ถึงแม้เราจะเคยเห็นบทเรียนในอดีต ถึงความน่ากลัวของฝูงชนที่รวมตัวกันด้วยความโกรธแค้นและเกลียดชัง และนำไปสู่ความรุนแรงต่อใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
แต่ในยุคสมัยใหม่นี้ พวกเราก็ยังเห็นภาพปรากฎการณ์ที่ว่ากันอยู่บ่อยๆ
เชื่อว่าหลายๆ คน น่าจะจำข่าวการรวมตัวของฝูงชนที่ไปดักรอ ‘ผู้ต้องสงสัย’ / ‘ผู้ต้องหา’ ตามสถานีตำรวจหรือจุดเกิดเหตุเพื่อทำแผนประกอบคำรับสารภาพของตำรวจ และมีหลายครั้งที่สถานการณ์บานปลาย ที่กลุ่มคนเหล่านั้นได้เข้ารุมล้อมทำร้ายร่างกายกับบุคคลดังกล่าว
กลายเป็นคำถามขึ้นมาว่า อะไรที่มันเป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมรวมหมู่ (collective behaviour) อย่างนั้นขึ้นได้นะ?
ด้วยความสงสัยเช่นนี้ เราเลยพยายามค้นหาคำตอบดูและพบว่าคำอธิบายในเบื้องต้นอยู่ที่แนวคิดว่าด้วย ‘การประชาทัณฑ์’ (lynching) ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว การประชาทัณฑ์เป็นหัวข้อการศึกษาในแวดวงจิตวิทยา สังคมวิทยา ตลอดจนอาชญาวิทยา มาอยู่สักพักใหญ่ๆ แล้วเหมือนกัน
ว่าด้วยคำว่าประชาทัณฑ์
ในฟากของตะวันตกนั้น ให้ความหมายของการประชาทัณฑ์ หรือ lynching ไว้ในเชิงค่อนน่าสนใจพอสมควร
พจนานุกรม Merriam-Webster ให้ความหมายกับการประชาทัณฑ์ว่า “to put to death (as by hanging) by mob action without legal sanction.” หรือ การทำให้ใครคนหนึ่งเสียชีวิต (ด้วยวิธีการแขวนคอ) โดยพฤติกรรมของกลุ่มคนโดยที่ไม่ได้มีกฎหมายรับรอง ส่วนเหตุผลของการ ‘แขวนคอ’ น่าจะเกี่ยวข้องกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
[อ่านที่มาและประวัติศาสตร์ของคำว่า Lynch ในสหรัฐฯ ต่อได้ที่นี่นะ https://www.npr.org/sections/codeswitch/2013/09/30/227792122/tracing-the-story-of-lynch-mob]
ขณะเดียวกันก็ให้ความหมายของ Lynch mob ว่า “a crowd of people who kill or try to kill (someone) illegally as a punishment” หรือ กลุ่มคนที่ฆ่าหรือพยายามฆ่าใครบางคนอย่างผิดกฎหมายในฐานะการลงโทษ
ส่วนคำว่าประชาทัณฑ์ในบริบทของบ้านเรานั้น น่าจะรวมไปถึงรูปแบบพฤติกรรมที่นอกจากตั้งใจอยากจะฆ่าแล้ว ยังรวมไปถึงความพยายามทำร้ายร่างกายเพื่อเอาสะใจไปด้วย
ตัวอย่างเช่น การพาดหัวของหนังสือพิมพ์ต่างๆ เกี่ยวกับข่าวที่ฝูงชนเข้าไปรุม ‘ประชาทัณฑ์’ ผู้ต้องสงสัยหรือคนร้ายที่หน้าสถานีตำรวจ หรือระหว่างที่ตำรวจพาคนร้ายไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ
อย่างไรก็ดี ในงานศึกษาเรื่อง การประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาในการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ระบุถึงรูปแบบการประชาทัณฑ์ในสังคมไทยไว้ 4 ชนิดคือ
-การประชาทัณฑ์โดยใช้กำลังร่างกายทำร้าย เช่น ใช้มือทุบตี
-การประชาทัณฑ์โดยใช้อาวุธ เช่น รุมขว้างด้วยก้อนหิน
-การประชาทัณฑ์โดยใช้วาจาคำพูด เช่น รุมต่อว่า รุมสาปแช่ง
-การประชาทัณฑ์ในลักษณะประจาน เช่น แขวนคอ ลอยแพ
เข้าใจปัจจัยของประชาทัณฑ์ ผ่านมุมมองด้านสังคมศาสตร์
การเข้าใจผ่านคำศัพท์อาจจะไม่พอ เราเลยขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัยมหิดล อย่าง อ.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล ว่าการประชาทัณฑ์มันเกิดได้จากอะไรบ้าง
เขาอธิบายว่า หนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อไปทำความรุนแรงต่อใครคนใดคนหนึ่งนั้น อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในแง่พฤติกรรมส่วนบุคคล ควบคู่ไปกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทาง ที่ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถหาทางระบายความคับค้องใจได้ตามที่ต้องการ เลยเลือกที่จะใช้ ‘ความรุนแรง’ เป็นวิธีการ
“ในทางวิชาการเรียกว่า มโนสำนึกร่วมของผู้คน คือยิ่งผู้คนมีจุดอ่อนทางความรู้สึกในเรื่องเดียวกัน ก็สามารถเกิดความรู้สึกตอบโต้ในทางเดียวกันได้
“เมื่อคนเราเริ่มมีความเครียด และความคับแค้นใจที่หาทางออกไม่ได้ ก็เลยเกิดการรวมกลุ่มกันเพื่ออยากระบายอารมณ์ขึ้น สภาพสังคมในปัจจุบันก็เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยมีความเห็นอกเห็นใจกัน และมีพื้นที่ให้ผู้คนปลดปล่อยความเครียดได้มากกว่านี้
“รวมกับสภาพสังคมที่ภูมิคุ้มกันและความเข้าใจในความเป็นมนุษย์มันน้อยลง การปลูกฝังเรื่องจริยธรรมเริ่มมีปัญหา แล้วสังคมเราไม่มีกลไกที่ตอบรับปัญหานี้ได้ดีเพียงพอ”
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สังคมพร้อมจะห้ำหั่นกันผ่านความโกรธและเกลียดชัง คือความรู้สึกคับค้องใจที่ถูกกดทับไว้ในจิตใจผู้คน ผ่านสภาพปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ และเมื่อผู้คนได้ยินคำพูดที่กรีดแทงจิตใจจากปมปัญหาเหล่านั้น พวกเขาก็จะสามารถเกิดอารมณ์ร่วมขึ้นได้
อ.ฐนันดร์ศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนในยุคสมัยนี้เกิดอารมณ์ร่วมได้ และนัดรวมตัวออกไปรวมกลุ่มกับคนอื่นที่รู้สึกคล้ายๆ กันได้ง่ายขึ้น
“ผมคิดว่าเทคโนโลยี และโซเชียลมีเดียมันทำให้คนในยุคนี้เกิดอารมณ์ร่วมได้ง่ายกว่าเดิม” นักอาชาญวิทยา ระบุ
ประเด็นที่ อ.ฐนันดร์ศักดิ์ เล่าให้ฟังถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เราอาจจะสรุปได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนเกิดอารมณ์ร่วมและไปรวมตัวกันเป็นฝูงชน มันมีทั้งพฤติกรรม-ความรู้สึกส่วนบุคคล สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่ผู้คนต้องหาหนทางระบายความเครียด
รวมไปถึง ปัจจัยเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่บ่มเพาะให้คนเกิดอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างเข้มข้น
US and THEM
เคยสงสัยไหมว่า อะไรที่ทำให้คนหนึ่งคนกลายเป็นคนที่กล้าและพร้อมจะใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นได้?
สารคดีเรื่อง Five Steps To Tyranny หรือแปลเป็นชื่อไทยคือ ‘5 ขั้นตอนสู่การเป็นทรราช’ ได้อธิบายถึงเรื่องนี้เอาไว้น่าสนในมากๆ โดยสารคดีเริ่มต้นเล่าว่า บันไดขั้นแรกที่ทำให้คนเราเปลี่ยนไปสู่ความกล้าทำร้ายผู้อื่น คือการถูกทำให้รับรู้ถึงการแบ่งแยกระหว่าง ‘พวกเรา’ (us) และ ‘พวกเขา’ (them)
ที่สำคัญมากๆ ไม่ได้มีแค่แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย แต่มันยังมาพร้อมความเชื่อที่ว่า พวกเราคือคนที่ดี ส่วนพวกเขาคือคนที่แย่กว่า
การแบ่งแยกทำนองนี้ เป็นเหมือนประตูสำคัญที่นำพาให้ผู้คนรวมกลุ่ม และเห็นคุณค่าของคนฝั่งตรงข้ามน้อยลง เมื่อเห็นคุณค่าน้อยลง ก็เริ่มเชื่อว่า การใช้ความรุนแรงต่ออีกฝั่งนั้นมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้หลายๆ ครั้งที่พวกเราได้เห็นพฤติกรรมการรวมกลุ่ม จนกลายเป็นฝูงชนนั้น ความรู้สึกของการแบ่งแยกพวกเรา ออกจากพวกเขาก็มักจะเข้มข้น จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ในฐานะรูปแบบหนึ่งของการลงโทษทางสังคม
อ้างอิงจาก
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20521
https://www.npr.org/sections/codeswitch/2013/09/30/227792122/tracing-the-story-of-lynch-mob]
https://eji.org/history-racial-injustice-public-spectacle-lynchings