หากอ่าน ‘คำถาม’ ที่ กกต.จะยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยตีความดูดีๆ จะไม่ใช่คำถามว่า “จะใช้สูตรไหนคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย?” แต่เป็น “การใช้สูตรที่ทำให้พรรคเล็กได้ ส.ส. ทั้งที่ ส.ส.พึงมีไม่ถึง 1 คน ถูกกฎหมายหรือไม่?” ต่างหาก
หลายๆ คนแปลกใจว่าการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ผ่านไป 18 วัน แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ก็ยังไม่สามารถสรุปได้เลยว่า จะใช้สูตรใดคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อกันแน่
จนต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยตีความ และหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับนำไปพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งในวันนี้ อาทิ “กกต.จนแต้มสูตรปาร์ตี้ลิสต์ ส่งศาล รธน.ตีความ” (ไทยรัฐ) “ส่งศาล รธน.ตีความ กกต.ดิ้นสูตรต่ำ 7 หมื่นได้ ส.ส.” (ข่าวสด) “มติ กกต.โยนเผือกร้อนศาล รธน.” (เดลินิวส์) เป็นต้น
ในเอกสารข่าวซึ่ง กกต.แจกให้กับสื่อมวลชน ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยสรุป 3 ข้อใหญ่ๆ
- กกต.ลองคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามแนวทางของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้ว พบว่า จะมีพรรคเล็กได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย แม้ตัวเลขจำนวน ส.ส.พึงมี ไม่ถึง 1 คน
- แต่สูตรที่ใช้คำนวณตามข้อแรก อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91(4) เพราะทำให้บางพรรคได้จำนวน ส.ส.เกินจำนวน ส.ส.พึงมี
- แต่ถ้าใช้สูตรอื่นก็จะทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ครบ 150 คน อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 อีก
อาศัยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จึงขอเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่า ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 คน นอกจากวิธีการที่ กกต.ใช้ตามแนวทางของ กรธ. แต่วิธีการคิดคำนวณดังกล่าว อาจทำให้บางพรรคการเมืองมีจำนวน ส.ส.พึงมีน้อยกว่า 1 คน ได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
“กกต.จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่” คือคำถามของ กกต. ที่ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยให้คำตอบ
ประเด็นที่น่าสนใจในเอกสารข่าวของ กกต. ไม่ใช่ 2 ข้อแรก เพราะมีคนทักท้วงมาตลอด ทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ ไปจนถึงอดีต กกต.เอง ว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (ห้ามพรรคได้ ส.ส.เกิน ส.ส.พึงมี หรือแปลง่ายๆ ว่า ถ้าได้คะแนนน้อยกว่า 7 หมื่นเสียง ไม่ควรได้รับ ส.ส.) มีเพียงพรรคเล็กบางพรรคที่จะได้รับ ส.ส. กรธ.และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางคนเท่านั้น ที่ยืนยันว่าทำได้
โดยฝ่ายที่ยืนยันว่าทำได้ มักอ้างอิงถึงบันทึกการประชุมของ กรธ. ไปจนถึง power point ที่ กกต.ใช้
แต่ฝ่ายที่ยืนยันว่า น่าจะทำไม่ได้ อ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 91(4) และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128(5)
ประเด็นที่น่าสนใจกว่า ในเอกสารข่าวดังกล่าวของ กกต. ก็คือข้อสุดท้าย ที่ กกต.ย้ำว่า ‘ไม่มีสูตรอื่น ที่ทำให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 คน’ ต่างหาก
เพราะที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายฝ่ายในการนำเสนอสูตรที่ สามารถคำนวณ ส.ส.บัญรายชื่อ ได้ครบ 150 คน โดยไม่เกินจำนวน ส.ส.พึงมี
ดังเช่น สูตรที่ทำให้มีพรรคได้รับ ส.ส. มีเพียง 16 พรรค (ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 14 พรรค ไม่รวมถึงพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติ ที่ได้ ส.ส.เขตเกิน ส.ส.พึงมี) ทั้งสื่อมวลชน เช่น Workpoint TV ที่ทำวิธีการคำนวณอย่างละเอียด หรือของสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการ กกต. ที่ถูกหัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ปลดออกจากตำแหน่ง
โดยวิธีคำนวณที่ทำให้ได้ตามสูตรของสื่อฯ บางสำนักและอดีต กกต.สมชัย ความจริงก็ไม่ยุ่งยาก ง่ายกว่าสูตรของ กกต.ด้วยซ้ำ กล่าวคือ
- นำเฉพาะคะแนนพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อมาหาร 500 = ค่าเฉลี่ยเสียงต่อ ส.ส.หนึ่งคน ที่อยู่ที่ราว 71,057 เสียง
- นำค่าเฉลี่ยดังกล่าวไปหารคะแนนที่แต่ละพรรคซึ่งส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ = ส.ส.พึงมี
- นำจำนวน ส.ส.พึงมี ไปลบจำนวน ส.ส.เขต ของพรรคนั้นๆ ให้ได้ตัวเลขที่ใช้เพื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
- เอาตัวเลขที่ใช้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เฉพาะจำนวนเต็ม (ไม่รวมทศนิยม 4 หลัก) ไปปรับยอดรวมกันให้ได้ 150
- นับจำนวนเต็มเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อก่อน ส่วนที่เหลือให้คิดจากค่าเฉลี่ยทศนิยม 4 หลักที่มากที่สุด นำมาเติมจนครบ 150 คน
แล้วทำไม กกต.ถึงบอกว่า ไม่มี ‘สูตรอื่น’ ที่ทำให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 150 คน?
เหลือเพียงอีกไม่ถึงเดือนก็จะถึงเด๊ดไลน์ วันที่ 9 พ.ค.2562 ซึ่ง กกต.ต้องประกาศรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการ
หลายๆ คนเอาใจช่วยให้ กกต.จัดการเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ ได้อย่าง ‘สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม’ แต่สารพัดปัญหาที่มาตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้งมาจนถึงหลังเลือกตั้ง ไม่ร่วมถึงกรณีที่ กกต.ใช้วิธีฟ้องร้องผู้วิพากษ์วิจารณ์ ก็ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นในองค์กรอิสระนี้ลดต่ำลง
ตอนนี้เหลือไม่กี่วิธีที่จะทำให้ กกต.ได้รับความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง อาทิ เปิดผลคะแนนรายหน่วยเลือกตั้ง ให้ได้ตรวจสอบกันอย่างจุใจว่าคะแนนที่ออกมาตรงกับสิ่งที่ประชาชนกาเลือกจริงหรือไม่ หรือใช้สูตรคำนวณ ส.ส. ที่สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
ไม่รวมถึงการแจกใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม หลังจากนี้ด้วยหลักฐานเพียง ‘มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า’ ที่หลายๆ ฝ่ายกำลังจับตา กกต.อยู่ เพราะอาจมีความสำคัญถึงขั้นเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้