ข่มขืน = ประหาร
ฆ่าคนตาย = ประหาร
กระทำผิดร้ายแรงซ้ำซาก = ประหาร
บทลงโทษเหล่านี้เปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงรึเปล่า?
ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์คดีอุกฉกรรจ์ หรือคดีที่กระทบกระเทือนจิตใจคนหมู่มากในสังคม เรามักจะเห็นการหยิบบทลงโทษ ‘ประหารชีวิต’ กลับมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ ซึ่งทั้งสื่อและสังคมเองต่างก็ตั้งคำถามไปในทำนองเดียวกันว่า บทลงโทษของคดีลักษณะนี้ควรจะเป็นโทษประหารชีวิตมากกว่าตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจริงหรือไม่
โทษประหารชีวิตยังเป็นบทลงโทษทางกฎหมายในระบบยุติธรรมของไทยก็จริง แต่เรากลับพบว่า การบังคับใช้หรือตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการประหารชีวิตมีน้อยครั้งมากๆ รายล่าสุดที่ถูกตัดสินประหารชีวิตไปเมื่อช่วงกลางปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมานับว่าเป็นการประหารชีวิตรายแรกในรอบ 9 ปี
ทว่า แม้จะมีการหยิบบทลงโทษสูงสุดอย่างการประหารชีวิตมาใช้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การก่อเหตุคดีร้ายแรงลดน้อยลงไปแต่อย่างใด ยังมีการก่อเหตุทั้งคดีข่มขืน ฆาตกรรมอำพราง หรือเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซ้ำๆ
ถ้าอย่างนั้นแล้ว ต้นเหตุที่แท้จริงของการกระทำความผิดแบบนี้เกิดจากอะไรกันแน่ อะไรคือกระบวนการที่จะสามารถหยุดยั้งการก่อเหตุได้รัดกุมมากที่สุด การเอาโทษประหารชีวิตออกไปเลยจะช่วยเพิ่มหรือลดการก่อเหตุได้มากกว่ากันแน่
เข้าใจนิยามและการมีอยู่ของ ‘บทลงโทษ’ ตามหลักอาชญาวิทยา
ก่อนที่จะไปดูเฉพาะเจาะจงในส่วนของการประหารชีวิต เรามาลองดูกันก่อนดีกว่าว่าการมีอยู่ของบทลงโทษสำคัญยังไงบ้าง
เราพบว่างานศึกษาของ ชนินันท์ ศรีธีระวิศาล อธิบายหลักการลงโทษด้วยคอนเซปต์หลักๆ 2 แบบ อย่างแรกคือ ‘อำนาจการลงโทษของรัฐ’ คำอธิบายหลักๆ ผ่านแนวคิดนี้ คือ รัฐต้องมีการบัญญัติบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด เพื่อป้องกันไม่ให้ชุมชนถูกทำลาย ถือว่าเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
ซึ่งนอกจากบทลงโทษที่มีความรุนแรงแล้ว รัฐยังต้องนำหลักมนุษยธรรมมาใช้ในกระบวนการนี้ด้วย นั่นคือ ต้องคิดต่อไปอีกว่า จะมีการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมของผู้กระทำผิดอย่างไรบ้าง
ส่วนอีกลักษณะ คือ ‘แนวคิดในการลงโทษ’ ตามแนวคิดอาชญาวิทยาดั้งเดิมจะแบ่งจุดประสงค์ในการลงโทษออกเป็น 3 ข้อใหญ่ๆ ได้แก่ การลงโทษเพื่อเป็นการแก้แค้น การลงโทษเพื่อข่มขู่หรือเพื่อยับยั้ง และการลงโทษเพื่อเป็นการตัดโอกาสไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก
อย่างแรก คือ การลงโทษเพื่อการแก้แค้น นักปรัชญาชาวเยอรมันอย่าง อิมมานูเอล คานต์ ให้เหตุผลไว้ว่า การลงโทษเป็นของคู่กันกับการกระทำผิด เพื่อความยุติธรรมแล้วบทลงโทษที่ได้รับจะต้องมีสัดส่วนเดียวกันกับความผิดที่ได้กระทำไป คล้ายกับวิธีคิด ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’
ต่อมา คือ การลงโทษเพื่อข่มขู่ เพื่อให้คนอื่นๆ ในสังคมเห็นเป็นตัวอย่างว่า ถ้าทำผิดในลักษณะเดียวกันจะได้รับโทษแบบนี้ ทำให้คนในสังคมรู้สึกเกรงกลัว และเพื่อให้ผู้กระทำผิดเองรู้สึกเข็ดหลาบไปในเวลาเดียวกันด้วย และสุดท้าย คือ ตัดโอกาสไม่ให้กระทำผิดซ้ำ แน่นอนว่าการตัดโอกาสที่เด็ดขาดที่สุดก็คือ การที่ผู้กระทำคนนั้นไม่มีชีวิตอยู่ต่อไปซึ่งก็คือ การประหารชีวิต
ประหารชีวิต ลดอาชญากรรมไม่ได้
สิ่งที่ดูจะเป็นปัญหาไม่ใช่การมีอยู่ของบทลงโทษ เพราะการมีอยู่ของรัฐ และการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมของผู้คนที่มีความหลากหลายแบบนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดบทลงโทษตามสมควร
แต่ที่เราต้องตระหนักให้มากๆ ก็คือ หากเป็นการพิจารณาลงโทษด้วยหลักการแก้แค้น ข่มขู่ หรือตัดโอกาสไม่ให้กระทำผิดซ้ำจะส่งผลระยะยาวแบบไหนกับสังคมบ้าง
งานวิจัยของ เยาวลักษณ์ ศรีเผด็จ ระบุถึงผลเสียของโทษประหารว่า ไม่สามารถหยุดยั้งอาชญากรรมได้ เพราะแม้จะมีโทษนี้อยู่ แต่หลังจากการประหารแต่ละเคสก็ยังมีคดีอุกฉกรรจ์เกิดขึ้นอยู่ดี
นอกจากนี้ การใช้โทษประหารชีวิตยังนับเป็นการปฏิเสธไอเดียการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมนักโทษ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการมีอยู่ของบทลงโทษด้วยซ้ำ หรือถ้าจะอ้างถึงความปลอดภัยของสังคม เยาวลักษณ์เสนอว่า โทษจำคุกตลอดชีวิตก็สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของสังคมได้เช่นกัน
ที่สำคัญที่สุด คือ โทษประหารไม่สามารถคืนความยุติธรรมให้กับนักโทษได้เลยในกรณีที่เกิดความผิดพลาดในกระบวนการให้คำพิพากษา ซึ่งกรณีแบบนี้ก็เคยมีให้เห็นมาแล้วด้วย
กฤษณพงค์ พูตระกูล นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา อธิบายว่า แนวคิดอาชญาวิทยาดั้งเดิมจะมองว่า คดีที่เป็นการทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต้องได้รับบทลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการศึกษาข้อมูลแล้วพบว่า บทลงโทษแบบนี้กลับไม่ได้ทำให้อาชญากรลดลงแต่ยังมีรายใหม่ๆ เพิ่มมาด้วย
ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศได้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตไป เพราะหันไปมองเรื่องการฟื้นฟูพฤติกรรมรายบุคคลมากขึ้น คือทบทวนหาสาเหตุที่เกิดจากตัวผู้กระทำผิด และปัจจัยแวดล้อมทางสังคมประกอบกัน
“ถ้าเราสนับสนุนแนวคิดนี้จะต้องไม่มีคนกระทำผิดอีกเลย แต่ถามว่ามันเป็นแบบนั้นไหม แสดงว่ามีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อาชญาวิทยาในมุมหนึ่งมองว่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมมีความผิดพลาด จับผิดตัวล่ะ เพราะแม้แต่ต่างประเทศเองก็มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น อย่างอเมริกาที่นิติวิทยาศาตร์เขาก้าวหน้ามากๆ แล้วแต่ผลปรากฏว่า มีการประหารผิดพลาดเหมือนกัน เนื่องจากระบบการเก็บหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ผิดพลาด ทำให้การลงโทษมีความผิดพลาดเกิดขึ้นด้วย”
มองภูมิหลังรายบุคคล เพื่อฟื้นฟูพฤติกรรมอย่างจริงจัง—คือการแก้ไขระยะยาว
อาจารย์ชวนให้เราสังเกตภูมิหลังของผู้กระทำผิดในคดีอุกฉกรรจ์หลายๆ เคสว่า เมื่อสืบประวัติของแต่ละรายไป สิ่งที่เห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่เลยคือ การมีชีวิตวัยเด็กที่ไม่สมบูรณ์แบบ ทั้งครอบครัวแตกแยก อยู่กับพ่อหรือแม่เลี้ยง โดนเพื่อนกลั่นแกล้ง โตมากับสภาพแวดล้อมหรือกลุ่มเพื่อนไม่ดี
คำถามคือ ถ้าเรารู้แล้วว่า เขากระทำผิดเพราะถูกหล่อหล่อมด้วยปัจจัยเหล่านี้ การแก้ปัญหาด้วยโทษประหารยังจำเป็นอยู่ไหม หรือท้ายที่สุดแล้วโทษประหารให้ผลลัพธ์อะไรกับสังคมได้บ้างนอกจากความสะใจ?
“อย่างเคสล่าสุดที่เป็นคดีฆ่ายัดหีบ เราก็พบว่า เขาโตมาจากครอบครัวที่มีปัญหา พ่อแม่ใช้ความรุนแรง พ่อถูกกล่าวหาว่าไปฆ่าหั่นศพ แม่เขาก็จ้างวานฆ่าพ่ออีกที เขาก็ซึมซับพฤติกรรมเหล่านี้มา หรือลองไปดูข้อมูลจากสถานพินิจก็ได้ เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดทั้งในเรือนจำและสถานพินิจมากกว่า 50% มาจากครอบครัวที่มีปัญหา พ่อแม่มีการใช้ความรุนแรง มีประวัติการใช้ยา หรือดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า นักโทษในเรือนจำเกิน 60% มาจากครอบครัวรากหญ้า มีรายได้ต่ำกว่ารายได้ปานกลาง เด็กที่โตมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีแล้วไม่กระทำผิด เพราะเขาอาจจะไปเจอเพื่อนที่ดี หรือมีปัจจัยอื่นเข้ามาช่วยเสริม ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีแบบนั้น”
ส่วนการฟื้นฟูพฤติกรรมรายบุคคลสำหรับประเทศไทยในตอนนี้อาจารย์มองว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะจำนวนนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศตอนนี้ที่มีอยู่ราวๆ 4 แสนคน นับว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก
การจะใช้วิธีฟื้นฟูรายบุคคลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทีมสหวิชาชีพเข้ามาช่วยเหลือ ประกบตัวต่อตัวเพื่อดูแลฟื้นฟูพฤติกรรมนักโทษอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องใช้งบจากภาครัฐที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักโทษ
จะลดอาชญากรรมได้ ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ
ในประเทศอังกฤษหากมีเด็กที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ก่อเหตุวิ่งราวลักทรัพย์ สิ่งที่รัฐจะทำเป็นอย่างแรกเลยก็คือ ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูครอบครัวของเด็ก บ้านอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร ลักษณะครอบครัวที่อาศัยด้วยเป็นอย่างไรบ้าง
หากรัฐพบว่าเด็กไม่มีครอบครัวดูแล รัฐจะเลี้ยงดูและให้การศึกษาอย่างเต็มที่เอง แต่บ้านเราเนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณของสถานสงเคราะห์ จึงทำให้กระบวนการฟื้นฟูเด็กตั้งแต่เริ่มต้นค่อนข้างมีปัญหา
กฤษณพงค์ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษและประเทศแถบยุโรปที่มีการวางโปรแกรมปรับสมดุลอารมณ์ให้กับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่เริ่มต้น โปรแกรมนี้จะช่วยวางแผนให้คนเป็นแม่ปรับอารมณ์ความรู้สึกระหว่างตั้งครรภ์ได้ เพราะอารมณ์ของแม่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็กด้วย ซึ่งบ้านเรายังไม่มีการให้ความสำคัญกับส่วนนี้มากนัก
หรือประเทศใกล้ๆ กับเราอย่างสิงคโปร์ก็มีการวางนโยบายลงทุนกับคนในระยะยาวว่า อีก 50 ปีข้างหน้าประชากรในประเทศจะเป็นอย่างไร ของไทยแม้จะมีการบรรจุเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติแทบทุกฉบับ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น
อีกส่วนที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันยังมีการจ่ายเงินเยียวยาเหยื่อจากกระบวนการยุติธรรมอยู่ อาจารย์บอกว่า นี่เป็นสิ่งที่หลายๆ คนต้องตระหนักให้มากๆ ว่า ทำไมยังมีการจ่ายเงินเยียวยาอยู่
นั่นเพราะอาจจะยังมีช่องโหว่บางอย่างในกระบวนการยุติธรรมสำหรับบางเคส ซึ่งถ้ามีการเรียกร้องให้ใช้โทษประหารจริงๆ เราจะคืนความยุติธรรมให้กับผู้บริสุทธิ์เหล่านี้อย่างไรได้บ้าง
สาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาดแบบนี้ เพราะระบบฐานข้อมูล big data ของไทยยังไม่เชื่อมโยงเข้าหากัน ส่งผลกับความถูกต้องแม่นยำในกระบวนการยุติธรรมโดยตรง โยงไปถึงสาเหตุที่ต้องมีการปฏิรูปตำรวจ เพราะหากไม่พัฒนาส่วนนี้ก็จะส่งผลกับมาตรฐานความเป็นวิชาชีพและกระบวนการสอบสวนแน่นอน เพราะมีหลายคดีที่ไม่ได้ขึ้นสู่ชั้นศาลแต่สามารถจบที่ตำรวจได้เลย
ประเทศไทยยังต้องการโทษประหารอยู่ไหม?
เมื่อเราถามว่า ในบริบทของประเทศไทยควรมีหรือยกบทลงโทษนี้ออกไป อาจารย์มองว่าอาจจะยังคงไว้ได้แต่ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกว่า ถ้ายังคงโทษประหารไว้และเกิดมีการประหารเกิดขึ้นจริง การตายของคนคนหนึ่งจะหยุดยั้งคนร้ายรายต่อๆ ไปได้จริงไหม
ถ้าบอกว่า ‘ข่มขืน=ประหาร’ ต่อไปเหยื่อจะมีโอกาสรอดชีวิตหรือเปล่า
ซึ่งในทางกลับกันบทลงโทษนี้ก็อาจทำให้เกิดอันตรายกับคนในสังคมมากขึ้นกว่าเดิม
“ยกตัวอย่างคดีน้องแก้มที่ขึ้นรถไฟแล้วโดนเจ้าหน้าที่ข่มขืน เสร็จแล้วโยนออกไปนอกรถไฟเพราะเขาคิดว่า การข่มขืนอาจจะยังไม่ใช่โทษประหาร แต่ถ้าเหยื่อรู้แล้วไปแจ้งความเขาจะโดนจับก็เลยตัดสินใจว่าทำให้เด็กตายไปเลยดีกว่า นี่ขนาดยังไม่มีโทษประหารชีวิตนะ แล้วถ้าต่อไปเราประกาศให้โทษข่มขืนเท่ากับประหารไปเลยล่ะจะเป็นยังไง”
กฤษณพงค์เสนอไอเดียจำคุกตลอดชีวิต ให้มีการจำกัดสิ่งอำนวยความสะดวกและเวลาเยี่ยมของนักโทษรายนั้นๆ ซึ่งทางอาชญาวิทยามองว่า วิธีการแบบนี้ทรมานทั้งกายและใจมากกว่าโทษประหารชีวิต
รายละเอียดอาจจะเป็นถูกจองจำจนสิ้นอายุขัย ญาติสามารถมาเยี่ยมได้เพียง 5 นาทีต่อครั้ง โดนขังเดี่ยว กินนอนใช้ชีวิตคนเดียวตลอดเวลา แบบนี้จะยิ่งเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ เห็นได้ว่า แม้คดีจะผ่านไป 10-20 ปีแล้วก็ยังมีการพูดถึงอยู่
สำหรับกระแสสังคมส่วนใหญ่ที่มีความเห็นว่า การจำคุกตลอดชีวิตไม่มีอยู่จริง เพราะสุดท้ายโทษก็จะโดนลดหลั่นไปเรื่อยๆ ทำให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยลดลงนั้น อาจารย์มองว่าเป็นเพราะบริบทในบ้านเรายังมีคนร้ายกระทำความผิดรุนแรงอยู่ สังคมเลยมองว่า การที่รัฐยังเก็บคนคนหนึ่งไว้แล้วไม่โดนประหารก็อาจจะถูกลดโทษแล้วออกมาก่อเหตุซ้ำได้
การใช้โทษประหารอาจจะช่วยเยียวยาความรู้สึกในสังคมได้ระยะหนึ่งก็จริง แต่ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่ยังมีโทษประหารแล้วเกิดอาชญากรรมซ้ำๆ สิงคโปร์ที่มีโทษแขวนคออยู่พบว่า แม้จะมีการแขวนคอเกิดขึ้นแต่อาชญากรรมก็ยังมีให้เห็นเรื่อยๆ ถ้าทำแบบนี้แล้วลดอาชญากรรมได้ 100% เลยก็เป็นเรื่องที่ดี แต่มันไม่ได้เป็นแบบนั้น
ถ้าโทษประหารไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการหยุดยั้งอาชญากร เราคงต้องมานั่งทบทวนกันดูใหม่ว่า ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากตรงไหน ทำไมนักโทษไทยยังล้นเรือนจำ ในขณะที่เกณฑ์การลดหย่อนโทษก็ดูจะมีปัญหาไปไม่น้อยกว่ากันด้วย