คราวหน้า หากคุณเดินออกไปข้างนอกในค่ำคืนอันแจ่มใสและเห็นดวงจันทร์ส่งยิ้มให้คุณ ขอให้นึกถึง นีล อาร์มสตรอง และหลิ่วตาให้เขาเถิด
คำไว้อาลัยของครอบครัวที่มีต่อสาธารณชน หลังนีล อาร์มสตรอง เสียชีวิต
1
นีล อาร์มสตรองไม่ได้เป็นเพียงมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์เท่านั้น แต่ความตายของเขายังเป็นเรื่องลึกลับต่อเนื่องยาวนานหลายปีอีกด้วย
ต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2012 เมื่อเขาอายุได้ 82 ปี นีล อาร์มสตรองเข้ารับการผ่าตัดหัวใจในซินซินนาติ การผ่าตัดเป็นไปด้วยดี ภรรยาของนีลบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เขา “ฟื้นตัวได้ดีอย่างน่าทึ่ง” และสามารถเดินไปตามโถงทางเดินในโรงพยาบาลได้แล้ว
แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน เพราะเมื่อพยาบาลถอดสายเครื่องกระตุ้นหัวใจชั่วคราวออก เลือดก็เริ่มซึมออกมาสู่เยื่อหุ้มหัวใจ และนั่นก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนลุกลามมากมาย
แล้วในที่สุด นีล อาร์มสตรอง ก็เสียชีวิตลงในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2012
ใช่! ชายผู้เป็นฮีโร่ของแผ่นดินอเมริกาและของโลก ชายผู้เหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรก ชายที่เป็นอมตะในทุกสื่อ ทุกหนังสือเรียน และทุกความทรงจำ—ที่สุดก็ได้จากไป
แต่มันไม่ใช่การจากไปธรรมดา
2
หลังเหยียบดวงจันทร์แล้ว นีล อาร์มสตรองยังคงทำงานกับองค์การนาซาต่อเนื่องมาจากจนถึงปี ค.ศ. 1971 หลังเกษียณจากนาซ่า เขาไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยซินซินนาติในสาขาวิศวกรรมยานอวกาศ และอยู่ที่นั่นนานถึงแปดปี ก่อนจะกลายมาเป็นประธานบริษัท Computing Technologies for Aviation ในช่วงปี ค.ศ. 1982-1992
พูดได้ว่า เขาอยู่กับ ‘อวกาศ’ ในรูปแบบต่างๆ แทบจะชั่วชีวิต
เมื่อเกิดอุบัติเหตุโศกนาฏกรรมร้ายแรงขึ้นกับยานชาเลนเจอร์ในปี ค.ศ. 1986 นีล อาร์มสตรองเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเพื่อสืบสวนการระเบิดของยานชาเลนเจอร์ด้วย เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เขาเป็นที่รักของประเทศและของโลก รวมทั้งกลายเป็นชายที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกด้วย
แต่กระนั้น นีลก็มักหลบหน้าจากสาธารณะ เขาแทบไม่ออกมาหน้ากล้องเลย มีบันทึกให้สัมภาษณ์ของเขาเพียงไม่กี่ครั้ง ในช่วงหลังๆ มีเพียงรายการ 60 Minutes เท่านั้น ที่เคยสัมภาษณ์เขาไว้ในปี ค.ศ. 2005
ในตอนนั้น เขาเล่าถึงดวงจันทร์ให้พิธีกรฟังว่า
“มันคือพื้นผิวสุกใสในแสงอาทิตย์ เส้นขอบฟ้าดูอยู่ใกล้กับเรามาก เพราะเส้นโค้งนั้นโค้งกว่าบนโลก มันคือที่ที่น่าไปเยือนมากๆ ผมขอรับรอง”
เขายังคงทุ่มเทอุทิศตัวให้กับการสำรวจอวกาศแม้ในขวบปีท้ายๆ ของชีวิต โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 2010 เมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามา ตัดสินใจจะยกเลิกโครงการสำรวจอวกาศ เขาเข้าไปให้การในสภาคองเกรสเพื่อต่อต้านแนวคิดนี้ นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โอบามาต้องไปเสาะหาบริษัทเอกชนเพื่อมาทำงานนี้แทนรัฐบาล
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นีล อาร์มสตรองเป็นที่รักของผู้คนมากเพียงใด
แต่ยิ่งเป็นที่รักมากเท่าไหร่—การจากไปของเขาก็ยิ่งสร้างความสูญเสียให้โลกมากเท่านั้น
โดยเฉพาะเมื่อมันคือความผิดพลาด
3
แม้คำไว้อาลัยของครอบครัวที่มีต่อนีล อาร์มสตรอง จะฟังดูน่ารักและกระทั่งเปี่ยมอารมณ์ขัน แต่แท้จริงแล้ว ภายในครอบครัวนั้นปั่นป่วน
ลูกชายของนีลสองคน คือมาร์คกับริค เห็นว่าการตายของพ่อเกิดขึ้นเพราะโรงพยาบาลทำงานไม่ดี พวกเขาจึงลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยข้อหาร้ายแรง นั่นคือโรงพยาบาลดูแลพ่อของพวกเขาหลังผ่าตัดไม่ดีและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยมีหลักฐานและคำให้การของผู้เชี่ยวชาญหลายรายประกอบ
ในปี ค.ศ. 2014 ลูกชายทั้งคู่ตั้งให้ เวนดี้ อาร์มสตรอง ซึ่งเป็นทนายความและเป็นภรรยาของมาร์คเป็นตัวแทนในการต่อสู้คดีนี้ โดยส่งอีเมลมาถึงทนายความของโรงพยาบาล
ในตอนนั้น ใกล้จะถึงวาระฉลองครบรอบ 45 ปี ของการเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก ทั้งมาร์คและริคจึงให้ทนายความแจ้งแก่โรงพยาบาลว่า พวกเขาจะเดินทางไปร่วมพิธีที่เคนเนดี้สเปซเซนเตอร์ และหากโรงพยาบาลไม่ยอมรับหรือไม่ชดใช้ให้กับการตายของพ่อพวกเขา พวกเขาก็จะพูดเรื่องนี้ที่นั่น
แน่นอน การพูดเรื่องนี้ย่อมเป็นข่าวใหญ่ ที่จริงแล้ว ทั้งมาร์คและริคต่างก็ได้รับการติดต่อจากนักเขียนและนักทำหนังมากมายเพื่อล้วงลึกถึง ‘ข้อมูล’ เกี่ยวกับนีลประเภทที่ ‘ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน’ ซึ่งก็แน่นอนว่า—การตายของนีลที่เกิดจากความบกพร่องของโรงพยาบาลจะต้องกลายเป็นข่าวใหญ่แน่ และโรงพยาบาลก็ต้องเสียชื่อเสียงป่นปี้
นั่นทำให้โรงพยาบาลยอมทำข้อตกลงบางอย่าง—เป็นข้อตกลงที่ไม่มีใครรู้เลยว่าคืออะไร, จนกระทั่งวันนี้
ที่จริงแล้ว การโต้แย้งเรื่องนี้เกิดขึ้นมาตลอดหลังการตายของนีล แต่มันถูกเก็บเป็นความลับ จนเมื่อมีการฉลองการเหยียบดวงจันทร์ครบ 50 ปี หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้รับเอกสารความหนา 93 หน้า จากผู้ส่งที่ไม่ระบุตัวตน เป็นเอกสารที่เล่าถึงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยว่าเป็นความผิดของโรงพยาบาล
บางความเห็นก็ไปไกลถึงระดับบอกว่า—อย่าว่าแต่ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดเลย กระทั่งการผ่าตัดหัวใจเองก็อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดด้วยซ้ำ
ในตอนนั้น การถกเถียงเรื่องราวของนีล อาร์มสตรอง ของโรงพยาบาล ยังต้องใช้ชื่อปลอม โดยเรียกนีล อาร์มสตรอง ว่า เน็ด แอนเดอร์สัน เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นล่วงรู้ข่าวนี้ โดยฝั่งครอบครัวอาร์มสตรองเรียกร้องค่าเสียหายสำหรับครอบครัวเป็นเงิน 7 ล้านเหรียญฯ
ทุกอย่างดำเนินไปไม่จบสิ้น คลับคล้ายการต่อรองกับโรงพยาบาลในบางข่าว จนกระทั่งครอบครัวต้อง ‘ขู่’ จะเปิดโปงสดๆ ต่อหน้าธารกำนัลในงานฉลองครบรอบ 45 ปีนั่นแหละ โรงพยาบาลถึงได้ยอมตกลงด้วย
เอกสารล่าสุดบอกว่า โรงพยาบาลได้จ่ายเงินให้กับครอบครัวราว 6 ล้านเหรียญ โดย 5.2 ล้านเหรียญนำมาแบ่งเท่าๆ กัน ระหว่างมาร์คกับริค ในขณะที่คนอื่นๆ เช่น พี่น้องของนีล ต่างได้รับไปคนละ 250,000 เหรียญ และหลานๆ อีก 6 คน ได้รับไปคนละ 24,000 เหรียญ
คำถามก็คือ—เกิดอะไรขึ้นกับการตายของนีล อาร์มสตรอง กันแน่?
จากเอกสารล่าสุดที่ได้รับมานั้น มีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญสามคน ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกัน ก็ทำให้เราได้เห็นภาพใหญ่ว่า ครอบครัวส่งนีลเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนี้ และแพทย์ก็ตัดสินใจผ่าตัดบายพาสหัวใจในทันที ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นว่า ‘เร็วไป’
เมื่อผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะฝังเส้นลวดชั่วคราวเพื่อกระตุ้นให้หัวใจของเขาเต้นเป็นปกติ ครั้นเมื่อนางพยาบาลถอดเส้นลวดนี้ออก นีลเริ่มเลือดออกภายใน ความดันเลือดตก แพทย์นำเขาเข้าไปสแกน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเลือดกำลังไหลออกมาอย่างรวดเร็วในปริมาณมาก แพทย์จึงถ่ายเลือดออกจากหัวใจของเขาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงกดดันเนื่องจากของเหลวไปสะสมตัวอยู่มาก บันทึกไม่ได้บอกชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง แต่นีลมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกเพียงราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะเสียชีวิต
ปิดฉากชีวิตของชายที่มีคนรักมากที่สุดในโลกคนหนึ่งลง
4
นีล อาร์มสตรองควรมีชีวิตยืนยาว สิ่งที่ควรมีชีวิตสั้น—คือชุดนักบินอวกาศของเขาต่างหาก
ชุดนักบินอวกาศที่นีลใส่เหยียบดวงจันทร์นั้น ถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์อวกาศของสมิธโซเนียนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1976 มันอยู่ที่นั่นนานถึง 30 ปี ก่อนจะถูกนำไปเก็บในปี ค.ศ. 2006 เพราะหวั่นเกรงว่าชุดจะเสื่อมสลายลง
ที่จริงแล้ว ชุดนักบินอวกาศของนีลได้รับการออกแบบมาให้มีอายุใช้งานเพียงราวหกเดือน คือใช้สำหรับเดินทางไปดวงจันทร์แล้วกลับเท่านั้น ดังนั้น การที่ชุดอยู่ต่อมาอีกสามสิบปีหรือกว่านั้นให้คนได้ชื่นชม จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา
หลังนำชุดกลับไปเก็บแล้ว ก็มีการฟื้นฟูชุดอวกาศนี้อย่างยากลำบาก มีการระดมทุนผ่าน Kickstarter จนได้เงินกว่า 7 แสนเหรียญฯ เพื่อนำมาบูรณะชุด ที่ต้องใช้เงินมากขนาดนั้นก็เพราะชุดที่ว่านี้บอบบางมาก และยังมีฝุ่นจากดวงจันทร์ฝังอยู่ตามเนื้อผ้าด้วย
ฝุ่นดวงจันทร์ที่ว่านี้แม้จะเล็กจิ๋วจนมองไม่เห็น แต่มีความคมกริบ และสามารถบาดชุดให้ฉีกขาดได้ถ้าหากเคลื่อนที่ไปมา การฉีกขาดจะยิ่งไปเร่งการฉีกขาดให้มากขึ้นไปอีก ส่วนภายในบางส่วนที่ทำจากยางก็เริ่มแข็งตัวและเสื่อมสลาย ปล่อยก๊าซพิษบางชนิดออกมา เป็นก๊าซที่แม้ไม่ได้ตั้งใจ—แต่ก็ทำลายตัวเอง
มันคือกระบวนการธรรมชาติ คล้ายการแก่ตัวของมนุษย์ที่จะเกิดอนุมูลอิสระขึ้นมาเร่งวันวัยของมนุษย์ให้เดินหน้าไปสู่ความตาย
ด้วยเหตุนี้ การจัดชุดอวกาศนี้ให้เข้าที่เหมือนมีคนใส่อยู่เพื่อนำออกจัดแสดงอีกครั้งหนึ่งฉลองการเหยียบดวงจันทร์ครบ 50 ปีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย สมิธโซเนียนต้องใช้ท่อปล่อยอากาศเข้าไปขับดันก๊าซที่เกิดขึ้น จากนั้นก็ดูดก๊าซดังกล่าวออก พร้อมกับกรองเอาอนุภาคที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ทิ้งไป กระบวนการนี้ต้องทำช้าๆ ใช้เวลาสามวันกว่าอากาศจะเข้าไปแลกเปลี่ยนก๊าซที่ว่าได้สมบูรณ์ และต้องเดินเครื่องอย่างต่อเนื่อง
ความเปราะบางของชุดนักบินอวกาศจึงได้รับการทะนุถนอมไว้ด้วยเทคโนโลยี
ชุดที่ควรมีอายุเพียงหกเดือน จึงยังดำรงคงอยู่มาครบ 50 ปี
ไม่เหมือนผู้ที่เคยสวมใส่มัน
5
ตัวเลข 6 ล้านเหรียญฯ ฟังดูมากมายมหาศาล แต่ที่จริงแล้วอาจไม่มากเลยเมื่อเทียบกับชื่อเสียงของนีล อาร์มสตรอง
เมื่อลูกชายของนีลนำข้าวของส่วนตัวของพ่อออกประมูล ยอดรวมของข้าวของเหล่านั้นทำรายได้รวมสูงถึง 12 ล้านเหรียญฯ แสดงให้เห็นว่า คนอเมริกัน ‘ให้คุณค่า’ กับนีลมากมายเพียงใด
แล้วไม่ใช่แค่นีล กระทั่งกับ บัซ อัลดริน ผู้เหยียบดวงจันทรเป็นคนที่สอง ก็สามารถทำรายได้มหาศาลด้วยเช่นกัน เขารับเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าต่างๆ เวลาไปปรากฏตัวในแต่ละงานจะได้ค่าตัวตั้งแต่ 50,000 ถึง 75,000 เหรียญฯ โดยเรียกร้องการบินเครื่องบินส่วนตัวและที่พักหรูหราระดับวีไอพี ที่เขาสามารถเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ได้ก็เพราะผู้คนอยากพบเขา จับมือกับเขา และมองตาเขาในค่ำคืนที่มีแสงจันทร์สาดส่อง
แต่นีล อาร์มสตรอง ไม่เหมือนบัซ อัลดริน เขาไม่ได้อยากได้สิ่งเหล่านี้นัก อย่างที่รู้กัน ในช่วงหลังของชีวิต เขาอยู่เงียบๆ เรียบง่าย ทั้งที่ชื่อของเขาน่าจะทำเงินได้มหาศาลกว่าบัซ อัลดริน มากนัก
เมื่อนีลจากไปแล้ว มีผู้สร้างหนังเรื่อง First Man โดยให้ไรอัน กอสลิง เล่นเป็นนีล อาร์มสตรอง หลายคนอาจไม่ได้สังเกตว่า—ลูกชายของเขาทั้งมาร์คและริค, ได้เล่นในหนังเรื่องนี้ด้วย
แน่นอน—พวกเขาย่อมได้ค่าตัวไปไม่น้อย
ความตายอันเกิดจากความผิดพลาดของนีล อาร์มสตรอง ทำให้เราเห็นว่า ชีวิตนั้นเปราะบางเพียงใด
แต่ถึงชีวิตจะเปราะบาง ชุดอวกาศก็กลับเปราะบางกว่า
แต่กระนั้น เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นได้เพราะเงินและการระดมทุน—ก็กลับทำให้สิ่งที่เปราะบางกว่า, ยังอยู่คงทนมาจนถึงปัจจุบัน
โลกเป็นอย่างนี้นี่เอง