ขบวนรถไฟฟ้าลายดอกป๊อปปี้สีส้มออกเดินทางทั่วเมืองนับตั้งแต่เข้าเดือนสิงหาคม สร้างบรรยากาศสดใสเตรียมต้อนรับเข้าสู่ช่วงฤดูใบไม้ร่วง และนี่ก็เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ของ Marimekko แบรนด์ออกแบบลวดลายและงานพิมพ์สัญชาติฟินแลนด์ ซึ่งร่วมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสจัดทำโปรเจกต์นี้ แปลงโฉมขบวนรถด้วยลายพิมพ์ดอก Unikko หรือดอกป๊อปปี้ พร้อมออกเดินทางตลอดเดือนนี้
ความพิเศษของโปรเจกต์อยู่ที่การสื่อสารแนวคิดแบรนด์ที่ว่า ‘Bringing Joy to Everyday Life’ ผ่านลวดลายและสีสันแห่งฤดูกาล Pre-fall 2021 สื่อสะท้อนตัวตนของความมองโลกในแง่ดีและส่งต่อพลังบวกที่แบรนด์เริ่มทำมาตั้งแต่ต้น
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ‘อะไร’ ทำให้แบรนด์ดีไซน์ลายพิมพ์แบรนด์นี้อยู่มายาวนาน แถมงานแต่ละชิ้นก็ไม่เคยตกยุคหรือเสื่อมไปตามกาลเวลา ที่สำคัญ กว่าจะมาเป็น Unikko สดใสให้ได้เห็นกันนั้น มีเบื้องหลังการสรรค์สร้างอย่างไรบ้าง
ย้อนกลับไปปี ค.ศ.1951 อาร์มี เรเตีย นักธุรกิจหญิงชื่อดังในฟินแลนด์ ได้ร่วมก่อตั้ง Marimekko และสร้างให้เป็นหนึ่งในแบรนด์ไลฟ์สไตล์ หัวใจสำคัญของการทำแบรนด์นี้ให้ขึ้นไปอยู่ระดับโลก ไม่ได้อยู่ที่ว่าเธอคิดจะผลิตสินค้าอะไรมาขาย แต่ตั้งต้นจาก ‘ความตั้งใจ’ ที่จะส่งต่อคุณค่าแห่งการมองโลกในแง่ดีและความรื่นรมย์ในชีวิตผู้คน
ยุคนั้นแฟชั่นเครื่องแต่งกายผู้หญิงจะออกแนวโมโนโครม ไม่ได้มีสีสันหรือลวดลายใดๆ เสื้อผ้ามีแบบทรงเดียวกัน ไร้ลูกเล่นตกแต่ง และนี่ก็คือการเดินทางหน้าแรกของแบรนด์ Marimekko ที่เริ่มจากการออกแบบและทำเสื้อผ้าให้มีลวดลายหลากหลาย รูปทรงแปลกตาแต่เปี่ยมลูกเล่น แถมสีสันสดใส ฉีกกรอบเครื่องแต่งกายผู้หญิงในยุคหลังสงครามแบบเดิม ส่งผลให้ชื่อของแบรนด์กลายเป็นหนึ่งในต้นแบบเครื่องแต่งกายคลาสสิก
ความโดดเด่นที่ทำให้ Marimekko ก้าวขึ้นสู่แบรนด์แฟชั่นและดีไซน์ระดับโลก ไม่ใช่เพียงสีสันหรือลวดลายที่ดึงดูดสายตาหรือความสนใจผู้คนเท่านั้น แต่ต้นกำเนิดของแบรนด์สะท้อนถึงการปลดปล่อยจิตวิญญาณของผู้หญิงทุกคน ไม่ได้จำกัดว่าคุณจะเป็นผู้หญิงอายุเท่าไหร่หรือมีรูปร่างหน้าตาแบบไหนถึงจะสวมใส่เสื้อผ้าของแบรนด์ได้
ที่สำคัญ Marimekko ไม่ใช่แบรนด์แฟชั่นที่ใช้สวมใส่เพื่อความสวยงามหรือให้ดูเก๋ทันสมัย หากแต่เป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยส่งต่อพลังบวกและความอิสระให้กับผู้หญิงทุกคน เหมือนที่ อาร์มี เรเตีย ตั้งใจใส่อิสรภาพแห่งความคิดสร้างสรรค์ลงไปในงานของเธอตั้งแต่เริ่มลงมือทำ และนั่นก็ทำให้งานของ Marimekko อยู่เหนือกาลเวลา แตกต่างจาก fast fashion ที่เน้นเกาะกระแสชั่วครู่และหล่นหายไปตามการเปลี่ยนผ่าน
เพราะไม่ได้วางตัวแบรนด์ในฐานะผู้ผลิตสินค้าแฟชั่น แต่ อาร์มี เรเตีย ผูกแบรนด์ไว้กับปรัชญาที่ต้องการจุดประกายการใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้คน จึงทำให้อาณาจักร Marimekko แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ผู้คนหลายอย่าง ทั้งของแต่งบ้าน เครื่องประดับ และของเบ็ดเตล็ดที่เหมาะแก่การเก็บสะสม โดยการออกแบบลวดลายแต่ละคอลเล็กชันจะระดมความคิดจากครีเอทีฟและนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ถูกยกให้เป็นเหมือน ‘ชุมชน’ ที่ใช้ชีวิตร่วมกัน มากกว่าเป็นเพียงพนักงานทำงานในองค์กรหนึ่งเท่านั้น
จึงไม่แปลกเลยที่ไม่ว่า Marimekko จะออกมากี่คอลเล็กชั่นก็ยังคงส่งต่อพลังเชิงบวกและความสุขได้เสมอมา แถมยังตีตลาดกลุ่มเป้าหมายแถบยุโรปเหนือ อเมริกาเหนือ และเอเชียแปซิฟิกได้อย่างเหนียวแน่น รวมทั้งจับมือออกคอลเล็กชั่นพิเศษกับแบรนด์ดังไม่ขาด
ในขณะที่ครีเอทีฟและนักออกแบบต่างถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตลอด อาร์มี เรเตีย ก็หวังอีกมุมหนึ่งว่าลูกค้าที่ซื้อของของแบรนด์นั้นจะแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์และเสียงในแบบของตัวเองเช่นกัน การแรปตัวรถบัสให้มีลวดลายและสีสันเฉิดฉาย โดดเด่นจากรถอื่นบนท้องถนน จึงเป็นเหมือนการแสดงออกที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างพลังบวก เฉลิมฉลองให้กับการฉีกกรอบจากศิลปะที่ถูกกำหนดจากกลุ่มชนชั้นบน นำมาสู่การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและเท่าเทียมกัน อันเป็นความตั้งใจในการสร้างงานแต่ละชิ้นของ Marimekko
สำหรับการแรปขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส Unikko สีส้ม ที่กำลังแล่นออกเดินทางฉลองครบรอบ 70 ปีนั้น ได้รับการออกแบบจาก วาตารุ โทมินากะ นักออกแบบแฟชั่นชาวญี่ปุ่น โดยงานของวาตารุสื่อถึงความผสมผสานและความลื่นไหลทางเพศ อีกทั้งลวดลายดอก Unikko ก็แฝงความสดใสและร่วมสมัย
เมื่อนำมารวมกับแนวการออกแบบของแบรนด์ Marimekko แล้ว จึงทำให้ได้ลายดอกป๊อปปี้ที่สามารถนำไปพิมพ์บนผลิตภัณฑ์อื่นอย่างเสื้อผ้าแนวสตรีท แก้วน้ำ หรือของแต่งบ้านอื่นๆ ที่ใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง วางประดับที่ต่างๆ หรือเก็บไว้เป็นของสะสมก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก