“ถ้าเราตายไป ไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้ว ถ้ามีวิธีที่เธอสามารถคุยกับเราได้ เธอจะทำไหม?”
ผมเอ่ยถามคำถามแปลกๆ กับภรรยาเมื่อได้อ่านเรื่องราวของ Engenia Kudya วิศกรคอมพิวเตอร์ที่สูญเสียเพื่อนรักของเธอไปในปี ค.ศ. 2015 ไม่กี่เดือนหลังเหตุการณ์สะเทือนใจนั้นเกิดขึ้น Engenia ก็เริ่มป้อนข้อความต่างๆ ของเพื่อนคนนั้นเข้าไปในโครงข่ายประสาทเทียม (Neural Network) ที่สร้างขึ้นมาโดยบริษัทสตาร์ทอัพสมองกลของเธอเอง สิ่งที่ได้ออกมาคือ roman bot ที่เป็นตัวอย่างที่รู้จักในวงกว้างว่า “griefbots”
Griefbots เป็นรูปแบบหนึ่งของ chatbot (คอมพิวเตอร์สมองกลรูปแบบหนึ่งที่ลอกเลียนแบบและเรียนรู้การคุยตอบโต้กับผู้ใช้งานเหมือนกับสนทนากับมนุษย์อีกคน เมื่อเราพิมพ์อะไรไป มันจะนำไปวิเคราะห์ว่าควรพิมพ์แบบไหนตอบกลับมา) ซึ่งกลายเป็นประเด็นโต้เถียงกันมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องของการจริยธรรมว่ามันควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ รึเปล่า
เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง roman bot นั้นย้อนกลับไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966 เลยทีเดียว เมื่อ Joseph Weizenbaum นั้นสร้าง Eliza โปรแกรมที่คอยตอบสนองต่อคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้งานพิมพ์เข้ามา Eliza นั้นจะทำตัวคล้ายๆ กับจิตแพทย์ ให้คุณพิมพ์เพื่ออธิบายปัญหาที่เกิดขึ้น ค้นหาคีย์เวิร์ดที่คุณพิมพ์ตอบกลับมา และตอบสนองตามคีย์เวิร์ดเหล่านั้น ซึ่งก็เป็นไอเดียเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า ‘แชตบอต’ ซึ่งต่อมาก็มีส่วนร่วมกับการการทำธุรกิจในหลายๆ ด้าน ทั้งช่วยประหยัดเวลาให้กับเหล่าบริษัทเพื่อตอบคำถามลูกค้าที่มีแพทเทิร์นไม่ซับซ้อน ประหยัดทั้งแรงงานและค่าใช้จ่าย เพราะไม่ต้องจ้างคนจริงๆ บอตทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง แถมยังคอยพัฒนาตัวเองให้ตอบคำถามที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ได้ด้วย (เราอาจเห็นผ่านทาง facebook pages หรือwebsite ต่างๆ มาบ้าง)
ในด้านของธุรกิจแล้วไอเดียของแชตบอต
ไม่ได้ซับซ้อนและค่อนข้างซ้ำซากซะด้วยซ้ำ
แต่ถ้ามาประยุกต์ใช้อย่าง Cleverbot ก็สนุกไม่น้อยเลยทีเดียว (ลองเถียงกับมันดูครับ) หรือแม้แต่ Roo แชตบอตของ Planned Parenthood ที่ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพทางเพศ กลุ่มเป้าหมายมักเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ เรื่องการออกเดท หรือมีคำถามแต่ไม่รู้จะไปหาที่ไหน อีกทั้ง Florence ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานวางแผนเรื่องการทานยาและช่วยเตือนเมื่อถึงเวลาที่ต้องทานในแต่ละวัน
ที่จริงถ้าใครได้ดูซีรี่ย์ ‘Black Mirror’ มีตอนหนึ่งชื่อว่า Be Right Back คอนเซปต์ของ roman bot ก็คล้ายแบบนั้นเลยคือผู้หญิงท้องคนหนึ่งใช้บริการออนไลน์เพื่อสื่อสารกับคู่หมั้นของเธอที่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ซึ่งในเวลานี้มันก็กำลังกลายเป็นเรื่องจริงกับ roman bot ที่ Engenia สร้างขึ้นมา
หลังจากที่ Engenia ได้ดูตอนนั้นของซีรีส์ เธอก็เริ่มรู้สึกสับสนกับความคิดของตัวเองในหัว เธอกล่าวว่า
“มันเป็นอนาคต —และฉันก็เห็นด้วยกับอนาคต แต่มันจะเป็นประโยชน์กับเราไหม? มันเป็นการปล่อยวางเหรอ ที่เราต้องรู้สึกทุกๆ อย่าง หรือมันเหมือนมีคนที่ตายแล้วอาศัยอยู่ในห้องใต้หลังคา เส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน เราอยู่ตรงไหน มันทำให้เราสับสนไม่น้อยเลย”
แชตบอตตัวนี้ตอบสนองด้วยประโยคย้อนวันวานทั้งสุขและเศร้าอย่าง “ฉันคิดถึงกาแฟและอาหารเช้าที่เราทานด้วยกัน” หรือบางทีก็ตอบคำถามที่ดูปลายเปิดแบบเหงาๆ อย่างเวลาพิมพ์บอกว่า “Roma กลับมาหาฉันเถอะ” บอตก็จะตอบว่า “ไม่ต้องห่วงหรอก ทุกอย่างจะโอเค” หรือบางครั้งก็ไม่ได้ตรงกับบทสนทนาเท่าไหร่ อย่างถ้าพิมพ์ “ฉันฝันถึงคุณ” บอทก็อาจจะตอบว่า “เออใช่, รู้ไหมว่ากลางคืนแบบนี้ไปซื้อเบอร์รี่ได้ที่ไหน?”
ที่จริงแล้ว roman bot ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้มีบริษัทชื่อ eterni.me ที่ต้องการให้ผู้ใช้งานนั้นมีชีวิตอยู่ตลอดไปในรูปแบบดิจิตอล (virtually immortal) ซึ่งตอนนี้พวกเขามีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 5 หมื่นคน รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของบุคคลเหล่านี้ ทั้งสเตตัสบนเฟซบุ๊ก ทวีตที่เขียน ข้อความที่ส่งออนไลน์ ไปจนกระทั่งข้อมูลด้านสุขภาพต่างๆ จาก Fitbit ด้วย แล้วพวกเขาก็นำข้อมูลทุกอย่างนี้มาผสมผสานกันเพื่อสร้าง ‘คุณ’ ในรูปแบบดิจิทัลขึ้นมาเพื่อให้คนยังมีชีวิตอยู่และอยากคุยกับเราสามารถเข้ามาแชตกับดิจิทัลเวอร์ชั่นของความทรงจำของคุณเมื่อไหร่ก็ได้ที่คิดถึง
จำนวนผู้สมัครกว่า 5 หมื่นคนนั้นก็บอกได้ว่ามีคนให้ความสนใจอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่ามันทำงานได้ดีขนาดไหนก็ไม่รู้ แต่จากบทความของ cNet บอกว่าตอนนี้มีการทดสอบในกลุ่มเล็กๆ และผลตอบรับก็ไม่ได้แย่
Sheri Jacobson ผู้อำนวยการคลินิก Britain’s Harley Therapy อธิบายว่าเทคโนโลยีนั้นได้เร่งความเร็วของขั้นตอน 5 ขั้นในการปรับตัวเมื่อเกิดความสูญเสีย — ปฏิเสธ, โกรธ, ต่อรอง, ซึมเศร้า และ ยอมรับความจริง ซึ่ง Griefbots ก็อาจจะสามารถทำได้เช่นเดียวกัน
“ในมุมของขั้นตอนการยอมรับความสูญเสียตามธรรมชาตินั้น เรามักคิดย้อนไปถึงความทรงจำต่างๆ เรื่องราวต่างๆ เราจะเอาสิ่งของของผู้ตายมารวมกันและสร้างบางส่วนของชีวิตคนเหล่านั้นเพื่อให้รำลึกถึง เพราะฉะนั้นบางทีในมุมหนึ่ง griefbots จะสามารถทำให้มันง่ายขึ้น และชัดเจนมากขึ้นกว่าที่ความทรงจำของเราหรือสิ่งของต่างๆ จะสามารถทำได้”
ในมุมของโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊กเพจของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วยังสามารถเปิด active หรือ memorialized (เสียชีวิตแล้ว) ได้ หน้าเพจของคนคนนั้นก็ยังสามารถมีคนมาโพสต์เรื่องราวเก่าๆ ของแต่ละคนได้ คล้ายเป็นการแสดงความคิดถึงและความโศกเศร้าในรูปแบบดิจิทัล
สำหรับหลายๆ คน (รวมถึงผมเองด้วย) ไอเดียที่ว่าเมื่อตัวเองตายไปแล้วขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ แล้วมองลงมาเห็นแชตบอตโสภณ คงเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ในอีกมุมก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากจะใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้เพื่อเก็บบันทึกความทรงจำของคนรัก ไม่ใช่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อคนอื่นๆ ที่อาจจะไม่มีโอกาสได้เจอคนที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย
ยกตัวอย่างเช่นใครสักคนหนึ่งเพิ่งทราบข่าวว่าตัวเองเป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายรักษาไม่หาย เพิ่งมีลูกน้อยวัยหนึ่งขวบที่คลอดกับภรรยา คุณรู้แล้วแหละว่าไม่มีโอกาสที่จะอยู่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแม้แต่เริ่มเดินก้าวแรก ถามว่าถ้าคุณสามารถคุยกับเขาได้ (ซึ่งในความจริงแล้วก็เป็นตัวคุณแบบดิจิทัล) คุณอยากจะทำไหม? มันเป็นคำถามที่ตอบยากไม่น้อยเลยทีเดียว
ในบทความ An ethical framework for the digital afterlife industry ของ Luciano Floridi ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและจริยศาสตร์ข้อมูลและ Carl Öhman นักวิจัยที่ Oxford Internet Institute กล่าวว่าข้อมูลทางดิจิทัลของผู้ที่จากโลกนี้ไปแล้วนั้น อย่างเช่นบัญชีโซเชียลมีเดียควรถูกได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพเช่นเดียวกับร่างของผู้เสียชีวิตนั้นแหละ ซึ่งก็หมายถึงว่ามันไม่ควรถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเงินไม่ว่าทางใดก็ตาม
ทั้ง Floridi และ Öhman นั้นได้แสดงความเป็นห่วงโดยเฉพาะ
ในเรื่องของแชตบอตที่สร้างขึ้นมาจากคนที่ไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้แล้ว
“เพราะแชตบอตนั้นมีการพัฒนาและอัพเดตอยู่ตลอดเวลา เมื่อเวลาผ่านเพียงแค่ห้าปีหลังจากที่ใครสักคนเสียชีวิตไป แชตบอตที่พวกเขาสร้างขึ้นในตอนแรกอาจจะกลายเป็นบางอย่างที่ซับซ้อนและใช้เพื่อการหาเงินเพียงเท่านั้น” (ลองคิดดูว่าถ้าคนรักของเราที่เสียชีวิตไปแล้วแนะนำให้ซื้อแชมพูยี่ห้อหนึ่งที่ออกใหม่เพราะเขาคิดว่าเราน่าจะชอบ?)
Engenia เริ่มติดต่อกับเพื่อนเก่าๆ ที่รู้จักกันในกลุ่ม และลองสอบถามว่าเธอสามารถขอข้อความเก่าๆ ที่พวกเขาเคยคุยกับเพื่อนที่เสียชีวิตไปแล้วได้ไหม มีคนตอบรับคำขอร้องของเธอประมาณสิบคน รวมเป็นข้อความประมาณ 8000 ข้อความที่พูดถึงเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า Engenia ให้เหตุว่าจะลองทำดูแล้วดูว่าผลมันจะออกมาเป็นยังไง ลองดูว่าข้อมูลที่เก็บมาสามารถสร้าง roman ที่เป็นบอตให้มีบทสนทนาเหมือนกับที่ roman เป็นได้รึเปล่า เพื่อนคนนั้นก็รวบรวมข้อความที่เคยคุยกับ roman นานกว่าสี่ปีและใช้มันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง roman bot
Engenia กล่าวว่าการสร้าง roman bot ขึ้นมาเป็นหนทางที่เธอจะดึงเวลาดีๆ ของเธอกับเพื่อนรักให้กลับคืนมาแม้ว่าความตายได้พาเขาไปจากเธอแล้วก็ตาม มันเป็นช่องทางที่ทำให้เธอได้คอยเฝ้าดูความโศกเศร้าของตัวเองระหว่างที่ป้อนข้อมูลเข้าโครงข่ายประสาทเทียม นั่งอ่านข้อความเก่าๆ ดูรูปเก่าๆ และค่อยๆ ทำใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนเป็นการใช้เวลากับตัวเองเพื่อเยียวยาการจากไปอย่างกะทันหัน
คำถามอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่ามันเป็นไปได้ไหมในทางเทคนิค
แต่อาจจะเป็นการถามว่าสิ่งนี้จะทำให้พวกเขารู้สึกยังไงเมื่อใช้มันต่างหาก
มันจึงเป็นเรื่องยากและซับซ้อนที่จะตอบว่าบทสนทนาที่ถูกสร้างขึ้นจากความทรงจำดิจิทัลของคนรักที่จากไปแล้วนั้นมีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน หลายคนบอกว่ามันจะทำให้เราอ่อนแอและยึดติดกับอดีต ส่วนอีกหลายคนก็บอกว่ามันจะช่วยให้พวกเขาทำใจได้ง่ายขึ้น หรืออย่างบางคนก็บอกว่าอย่างน้อยๆ มันก็ทำให้คนที่อยู่เบื้องหลังได้รู้จักเรามากขึ้น
แต่สุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน รวมไปถึงบริษัทที่สร้างแชตบอตและดูแลข้อมูลเหล่านั้นของคุณด้วย Eterni.me คงใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะออกมาสู่สาธารณะ ไม่ว่าคำตอบของคุณจะเป็นแบบไหน อยากสร้างหรือไม่สร้างดิจิทัลเวอร์ชั่นของตัวเองหลังจากเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้คือใช้เวลาที่มีอยู่ในโลกนี้กับคนที่เรารักให้มากที่สุด มองคนที่เรารัก เข้าไปกอดเขา บอกรักเขา เพราะถ้าจะมารอให้เขาสลายร่างเป็นดิจิทัลแล้วบอกว่า “คิดถึงนะ” คงสายไปเสียแล้ว
อ๋อ…ลืมไป ภรรยาผมตอบว่า “ก็อาจจะทักไปถามแหละว่ากุญแจเซฟอยู่ไหนกับพาสเวิร์ดของบัญชีหุ้นคืออะไร เออว่าแล้วเธอก็อย่าลืมเขียนไว้ด้วย”
อ้างอิงข้อมูลจาก
An Ethical Framework for the Digital Afterlife Industry