากขึ้น
ยังไงก็ตาม วันนี้กลับบ้านกันดีๆ นะ 🙂
หมายเหตุ :
*เกณฑ์การวัดความแน่นสี่ระดับคือ 1 = มีที่นั่งเหลือให้คนนั่ง 2 = ไม่เหลือที่นั่ง ต้องยืน 3 = ยืนจนแน่น 4 = แน่นจนคนที่ยืนรอไม่สามารถเข้าไปในขบวนได้หมด
**ข้อมูลนี้เก็บตั้งแต่วันที่ 8 – 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานีห้าแยกลาดพร้าวยังไม่เปิดให้บริการ