GIF การวิ่งแข่งในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The Dictator ถูกชาวเน็ตไทยนำมาแชร์ในโลกออนไลน์ในช่วงเวลานี้ เพื่อสื่อว่าการเลือกตั้งไทยอาจจะ ‘ไม่ยุติธรรม’ เหมือนเรื่องราวสมมุติในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว
เพราะการวิ่งแข่งที่ว่า ซึ่งมีผู้นำประเทศลงแข่งด้วยนั้น มีทั้งออกตัวก่อน พกปืนไปยิงคู่แข่ง ยิงกรรมการ รวมถึงมีลูกสมุนวิ่งนำเส้นชัยเข้ามาหาตัวผู้นำเสียเอง
ผลสุดท้าย ตัวผู้นำในประเทศสมมุติก็ชนะการแข่งขัน ด้วยท่าทีดีใจสุดๆ แม้เห็นกันได้อย่างโฉ่งฉ่างว่าการแข่งขันดังกล่าวไม่ยุติธรรม แล้วยังไงล่ะ? ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย (ที่เขียนไว้เอง) นี่ ปัดโธ่!
ข่าวการเมือง หลายคนชอบบอกว่าเป็นข่าวเครียดๆ เราเลยหาวิธีสนุกๆ มานำเสนอ ..ด้วยวิธีการสมมุติ เช่นสมมุติว่าคุณได้ไปดีเบตการเมืองกับ chatbot ชื่อไพบูลย์ (นามสมมุติ) อยากรู้เหมือนกันว่า เขาจะตอบข้อครหาต่างๆ ที่บอกว่า การเมืองครั้งนี้ไม่โปร่งใสว่าอย่างไร
[ หมายเหตุ: แม้เราจะบอกว่า เหตุการณ์นี้จะสมมุติขึ้นมา แต่เงื่อนไขต่างๆ ที่จะทำให้คนบางกลุ่มได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่การสมมุติ ]
1.
คสช.ตั้ง ส.ว. 250 คน ให้มาร่วมโหวตคนจาก คสช. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้
ไพบูลย์ (chatbot): “แล้วมันผิดตรงไหน ผมไม่เห็นมันผิดตรงไหนเลย”
การเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ที่จะชี้ขาดให้ใครได้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีแค่ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา 250 คนเท่านั้น ยังรวมถึง ส.ว.ที่ คสช.จะแต่งตั้งมาอีก 250 คนด้วย
ที่มาของ ส.ว.แต่งตั้งดังกล่าว เกิดจากการที่ คสช.เสนอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ แก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ (เดิม ส.ว.จะมีแค่ 200 คนและมาจากการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพต่างๆ) ให้ คสช.แต่งตั้ง ส.ว.ได้ 250 คน
นอกจากนี้ คสช.ยังเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ สปท. และ สนช.เสนอคำถามพ่วงประชามติได้ โดยวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท.เสนอคำถามพ่วงให้ ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งสามารถมาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ 5 ปี หรือร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ 2 คนเป็นอย่างน้อย และอย่างที่หลายๆ คนรู้กันว่า ช่วงประชามติ คสช.ได้ปราบปรามจับกุมผู้เห็นต่างหรือรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างหนัก มีคนถูกจับกุมดำเนินคดีบุคคลต่างๆ นับร้อยราย
ถ้าย้อนกลับไปดูเส้นทาง การให้ ส.ว.มาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ดีๆ จะเห็นได้ว่ามีจุดเริ่มต้นที่ คสช. และคนของ คสช.ก็อาจจะเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากเรื่องนี้
2.
พรรคการเมืองใหญ่ ชนะเลือกตั้ง ได้เสียงเป็นอันดับหนึ่ง ก็อาจจะไม่ได้เป็นรัฐบาล
ไพบูลย์ (chatbot): “ถ้าแน่จริง ชนะให้ได้เกิน 250 เสียงไปเลยสิ”
รัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ส.ไปจากเดิมหลายอย่าง ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว (เหมือนก่อนปี 2540) เพื่อเลือก ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ โดยใช้วิธีคิดคะแนนที่เรียกว่าจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA (Mixed Member Apportionment System: MMA)
ถามว่าระบบเลือกตั้งแบบ MMA คืออะไร ก็คือการนำคะแนนที่เราเลือก ส.ส.เขต ไปคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย ต่างจากสมัยก่อนที่เราเลือกแยกกัน ระหว่าง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ผู้เขียนรัฐธรรมนูญอ้างว่าเพื่อให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย และไม่มีปัญหาเรื่องคะแนนเสียงตกน้ำ
แต่นักวิชาการหลายคนก็มองว่า ระบบนี้จะทำให้พรรคใหญ่ได้เสียงน้อยลง (เพราะยิ่งชนะ ส.ส.เขตมาก ยิ่งได้ ส.ส.บัญชีรายชื้อน้อย) ทำให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก เปิดโอกาสให้ได้รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ย้อนปัญหากลับไปในอดีตที่รัฐบาลอ่อนแอจนไม่สามารถผลักดันนโยบายอะไรออกมาเป็นรูปธรรมได้
3.
พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมลาออก จากนายกฯ และหัวหน้า คสช. เป็นรัฐบาลมีอำนาจเต็ม และใช้ ม.44 ได้
ไพบูลย์ (chatbot): “ยิ่งเต็มยิ่งจำเป็น ช่วงเลือกตั้งไม่มีรัฐบาลไม่ได้ มันต้องมีรัฐบาล”
ในอดีตเมื่อจะมีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะด้วยการที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา หรือครบวาระการดำรงตำแหน่ง (4 ปี) รัฐบาลในขณะนั้นจะอยู่ในสถานะ ‘รัฐบาลรักษาการ’ ซึ่งกฎหมายจะตีกรอบการใช้อำนาจไว้ เช่น ถ้าจะเริ่มโครงการใหม่ ใช้งบประมาณผูกพันข้ามปี แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ฯลฯ จะต้องไปยื่นขออนุมัติจาก กกต.
แต่ด้วยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทำให้รัฐบาล คสช. ยังป็น ‘รัฐบาลอำนาจเต็ม’ คือสามารถทำได้ทุกอย่างเหมือนปกติ ย้ายข้าราชการได้ เริ่มโครงการใหม่ได้ ใช้งบได้ตามปกติ
และไม่เพียงเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ที่ตอบรับคำเชิญจากพรรคพลังประชารัฐให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ยังมีอำนาจพิเศษ อย่างมาตรา 44 ที่เคยใช้จนทำให้เขตเลือกตั้งเปลี่ยนถึง 11 จังหวัด และย้ายกรรมการ กกต.คนหนึ่งออกจากตำแหน่งมาแล้ว
หลายๆ ฝ่ายจึงเรียกร้องให้เจ้าตัวลาออก อย่างน้อยๆ ก็จากตำแหน่งหัวหน้า คสช. เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความเป็นธรรม ไร้ข้อครหา แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ปฏิเสธไม่ลาออกจากสักตำแหน่ง พร้อมประเทศว่า “มึงลองมาไล่ดูสิ”
4.
สืบทอดอำนาจ เลือกตั้งแค่รูปแบบ บ้านเมืองไม่กลับสู่ประชาธิปไตย
ไพบูลย์ (chatbot): “ทนไปก่อน 5 ปี แล้วท่านจะรู้สึกชอบ”
ด้วยกติกาต่างๆ ที่ดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจชุดปัจจุบัน มากกว่าบรรดานักการเมือง ทำให้หลายๆ ฝ่ายหวั่นวิตกว่าการเลือกตั้ง 2562 จะไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ผู้นำคนต่อไปไม่ได้มาจากเสียงของคนส่วนใหญ่ของประชาชนจริงๆ แต่มาเพราะมี ‘คะแนนพิเศษ’ อยู่ในมือ โดยเฉพาะ ส.ว.แต่งตั้ง ที่มีวาระ 5 ปี และร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส.เลือกตั้งได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ก็มีบางฝ่ายมักอ้างว่า “ทุกอย่างๆ เป็นไปตามกฎหมาย” “พวกเราต้องเคารพกฎหมาย” และบอกว่า ให้ทนๆ ไปกับกติการเลือกตั้งในปัจจุบันไปก่อน อาจจะทำให้เกิดความแตกต่าง และดีกว่าที่เคยเป็นมาในอดีตก็เป็นไปได้
แต่สิ่งที่หลายๆ คนนั้นไม่ได้บอก คือสิ่งที่เราต้องทน อาจจะไม่ได้จบแค่ใน 5 ปีของวาระ ส.ว.แต่งตั้ง แต่ยืนยันไป 20 ปี ตามอายุของยุทธศาสตร์ชาติที่ คสช.เป็นผู้เขียนขึ้นมาแทน (ซึ่งตามกฎหมายแล้ว รัฐบาลใดไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ มีโอกาสถูกลงโทษ สูงสุดคือติดคุก!)
ทนๆ มา 5 ปีแล้ว ทุกคนรู้สึกอย่างไร ถ้าต้องทนต่อไปอีก 5 ปี ..คนที่มีโอกาสได้เป็น ส.ว.แต่งตั้งอาจจะรู้สึกโอเค แต่ประชาชนอีก 67 ล้านคนล่ะ จะชอบไหมนะ?